ความเป็นครูตามแนวพุทธ (1)


พุทธจิตวิทยาสำหรับครู

ความเป็นครูตามแนวพุทธ  

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์จักรแก้ว นามเมือง

มจร. วิทยาเขตพะเยา

             ความเป็นครูตามแนวพุทธ เป็นการนำแนวคิด หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มาเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน โดยนำเสนอหลักธรรมอยู่ ๒ ประการคือ หลักกัลยาณมิตร และหลักสัปปุริสธรรม ดังรายละเอียดดังนี้[1]

            ๑. หลักกัลยาณมิตรธรรม  หลักความเป็นกัลยาณมิตร คือการทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ หรือความดีงามแก่ผู้อื่น ชักจูงให้ผู้อื่นมีความรู้ความเห็นที่ถูกต้อง หรือให้มีศรัทธาที่จะถือเอาเป็นแบบอย่าง จะโดยการสั่งสอน การแนะนำ หรือการกระจายความรู้ความเข้าใจนั้นออกไปโดยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ด้วยความปรารถนาดี ด้วยความเมตตากกรุณา ก่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิ และการประพฤติดีปฏิบัติชอบขึ้น คุณสมบัติพื้นฐานสำหรับครูที่ใช้หลักกัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการ ดังนี้

              ๑.๑ ปิโย : น่ารัก คือ ครูจะต้องเข้าถึงจิตใจ สร้างความรู้สึกสนิทสนมเป็นกันเองกับผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนอยากเข้าไปปรึกษาสอบถาม

              ๑.๒ ครุ : น่าเคารพ คือ ครูจะต้องมีความประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจเป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย



[1] พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต).  พุทธธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๙. หน้า ๖๓๑-๖๓๓.  

๑.๓ ภาวนีโย : น่าเจริญใจ คือครูเป็นผู้ที่มีความรู้จริง ทรงภูมิปัญญาแท้จริง และเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตนอยู่เสมอ เป็นที่น่ายกย่อง ควรเอาเป็นแบบอย่าง ทำให้ศิษย์กล่าวอ้างถึงหรือรำลึกถึงอยู่เสมอ ด้วยความซาบซึ้งใจ มั่นใจ และภาคภูมิใจ

              ๑.๔ วัตตา : รู้จักพูดให้ได้ผล คือครูจะต้องพูดเป็น รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไร อย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน และเป็นที่ปรึกษาที่ดี

              ๑.๕ วจนักขโม : ทนต่อถ้อยคำ คือ ครูพร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามแม้จุกจิก ตลอดจนคำล่วงเกินและคำตักเตือนวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ อดทนฟังได้ ไม่เบื่อหน่าย และไม่เสียอารมณ์หรือควบคุมอารมณ์ของตนได้

              ๑.๖ คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา : แถลงเรื่องล้ำลึกได้ คือ ครูสามารถอธิบายหรือชี้แจงเรื่องต่าง ๆ ที่ลึกซึ้งซับซ้อนให้เข้าใจได้ และสอนศิษย์ให้ได้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

              ๑.๗ โน จัฏฐาเน นิโยชะเย : ไม่ซักนำในอฐาน คือ ครูจะไม่ชักจูงศิษย์ไปในทางที่เสื่อมเสียหรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร

          นอกจากนี้ยังมีหลักธรรมที่เป็นคุณสมบัติประกอบของกัลยาณมิตรได้ โดยผู้เป็นครูจะต้องประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้สามารถที่จะปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลต่อตนเองและศิษย์ ดังนี้

              ๑. ครูเป็นผู้มีความเข้าใจรวดเร็วในสิ่งที่ดีงาม (กุศลธรรม) ทั้งหลาย

              ๒. ครูเป็นผู้ทรงจำองค์ความรู้ (ธรรม) ที่ได้รับฟังมาแล้ว

              ๓. ครูเป็นผู้พิจารณาความหมาย ใจความขององค์ความรู้ (ธรรม) ที่ทรงจำไว้ได้

              ๔. ครูเป็นเข้าที่เข้าใจความหมาย (อรรถ) เข้าใจหลัก (ธรรม) ดีแล้ว ปฏิบัติองค์ความรู้ (ธรรม) ได้อย่างถูกหลัก

              ๕. ครูเป็นผู้มีวาจางาม กล่าวคำที่ดีงาม (กัลยาณพจน์) ประกอบด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ สละสลวย ฉะฉาน ทำให้รู้เนื้อความได้อย่างชัดแจ้ง

              ๖. ครูเป็นผู้สามารถอธิบาย ชี้ให้ชัด ชวนให้ปฏิบัติ เร้าให้กล้า ปลุกให้ร่าเริง แก่ศิษย์ทั้งหลาย

          ๒. หลักสัปปุริสธรรม เป็นหลักธรรมของสัตบุรุษ หรือคนดี ครูที่มีความเป็นสัตบุรุษจะต้องประกอบด้วยหลักสัปปุริสธรรม ๗ ประการดังนี้[1]

              ๒.๑ ธัมมัญญุตา : รู้หลักและรู้จักเหตุ คือครูจะต้องรู้หลักความจริงของธรรม รู้หลักการ กฎเกณฑ์แบบแผน หน้าที่ ซึ่งจะเป็นเหตุให้กระทำการได้สำเร็จผลตามความมุ่งหมาย

              ๒.๒ อัตถัญญุตา : รู้ความมุ่งหมายและรู้จักผล คือรู้ความหมายและความมุ่งหมายของหลักวิชา (หลักธรรม) หรือหลักการ กฎเกณฑ์ หน้าที่ รู้ผลของจุดหมายที่จะกระทำ

              ๒.๓ อัตตัญญุตา : รู้จักตน คือรู้จักฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น นั่นคือรู้จักตนตามความเป็นจริง เพื่อประพฤติปฏิบัติได้เหมาะสมและให้เกิดผลดี

              ๒.๔ มัตตัญญุตา : รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอเหมาะพอดี อยู่อย่างพอเพียง


[1] เรื่องเดียวกัน. หน้า ๖๒๗-๖๒๘.

              ๒.๕ กาลัญญุตา : รู้จักกาล คือ รู้ว่าเวลาไหน ควรทำอะไร รู้จักเวลาสอน เวลาทำงาน เวลาพักผ่อน เป็นต้น

              ๒.๖ ปริสัญญุตา : รู้จักชุมชน คือ รู้จักการเข้าสู่ชุมชน รู้จักมารยาท ระเบียบวินัย ขนบธรรมเนียมประเพณี และข้อควรรู้ควรปฏิบัติอื่น ๆ ต่อชุมชนนั้น ๆ (ทั้งชุมชนภายในสถานศึกษาและชุมชนภายนอก)

              ๒.๗ ปุคคลัญญุตา :  รู้จักบุคคล คือ รู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยอัธยาศัย ความสามารถและคุณธรรม เป็นต้น เพื่อปฏิบัติต่อบุคคลนั้นหรือศิษย์ได้อย่างถูกต้อง เช่น จะย่องหรือตำหนิ หรือจะแนะนำสั่งสอนอย่างไร จึงจะได้ผลดี เป็นต้น

 วิทยาเขตพะเยา

 

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 436379เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2011 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณที่ให้กำลังใจ จะออกมาเรื่อยๆ

สวัสดีค่ะ

ยินดีต้อนรับค่ะ รออ่านอีกค่ะ :)

มาชื่นชมครับผม เยี่ยมมากๆๆ

  • good morning นะครับอาจารย์  Ico48
  • ครูแนวพุทธนี่เรียกว่าเป็นครูแบบครบเครื่องจริง ๆเลยนะครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท