สิ่งที่หายไป...


หลังจากการช้อคก็มักจะมีอาฟเตอร์ช้อคตามมาอีกเป็นระลอก หลายฝ่ายต่างก็ออกมาวิพากษ์และวิจารณ์ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะมองออกไปที่คนอื่นหรือคนนอกอันเป็นตัวต้นเหตุตามความคิดของตนบ้างก็โทษข้อสอบที่สอบไม่ตรงกับที่สอน

                      ภายหลังการประกาศผลการสอบ O-Net ระดับประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ทำให้เกิดอาการช้อคกันไปทั่วประเทศ เป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หลายฉบับ กับผลการสอบที่คะแนนออกมาต้อยต่ำสุดๆ โดยเฉพาะรายวิชาหลักๆ ยกตัวอย่างระดับชั้น ป.6  ระดับประเทศคะแนนเฉลี่ย ภาษาไทย  31.22 คณิตศาสตร์ 34.85 วิทยาศาสตร์ 41.56 สังคมศึกษา 47.07 ภาษาอังกฤษ 20.99 ส่วนระดับเขตของเราส่วนใหญ่ก็ต่ำกว่าระดับประเทศนิดหน่อยพอได้ลุ้น ส่วนระดับชั้น ม. 3 ก็ไม่ได้แตกต่างออกไปมากนัก ผมหมายถึงว่าวิชาหลักๆ ก็มีผลการสอบเหมือนๆ กับระดับชั้น ป. 6 นั่นแหละครับ...


                 หลังจากการช้อคก็มักจะมีอาฟเตอร์ช้อคตามมาอีกเป็นระลอก หลายฝ่ายต่างก็ออกมาวิพากษ์และวิจารณ์ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะมองออกไปที่คนอื่นหรือคนนอกอันเป็นตัวต้นเหตุตามความคิดของตนบ้างก็โทษข้อสอบที่สอบไม่ตรงกับที่สอน  ออกมาได้อย่างสะใจท่านผู้ชม ทั้งยุ่ง ทั้งยาก ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ซ่อนดาบ ซ่อนกระบองไว้ถองเด็กของเราซะน่วม อ่วมอรทัย บ้างก็โทษนักเรียนไม่ตั้งใจทำข้อสอบเพราะไม่มีผลได้ผลเสียต่อการสอบ บ้างก็โทษผู้ปกครองว่าไม่เอาใจใส่บุตรหลาน บ้างก็ว่าครูสอนไม่ตรงข้อสอบ ไม่ตรงตามมาตรฐานหลักสูตร บ้างก็โทษว่างานมากไม่มีเวลาสอน บ้างก็โทษครูใหญ่ บ้างก็โทษครูน้อย อาการอย่างนี้เป็นอาการที่เรา เรียกกันว่า “คิดยุ่งขิง”  ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับคนที่คิดเข้าข้างตัวเองเป็นประจำ มองปัญหาออกนอกตัวหรือทำตัวลอยเหนือปัญหา ไม่เคยคิดให้อะไรใครคิดแต่จะได้ถ่ายเดียว ประมาณนั้น และสำหรับคนที่ตั้งสติได้ ไม่มีอาการคิดยุ่งขิง ก็คงจะต้องนั่งลงคิด พิจารณาว่า ผล O-Net  ที่ทำเอาช้อคไปหลายวงการ (ยกเว้นวงการศึกษาของเราจะรู้สึกเฉยๆ มากกว่าเพราะชินซะแล้ว) ตรงไหน ประการใดที่ตกต่ำ นำมาวิเคราะห์หาสาเหตุอันเป็นที่มาเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ทางออกสำหรับกรณีนี้ที่ตัวเราในฐานะผู้เกี่ยวข้องอาจจะนำไปคิดแก้ปัญหาได้ เช่น คุณครูผู้สอน ก็ลองพิจารณาข้อสอบซึ่งได้มอบให้ไว้ที่โรงเรียนแล้วว่ามีประเด็นใดที่ไม่ได้สอนหรือสอนไม่ครอบคลุม หลักการ วิธีการคิดวิเคราะห์ต่างๆ ที่นำมาออกข้อสอบมากไปกว่าความจำตามหนังสือเรียนที่อาจสอนด้วยความเคยชิน ทางที่ดีคุณครูลองนำข้อสอบ O-Net  วิชาที่ตัวเองสอนมาลองทำดูก็จะรู้ว่าควรจะสอนให้ครอบคลุมไปถึงมาตรฐาน และตัวชี้วัดในหลักสูตรฯ ตามกลุ่มสาระนั้นแค่ไหนเพียงใด

          สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา การกำกับติดตามให้ครูผู้สอน จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ มีชิ้นงาน มีการปฏิบัติและการแสดงออกให้ตรงกับมาตรฐาน ตัวชี้วัดของหลักสูตรฯ มีการเตรียมการสอนทุกครั้ง คงจะไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไร หรือหากต้องการกำลังเสริมจากภายนอกก็เรียกหาศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบประจำโรงเรียนได้ตลอดเวลา แม้ว่าผลการสอบจะออกมาแสดงถึงความตกต่ำทางวิชาการที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ แต่ก็อย่าลืมว่ายังมีอีกหลายรายการที่ไม่ได้นำมาวัดผลประเมินผลเด็กๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตลอดจนสมรรถนะต่างๆ อันประกอบกันขึ้นเป็นตัวเป็นตนของเด็กๆ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่นักวัดผลประเมินผลลอกไปแต่เปลือกไม่เลือกเอาแก่น ลดทอนออกไปจากตัวตนของเด็ก คงเหลือการวัดผลแต่เพียงเศษเสี้ยวความรู้ ความคิดในสมอง ทั้งที่กำหนดไว้ในจุดหมายปลายทางของการศึกษาตามหลักสูตร ซึ่งไม่เคยมีใครนำมาพูดถึงแต่อย่างใด ผมเชื่อว่าสิ่งที่หายไปจากการสอบวัดผล O-Net ครั้งนี้ คุณครูผู้สอนคงจะทราบดีว่าหากมีการวัดผลประเมินผล ออกมาแล้วเด็กๆ ของเราจะได้ผลการประเมินในระดับใด  คงจะพอคาดเดาเอาได้จากพฤติกรรมการเล่นน้ำวันสงกรานต์ที่ผ่านมา ไม่ช้อคกันอีกหลายตลบก็ให้มันรู้ไป...
 

หมายเลขบันทึก: 436314เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2011 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท