ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการประกันชีวิต : บทที่ 3 หลักสำคัญของการเอาประกันชีวิต


ในการประกันชีวิตเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานะคู่สัญญา คือผู้รับประกันและผู้เอาประกัน ซึ่งเป็นมนุษย์ปุถุชนยังมีกิเลส โดยเฉพาะความโลภ จึงเกิดความจำเป็นที่ต้องมีหลักการสำคัญในการทำประกันชีวิตหรือการเอาประกันชีวิต โดยการพิจารณาเรื่องการมีส่วนได้เสียในเหตุประกันภัย ทำไมจึงต้องมีส่วนได้เสีย และหากไม่มีส่วนได้เสียผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร หลักการส่วนได้เสียถูกนำมาใช้เนื่องจากมีผู้มุ่งหวังประโยชน์จากการประกันภัยในทางมิชอบ โดยเฉพาะในทางด้านการประกันชีวิต ได้มีการทำประกันชีวิตในลักษณะเป็นการพนันขันต่อ หลักส่วนได้เสียได้ถูกกำหนดเป็นเหตุในการทำประกันชีวิต ก็เพื่อป้องกันไม่ให้สัญญากลายเป็นการพนันไป เพราะถ้าเปิดโอกาสให้สัญญาประกันชีวิตเป็นการพนันได้ก็คงจะมีการฆ่ากันตายเพื่อหวังเอาเงินประกันชีวิตอย่างมากมาย ซึ่งจะกลายเป็นการค้ากำไรบนชีวิตของคนมากกว่าการชดเชยมูลค่าทางเศรษฐกิจของมนุษย์ตามหลักการของการประกันชีวิต

บทที่ 3

หลักสำคัญของการเอาประกันชีวิต

หลักและบทบาทของการประกันชีวิต มี 2 ประการที่สำคัญคือ

  1. การเฉลี่ยความเสี่ยงภัย คือการเฉลี่ยความเสี่ยงภัยจากการเกิดอุบัติเหตุ การตายและความไม่แน่นอนในเวลาที่เสียชีวิต การประกันชีวิตจะดูแลพันธะทางการเงินเมื่อบุคคลถึงแก่มรณะ เป็นการทดแทนรายได้ที่ต้องสูญเสีย
  2. ระดมเงินออม มีสองลักษณะคือ ระดมแบบจงใจเป็นรูปสะสมทรัพย์ และการระดมแบบไม่จงใจคือมีเงินสำรองส่วนหนึ่ง เช่น แบบประกันตลอดชีพ การที่ผู้คนต้องเก็บออมเงินไว้ใช้ในสถาบันการเงินเพื่อสะสมเอาไว้ใช้ในอนาคต แต่ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเก็บเป็นก้อน หากเกิดการเจ็บป่วยก็จะลำบาก การประกันชีวิตเข้ามาช่วยได้ การประกันชีวิตเป็นการออมทรัพย์อีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้มีการเก็บออมที่สม่ำเสมอ และเงินที่ออมไว้กับการประกันชีวิตนี้จะได้รับเมื่อบุคคลนี้อยู่จนครบเวลาที่กำหนดในสัญญา

เมื่อบุคคลตระหนักถึงความไม่แน่นอนจากการเสี่ยงภัย หรือต้องการออมเงิน ย่อมมองหาวิธีการสามารถให้ประโยชน์ทั้งสองแบบ การประกันชีวิตจึงเหมาะสำหรับการลดความสูญเสียจากการเสี่ยงภัยและสะสมทรัพย์

ในการประกันชีวิตเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานะคู่สัญญา คือผู้รับประกันภัย (Insurer) และผู้เอาประกันภัย (Insured) นอกจากนี้ยังมีผู้ถือกรมธรรม์ (Policy holder) และผู้รับประโยชน์ (Beneficiary) ซึ่งทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ปุถุชนยังมีกิเลส โดยเฉพาะความโลภที่จะอยากได้อยากมีทรัพย์สินเงินทอง จนอาจใช้ชีวิตคนมาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ จึงเกิดความจำเป็นที่ต้องมีหลักการสำคัญในการทำประกันชีวิตหรือการเอาประกันชีวิต โดยการพิจารณาเรื่องการมี ส่วนได้เสียในเหตุประกันภัย (Insurable Interest) ถามว่าทำไมจึงต้องมีส่วนได้เสีย และหากไม่มีส่วนได้เสียผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร หลักการส่วนได้เสียถูกนำมาใช้เนื่องจากมีผู้มุ่งหวังประโยชน์จากการประกันภัยในทางมิชอบ โดยเฉพาะในทางด้านการประกันชีวิต ได้มีการทำประกันชีวิตในลักษณะเป็นการพนันขันต่อ หลักส่วนได้เสียได้ถูกกำหนดเป็นเหตุในการทำประกันชีวิต ก็เพื่อป้องกันไม่ให้สัญญากลายเป็นการพนันไป เพราะถ้าเปิดโอกาสให้สัญญาประกันชีวิตเป็นการพนันได้ก็คงจะมีการฆ่ากันตายเพื่อหวังเอาเงินประกันชีวิตอย่างมากมาย ซึ่งจะกลายเป็นการค้ากำไรบนชีวิตของคนมากกว่าการชดเชยมูลค่าทางเศรษฐกิจของมนุษย์ตามหลักการของการประกันชีวิต

หลักที่เกี่ยวกับส่วนได้เสียอันสามารถเอาประกันได้ (Principle of Insurable Interest)

ส่วนได้เสียในการเอาประกันชีวิตนั้นเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เป็นผู้เอาประกันชีวิตและคนที่ถูกเอาประกันชีวิต คือ หากผู้ถูกเอาประกันชีวิตนั้นมีชีวิตอยู่ จะมีประโยชน์ต่อผู้เอาประกัน เช่น ผู้ถูกเอาประกันหารายได้หรือสามารถดูแลผู้เอาประกันได้ แต่หากผู้ถูกเอาประกันนั้นเสียชีวิตลงก็จะเกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกัน เช่น ผู้ถูกเอาประกันเสียชีวิตลง ทำให้ไม่มีผู้ที่จะหารายได้หรือดูแลผู้เอาประกัน เป็นต้น ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 บัญญัติว่า “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด” หลักเรื่องส่วนได้ส่วนเสียเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสัญญาประกันชีวิต เป็นการแสดงให้เห็นว่าการประกันชีวิตนั้นไม่ได้เป็นการเอาชีวิตของตนเองหรือผู้อื่นมาเป็นเดิมพัน หรือไม่ใช่การพนันขันต่อในชีวิตของบุคคล กล่าวคือ ผู้ที่เอาประกันชีวิตจะต้องมีส่วนได้เสียในชีวิตของบุคคลที่เอาประกันชีวิตนั้น ส่วนได้เสียในที่นี้คือ ถ้าหากเหตุการณ์เสี่ยงภัยเกิดขึ้นแก่ชีวิตคู่กรณีฝ่ายหนึ่งจะเสียผลประโยชน์ ถ้าเหตุการณ์นั้นไม่เกิดขึ้นคู่กรณีฝ่ายนั้นก็จะไม่ได้รับผลใดๆ เหตุที่มีการกำหนดว่าต้องมีส่วนได้เสียในการเอาประกันชีวิต ก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการอาศัยชีวิตของตนเองหรือผู้อื่น เป็นเครื่องมือในการเสี่ยงโชคหรือการพนัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเจตนาร้ายหรือประทุษร้ายต่อชีวิต เพื่อหวังผลประโยชน์จากเงินที่เอาประกันไว้ หลักส่วนได้เสียในการเอาประกันชีวิตนอกจากเป็นแนวคิดทางกฎหมายในการทำประกันชีวิตแล้ว ยังเป็นแนวคิดทางศีลธรรม อันก่อให้เกิดการยับยั้งความคิดอยากได้ผลประโยชน์จากการทุจริตในการทำประกันชีวิตอีกด้วย

ส่วนได้เสียในการเอาประกันชีวิตแยกพิจารณาได้ 2 ประการคือ

1. การเอาประกันชีวิตตนเอง (Self Insurance) คือ ตนเองเป็นผู้อาศัยความทรงชีพหรือการมรณะของตนเองเป็นเหตุในการให้บริษัทรับประกันใช้เงินจำนวนที่เอาประกันไว้ ผู้เอาประกันย่อมมีสิทธิในการเอาประกันชีวิตตนเองได้เสมอ เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชีวิตตนเอง การเอาประกันชีวิตของตนเองของผู้เอาประกันนั้น ผู้เอาประกันจะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันเองหรือให้บุคคลอื่นชำระเบี้ยให้ก็ได้ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้รับผลประโยชน์จากสัญญาประกันชีวิตนั้นไม่ได้รับประโยชน์จากสัญญาประกันภัย โดยผู้เอาประกันอาจกำหนดจำนวนเงินที่ตัวเองต้องการให้บริษัทรับประกันชีวิตใช้จำนวนเงินให้กับตนเองหรือผู้รับประโยชน์โดยไม่จำกัด ทั้งนี้เนื่องจากชีวิตของมนุษย์นั้นไม่อาจตีค่าหรือประเมินออกมาเป็นมูลค่าได้ ดังนั้นในการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันนั้น จึงอาศัยปัจจัยหลายอย่างในการพิจารณา เช่น เรามีความสามารถจ่ายเบี้ยประกันภัยได้เป็นจำนวนเท่าใด เรามีความสามารถในการหาเลี้ยงครอบครัวได้มากขนาดไหน หรือหากเราเสียชีวิตครอบครัวจะขาดรายได้ไปเท่าใด เป็นต้น ในกรณีการเอาประกันชีวิตตนเองนี้ ผู้เอาประกันชีวิต (Insured) และผู้ถูกเอาประกันชีวิต (Insured Person) ก็จะเป็นบุคคลคนเดียวกัน

2. การเอาประกันชีวิตผู้อื่น (Third Party Insurance) คือ ผู้เอาประกันอาศัยความทรงชีพหรือการมรณะของบุคคลอื่นหรือเรียกว่าผู้ถูกเอาประกันเป็นเหตุในการให้บริษัทรับประกันใช้เงินจำนวนที่เอาประกันไว้ ในการเอาประกันชีวิตบุคคลอื่นนั้น เราสามารถเป็นผู้จัดการและจ่ายเบี้ยประกันให้กับบุคคลอื่นได้ แต่ต้องพิจารณาว่าเรามีส่วนได้เสียในชีวิตของบุคคลนั้นหรือไม่ โดยมีข้อพิจารณาดังนี้

2.1 ความสัมพันธ์ทางครอบครัว (Family Relationships) ผู้เอาประกันและบุคคลที่ถูกเอาประกันนั้นต้องมีความสัมพันธ์กัน ไม่ว่าทางสายโลหิต หรือโดยการสมรส ซึ่งต้องมีความสัมพันธ์ในขนาดที่ว่าหากบุคคลที่เราเอาประกันชีวิตไว้นั้นเสียชีวิตลง เราจะต้องได้รับความสูญเสียหรือต้องรับผิดชอบหากบุคคลนั้นเสียชีวิต ส่วนได้เสียของบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันทางครอบครัวแบ่งออกได้ดังนี้

บิดามารดา ผู้เป็นบุตรย่อมมีความสัมพันธ์กับบิดามารดา เพราะนอกจากเป็นผู้ให้กำเนิดแล้ว บิดามารดายังเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูให้เราเติบโต สนับสนุนให้ได้รับการศึกษา นอกจากนี้บิดามารดายังมีความสำคัญต่อจิตใจและความรู้สึกของเราด้วย ดังนั้นเราจึงสามารถเอาประกันชีวิตของบิดามารดาของเราได้

สามีภรรยา ความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยานั้นเป็นความสัมพันธ์กันทั้งทางกฎหมายและทางส่วนตัว ทางกฎหมายนั้นในกรณีที่สามีและภรรยาจดทะเบียนสมรสกันย่อมมีผลต่อการกระทำทางนิติกรรมบางอย่างของอีกฝ่าย เช่น สินสมรส การกู้ยืม เป็นต้น ในทางส่วนตัว สามีภรรยาย่อมมีความพันธ์กันทั้งทางกายและจิตใจ เพราสามีและภรรยาต่างฝ่ายต่างมีหน้าทีดูและซึ่งกันและกัน ดังนั้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต ย่อมมีผลกระทบกับอีกฝ่ายหนึ่งแน่นอน ดังนั้นสามีและภรรยาจึงสามารถเอาประกันชีวิตซึ่งกันและกันได้

บุตรเมื่อบิดามารดาเป็นผู้เลี้ยงดูและสนับสนุนให้บุตรมีการศึกษาที่ดี ก็เพื่อให้มีอาชีพการงานและอนาคตที่ดี และหวังว่าเราจะสามารถพึ่งพาบุตรให้คอยดูแลเอาใจใส่ในช่วงที่เราไม่สามารถประกอบอาชีพได้หรือหรือตอบแทนบุญคุณในยามที่เราแก่ชรา หากบุตรเสียชีวิตลงไป บิดามารดาก็ขาดคนเลี้ยงดู ย่อมได้รับผลกระทบในเรื่องของรายได้ และจิตใจ ดังนั้นเราจึงสามารรถเอาประกันชีวิตของบุตรเราได้ เช่นกัน

ญาติ ถึงแม้ในกฎหมายจะไม่ได้บัญญัติไว้ว่าบุคคลที่มีความสัมพันธ์เป็นญาติกันนั้นถือว่ามีส่วนได้เสียกันพอที่จะเอาประกันได้หรือไม่ แต่ตามกฎหมายได้ระบุเกี่ยวกับลำดับทายาทโดยธรรมในการรับมรดก ซึ่งได้แก่ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็คือญาติความหมายโดยทั่วไปในสังคมไทย แต่จะให้ญาติเหล่านี้เอาประกันชีวิตซึ่งกันและกันนั้น ยังไม่น่าจะให้ได้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้รับความเสียหายหรือผลกระทบหากอีกฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลง เช่น ป้าเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูผู้เอาประกันชีวิตตั้งแต่เด็ก เนื่องจากพ่อแม่ทอดทิ้ง หากป้าเสียชีวิตก็จะทำให้ผู้เอาประกันชีวิตได้รับผลกระทบและเดือดร้อน ดังนั้นผู้เอาประกันจึงสามารถเอาประกันชีวิตของป้าตัวเองได้ เป็นต้น

2.2 ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ (Business Relationships) การที่ผู้เอาประกันและผู้ถูกเอาประกันจะสามารถเอาประกันซึ่งกันและกันได้นั้น ความสัมพันธ์ในทางธุรกิจต้องมีถึงระดับที่ว่าหากบุคคลหนึ่งเสียชีวิต จะส่งผลกระทบและความเสียหายถึงอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องมีการพิสูจน์ถึงส่วนได้เสียในการเอาประกันนั้น ความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ถือว่าอาจมีส่วนได้เสียซึ่งกันและกันมีดังนี้

เจ้าหนี้กับลูกหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีส่วนได้เสียในชีวิตของลูกหนี้ เพราะเมื่อลูกหนี้เสียชีวิต เจ้าหนี้ก็หมดโอกาสได้หนี้ตามมูลค่าที่ลูกหนี้ต้องชดใช้ โดยเฉพาะหากทรัพย์สินที่เป็นมรดกของลูกหนี้ไม่มี หรือไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ เช่น นายเอเป็นหนี้นายบีเป็นจำนวนเงินสามแสนบาท โดยนายบีได้ทำสัญญากับนายเอไว้ว่าจะผ่อนชำระหนี้ที่ติดค้างนายเอปีละหนึ่งแสนบาทเป็นระยะเวลาสามปีโดยไม่มีทรัพย์สินหรือหลักทรัพย์ใดๆเป็นหลักประกัน หากนายบีเสียชีวิตลงในปีที่สอง หนี้ส่วนที่เหลือที่นายบีติดค้างนายเออยู่ก็ตกไปเป็นภาระให้กับทายาทของนายบี ซึ่งหากนายบีไม่ได้มีมรดกไว้ให้แก่ทายาท เจ้าหนี้ก็อาจสูญหนี้ส่วนที่เหลือได้ ดังนั้นเจ้าหนี้จึงสามารถเอาประกันในชีวิตลูกหนี้ได้เพราะถือว่าหากลูกหนี้เสียชีวิตลง เจ้าหนี้ก็จะสูญเสียหนี้จำนวนนั้นได้ แต่วงเงินในการเอาประกันชีวิตลูกหนี้นั้นต้องไม่เกินจำนวนวงเงินที่ลูกหนี้ติดค้างเจ้าหนี้อยู่ เพราะมิฉะนั้นมูลค่าของการใช้เงินกรณีที่ลูกหนี้เสียชีวิตจะสูงกว่าเงินที่ลูกหนี้ติดค้างอยู่ ซึ่งอาจเป็นเหตุจูงใจให้เจ้าหนี้ประทุษร้ายต่อชีวิตลูกหนี้เพื่อหวังเอาจำนวนเงินประกันที่สูงกว่า

ในขณะเดียวกันหากเจ้าหนี้เสียชีวิตลง ลูกหนี้ก็มิได้รับผลกระทบจากการเสียชีวิตของเจ้าหนี้ ดังนั้นลูกหนี้จึงไม่สามารถเอาประกันเจ้าหนี้ได้เพราะถือว่าลูกหนี้ไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตเจ้าหนี้ ถึงแม้ว่าในตอนที่เจ้าหนี้มีชีวิตอยู่นั้นจะมีความเมตตากรุณาผ่อนผันการชำระหนี้ให้ลูกหนี้ก็ตาม เพราะถือว่าเป็นเรื่องในทางศีลธรรมเท่านั้น

นายจ้างกับลูกจ้าง นายจ้างกับลูกจ้างย่อมมีส่วนได้เสียในชีวิตซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ขึ้นกับว่านายจ้างนั้นมีบทบาทและความสำคัญแค่ไหนในธุรกิจที่นายจ้างนั้นจ้างลูกจ้างทำงาน และลูกจ้างเองมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของนายจ้างมากเพียงใน ในธุรกิจบางประเภท เช่น การวิจัยคิดค้นสินค้าบางอย่างที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะบุคคล หากลูกจ้างที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าเสียชีวิตลง ก็อาจทำให้ธุรกิจของนายจ้างหยุดชะงักได้ กว่าจะหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมาทดแทนได้ หากเป็นเช่นนี้สามารถถือได้ว่าตัวลูกจ้างมีความสำคัญต่อการธุรกิจของนายจ้าง ซึ่งนายจ้างสามารถเอาประกันชีวิตของลูกจ้างได้ ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของจำนวนเงินที่สามารถเอาประกันในชีวิตลูกจ้าง เพื่อไม่ให้มีมูลค่าที่สูงเกินกว่ามูลค่าความเสียหายทางธุรกิจของนายจ้างหากลูกจ้างเสียชีวิตลง เพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุจูงใจในการประทุษร้ายต่อชีวิตลูกจ้างเพื่อหวังผลประโยชน์จากมูลค่าเงินเอาประกันที่บริษัทประกันจะชดใช้ให้

แต่หากนายจ้างเสียชีวิตลง ผลกระทบที่ลูกจ้างได้รับจากการเสียชีวิตของนายจ้างอาจไม่มีมูลเหตุเพียงพอต่อส่วนได้เสียในชีวิตที่ลูกจ้างจะสามารถเอาประกันชีวิต เพราะส่วนได้เสียในธุรกิจนั้นลูกจ้างจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า อาจเพียงแค่ธุรกิจหยุดชะงักไม่นาย หรือผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดก็คือลูกจ้างต้องตกงาน ซึ่งถือว่าลูกจ้างยังมีโอกาสในการหางานใหม่ได้ ไม่ถึงกับล้มละลาย เพอีกทั้งการดำเนินธุรกิจโดยทั่วไป มักมีผู้ที่บริหารธุรกิจที่สามารถทำงานทดแทนนายจ้าง เช่น ทายาทของนายจ้างหรือหุ้นส่วนนายจ้างก็สามารถเข้ามาบริหารจัดการแทนได้ หากนายจ้างเสียชีวิตลง ด้หนี้มูลค่านารเอาประกันนั้น ความสัพันธ์ทางธุรกิจที่ถือว่าอาจมีส่วนได้เสียซึ่งกัน

หุ้นส่วน บุคคลที่มีหุ้นส่วนในธุรกิจเดียวกัน ย่อมมีส่วนได้เสียในชีวิตซึ่งกันและกัน เพราะหากหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตลง หุ้นส่วนที่เหลืออาจต้องรับผิดชอบในการชำระหนี้สินที่มีอยู่แทนด้วย หรือการดำเนินธุรกิจที่ต้องอาศัยการติดต่อลงทุนของหุ้นส่วน ซึ่งหากหุ้นส่วนคนนั้นเสียชีวิต ก็ทำให้การลงทุนหยุดชะงัก ดังนั้นหุ้นส่วนธุรกิจจึงสามารถเอาประกันชีวิตซึ่งกันและกันได้ ทั้งนี้วงเงินที่สามารถเอาประกันได้ ต้องไม่เกินมูลค่าความเสียหายทางธุรกิจในกรณีที่หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตลง

ผู้ที่มีความรับผิดชอบร่วมกัน หากบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีความรับผิดชอบในกิจกรรมใดๆนอกเหนือจากทางธุรกิจร่วมกัน ซึ่งการเสียชีวิตของบุคคลอีกฝ่ายอาจส่งผลกระทบต่อบุคคลที่เหลืออยู่ได้ คือบุคคลที่เหลือต้องรับผิดชอบแทนในส่วนที่บุคคลที่เสียชีวิตรับผิดชอบอยู่ กรณีเช่นนี้ถือว่าบุคคลกลุ่มนั้นย่อมมีส่วนได้เสียซึ่งกันและกัน เช่น กรณี นายเอและนายบี เป็นลูกหนี้ร่วมกัน หากนายเอเสียชีวิต นายบีย่อมต้องชดใช้หนี้ทั้งหมด ดังนั้นทั้งนายเอและนายบีจึงสามารถเอาประกันชีวิตซึ่งกันและกันได้

กรณีการเอาประกันชีวิตผู้อื่นนี้ ผู้เอาประกัน(Policy Holder) และผู้ถูกเอาประกันชีวิต (Insured) จะมิใช่บุคคลคนเดียวกัน

หลักเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตอย่างยิ่งของคู่สัญญา (Principle of The Utmost Good Faith)

ในการทำสัญญาทั่วไปจะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยสองฝ่ายเป็นคู่สัญญากัน ซึ่งตามปกติคู่สัญญาต้องมีโอกาสในการพิจารณาคู่สัญญาอีกฝ่ายของตนว่ามีความเหมาะสมที่จะเป็นคู่สัญญาในการทำสัญญาได้หรือไม่ ดังนั้นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องมีความจริงใจในการทำสัญญาเพื่อสร้างความไว้วางใจให้แก่คู่สัญญา โดยการเปิดเผยข้อมูลต่างๆของตนเองให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการทำสัญญานั่นเอง การทำสัญญาประกันชีวิตก็เช่นกัน เป็นการตกลงกันระหว่างบุคคลสองฝ่ายคือผู้เอาประกันชีวิตและผู้รับประกันชีวิต ดังนั้นผู้เอาประกันชีวิตจึงต้องเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสถานะต่างๆของตนเองที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้รับประกันให้ทราบ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 บัญญัติว่า

“ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยคาวมทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเก็บเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”

จากกฎหมายดังกล่าว จึงแบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ

1.กรณีละเว้นไม่เปิดเผยความจริง

2.กรณีรู้ความจริงแต่แถลงความเท็จ

จากหลักกฎหมายข้างต้นจะเห็นได้ว่าหากผู้เอาประกันชีวิตละเว้นไม่เปิดเผยความจริงแก่ผู้รับประกันชีวิต หรือรู้ความจริงนั้นอยู่แล้วแต่แถลงความเท็จต่อผู้รับประกันชีวิต ถือว่าผู้เอาประกันชีวิตไม่มีความสุจริตในการแจ้งข้อมูลหรือสถานะที่แท้จริงของตนเอง จะมีผลต่อสัญญาการทำประกันชีวิตของทั้งสองฝ่าย คือ อาจทำให้สัญญานั้นไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายหรือสัญญาเป็นโมฆียะ ดังนั้นหน้าที่ของคู่สัญญาในการประกันคือผู้เอาประกันชีวิตจึงต้องมีความสุจริตในการแถลงความจริง หรือเปิดเผยข้อมูลของตนเองให้แก่ทางผู้รับประกันทราบ เพื่อให้ผู้รับประกันพิจารณาข้อเท็จจริงเพื่อใช้ในตัดสินว่าจะตกลงรับประกันชีวิตตามที่ผู้เอาประกันชีวิตได้แสดงความจำนงมาหรือไม่ หรือเรียกว่าการพิจารณารับประกัน (Underwriting)

ในการพิจารณารับประกัน ผู้พิจารณารับประกัน (Underwriter) จะพิจารณาถึงความเหมาะสมของผู้เอาประกันจากข้อมูลที่ผู้เอาประกันได้แถลงมาว่าสามารถรับประกันได้หรือไม่ โดยทั่วไป ผู้เอาประกันที่มีสุขภาพร่างกายและการดำเนินชีวิตปกติโดยทั่วไป ไม่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรืออัตรามรณะ (Mortality Rate) ที่สูงกว่าบุคคลทั่วไป ผู้พิจารณารับประกันมักจะพิจารณารับประกันโดยให้ผู้เอาประกันรายนั้นจ่ายเบี้ยประกันแก่บริษัทผู้รับประกันในอัตราเบี้ยประกันปกติ แต่ถ้าผู้เอาประกันรายนั้นมีภาวะสุขภาพที่เป็นเหตุให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือมีการดำเนินชีวิตที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าบุคคลทั่วไป ซึ่งการรับประกันผู้เอาประกันที่มีความเสี่ยงสูงในอัตราปกติก็อาจเกิดความเสียหายต่อผู้รับประกันได้ ในกรณีนี้ผู้พิจารณารับประกันอาจพิจารณารับประกันผู้เอาประกันรายนั้นโดยการเพิ่มจะปกติบุคคลปกติถ้าผู้เอาประกันได้ปกปิดข้อมูลบางอย่างที่อาจมีผลต่อการพิจารณารับประกัน

ขั้นตอนการรับประกันชีวิต

ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 3 ขั้น คือ

ขั้นที่ 1 ตัวแทนจะติดต่อลูกค้าโดยการอธิบาย และให้ข้อมูลในการทำประกันชีวิต หากลูกค้าตัดสินใจเอาประกันตัวแทนจะส่งเอกสารและข้อมูลตามที่บริษัทฯ กำหนดต่อสํ านักงานใหญ่ เพื่อให้ฝ่ายพิจารณารับประกัน (Underwriter) อนุมัติ

ขั้นที่ 2 หากเอกสารข้อมูลและเงื่อนไขต่างๆ ของลูกค้าเป็นไปตามหลักเกณฑ์การรับประกัน บริษัทฯ จะอนุมัติการออกกรมธรรม์ให้ลูกค้า หากลูกค้าไม่ผ่านการอนุมัติ บริษัทฯ จะส่งเงินคืนให้ลูกค้าในราวประมาณ 7 วันหลังวันพิจารณา

ขั้นที่ 3 หลังจากกรมธรรม์ได้รับอนุมัติ บริษัทฯ จะจัดส่งกรมธรรม์ให้ผู้เอาประกัน โดยขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่ลูกค้าเริ่มสมัครจนได้รับกรมธรรม์ จะใช้เวลาประมาณ 5 ถึง 10 วัน

อำนาจในการพิจารณารับประกัน

ฝ่ายพิจารณารับประกันจะเป็นผู้พิจารณารับประกันลูกค้าแต่ละราย โดยอำนาจในการพิจารณา จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้พิจารณารับประกันเป็นสำคัญ โดยหลักเกณฑ์การพิจารณานั้น แบ่งตามวงเงินเอาประกันและอายุของผู้ทำประกัน ซึ่งสามารถแบ่งลูกค้าออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

1. ประเภทไม่ต้องตรวจสุขภาพ เป็นลูกค้าที่อายุน้อย หรือมีวงเงินประกันต่ำเช่น กลุ่มเยาวชน

2. ประเภทต้องตรวจสุขภาพ เป็นลูกค้าที่มีอายุขึ้นมา หรือมีวงเงินเอาประกันสูง


คำอธิบายศัพท์

ผู้ขอเอาประกันภัย (Proposed Insured หรือ Applicant) คือผู้ที่ขอเสนอการซื้อความคุ้มครองหรือขอเอาประกันจากผู้รับประกันโดยการกรอกรายละเอียดข้อเท็จจริงในใบคำขอเอาประกันประกันชีวิต (Application Form หรือ Proposal Form) พร้อมทั้งชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้รับประกันภัย

ผู้ถูกเอาประกันภัย (Insured Person) ผู้ถูกเอาประกันภัยเป็นคู่สัญญาประกันชีวิตซึ่งมีหน้าที่เปิดเผยข้อเท็จจริง อันเป็นสาระสำคัญต่อการพิจารณาของผู้รับประกัน ว่าจะรับประกันได้หรือไม่ ตลอดจนมีหน้าที่ชำระเบี้ยประกันภัยตามจำนวนที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาประกันชีวิต และเมื่อเกิดความสูญเสียกับร่างกายหรือชีวิตของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยก็จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาประกันชีวิต (ในกรณีประกันวินาศภัยผู้ถูกเอาประกันภัยหมายถึงวัตถุหรือเหตุที่เอาประกันภัย (Insured object) เนื่องจากประกันวินาศภัยมักเป็นการประกันภัยที่เกี่ยวกับสิ่งของหรือทรัพย์สิน)

ในการประกันชีวิต ผู้ขอเอาประกันภัยเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ถูกเอาประกันภัยเสมอ

ในการประกันวินาศภัย ผู้ขอเอาประกันภัยมักเป็นเจ้าของสิ่งของหรือทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

ผู้เอาประกันภัย (Insured) ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายชำระเบี้ยประกันภัยตามจำนวนที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาประกันชีวิตจึงถือเป็นคู่สัญญาประกันชีวิตที่แท้จริง และเมื่อเกิดความสูญเสียกับร่างกายหรือชีวิตของผู้ถูกเอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยก็จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาประกันชีวิต

ในการประกันชีวิตผู้เอาประกันภัยและผู้ถูกเอาประกันภัยมักเป็นบุคคลเดียวกัน แต่ไม่เสมอไป ถ้าผู้ถูกเอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่ตนเอง ผู้ถูกเอาประกันภัยคือบุคคลเดียวกันกับผู้เอาประกันภัย เช่น นางสาว ก สมัครทำประกันชีวิตตนเองไว้ และชำระเบี้ยประกันภัยของตนเอง ในกรณีนี้ นางสาว ก เป็นทั้งผู้ขอเอาประกันภัย ผู้ถูกเอาประกันภัยและผู้เอาประกันภัย แต่ถ้า นางสาว ก สมัครทำประกันชีวิตตนเองไว้ แต่ไม่ได้ชำระเบี้ยประกันภัยของตนเอง โดยมีนาย ข ซึ่งเป็นสามี นางสาว ก เป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันภัยให้ ในกรณีนี้นางสาว ก เป็นเพียงผู้ขอเอาประกันภัยและผู้ถูกเอาประกันภัย แต่ ผู้เอาประกันภัยเป็นนาย ข ทั้งนี้ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนได้เสียกับผู้ถูกเอาประกันภัยด้วย (ตามเงื่อนไข ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 862 ระบุว่า คำว่า "ผู้เอาประกันภัย" ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลง จะส่งเบี้ยประกันภัย และปพพ.มาตรา 863 ระบุว่า อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วน ได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่ อย่างหนึ่งอย่างใด)

ผู้ถือกรมธรรม์ (Policy Holder หรือ Policy Owner) โดยทั่วไปผู้เอาประกันภัยและผู้ถือกรมธรรม์จะเป็นบุคคลเดียวกัน แต่ในกรณีที่ มีการเอาประกันชีวิตผู้อื่น เช่น บิดาหรือมารดา เอาประกันชีวิตของลูกไว้ ในกรณีเช่นนี้ ลูกคือผู้ถูกเอาประกันภัยและบิดามารดาคือผู้เอาเอาประกันภัยและผู้ถือกรมธรรม์ หรือ สามีเอาประกันชีวิตของภรรยา ในกรณีเช่นนี้ ภรรยาคือผู้ถูกเอาประกันและสามีคือผู้เอาประกันภัยและผู้ถือกรมธรรม์

ผู้รับประกัน (Insurer) ผู้รับประกันเป็นคู่สัญญาประกันชีวิตซึ่งมีหน้าที่พิจารณารับประกันอย่างระมัดระวังและรอบคอบ และมีหน้าที่จ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้

ผู้รับประโยชน์ (Beneficiary) ผู้รับประโยชน์เป็นบุคคลที่พึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจำนวนเงินใช้ให้ โดยผู้เอาประกันภัยกำหนดให้เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตที่ได้ทำขึ้น ผู้รับประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องในสัญญาประกันชีวิตในฐานะที่จะรับค่าสินไหมทดแทนหรือรับเงินที่ผู้รับประกันภัยจะใช้ให้เท่านั้น มิใช่คู่สัญญาโดยตรงในสัญญาประกันชีวิต

เงินเอาประกันภัย หรือ ทุนประกันภัย (Sum Insured) คือจำนวนเงินที่ผู้รับประกันสัญญาว่าจะชดใช้หรือจ่ายให้แก่ ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาประกันชีวิต

ระยะเวลาความคุ้มครอง (Cover Period) คือระยะเวลาที่ผู้รับประกันจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันชีวิต หากผู้เอาประกันชีวิตเสียชีวิตในช่วงที่อยู่ในระยะเวลาคุ้มครอง บริษัทผู้รับประกันชีวิตจะชดใช้ค่าสินไหมให้แก่ผู้รับประโยชน์

ระยะเวลาชำระเบี้ย (Premium Payment Period) คือระยะเวลาที่ผู้เอาประกันจะต้องชำระเบี้ยประกันชีวิตให้แก่ผู้รับประกัน ซึ่งได้กำหนดเวลาไว้แน่นอนตามแบบประกันที่ผู้เอาประกันได้เลือกความคุ้มครอง

แบบประกันชีวิต (Insurance Plan) คือผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เสนอด้านแผนความคุ้มครองและผลประโยชน์ที่ผู้รับประกันได้ออกแบบมาเมื่อเสนอให้แก่ลูกค้า โดยการตั้งชื่อแบบประกันชีวิตแต่ละแบบนั้นอาจตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์ของแบบนั้นๆ หรืออาจตั้งคุณสมบัติเด่นๆของแบบประกันนั้น



เอกสารอ้างอิง

1.ไชยยศ เหมะรัชตะ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย พิมพ์ครั้งที่ 7, 2549

2.จิตติ ติงศภัทิย์ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย พิมพ์ครั้งที่ 13

3.Anonymous สำเนาเอกสารเอกสารเรื่องการประกันชีวิต

4.พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ 5, 2549

หมายเลขบันทึก: 436253เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2011 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2016 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท