บุคลิกภาพของครูที่ดี


เป็นการศึกษาบุคลิกภาพของครูที่ดีตามทัศนะของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู วิทยาเขตพะเยา เป็นงานวิจัยชั้นเรียน

ชื่อเรื่อง        บุคลิกภาพของครูที่ดี และลักษณะการสอนที่ดี

                  ตามทัศนะของนิสิตหลักสูตร

                  ประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครู

                  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

                  วิทยาเขตพะเยา ประกอบรายวิชา จิตวิทยาความเป็นครู

ชื่อผู้ศึกษา      ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จักรแก้ว นามเมือง

ปีที่               2551

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

บทคัดย่อ

การศึกษาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบุคลิกภาพที่ดีของครู และลักษณะการสอนที่ดี ตามทัศนะของนิสิตหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครู มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ประกอบรายวิชาจิตวิทยาความเป็นครู ประชากร ได้แก่ นิสิตหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครู รุ่นที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๑ จำนวน ๘๗ รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ใบงาน 2 ชิ้น และใช้การวิเคราะห์ข้อมูล โดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

ผลการศึกษาพบว่า

          1) บุคลิกภาพของครูที่ดี ประกอบด้วยบุคลิกภาพ 4 ด้านใหญ่ๆ คือ บุคลิกภาพทางกาย ประกอบด้วย ด้านกายภาพ เช่น รูปร่างหน้าตา กิริยาอาการ ลักษณะท่าทางที่สง่างาม การแต่งกายที่เหมาะสม กิริยามารยาท เป็นต้น ด้านวาจา เช่น การพูดด้วยถ้อยคำที่ถูกต้อง ชัดเจน เหมาะสม ถูกกาลเทศะ คล่องแคล่ว ไพเราะอ่อนหวาน และพูดจามีสาระมีเหตุผล ด้านการวางตัว และด้านอิริยาบถ บุคลิกภาพด้านอารมณ์  เช่น  การควบคุมอารมณ์ได้ดี ความสนใจผู้เรียน การมีอารมณ์ขัน ไม่เคร่งเครียดจริงจังจนเกินไป มีอารมณ์แจ่มใส เบิกบาน ยิ้มแย้ม และร่าเริงอยู่เสมอ  เป็นต้น บุคลิกภาพด้านสังคม เช่น มีความเป็นผู้นำ ให้ความร่วมมือกับผู้อื่น ชุมชน และสังคม ความมีระเบียบวินัย สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดี มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีการวางตัวที่เหมาะสมในสังคม เป็นต้น  บุคลิกภาพด้านสติปัญญา เช่น การมีปฏิภาณไหวพริบที่ดี มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มีการตัดสินใจที่ดี มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความรู้รอบตัวดี เป็นคนช่างสังเกต ละเอียดรอบคอบ มีความรู้ในรายวิชาที่สอนด้านวิจัย คอมพิวเตอร์ และสื่อเทคโนโลยีต่างๆ มีความรู้ด้านเทคนิคการสอน การวัดผลประเมินผล รู้ตามหลักสัปปุริสธรรม 7 เป็นต้น

          2) ลักษณะการสอนที่ดี ประกอบด้วย 2 ด้านคือ ด้านการเตรียมตัว ครูต้องวิเคราะห์หลักสูตร จุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของหลักสูตรหรือบทเรียน มีการเตรียมเนื้อหา สื่อประกอบการเรียนการสอน และแบบวัดผลและประเมินผลที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป็นต้น และด้านการสอน เช่น สอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ สร้างบรรยากาศในการสอน ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีการเรียนรู้ด้วยการกระทำ ส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนด้วยการทำงานเป็นกลุ่ม เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดค้นหาสาเหตุ เหตุผล ความเป็นไปของสิ่งที่เรียน มีส่วนร่วมในการวางแผน การดำเนินกิจกรรม และการประเมินผลการเรียนการสอน สร้างความสัมพันธ์ของเนื้อหาและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ เป็นต้น

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 437359เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2011 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท