ความเป็นครูตามแนวพุทธ (3)


พุทธจิตวิทยาสำหรับครู

พุทธจิตวิทยากับการเรียนรู้ 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์จักรแก้ว นามเมือง

มจร. วิทยาเขตพะเยา

          การเรียนรู้ในพุทธศาสนา เป็นการเรียนรู้ได้จากการมองทุกสิ่งทุกอย่างตามสภาวะที่เป็นจริง เป็นการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดปัญญา หรือการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริง และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีเหตุผล หลักการเรียนรู้ตามแนวพระพุทธศาสนามีดังนี้

          ๑. วิธีการเรียนรู้แบบพุทธ พระพุทธเจ้าแสดงวิธีการเรียนรู้ว่า มีองค์ประกอบ ๕ ประการคือ[1]

              ๑.๑ การฟัง เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการฟัง โดยการฟังด้วยความตั้งใจ ให้ความสนใจ เรียกว่า การฟังโดยเคารพ

              ๑.๒ การจำได้ เป็นการเรียนรู้ที่เมื่อได้ฟัง ได้อ่าน หรือได้ฝึกปฏิบัติแล้วจำได้ การจำได้ (สัญญา) หมายถึง ความสามารถในการรับเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านมาทางประสบการณ์ไว้ได้ และเมื่อนำมาใช้ก็สามารถระลึกได้

              ๑.๓ การสาธยาย เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการอ่านทบทวนบ่อย ๆ การพูดถึงเนื้อหาวิชานั้นบ่อย ๆ การได้บรรยายเรื่องนั้นบ่อย ๆ

              ๑.๔ การเพ่งพินิจด้วยใจ เป็นการเรียนรู้โดยการรับรู้ด้วยใจ หรือเข้าใจอย่างลึกซึ่ง เมื่อเรียนรู้แล้วนำไปคิดวิเคราะห์ข้อเท็จจริง อ่านเนื้อหาวิชาให้เข้าใจอย่างชัดเจน เป็นต้น

              ๑.๕ การเข้าถึงความรู้ด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง เป็นการเรียนรู้ที่การเข้าถึงความรู้ด้วยเหตุผล วิเคราะห์ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก เป็นการเข้าถึงความรู้อย่างแท้จริง 

          นอกจากนั้นการเรียนรู้ตามแนวพุทธได้กล่าวถึง การเรียนรู้ตามหลักบุพนิมิตแห่งการศึกษา ซึ่งกล่าวไว้แล้วในเรื่องจิตวิทยาการเรียนรู้ จึงไม่ขอกล่าวในที่นี้ 

 

พุทธจิตวิทยากับการเรียนการสอน     

           ในการจัดการเรียนการสอนในยุคสังคมข้อมูลข่าวสารมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยหลักแนวคิดทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เช่น การใช้หลักความเชื่อเพื่อเลือกรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นสาระ เป็นประโยชน์ การใช้หลักอริยมรรคและไตรสิกขาในการแสวงหาองค์ความรู้ การใช้หลักภาวนา ๔ เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้แนวทางแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักอริยสัจ ๔ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

            ๑. หลักความเชื่อทางพระพุทธศาสนากับการเรียนการสอน

 

                   การรับรู้ข้อมูลข่าวสารมีมากมาย หากเราเกิดความเชื่อโดยไม่มีหลักความเชื่อที่ไม่ถูกต้องก็จะรับรู้ในสิ่งที่ผิด ๆ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และอาจเป็นโทษต่อตนเองด้วย ดังนั้นแนวความคิดหลักความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “กาลามสูตร” จึงเป็นเกราะป้องกันอย่างหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้เราเชื่ออย่างหลงงมงาย แต่เป็นความเชื่อที่ก่อให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์และมีความสุขในที่สุด หลักความเชื่อทางพระพุทธศาสนามีดังนี้

                    หลักการทางพระพุทธศาสนา มีหลักความเชื่อเช่นเดียวกับหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้สอนให้มนุษย์เชื่อและศรัทธาอย่างงมงายในอิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทศนาปาฏิหาริย์ แต่สอนให้ศรัทธาในอนุสาสนีปาฏิหาริย์  ที่จะก่อให้เกิดปัญญาในการแก้ทุกข์แก้ปัญหาชีวิต ไม่สอนให้เชื่อให้ศรัทธาในสิ่งที่อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัสเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ สอนให้มนุษย์นำเอาหลักศรัทธาโยงไปหาการพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ ด้วยปัญญา และด้วยการปฏิบัติ ดังหลักของความเชื่อใน “กาลามสูตร” คือ

               อย่าเชื่อ          เพียงเพราะให้ฟังตามกันมา

               อย่าเชื่อ          เพียงเพราะได้เรียนตามกันมา

               อย่าเชื่อ          เพียงเพราะได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา

               อย่าเชื่อ          เพียงเพราะเสียงเล่าลือ

               อย่าเชื่อ          เพียงเพราะอ้างตำรา

               อย่าเชื่อ          เพียงเพราะตรรกะ หรือนึกคิดเอาเอง

               อย่าเชื่อ          เพียงเพราะอนุมานหรือคาดคะเนเอา

               อย่าเชื่อ          เพียงเพราะคิดตรองตามแนวเหตุผล

               อย่าเชื่อ          เพียงเพราะตรงกับทฤษฎีของตนหรือความเห็นของตน

               อย่าเชื่อ          เพียงเพราะรูปลักษณะน่าเชื่อ

               อย่าเชื่อ          เพียงเพราะท่านเป็นสมณะหรือเป็นครูอาจารย์ของเรา

               ในหลักกาลามสูตรนี้ พระพุทธเจ้ายังตรัสต่อไปว่า จะต้องรู้เข้าใจด้วยว่า สิ่งเหล่านี้เป็นกุศล หรืออกุศล ถ้ารู้ว่าเป็นอกุศล มีโทษ ไม่เป็นประโยชน์ ทำให้เกิดทุกข์ พึงละเสีย ถ้ารู้ว่าเป็นกุศล มีคุณ เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อความสุข ก็ให้ถือปฏิบัติ นั่นคือศรัทธาหรือความเชื่อที่ก่อให้เกิดปัญญา

               การสอนให้ผู้เรียนรู้จักเลือกรับรู้และเชื่อข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ โดยใช้ปัญญา จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นครูควรสอน “สิ่งที่เป็นจริง เป็นประโยชน์ และก่อให้เกิดความสุขใจแก่ผู้เรียน” จึงจะถือว่าเป็นการสอนที่ดี

 

            ๒. หลักอริยมรรค ๘ และไตรสิกขากับการเรียนการสอน

 

                   อริยมรรค ๘ และไตรสิกขา เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน เพราะหลักปฏิบัติของหลักธรรมเหล่านี้ เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดี และเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับสังคมไทยโดยมีหลักแนวคิดดังนี้

                    อริยมรรค ๘ เป็นแกนกลางในการจัดการศึกษาของทุก ๆ วิชา เพราะหลักการของอริยมรรค อยู่ที่ สัมมา คือ ความถูกต้องชอบธรรม ในลีลาชีวิตของมนุษย์ทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์ ล้วนดำเนินไปในกรอบแห่งอริยมรรคทั้งสิ้น หากลีลาเหล่านั้นดำเนินไปผิดทาง ชีวิตก็ต้องรับผลแห่งความผิดนั้นอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีทางหลีกเลี่ยง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าได้ใช้ลีลาชีวิตให้ถูกต้องในทุกขั้นตอน ผลออกมาเป็นความไร้ทุกข์ อย่างยุติธรรม ไม่มีใครจะมาเปลี่ยนแปลงผลแห่งความถูกต้องเหล่านั้นได้  อริยมรรค เป็นเรื่องของความถูกต้องที่ครอบคลุมพฤติกรรมของมนุษย์ไว้อย่างครบถ้วน

                    ไตรสิกขา คือการศึกษา ๓ อย่าง ประกอบด้วยศีลสิกขา สมาธิสิกขา และปัญญาสิกขา การสรุปอริยมรรคลงในไตรสิกขา ก็จะเป็นภาพของหลักการของการศึกษา ที่ควรจะต้องสอดแทรกเข้าไปในทุกสาขาวิชา

ไตรสิกขา และอริยมรรค มีกระบวนการศึกษาดังแผนภาพต่อไปนี้ 

 

ตารางที่ ๑๑.๑ แสดงกระบวนการศึกษาตามหลักไตรสิกขาและอริยมรรค

 

กระบวนการศึกษา

เหตุที่กระทำ

ผลที่เกิดขึ้น

ไตรสิกขา

อริยมรรค

ปัญญาสิกขา

๑. สัมมาทิฏฐิ

 

๒. สัมมาสังกัปปะ

-ความเห็นชอบ เห็นว่าความดีต่างๆ มีอยู่จริง

-ดำริชอบ คิดในทางที่ถูกต้อง

-เจริญงอกงาม จนมีความพร้อมทางปัญญา

-รู้จักคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น

ศีลสิกขา

๓. สัมมาวาจา

๔. สัมมากัมมันตะ

 

๕. สัมมาอาชีวะ

-เจรจาชอบ พูดถ้อยคำที่ไม่มีโทษ

-กระทำชอบ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

-เลี้ยงชีพชอบ ประกอบอาชีพสุจริต

-มีความประพฤติดีงาม

-มีระเบียบวินัยที่ดีงาม

 

-มีอาชีพสุจริต มีความเป็นอยู่ที่ดี ที่เจริญ

จิตสิกขา

๖. สัมมาวายามะ

 

๗. สัมมาสติ

 

๘. สัมมาสมาธิ

-พยายามชอบ มีความเพียรพยายาม

-ระลึกชอบ รู้ตัวอยู่เสมอ

 

-ตั้งจิตชอบ มีจิตใจที่แน่วแน่

-มีความพร้อมทางด้านคุณธรรม

 

-มีคุณภาพจิตดี มีความเชื่อมั่น ตั้งมั่นในความดี

-มีสุขภาพจิตดี มีสมรรถภาพจิตดี

 

            ๓. หลักภาวนา ๔ กับการเรียนการสอน

                   หลักภาวนา ๔ สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีการพัฒนาทางกาย ทางอารมณ์ ทางสังคม และทางสติปัญญา ซึ่งหลักภาวนา ๔ เป็นหลักการในการพัฒนาตนเองตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนา ดังนี้

หลักความคิดพื้นฐานของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งก็คือ มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้สูงสุด ซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างของมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว หลักธรรมในการที่จะพัฒนาตนเอง  ตามหลักภาวนา ๔ ประกอบด้วย

                   ๑) กายภาวนา แปลว่า พัฒนากาย ได้แก่ การพัฒนาร่างกายให้แข็งแรง ไร้โรค มีสุขภาพดี และที่สำคัญก็คือการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เริ่มแต่ปัจจัย ๔ เป็นต้นไป อย่างถูกต้องดีงาม ในทางที่เป็นคุณประโยชน์ เช่น สัมพันธ์กับอาหาร โดยการกินเพื่อช่วยให้ร่างกายมีกำลัง มีสุขภาพดี ไม่ใช่เพื่อมุ่งความอร่อย อวดโก้ แสดงฐานะ   สัมพันธ์กับโทรทัศน์ โดยดูเพื่อติดตามข่าวสาร แสวงหาความรู้ ส่งเสริมปัญญา มิใช่เพื่อหมกมุ่นในความสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือเอาเป็นเครื่องมือเล่นการพนัน เป็นต้น

                   ๒) ศีลภาวนา แปลว่า พัฒนาศีล หมายถึงการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมของครอบครัว และทางสังคมให้เป็นไปด้วยดี เริ่มแต่ไม่ก่อการเบียดเบียน ไม่ทำความเดือนร้อนแก่บุคคลในครอบครัว ต่อผู้อื่นและสังคม ประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อครอบครัว ต่อผู้อื่น และต่อสังคม มีระเบียบวินัย ประกอบสัมมาชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร ฝึกฝนอบรมกายวาจาของตนให้ประณีต ปราศจากโทษ ก่อคุณประโยชน์ และเป็นเครื่องสนับสนุนการฝึกอบรมจิตใจยิ่ง ๆ ขึ้นไป

                    ๓) จิตภาวนา แปลว่า พัฒนาจิต คือ พัฒนาจิตใจให้มีคุณสมบัติดีงามพรั่งพร้อม ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น ๓ ด้านดังนี้คือ

                      ๓.๑) คุณภาพจิต คือ ให้มีคุณธรรมต่าง ๆ ที่เสริมสร้างจิตใจให้ดีงาม เป็นผู้มีจิตใจสูง ละเอียดอ่อน เช่น มีเมตตา มีความรักความเป็นมิตร มีกรุณา อยากช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ของผู้อื่น มีจาคะ คือมีน้ำใจเผื่อแผ่ มีคารวะ มีความกตัญญู รวมทั้งมุ่งพัฒนาบุคคลในสังคมให้มีจิตที่มีคุณภาพ เป็นต้น

                      ๓.๒) สมรรถภาพจิต คือ ให้เป็นจิตที่มีความสามารถ เช่น มีสติ มีวิริยะ คือ ความเพียร มีขันติ คือความอดทน มีสมาธิ คือ จิตตั้งมั่นแน่วแน่ มีสัจจะ คือความจริงจัง  มีอธิษฐาน คือ ความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ต่อจุดมุ่งหมาย เป็นจิตใจที่พร้อมและเหมาะที่จะใช้งานโดยเฉพาะงานทางปัญญา คือการคิดพิจารณาให้เห็นความจริงแจ่มแจ้งชัดเจน รวมทั้งการสร้างเกราะป้องกันสังคมโดยอาศัยหลักธรรมต่าง ๆ ดังกล่าว

                      ๓.๓) สุขภาพจิต คือ ให้เป็นจิตที่มีสุขภาพดี มีความสุขสดชื่น ร่าเริงเบิกบาน ปลอดโปร่ง สงบ ผ่องใส พร้อมที่จะยิ้มแย้มได้ มีปีติ ปราโมทย์ ไม่เครียด ไม่กระวนกระวายใจ ไม่คับข้องใจ ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง ไม่หดหู่โศกเศร้า เป็นต้น

                   ๔) ปัญญาภาวนา แปลว่า พัฒนาปัญญา คือพัฒนาความรู้ความเข้าใจของตนเอง ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง และใช้ความรู้แก้ปัญหา ทำให้เกิดสุขได้ เริ่มแต่รู้ เข้าใจศิลปวิทยา เรียนรู้ถูกต้องตามเป็นจริง ไม่บิดเบือนหรือเอนเอียงด้วยอคติ (ความลำเอียง) คิดวินิจฉัยใช้ปัญญาโดยบริสุทธิ์ใจ รู้เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง รู้จักแก้ไขปัญหาและทำการให้สำเร็จตามแนวทางของเหตุปัจจัย ตลอดจนรู้เท่าทันธรรมดาของสังขาร ถึงขั้นที่ทำให้มีจิตใจเป็นอิสระหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์โดยสิ้นเชิง

            ๔ แนวทางแก้ไขปัญหาทางพระพุทธศาสนากับการเรียนการสอน

                   สภาพการเรียนการสอนในยุคปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหามากมาย โดยเฉพาะทั้งปัญหาจากผู้เรียนที่จะต้องมีการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ปัญหาด้านการเรียน  ปัญหาที่เกิดจากสถาบันการศึกษา เช่น ความไม่พร้อมของสถานศึกษาทั้งด้านการบริหาร หลักสูตร และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมในทุก ๆ ด้านที่รุมเร้าอยู่ตลอดเวลา ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง หลักแนวคิดทางพระพุทธศาสนาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ หลักอริยสัจ ๔ ดังแนวคิดดังนี้

                   พระพุทธศาสนาเน้นการแก้ปัญหาด้วยการกระทำของมนุษย์ตามหลักของเหตุผล ไม่หวังการอ้อนวอนจากปัจจัยภายนอก เช่น เทพเจ้า รุกขเทวดา ภูตผีปีศาจ เป็นต้น จะเห็นได้จากตัวอย่างคำสอนในคาถาธรรมบท แปลความว่า

                    "มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว พากันถึงเจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าภูผา ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งแต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สรณะอันเกษม เมื่อยึดเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นสรณะ (ที่พึ่ง) ย่อมไม่สามารถหลุดพันจากความทุกข์ทั้งปวง…แต่ชนเหล่าใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ รู้เข้าใจอริยสัจ 4 เห็นปัญหา เหตุเกิดของปัญหา ภาวะไร้ปัญหา และวิธีปฏิบัติให้ถึงความสิ้นปัญหาจึงจะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้" ดังนั้นมนุษย์ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีการของมนุษย์ที่เพียรทำการด้วยปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย หลักการแก้ปัญหาด้วยปัญญาของมนุษย์คือ

                       ๑) ทุกข์ คือ การเกิดปัญหา หรือรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร

                      ๒) สมุทัย คือ การสืบหาสาเหตุของปัญหา

                      ๓) นิโรธ คือ กำหนดแนวทางหรือวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เหล่านั้น

                     ๔) มรรค คือ ปฏิบัติตามวิธีการให้ถึงการแก้ไขปัญหา หรือวิธีการดับปัญหาได้

หลักการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ ๔ นี้ มีคุณค่าเด่นที่สำคัญพอสรุปได้ดังนี้

                      ๑. เป็นวิธีการแห่งปัญญา ซึ่งดำเนินการแก้ไขปัญหาตามระบบแห่งเหตุผล เป็นระบบวิธีแบบอย่าง ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาใด ๆ ก็ตาม ที่จะมีคุณค่าและสมเหตุผล จะต้องดำเนินไปในแนวเดียวกันเช่นนี้

                      ๒. เป็นการแก้ปัญหาและจัดการกับชีวิตของตน ด้วยปัญญาของมนุษย์ โดยนำเอาหลักความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ไม่ต้องอ้างอำนาจดลบันดาลของตัวการพิเศษเหนือธรรมชาติ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ

                      ๓. เป็นความจริงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทุกคน ไม่ว่ามนุษย์จะเตลิดออกไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งที่อยู่ห่างไกลตัวกว้างขวางมากมายเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าเขายังจะต้องมีชีวิตของตนเองที่มีคุณค่าและสัมพันธ์กับสิ่งภายนอกเหล่านั้นอย่างมีผลดีแล้ว เขาจะต้องเกี่ยวข้องและใช้ประโยชน์จากหลักความจริงนี้ตลอดไป

                      ๔. เป็นหลักความจริงกลาง ๆ ที่ติดเนื่องอยู่กับชีวิต หรือเป็นเรื่องของชีวิตเองแท้ ๆ ไม่ว่ามนุษย์จะสร้างสรรค์ศิลปวิทยาการ หรือดำเนินกิจการใด ๆ ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของตน และไม่ว่าศิลปะ-วิทยาการ หรือกิจการต่าง ๆ นั้น จะเจริญขึ้น เสื่อมลง สูญสลายไป หรือเกิดมีใหม่มาแทนอย่างไรก็ตาม หลักความจริงนี้ก็จะคงยืนยงใหม่ และใช้เป็นประโยชน์ได้ตลอดทุกเวลา

 

          แนวคิดทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในทุก ๆ รายวิชา โดยเฉพาะหลักการสอนที่เป็นแนวปฏิบัติของครูทั้งในด้านคุณธรรม และวิธีการสอน ซึ่งหากครูนำไปประยุกต์ใช้จะส่งผลให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ และเกิดความรักความพึงพอใจในความเป็นครูอย่างแท้จริง โดยเฉพาะหลักกัลยาณมิตร นอกจากนั้นแนวทางในการนำองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นหลักศรัทธา หลักมรรคและไตรสิกขา และหลักอริยสัจ เป็นต้น

 



[1] วารีญา  ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม. จิตวิทยาพุทธศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ ๓. (กรุงเทพฯ: ชีวาภิวัฒน์, ๒๕๔๔), หน้า ๑๑๒-๑๑๓.

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 436750เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2011 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะผศ.จักรแก้ว นามเมือง

เขียนดีเจ๊า อ่านแล้ว เข้าใจ ขอเป็นกำลังใจให้นะเจ๊า

จาก ดร.แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม ส่วนงาน บัณฑิตวิทยาลัย มจร.

สวัสดีครับอาจารย์

ขอต้อนรับเข้าสู่ชุมชน GTK นะครับ

เขียนบันทึกมาแบ่งปันอีกนะครับ...

ขอบคุณที่ให้กำลังใจ จะพยายามทำให้ดีที่สุด

คุณครูวิถีพุทธ...คุณครูผู้สร้างโลก ด้วยการสร้างศิษย์

ขออนุโมทนา ชื่มชม และเป็นกำลังใจให้ครับ

ขอบคุณครับอาจารย์

ขอบพระคุณค่ะ

ขออนุโมทนาจิตเห็นชอบที่ชี้แนะแนวทาอ่านแล้ว

ทำให้เกิดความเข้าใจวิถีพุทธนำทางสร้างองค์ความรูมากยิ่งขึ้น

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท