ประสบการณ์งานคุมประพฤติต่างแดน


งานคุมประพฤติ กระบวนงานที่ทันสมัย การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด

ศิริพงศ์  บรรจงแก้ว[1]

ประสบการณ์งานคุมประพฤติในต่างแดน

          สวัสดีครับทุกท่าน ต้องขอฝากเนื้อฝากตัวในฐานะผู้เขียนหน้าใหม่ เนื่องจากเพิ่งจะได้รับการทาบทามให้เขียนเรื่องเล่าในหัวข้อ “ประสบการณ์จากการปฏิบัติงานคุมประพฤติ” ตลอดจนสิ่งที่ได้เคยไปสัมผัสด้วยตนเอง สิ่งที่เคยอ่าน สิ่งที่เคยรับฟังมาตลอดระยะเวลา ๒๐ ปี โดยเฉพาะการไปศึกษาดูงานต่างประเทศให้เอามาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และติดต่อสื่อสารกับผู้อ่านที่มีรสนิยมเดียวกัน  ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนมีความปรารถนามานานแล้ว แต่ผู้เขียนยังไม่เคยได้รับโอกาส ดังนั้น เพื่อให้สมกับการรอคอย เรามาเริ่มกันเลยนะครับ

          ในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับเกร็ดความรู้งานคุมประพฤติต่างประเทศ โดยเป็นประสบการณ์ตรงจากการศึกษาดูงานต่างประเทศที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งผู้เขียนเคยได้รับทุนพัฒนาข้าราชการประเภท การฝึกอบรม ศึกษาดูงานต่างประเทศ จากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมด้านการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด (Correctional Practice) ที่ สถาบันวิชาการด้านการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด (The Brush Farm Corrective Service Academy) รัฐนิวเซ้าท์เวลล์ ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ – ๓ กรกฏาคม ๒๕๕๐ รวม ๒๒ สัปดาห์ โดยจะนำเสนอในรูปแบบของการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างในแต่ละประเด็นว่า ประเทศอื่นๆเขาทำอะไร มีเหตุผลใดที่สนับสนุน และผู้เขียนมีมุมมองข้อเสนอแนะอย่างไร โดยผู้เขียนจะทำหน้าที่เสมือนหนึ่งพาท่านผู้อ่านเข้าไปเยี่ยมชมสำนักงานคุมประพฤติของประเทศเขา ซึ่งจะค่อยๆฉายภาพให้เห็นโดยเริ่มกันตั้งแต่ สถานที่ตั้ง ประตูทางเข้า สิ่งอำนวยความสะดวก งานภายในแต่ละส่วน การออกไปปฏิบัติงานของพนักงานคุมประพฤติ กิจกรรมแก้ไขฟื้นฟู จนกระทั่งเดินกลับออกมาจากสำนักงานกันเลยทีเดียว ซึ่งอาจจะต้องใช้เนื้อที่หลายตอน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้อ่านและเพื่อนๆชาวคุมประพฤติได้นำไปคิดต่อว่าเราจะพัฒนาระบบงาน ให้การปฏิบัติงานเกิดความสะดวก คล่องตัว ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการกระทำผิดที่มีความสลับซับซ้อน และการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดที่พนักงานคุมประพฤติจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพได้มากขึ้นเพียงใด

          ๑. สำนักงานคุมประพฤติ ( The Attendance Centre)

ประเด็นแรกที่ผู้เขียนขอกล่าวถึงในด้านสำนักงานคือ สถานที่ตั้ง สิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และการให้การบริการ ภาพสำนักงานคุมประพฤติที่เราเห็นจนชินตาคือ ห้องที่ได้รับการจัดแบ่งให้เป็นสำนักงานภายในอาคารศาล อาคารศูนย์ราชการประจำจังหวัด อาคารพาณิชย์เช่า หรืออาคารสำนักงานที่กรมคุมประพฤติมีงบประมาณในการจัดสร้างเป็นของตนเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสถานที่สำหรับทำงานของบรรดาเจ้าหน้าที่ก็คงจะต้องมีพื้นที่เป็นสัดส่วน แต่ต่างกันตรงที่สถานที่ตั้งของสำนักงานคุมประพฤติ หรือศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู ส่วนใหญ่จะอยู่ในแหล่งย่านการค้า ศูนย์กลางการเดินทางของแต่ละเมือง หรืออาจจะตั้งอยู่ในอาคารสำนักงานสูงเสียดฟ้า เอาเป็นว่าอย่างน้อยก็ต้องอยู่แถวๆสถานีรถโดยสารประจำทาง หรือรถไฟในระยะเดินถึงสัก ๕ – ๑๐ นาที เนื่องจากเป็นการบริการต่อผู้รับบริการคือประชาชนที่เป็นผู้กระทำผิด และเพื่อไม่ให้ผู้มาใช้บริการเกิดเสียงบ่นว่าการเดินทางไม่สะดวกต่อการมาพบเจ้าหน้าที่ หรือการเข้าร่วมโปรแกรมต่างๆที่สำนักงานจัดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการปฏิบัติตามเงื่อนไขของผู้กระทำผิด และยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอีกด้วย ก็อย่างว่าละครับ บริการด้านการขนส่งสาธารณะของต่างประเทศสะดวกสบายมากกว่าของไทยเราโขทีเดียว จะเดินทางไปไหนก็สะดวกสบาย ไปถึงยังจุดหมายปลายทางได้ทุกที่ตามเวลาที่กำหนด แม้จะใช้บริการรถเมล์โดยสารก็ตาม

          ประเด็นที่สองคือ เรื่องของการจัดการด้านความปลอดภัย บริเวณด้านหน้าสำนักงานจะจัดแบ่งส่วนประตูการเดินเข้าออกสำนักงาน ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นระบบที่มีความแข็งแรงมั่นคง มีระบบความปลอดภัยด้วยคีย์การ์ดหรือกดรหัสผ่าน และพื้นที่การให้บริการระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ที่มาติดต่อก็จะแบ่งไว้อย่างชัดเจน โดยผู้มาติดต่อจะสามารถเดินเข้ามาพบเจ้าหน้าที่ในห้องที่เป็นสัดส่วนเฉพาะ (ทั้งนี้เพื่อให้ผู้มาติดต่อมีความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะผู้เสียหายสามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ได้อย่างเต็มที่) ไม่สามารถเดินเข้ามานั่งที่โต๊ะประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่เหมือนอย่างของบ้านเราที่มีสำนวนที่มีความสำคัญ มีเอกสารที่เป็นความลับกองอยู่เต็มโต๊ะ บางครั้งยังนั่งหันหลังชนกันกับเจ้าหน้าที่โต๊ะด้านหน้าเสียอีก หากผู้กระทำผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดมีอาการคลุ้มคลั่งหยิบเหล็กแทงสำนวนขึ้นมาเป็นอาวุธ จับเจ้าหน้าที่เป็นตัวประกัน คิดดูเถอะครับว่าจะโกลาหลขนาดไหน นึกแล้วก็น่าหวาดเสียวนะครับ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทุกคนที่เข้าไปในห้องพูดคุย จะมีอุปกรณ์สำหรับส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือรูปร่างคล้ายๆกับเพจเจอร์เหน็บไว้ที่เอวโดยตลอด เพื่อส่งสัญญาณเวลามีเหตุฉุกเฉินไว้ด้วย เรื่องแบบนี้เรามักจะคิดว่าไม่สำคัญอะไรก็ได้ แต่บ้านเมืองเขาให้ความสำคัญกับชีวิตของเจ้าหน้าที่เป็นอันดับหนึ่งนะครับ

          ประเด็นต่อมาคือ สิ่งอำนวยความสะดวก ตั้งแต่อุปกรณ์ประจำสำนักงานที่อยู่ในสภาพใหม่ มีประสิทธิภาพสูง เครื่องคอมพิวเตอร์ประจำโต๊ะที่มีความพร้อมติดตั้งอยู่ก่อนที่จะรับเจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติงานเสียอีก โทรศัพท์ประจำโต๊ะที่ไว้ใช้โทรติดต่อประสานงานได้อย่างอิสระ โทรศัพท์มือถือที่มีอยู่อย่างเพียงพอและใช้ฟรีเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่เวลาที่ต้องออกเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่นอกสำนักงาน รถยนต์ประจำสำนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถเก๋งรุ่นใหม่ๆเป็นระบบเช่าใช้ แต่เจ้าหน้าที่ต้องขับเอง และจะมีอายุการใช้งานนับจากป้ายแดงไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ กิโลเมตร และเป็นหน้าที่ของบริษัทผู้ให้เช่าที่ต้องหาคันใหม่มาทดแทน ไม่ต้องซ่อมหรือคอยลุ้นกับความปลอดภัยในชีวิตเวลาออกไปปฏิบัติหน้าที่

          นอกจากนี้ ยังมีการจัดพื้นที่อีกส่วนหนึ่งเป็นห้องประชุม จำนวน ๓ – ๔ ห้อง ที่มีขนาดความจุประมาณ ๑๕ – ๒๐ คน มีเครื่องฉายภาพ เครื่องขยายเสียงอย่างเพียบพร้อม เพื่อการจัดกิจกรรมตามโปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ที่มักจะจัดขึ้นหลังเลิกงาน ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ – ๒๐.๓๐ นาฬิกา ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุผลของการอำนวยความสะดวก ให้กับผู้กระทำผิด ไม่ต้องเสียเวลางาน และเป็นการลดอัตราการผิดเงื่อนไขได้ดีอีกทางหนึ่งด้วย หากเราจะลองนำมาปรับใช้ก็น่าจะลองดูนะครับ

น่าเสียดายนะครับที่เพิ่งจะคุยกันได้เพียงเรื่องเดียว ยังมีอีกหลายเรื่องที่อยากจะคุยต่อ ฉบับนี้เนื้อที่เพียงเท่านี้ เอาไว้ติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า ส่วนจะเป็นเรื่องใดต้องขออุบไว้ก่อนครับ



[1] พนักงานคุมประพฤติชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนา กรมคุมประพฤติ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต (พัฒนาสังคม) เกียรตินิยมอันดับสอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Cert  IV in Correctional Practice, The Brush Farm Corrective Service Academy, New South Wales, Sydney, Australia.

MA. In Criminology, The University of Kent, United Kingdom.

หมายเลขบันทึก: 437352เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2011 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 06:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เดี๋ยวจะมารออ่านนะครับ

พ่อเก่งมากค่ะ สู้สู้ ^O^///

เก่งมากเลยค่ะ พ่อเปล ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท