จะเหตุเกิดที่ปากบารา (1)


โดย บรรจง นะแส 9 พฤษภาคม 2554 15:11 น.

“ปากน้ำเมืองถ่าน” นามที่แปลมาจากคำว่ากัวลาบารา (Kualabara)ในอดีตคือชื่อดั้งเดิมของเมืองท่าเรือ ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ใน อ.ระงู จังหวัดสตูล ด้วยเหตุที่เป็นเมืองท่าส่งออกถ่านไม้โกงกางในสมัยนั้น แต่ในเรื่องประวัติศาสตร์ของชุมชนก็มักมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปบ้าง เช่น อีกเรื่องราวซึ่งบอกเล่ากล่าวกันว่าบ้านปากบาราที่เรียกกันอยู่ในปัจจุบัน นั้น “ปากบารา” มาจากคำว่า “ กัวลาปารา” ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลว่าหินที่ชุกชุมของปลาแดง ซึ่งเป็นปลาที่ชาวบ้านเรียกว่า ปลาปารา จะพบมากในบริเวณนี้ จึงเพี้ยนมาเป็นปากบาราในปัจจุบัน
       
        หมู่บ้านนี้มีความเป็นมาของชื่อและความเป็นมาในอดีตที่น่าสนใจ และวันนี้ ณ หมู่บ้านแห่งนี้กำลังเกิดเหตุการณ์ที่กำลังระอุอึกทึกครึกโครมอยู่ในหน้า สื่อมวลชนในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา และเริ่มระอุขึ้นอีกครั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยพี่น้องภายใต้การเคลื่อนไหวของคนสตูลและพันธมิตรที่เกาะติดการพัฒนาต่างๆ ในภาคใต้ ได้ผนึกกำลังกันลุกขึ้นแสดงพลังไม่เห็นด้วยและขอตรวจสอบความเป็นมา และเป็นไปของโครงการดังกล่าวอย่างเข้มข้นและเอาจริงเอาจัง คงต้องติดตามว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นที่นี่
       
        ถ้าเราจะมาทำความรู้จักชุมชนบ้าน “ปากบารา” กันสักนิดก็น่าจะทำให้ได้เห็นภาพจากอดีตเพื่อเชื่อมต่อกับปัจจุบันได้บ้าง กล่าวกันว่าชนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่อาศัยที่ปากบารา คือ “ ชาวเล (ชาวน้ำหรืออูรักลาโว้ย)” ซึ่งอพยพมาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งในขณะนั้นบ้านปากบารายังไม่มีผู้คนอาศัย อยู่ ปัจจุบันเมื่อมีคนเมืองเข้ามาอาศัยจำนวนมากขึ้นทำให้ชาวเลกลุ่มแรกที่อาศัย อยู่ก่อนอพยพโยกย้ายไปอยู่ที่บ้านบ่อเจ็ดลูก หมู่ที่ 1 ในปัจจุบัน (เดิมชื่อ ลากาตูโยะห์)
       
        ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนประมงชายฝั่งบริเวณอ่าวปากบารา กล่าวกันว่าในช่วงสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เนื่องจากทางราชการเกรงว่าจะเกิดสงครามขึ้น จึงเตรียมกำลังไว้ป้องกันรักษาประเทศ ดังนั้นบ้านไหนที่มีลูกผู้ชายจะถูกทางราชการเกณฑ์ไปเป็นตำรวจ เป็นทหาร มีชาวบ้านจำนวนมากได้หนีการเกณฑ์ตำรวจและทหารในครั้งนั้น มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งหนีมาจากจังหวัดระนอง มาอาศัยอยู่ที่อ่าวตะโล๊ะอูดัง บนเกาะตะรุเตา โดยได้มาทำสวนยาง ทำสวนมะพร้าว ทำไร่ข้าว เลี้ยงแพะ เลี้ยงวัว ต่อมาก็ได้มีผู้คนจากถิ่นอื่นๆ ได้แก่ จากสุราษฎร์ธานี กระบี่ อพยพเข้ามาอยู่อาศัยที่เกาะตะรุเตาเพิ่มมากขึ้น และคนที่อพยพมาอาศัยอยู่บนเกาะส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
       
        ในปี พ.ศ. 2479 รัฐบาลมีนโยบายให้กรมราชทัณฑ์จัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งนิคมฝึกอาชีพ และเป็นสถานที่กักกันนักโทษ เกาะตะรุเตาซึ่งอยู่ห่างไกลจากฝั่ง เป็นปัจจัยทางธรรมชาติที่เป็นอุปสรรค์ต่อการหลบหนี จึงได้ถูกกำหนดให้เป็นสถานที่จัดตั้งนิคมดังกล่าว มีการจัดสร้างอาคารที่ทำการ บ้านพักของผู้คุม เรือนนอนนักโทษ และโรงฝึกอาชีพขึ้นที่อ่าวตะโล๊ะว่าว และอ่าวตะโล๊ะอุดัง
       
        ในปี พ.ศ. 2481 ได้มีการนำนักโทษชุดแรกประมาณ 500 คน มายังเกาะตะรุเตา และทยอยเข้ามาอีกเรื่อยๆ จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมือง 70 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักโทษจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชและกบฏนายสิบ มากักบริเวณอยู่ที่อ่าวตะโละอุดังด้วย
       
        ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 จากภาวะสงครามญี่ปุ่น (สงครามโลกครั้งที่ 2) ทำให้นักโทษถูกทางการตัดเสบียงอาหารและยารักษาโรค เกิดภาวะอดอยาก นักโทษเจ็บป่วยล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ผู้คุมและนักโทษจำนวนหนึ่งจึงได้ออกปล้นสะดมชาวบ้านและเรือสินค้าที่ผ่านไป มาในน่านน้ำใกล้เคียงและบริเวณช่องแคบมะละกา จนทำให้เรือสินค้าไม่กล้าล่องเรือผ่านมาในบริเวณนั้น ประกอบกับได้เกิดไข้ทรพิษระบาด ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันต่อแพไม้ไผ่ อพยพข้ามฝั่งมาอาศัยอยู่บริเวณชายหาดปากบารา หาเลี้ยงครอบครัวโดยการทำประมงชายฝั่ง โดยใช้เรือแจวเป็นพาหนะในการออกทะเล
       
        จากประมาณปี พ.ศ. 2489 รัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองมาลายูอยู่ในขณะนั้น ได้ขออนุญาตรัฐบาลไทยในการส่งกองกำลังเข้าปราบปรามโจรสลัดตะรุเตาและได้ทำ การปราบปรามจนสำเร็จ และกรมราชทัณฑ์ได้ประกาศยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา ชาวบ้านบางส่วนก็ได้ย้ายกลับไปอยู่ที่เกาะตะรูเตาดังเดิม
       
        ต่อมาในปี 2517 ทางราชการได้ประกาศให้พื้นที่เกาะตะรุเตาเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติและขับ ไล่ประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะให้ออกจากพื้นที่เกาะตะรุเตา และประชาชนจำนวนหนึ่งก็มาอาศัยปลูกบ้านเรือนอยู่ที่อ่าวปากบาราในปัจจุบัน ชุมชนประมงปากบาราจึงขยายและเติบโตขึ้นเนื่องจากการพัฒนาของบ้านเมืองและการ ขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งสตูลเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีเกาะกว่า 100 เกาะในทะเล มีอุทยานแห่งชาติอย่างเกาะตะรุเตาที่ท่าเรือปากบาราคือประตูสำคัญที่สุดแห่ง หนึ่งของพื้นที่
       
        เหตุก็เพราะว่าสถานที่อันเป็นท่าเรือประวัติศาสตร์แห่งนี้กำลังถูกกำหนดเป้า หมายให้เป็นท่าเรือน้ำลึกสำคัญของภาคใต้ ภายใต้โครงการสะพานเศรษฐกิจ สตูล-สงขลา หรือแลนด์บริดจ์ ที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หยิบนโยบายเก่าตั้งแต่ พ.ศ. 2524-2525 ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาปัดฝุ่น และสานต่อด้วยรัฐบาลชุดปัจจุบันของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในปัจจุบัน จากการติดตามข้อมูลก็พบว่าพื้นที่ตรงนี้ถูกกำหนดให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ มุ่งตอบสนองวัตถุประสงค์สำคัญๆ ในทิศทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก
       
        และเราอาจจะต้องสูญเสียพื้นที่ทางทะเลของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา กว่า 4,730 ไร่ อันเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ที่ชาวบ้านใช้จับกินและจับขายหาเลี้ยงชีพ ภูเขาต้องถูกระเบิดถึง 8 ลูก และทรายชายฝั่งกว่า 20 ล้านคิวจะถูกขุดเพื่อนำไปถมทะเลใช้สร้างท่าเรือน้ำลึก ที่ดินถูกเวนคืนในราคาถูกเพื่อใช้ขยายถนนและสร้างรถไฟรางคู่ แถมพื้นที่ชายฝั่งก็ถูกเวนคืนไปทำคลังน้ำมันขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ภาษีของ ประชาชนเองก็จะถูกนำไปลงทุนกับโครงการเหล่านี้ในจำนวนมหาศาลเป็นหลายแสนล้าน บาท แต่ผลประโยชน์ที่ได้กลับตกอยู่กับกลุ่มไหนบ้างคนในพื้นที่มีคำถาม และการจะเดินหน้าโครงการนี้โดยใช้วิธีการปกปิดพูดความจริงไม่หมด ใช้อิทธิพลมืดข่มขู่ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา จึงมีส่วนกดดันให้ผู้คนในพื้นที่และเครือข่ายภาคประชาชน จับมือกันลุกขึ้นสู้และตั้งคำถามมากมายต่อโครงการฯ
       
        เสียงคัดค้านและมีคำถามมากมายต่อโครงการที่จะเกิดขึ้นนี้ว่า พี่น้องชาวบ้านปากบารา ที่มีอยู่กว่า 1,173 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งสิ้นกว่า 4,010 คน ซึ่งประกอบอาชีพหลักคืออาชีพทางการประมงและอาชีพที่สัมพันธ์กับอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว บริเวณอ่าวปากบารา โดยเฉพาะบ้านปากบารา หมู่ที่ 2 ยังคงเป็นเมืองท่าที่สำคัญของอำเภอละงู ซึ่งได้เปลี่ยนจากปากน้ำเมืองถ่านในอดีต มาเป็นท่าเรือประมง และท่าเรือท่องเที่ยวสำหรับบริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติใน การเดินทางไปยังหมู่เกาะต่างๆ ทั้งตะรุเตา เกาะเภตรา และเกาะอื่นๆ และที่สำคัญวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ปากท้องของชุมชนประมงดั้งเดิมบริเวณอ่าวปากบารา ก็ยังคงต้องฝากไว้กับท้องทะเลดังเช่นในอดีต การจะกำหนดให้ที่นี่เป็นท่าเรือน้ำลึกเพื่อตอบสนองคำว่า “เพื่อการพัฒนา” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตอบคำถามทุกคำถามที่เกิดขึ้น.

คำสำคัญ (Tags): #ข่าว
หมายเลขบันทึก: 438705เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2011 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท