แผนการจัดกิจกรรมแนะแนว ค่านิยมในการดำเนินชีวิต


ค่านิยมคือ สิ่งที่บุคคลให้คุณค่าและเป็นแรงจูงใจในการกระทำสิ่งต่างๆ ดังนั้นการตระหนักรู้และพัฒนาค่านิยมของตนให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ทำให้นักเรียนสามารถพัฒนาตนได้เต็มตามศักยภาพ

แผนการจัดกิจกรรมแนะแนว 

เรื่อง  ค่านิยมกับคุณค่าของชีวิต

หน่วยการจัดกิจกรรม ค่านิยมกับคุณค่าของชีวิต   ระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่  5       เวลา 3 ชั่วโมง

 ---------------------------------------------------------------------------------------------

1. สาระสำคัญ

            ค่านิยมคือ สิ่งที่บุคคลให้คุณค่าและเป็นแรงจูงใจในการกระทำสิ่งต่างๆ ดังนั้นการตระหนักรู้และพัฒนาค่านิยมของตนให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ทำให้นักเรียนสามารถพัฒนาตนได้เต็มตามศักยภาพ

2.  จุดประสงค์การเรียนรู้

            2.1   บอกค่านิยมในการดำเนินชีวิตของตน

            2.2   บอกแนวทางการพัฒนาตนให้สอดคล้องกับค่านิยมอย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์

3.  สาระการเรียนรู้

            ค่านิยมในการดำเนินชีวิต

4.  วิธีการจัดกิจกรรม

ชั่วโมงที่ 1 

4.1  ครูชี้แจงว่ากิจกรรมวันนี้ เป็นกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนมีความเข้าใจถึงความสำคัญของความคิด ความเชื่อของนักเรียนที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกวิธีการดำเนินชีวิต 

4.2  ครูเปิดสื่อภาพนิ่ง (PowerPoint) “ชีวิตในทะเลทราย”  และเล่าสถานการณ์สมมติ เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจดำเนินชีวิตในภาวะวิกฤต  โดยเล่าที่ละย่อหน้า แล้วให้นักเรียนตอบคำถามที่ละย่อหน้า จนจบสถานการณ์ “ชีวิตในทะเลทราย”  และให้นักเรียนจัดเรียงลำดับสัตว์ที่ถูกเลือกออกไปก่อนหลัง ตามใบงาน “ชีวิตในทะเลทราย”

4.3  ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปราย สถานการณ์ “ชีวิตในทะเลทราย”  โดยให้นักเรียนร่วมกันแสดงเหตุผลของการตัดสินใจเลือก เพื่อถามเหตุผลของการเลือกในลำดับแรกๆ    แล้วสำรวจการตัดสินใจเลือกครั้งสุดท้ายของนักเรียน  ตามคำถามว่า     *อันดับแรกนักเรียนเลือกสัตว์ตัวไหนก่อน เพราะอะไร  และสุดท้ายนักเรียนเลือกสัตว์ตัวไหนเดินไปกับนักเรียน เพราะอะไร?

4.4  ครูกล่าวนำ  “จากการอภิปรายร่วมกันนักเรียนได้เรียนรู้อะไรบ้าง?” และครูสรุปเพิ่มเติมดังนี้

            “คนแต่ละคนมีการแสดงเหตุผล เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของตนเอง”

            “เหตุผลสนับสนุนการตัดสินใจเกิดจากความคิดความเชื่อที่ยึดมั่นถือมั่น”

            “ลักษณะของเหตุผลที่กล่าวอ้าง เช่น เลือก เพราะมีประโยชน์  และไม่เลือก เพราะไม่มีประโยชน์   ซึ่งเป็นการประเมินถึงคุณค่าต่อสิ่งนั้น”

4.5  ครูให้โอกาสนักเรียนในการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจเลือก ตามใบงาน “ชีวิตในทะเลทราย” 

4.6  ครูสุ่มนักเรียน 3-5 คน ให้บอกการตัดสินใจเลือกในครั้งที่ 2 ว่าเปลี่ยนแปลงหรือเหมือนเดิมและเหตุผลการตัดสินใจ  และครูสรุปดังนี้ “การเปลี่ยนแปลงค่านิยมขึ้นอยู่กับเหตุผล ไม่ใช่ความเชื่อ หรือความศรัทธา”

4.7  ครูบอกความหมายของ สถานการณ์ “ชีวิตในทะเลทราย”  เพื่อสร้างบรรยากาศสนุกสนาน ดังนี้

                         ทะเลทราย        คือ        ตัวแทนอุปสรรค ความยากลำบาก

                         สัตว์                 คือ        ตัวแทนของสิ่งต่อไปนี้

                         สิงโต                แทน      ความภาคภูมิใจ

                         ลิง                  แทน       น้องๆ บริวารของคุณ

                         แกะ                 แทน      มิตรภาพ ความสัมพันธ์ฉันเพื่อน

                         วัว                    แทน      ความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์

                         ม้า                   แทน      อารมณ์ ความรู้สึก กิเลสตัณหา

                         และกล่าวสรุปว่า  “เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค ความทุกข์ยาก คุณจะยอมเสียสิ่งเหล่านี้เพื่อแลกเปลี่ยนกับการหลุดพ้นความยากลำบาก ตามลำดับ และสัตว์ตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่ คือ ตัวแทนของสิ่งที่คุณยึดมั่นมากที่สุด ซึ่งคุณยอมเสียสละทุกสิ่ง เพื่อรักษามันไว้กับตัวคุณ”

4.8 ครูให้นักเรียนสรุปสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้จากกิจกรรม “ชีวิตในทะเลทราย”  และครูสรุปเพิ่มเติม  ดังนี้    

                         “ความรู้สึกพอใจ เพราะเห็นประโยชน์ และให้คุณค่าต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนยึดมั่นเป็นความคิด ความเชื่อและเลือกปฏิบัติตาม คือ ค่านิยม”

                          “ค่านิยมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน”

                          “การมีค่านิยมต่างกันทำให้คนมีความเชื่อ ความศรัทธาต่างกัน”

                          “เมื่อค่านิยมต่างกันก็ทำให้คนมีพฤติกรรมต่างกัน”

                         “การตัดสินใจของแต่ละคนขึ้นอยู่กับค่านิยม”      

ชั่วโมงที่ 2 

4.9  ครูชี้แจงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมวันนี้ เพื่อให้นักเรียนสำรวจสิ่งที่ตนเองให้ความหมายให้คุณค่ามากที่สุด ว่ามีเรื่องใดบ้าง  เพราะเหตุใดจึงให้ความหมายกับสิ่งเหล่านั้น และสิ่งที่ให้ความสำคัญที่สุดเกี่ยวข้องกับเป้าหมายชีวิตของเราอย่างไร

4.10  ครูทบทวนความหมายของค่านิยม และยกตัวอย่างค่านิยม โดยเปิดสื่อภาพนิ่ง (PowerPoint)  ชุด “ค่านิยม”  และอธิบายความสำคัญของค่านิยมที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกวิธีการดำเนินชีวิต ตามตัวอย่างของสถานการณ์ “ชีวิตในทะเลทราย”  เพื่อให้นักเรียนเห็นความจำเป็นในการสำรวจค่านิยมในการดำเนินชีวิตของตนเอง

4.11  ครูแจกแบบสำรวจและกระดาษคำตอบค่านิยมในการดำเนินชีวิตให้นักเรียน และ ครูอธิบายวิธีการทำแบบสำรวจ จากนั้นให้นักเรียนลงมือทำจนเสร็จ

4.12  ครูอธิบายวิธีการตรวจแบบสำรวจ การวิเคราะห์คะแนนแบบสำรวจ การจัดเรียงอันดับค่านิยมที่นักเรียนใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ตามคำชี้แจงในแบบสำรวจ

4.13  ครูสำรวจค่านิยมที่เป็นหลักในการดำเนินชีวิตของนักเรียนทั้งห้อง

4.14  ครูชวนนักเรียนคุยโดยใช้คำถามชวนคิด  เชื่อมโยงกับค่านิยมหลักของนักเรียน

                      คำถามชวนคิด

                        *เมื่อจัดลำดับออกมาแล้ว รู้สึกแปลกใจกับการจัดอันดับของตนเองบ้างไหม เพราะอะไร?

                         *การมองเห็นสิ่งใดสำคัญสำหรับเรา และสิ่งใดไม่มีความสำคัญสำหรับเรามีประโยชน์หรือไม่ และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร ?

                         *เพราะเหตุใด  ที่นักเรียนในห้องนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ แตกต่างกัน?

                         *จำเป็นหรือไม่ที่คนที่เป็นเพื่อน คนในครอบครัวเดียวกัน หรือคนรักกันต้องให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ เหมือนกัน เพราะเหตุใด?

                         *เป็นไปได้หรือไม่ว่า ค่านิยมที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดอาจเปลี่ยนแปลงได้เพราะเหตุใด?

                         *เรากำลังทำ หรือให้เวลากับค่านิยมที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด อยู่หรือไม่ อย่างไร?

4.15  ครูให้นักเรียนแต่ละคนเขียนบรรยายสั้นๆในสองประเด็นลงในกระดาษA4 ภายในเวลา  7 นาที

                         *ค่านิยมที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดสะท้อนอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเราหรือไม่ อย่างไร? (ให้ยกตัวอย่างพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่บ่งบอกค่านิยมหลักของตนเอง)

                         *คิดว่าตนเองให้เวลา ให้ความสนใจ หรือให้โอกาสทำในสิ่งที่เราคิดว่ามีความสำคัญที่สุดในชีวิต  หรือทำเพื่อไปให้ถึงสิ่งที่เราให้ความสำคัญ มากน้อยเพียงใด  และทำอย่างไร ?

4.16  ครูขออาสาสมัครอ่านสิ่งที่ตนเองเขียน 3-4 คน

4.17  ครูชวนนักเรียนสรุปว่า เราได้อะไรจากกิจกรรมวันนี้ และครูสรุปเพิ่มเติมดังนี้

            “ทุกคนมีสิ่งที่ตนเองให้คุณค่า ให้ความสำคัญแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม การอบรมเลี้ยงดู  รวมทั้งอิทธิพลจากเพื่อน สังคม ทั้งนี้การให้คุณค่ากับเรื่องต่างๆอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามวัย เวลา และประสบการณ์ชีวิตที่มีมากขึ้น  รวมทั้งอาจเป็นผลมาจากกลุ่มเพื่อน อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม  หรือคนที่มีความสำคัญสำหรับเรา”

                         “เมื่อคนเราต้องปฏิบัติตัวต่างไปจากสิ่งที่ยึดถือ ให้คุณค่า ก็อาจเกิดความขัดแย้งในตัวเองได้ นอกจากนี้ เราไม่อาจตัดสินคนอื่นโดยใช้เกณฑ์การให้คุณค่าของตนเองได้ เพราะแต่ละคนล้วนมีสิ่งที่ส่งผลต่อความคิด ความเชื่อ และการให้คุณค่า หรือค่านิยมต่อเรื่องต่างๆ ในชีวิตต่างกัน”

ชั่วโมงที่ 3 

4.18    ครูชี้แจงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมวันนี้ เพื่อให้นักเรียนร่วมกันระดมสมองค้นหาแนวทางพัฒนาตนเองตามค่านิยมที่ตนเองให้ความสำคัญอย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์  เพื่อให้นักเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพสูงสุดของตนเอง

4.19    ครูทบทวนผลการสำรวจค่านิยมที่นักเรียนใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ในอันดับหนึ่ง ว่ามีอะไรบ้าง  เขียนไว้บนกระดานดำ

4.20    ครูเลือกค่านิยม 1 ค่านิยม (เช่น  ค่านิยมในเรื่องของค่าตอบแทน ความร่ำรวย) แล้วถามนักเรียน ว่า *วิธีที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายของค่านิยมดังกล่าว ทำอย่างไรได้บ้าง?*  ให้นักเรียนช่วยกันตอบและครูเขียนคำตอบบนกระดานดำ

4.21   ครูชวนนักเรียนพิจารณาถึงผลกระทบของวิธีการต่างๆ ที่นักเรียนนำเสนอในข้อ 4.20 (ถ้าเป็นค่านิยมความร่ำรวย ให้แจกตัวอย่างวิถีของค่านิยมความร่ำรวยและวิถีของค่านิยมความร่ำรวยอย่างสมถะให้นักเรียนศึกษาเปรียบเทียบ)

4.22   ครูชวนนักเรียนมองตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า โดยสุ่มนักเรียน 2-3 คนให้นักเรียนยกตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าที่นักเรียนเคยพบเห็น 

4.23    ครูยกตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า โดยเปิดวีดิทัศน์ ชุด  1 “แม่ต้อย”  หญิงสาวที่มีชีวิตอยู่ได้ 2  ปี เพราะเป็นโรคมะเร็งแต่ มีความเชื่อว่า 2 ปีเป็นเวลาที่ตนเองจะสามารถสร้างประโยชน์และนำพาความฝันให้แก่เด็กๆ ที่ถูกทิ้งได้อีกมาก,  วีดิทัศน์ ชุด 2  “ซูซาน”  หญิงสาวร่างอ้วน ขาว มีความสามารถร้องเพลงได้อย่างไพเราะ  มีความมานะพยายามเพื่อไปสู่เป้าหมายการประสบความสำเร็จในการร้องเพลง และที่สุดก็ทำได้สำเร็จ  ฯลฯ  เพื่อเป็นตัวอย่างให้นักเรียนมองเห็นหนทางชีวิตที่มีคุณค่า และเป็นประโยชน์

4.24 ครูแบ่งกลุ่มนักเรียนตามลักษณะค่านิยมที่นักเรียนให้ความสำคัญมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง กลุ่มละ  5-7 คน  แจกกระดาษ A4 กลุ่มละ 1 แผ่น ให้ช่วยกันระดมพลังสมอง หาวิธีการพัฒนาตนเองตามค่านิยมของกลุ่ม ที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ ให้เวลา 10 นาที และส่งตัวแทนออกมารายงานหน้าชั้นเรียน

4.25  หลังจากที่แต่ละกลุ่มรายงานเสร็จครูชวนนักเรียนแต่ละกลุ่มคิด โดยถามตามประเด็นต่อไปนี้

                      คำถามชวนคิด

                        *นักเรียนรู้สึกอย่างไรกับวิธีการดังกล่าว?

                        *นักเรียนคิดว่าวิธีที่กลุ่มนำเสนอสามารถทำให้เขาบรรลุผลตามเป้าหมายอะไรของค่านิยม

                        *วิธีการดำเนินชีวิตที่แต่ละกลุ่มนำเสนอ สะท้อนภาพการดำเนินชีวิตของเราด้วยหรือไม่

                        *วิธีการที่แต่ละกลุ่มนำเสนอ ข้อใดที่อาจส่งผลกระทบต่อค่านิยมของตนเอง

4.26  ครูชวนนักเรียนสรุปว่า เราได้อะไรจากกิจกรรมวันนี้ และครูสรุปเพิ่มเติมดังนี้

                        “การได้เรียนรู้และเข้าใจในความคิด ความเชื่อหรือค่านิยมที่ตนเองยึดถือปฏิบัติทำให้เรามีเป้าหมายของชีวิต”

                       “เป้าหมายชีวิตเป็นสิ่งจูงใจให้เราขับเคลื่อนตนเองไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น”

                       “ค่านิยมที่แต่ละคนยึดถือ เป็นความคิด ความเชื่อของแต่ละบุคคล มิสามารถประเมินว่าผิด หรือถูก”

                        “การดำเนินชีวิตอย่างเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น เป็นการเพิ่มคุณค่าชีวิต”

4.27 ครูอ่านคำกลอนของท่านพุทธทาส ภิกขุ  ดังนี้

           “เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง        เหมือนยูง  มีดี  ที่แววขน

            ถ้าใจต่ำ เป็นได้ เพียงแต่คน          ย่อมเสียที ที่ตน   ได้เกิดมา

            ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ            ถ้ามีครบ ควรเรียก  มนุสสา

            เพราะทำถูก พูดถูก ทุกเวลา          เปรมปรีดา คืนวัน สุขสันต์จริง”

5. สื่อ/อุปกรณ์

            5.1   สื่อ Power Point เรื่อง  ชีวิตในทะเลทราย

            5.2   ใบงาน ชีวิตในทะเลทราย   

            5.3   สื่อ PowerPoint เรื่อง  ค่านิยมในสังคมปัจจุบัน

            5.4   แบบสำรวจค่านิยมในการดำเนินชีวิต

5.5   วีดิทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า  (วีดิทัศน์ ชุด   “แม่ต้อย” ,  “ซูซาน”  ฯลฯ )

5.6   ใบความรู้ ตัวอย่างวิถีค่านิยม

5.7   กระดาษ A4  (รายงานการพัฒนาตนเองตามค่านิยม)

6. การประเมินผล

          6.1 วิธีการประเมิน

                              6.1.1  สังเกตการณ์ปฏิบัติกิจกรรม

                              6.1.2 ตรวจผลงาน

          6.2 เกณฑ์การประเมิน

                          6.2.1  สังเกตการปฏิบัติกิจกรรม

                        

เกณฑ์

ข้อความบ่งชี้

ผ่าน

-พูดลักษณะความเชื่อ ความคิดที่ตนเองยึดถือได้

-บอก(พูด/เขียน)ค่านิยมในการดำเนินชีวิต

-ตั้งใจทำงานเสร็จตามกำหนด และส่งใบงาน

ไม่ผ่าน

-ไม่พูดลักษณะความเชื่อ ความคิดที่ตนเองยึดถือได้

-ไม่บอก(พูด/เขียน)ค่านิยมในการดำเนินชีวิต

-ไม่ตั้งใจทำงานตามที่กำหนด และไม่ส่งใบงาน

                        6.2.2  ตรวจใบงาน 

        

เกณฑ์

ข้อความบ่งชี้

ผ่าน

-บอก/เขียนแนวทางการพัฒนาตนเองตามค่านิยมอย่างเหมาะสม

ไม่ผ่าน

-ไม่บอก/เขียนแนวทางการพัฒนาตนเองตามค่านิยมอย่างเหมาะสม

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 437292เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2011 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอขอบคุณสำหรับแนวทางดีดีที่จะได้นำไปสู่การปฏิบัติที่ดี...ขอบคุณค่ะ

ธัญญารัตน์ พิลาบุตรธนานันท์


ดีใจค่ะ ที่มีข้อมูลให้สืบค้น  ขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง

-ขอบคุณมากสำหรับสิ่งดี ๆ สำหรับครูแนะแนว มีอะไรดีๆ ก็มาแบ่งสมาชิกอย่างนี้ดีแล้วค่ะ ขอบคุณมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท