คนใน-คนนอก ที่เป็นพลังเปลี่ยนแปลงสังคม


แม้ว่าจะเป็นการยากที่จะสร้างให้คนในให้ลุกขึ้นเพื่อเป็นผู้นำแห่งการนเปลี่ยนแปลง แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราลำพังที่จะอาศัยคนนอกแล้ว เมื่อดูปริมาณระหว่างจำนวนคนทำงานและปัญหาที่เกิดในทุกพื้นที่แล้ว คนนอกที่มีใจช่วยเหลือมีน้อยมากหากเทียบกับคนในที่เป็นเจ้าของปัญหา คนในที่อยู่กับความทุกข์ เป็นคนที่รู้ถึงวัฒนธรรม รู้ถึงสิ่งรอบข้างที่จะเอื้อให้การทำงานบรรลุได้

“คนใน”พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคม

โดย นายกฤษฎา ยาสมุทร[1] 

เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐

---------------------------------------------

        ในอดีตชาวบ้านถูกมองว่าเป็นคนไม่มีความรู้ เป็นผู้อ่อนแอไม่มีพลังในการแก้ไขปัญหา ไม่มีแรงแม้กระทั่งช่วยเหลือตนเอง หน่วยงานภายนอกชุมชนทั้งที่เป็นรัฐหรือองค์กรพัฒนาเอกชนเองก็ตาม มองว่าการที่จะทำให้ชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือที่เรียกว่าการพัฒนา ต้องทำผ่านการสั่งการ การมอบหมายให้ชาวบ้านเดินตามทางที่ถูกกำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญภายนอกที่จบการศึกษาในระดับที่สูงส่ง ผู้เชี่ยวชาญที่ใส่แว่นตามองชุมชนในรูปแบบเดียวกัน ไม่ว่าชุมชนนั้นจะตั้งอยู่ที่ใด หรือว่าคนในชุมชนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใดก็ตาม

        แต่ปัจจุบันผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง หรือการทำงานพัฒนาสังคมได้ถูกเปลี่ยนมือจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาสู่“คนใน”มากขึ้น คนในไม่ได้หมายความเพียงการเป็นคนที่อยู่ในชุมชนเท่านั้น แต่คนในมีความหมายรวมไปถึงคนที่อยู่สภาวะปัญหานั้นๆ หรือคนที่เคยตกเป็นเหยื่อหรือเป็นทุกข์จากปัญหา ซึ่งคนเหล่านี้จะรู้ซึ้งถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง ต่อครอบครัว รวมทั้งได้รู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่จะเป็นทางออกของปัญหา

        งานสิทธิ/สถานะบุคคลก็เช่นเดียวกับงานพัฒนาสังคมอื่นที่ในอดีตจะมีผู้เชี่ยวชาญหรือนักพัฒนาจากภายนอกเข้ามาเก็บข้อมูล ข้อเท็จจริง สภาพปัญหาของชาวบ้าน เพื่อที่จะวางแผนทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา แต่บางครั้งการแก้ไขก็สำเร็จ แต่ส่วนใหญ่ไม่สำเร็จ บางครั้งการทำงานของบางหน่วยงานที่เข้าไปทำงานในชุมชนกลับทำให้ชาวบ้านมองว่าทำเพื่ออะไร เพื่อใคร เพื่อชาวบ้านหรือว่าเพื่อตัวเขาที่เรียกตัวเองว่า “นักพัฒนา”

        การทำงานที่ละเลยคนใน ทำให้การทำงานมองข้ามความสัมพันธ์เชิงซ้อนที่ชาวบ้านต้องปฏิสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลาทั้งเพื่อนบ้าน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รวมทั้งมองข้ามวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ซึ่งสัมพันธ์กับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น บางครั้งการทำงานที่มุ่งเพียงบรรลุเป้าหมายกลับส่งผลย้อนกลับมายังชาวบ้านเอง เพราะคนทำงานที่เป็นคนนอกเมื่อทำงานเสร็จก็จะจากไป ส่วนชาวบ้านยังคงอยู่ในชุมชนต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าการทำงานเพื่อมุ่งเป้าหมายจะผิดทั้งหมด บางครั้งการทำงานต้องมีต้นแบบหรือแนวทางทำงานเพื่อเป็นกรอบในการแก้ไขปัญหาที่คล้ายกันไม่ว่าจะเกิดในพื้นที่ใดก็ตาม

        แต่หากต้องการให้การแก้ไขปัญหาเป็นการแก้ไขที่ยั่งยืน ต้องมีการให้คนในลุกขึ้นมาทำงานคู่กับนักพัฒนาภายนอก เพื่อที่สุดท้ายคนในจะเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาโดยมีคนนอกเป็นเพียงพี่เลี้ยงอยู่รอบข้างแล้ว กระบวนการทำงานจะเป็นส่วนผสมของทั้งศาสตร์และศิลป์อย่างลงตัว

        ที่ผ่านมาองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิสถานะได้มีแนวทางการทำงานที่เสริมพลังให้แก่คนในให้เข้ามาทำงานมากขึ้น ทั้งในพื้นที่แม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ที่มีคนที่เคยถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนราษฎรลุกขึ้นมาทำงานเพื่อช่วยเหลือคนที่ตกอยู่สภาพที่ตนเองเคยเป็น แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้จบการศึกษาในระดับที่สูงแต่เขากลับทำงานได้ดีเพราะได้เรียนรู้ด้วยตนเองถึงวิธีการแก้ไข ได้รู้ถึงวัฒนธรรมของแต่ละหน่วยงานที่จะมองเห็นช่องว่างที่จะแทรกซึมเข้าไปโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน

        เช่นเดียวกับพื้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่มีคนที่ถือบัตรลาวอพยพลุกขึ้นมาทำงานเพื่อช่วยเหลือเพื่อร่วมชะตากรรม เขาเหล่านั้นได้เข้าห้องเรียนเคลื่อนที่เพื่อเสริมความรู้ด้านสิทธิ/สถานะจากหน่วยงานทั้งองค์กรรัฐ และเอกชน ทำให้แกนนำเหล่านั้นมีศาสตร์ที่จะใช้ในการแก้ไข หรือเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเยียวยาผลกระทบด้านสิทธิของคนในกลุ่มได้ แต่ไม่ได้ละเลยศิลปะในการเจรจาที่จะไม่สร้างความแตกแยกร้าวฉานระหว่างกัน เพราะท้ายที่สุดแล้ว งานสิทธิสถานะบุคคลก็ต้องจบด้วยดีที่อำเภอท้องที่

        ส่วนชุมชนบนพื้นที่สูง แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะมีความรู้น้อยกว่าพื้นที่อื่น แม้แต่คำพูดเองก็ยังไม่ชัดเท่ากับคนพื้นราบ แต่เขาเหล่านั้นเมื่อได้รับความรู้ที่ทำให้เขารู้ในเชิงลึกถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องแล้ว เขาเหล่านั้นไม่ได้นิ่งเฉย แม้ว่าจะไม่สามารถติดต่อกับหน่วยงานรัฐได้ทุกคน แต่คนที่อยู่ในชุมชนก็ช่วยเหลือทำข้อมูล ช่วยเหลือเป็นพี่เลี้ยงให้แก่กลุ่มเด็กที่ได้ร่ำเรียน อ่านออกเขียนได้ เพื่อทำข้อมูลของชุมชนให้ชัดเจน และมีตัวแทนที่สามารถสื่อสารกับหน่วยงานรัฐได้เป็นฐานในการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะของตนเองและเพื่อนร่วมชุมชน

        แม้ว่าจะเป็นการยากที่จะสร้างให้คนในให้ลุกขึ้นเพื่อเป็นผู้นำแห่งการนเปลี่ยนแปลง แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราลำพังที่จะอาศัยคนนอกแล้ว เมื่อดูปริมาณระหว่างจำนวนคนทำงานและปัญหาที่เกิดในทุกพื้นที่แล้ว คนนอกที่มีใจช่วยเหลือมีน้อยมากหากเทียบกับคนในที่เป็นเจ้าของปัญหา คนในที่อยู่กับความทุกข์ เป็นคนที่รู้ถึงวัฒนธรรม รู้ถึงสิ่งรอบข้างที่จะเอื้อให้การทำงานบรรลุได้

        ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ผู้นำแห่งการแก้ไขปัญหาจึงไม่ควรเป็นคนนอกอีกต่อไป หากต้องการให้ปัญหานั้นสามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน และแก้ไขได้ในเวลาในอันรวดเร็ว การกำหนดเส้นทางเดิน หรือกำหนดทิศในการแก้ไขปัญหาต้องถูกกำหนดโดย“คนใน”โดยมีคนนอกเป็นเพียงผู้คอยให้กำลังใจ คอยพยุงในยามที่ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงตัวจริงอ่อนแรง หรือต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น

 



[1] เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงของปัญหาการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคล  ของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ พชภ.

หมายเลขบันทึก: 436711เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2011 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ในพื้นที่มหาชัยก็มีครับ กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานเพื่อสิทธิของแรงงานข้ามชาติด้วยกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท