จิตตปัญญาเวชศึกษา 167: ทักษะการสื่อสาร.. อาจจะไม่จำเป็นต้องสอน


ทักษะการสื่อสาร... อาจจะไม่จำเป็นต้องสอน

จงใจตั้งชื่อยั่วยวนกวนอารมณ์เล่นๆ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น (แปลว่าอะไร?) ผมหมายความเช่นนั้นจริงๆ (ประมาณ​80%)

ปฐมบทก่อนจะมาถึงบทความนี้ก็เนื่องด้วยคณะแพทยศาสตร์ที่ผมทำงานอยู่ เกิดจัดงานนำเสนอคุณภาพการเรียนการสอนในหัวข้อทักษะการสื่อสาร (communication skill) และให้แต่ละหน่วยแต่ละส่วนที่อยู่ในแพทยศาสตรศึกษานำพาผลงานตัวเองมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ซึ่งกิจกรรมนี้ก็ดีอย่างหนึ่งตรงที่ (บีบ)ทำให้เรามองย้อนตนเองว่าทำอะไรไปโดยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้างสักกี่มากกี่น้อย

ก็เลยเกิดดวงตาเห็นธรรมว่าบางอย่างเราก็ใช้วิธีกลมกลืนว่ามันอยู่ในงานประจำนี่แหละ ไม่ได้จัดการเรียนการสอนออกเป็นจำเพาะเจาะจง (ซึ่งไม่ได้เสียหายอะไรเรื่องการเรียนจากการปฏิบัติจริง) แต่สิ่งสำคัญที่เราพบก็คือ เราไม่ได้มีกระบวนการชัดเจนในการ "ประเมิน" ว่านักเรียนของเรารู้จริง ทำจริง และมีทัศนคติที่เป็นเช่นไรกับเรื่องนี้

เป็นเพราะว่า "การสื่อสาร" นั้นแทรกอยู่ในทุกๆบริบทของชีวิต ไม่เฉพาะตอนนักศึกษาแพทย์ปฏิบัติงาน แต่ทุกขั้นทุกตอนตั้งแต่ตื่นลืมตาจนหลับตานอน

ถามว่าพวกเรานี้พูดเป็นไหม แต่ละคนพูดกันลิงหลับทั้งนั้น แต่หมายถึงเวลาส่วนตัวนะ หรือเวลาอยู่กับแฟน อยู่กับเพื่อน แต่บางคนจะกลับตัวกลับใจเป็นเตมีย์ใบ้ทันทีที่ยืนต่อหน้าอาจารย์ หรือกระบิดกระบวนต่อหน้าคนไข้ไปเสียงั้น บางคนที่เราเคยวินิจฉัย ประเมินว่าทักษะการสื่อสารไม่ค่อยดี (เวลาทำงาน เวลาสอบ เวลาถูกประเมิน) ไปๆมาๆอ้าว ดันกลายเป็นนักทำกิจกรรมนอกหลักสูตร นักพูด นักขาย (มี side-line ขายของก็มีนะ จะบอกให้) เลยชักเกิดความไม่แน่ใจเสียแล้วว่าแบบนี้น่ะ เขาต้องการ "การเรียนการสอน" ทักษะการสื่อสารจริงหรือไม่ เพราะมันเล่นมี deficit จำเพาะกาล จำเพาะสถานที่ 

บางคนจะเกลี้ยกล่อมให้คนไข้รับการรักษา ก็ทำไม่เป็นเลย แต่พอจะเกลี้ยกล่อมขอตังค์แม่กลับทำได้สำเร็จทุกครั้ง บางคนอธิิบายกระบวนการรักษา ความจำเป็น ขั้นตอนต่างๆไม่ค่อยออก แต่ตอนอธิบายของบประมาณ ก่อสร้าง พูดได้ชัดเจนเห็นกระจ่างชนิดไม่ทำไม่ได้แล้วก็มี บางคนก็ไม่ค่อยชอบสนทนาเรื่องพยากรณ์โรค แต่ถ้าขอเบิกอุปกรณ์แล้วไม่ได้จะเกิดผลเสียอะไรบ้างกลับสามารถชี้แจงได้เป็นวันๆ พยากรณ์ได้เป็นฉากๆ บางคนจะ breaking bad news ว่าเกิดข้อผิดพลาดอะไรบ้างก็ยากแสนลำเข็ญ แต่ในห้อง morbidity & mortality conferences แทบจะชี้หน้ากันแจกแจงอย่างถึงพริกถึงขิง

อันนี้เรียก psychomotor lacuna คือ ทักษะแหว่งเว้าเฉพาะกาล

ปรากฏการณ์นี้ไม่แปลกอะไรครับ เพื่อนผมเล่นดนตรี classic ก็อธิบายได้อย่างชัดเจนว่า เพลงใดๆก็ตาม ครั้งที่เราเล่นได้ดีที่สุดมักจะเป็นตอนซ้อมๆที่บ้านนี่แหละ และตอนเล่นจริงๆออกงาน มักจะไม่ได้เป็นชิ้นที่เราเล่นได้สุดยอดของเรา อันนี้แสดงถึง "อิทธิพลของบริบท" อย่างชัดเจน

หรือเพื่อประโยชน์ของบทความนี้ (จิตตปัญญาเวชศึกษา) ต้องบอกว่า "อิทธิพลของบริบทต่อสภาวะจิต"

นั่นคือนักเรียนไม่ได้ขาดทักษะการพูด การแสดงออก แต่ขาดสติ ตั้งเจตจำนง tune เจตนาให้ดีก่อน ทั้งก่อนสื่อสารและระหว่างการสื่อสาร

เช่นตอนเกลี้ยกล่อมแม่ให้ตังค์เรา ก็จะพยายามทำตัวน่ารัก น่าเอ็นดู ทำให้ "แม่รัก" ใครๆก็ทำได้ ทำบ่อยๆ ทำจนเก่ง แต่ mentality แบบนี้ไม่ได้เกิดขณะที่เราคุยเกลี้ยกล่อมคนไข้่ในการรักษา เพราะตอนนั้นเรา "ไม่ได้อยากให้เขารัก" แต่ตอนนั้นเรากำลัง "อยากให้ฟังคำสั่งเรา" มากกว่า สภาวะจิตเป็นคนละแบบอย่างสิ้นเชิง กลายเป็น authority ของเราจะถูกรับฟังศิโรราบหรือไม่ กลายเป็นการท้าทายอำนาจ (ที่จริงๆไม่มี) ยิ่งอำนาจเราไม่มี เรายิ่งจิตตก ยิ่งพูดไม่ออก ยิ่งไม่อยากอยู่ตรงนั้น

ตอนอธิบายความจำเป็นในการรักษา ขั้นตอนในการรักษา ถ้าทำไปแกนๆ ฟังไม่ฟังก็เรื่องของแก ไม่ได้สนใจว่าขั้นไหนช่วงไหนที่เข้าใจหรือไม่เข้าใจ แตกต่างจากตอนอธิบายของบ ก็เพราะว่า "ของบนั้น เราได้ประโยชน์ เราได้เงิน" intention ก็แตกต่าง แรงบันดาลใจก็ไม่เหมือนกัน เจตจำนงความมุ่งมั่นก็ต่างกันเยอะ อย่างแรกอาจจะทำให้เสร็จๆไป ห้านาที สิบนาที แต่อย่างหลังเป็นชั่วโมงๆเราก็ต้องการทำ ขอให้ได้เถอะ

ตอนอธิบายพยากรณ์โรค เราก็จิตตกไปก่อนคนไข้ ลืมสภาพของเขาว่าเขาอาจจะรู้สึกเช่นไร แต่บางทียิ่งไปกว่านั้นคือเราเกิดกลัวขึ้นมาเอง ถ้าเป็นเราจะเป็นยังไง จะทำยังไง จะรับไม่ได้ แต่พอผลการพยากรณ์เปลี่ยนบริบทไป พอเราหมดความกลัว พอเราผ่อนคลาย ได้ประโยชน์ เราก็กลับมาควบคุมปัญญาได้ใหม่ ทำได้ดีด้วย

รวมทั้งการชี้แจงข่าวร้าย บอกว่าเราทำอะไรผิดพลาด ยิ่งจี้จุดอ่อนคือความกลัวของเราได้โดยตรง แต่ต่างจากตอนที่เรา debate ในห้องประชุม และยิ่งเป็นความผิดของคนอื่นด้วย เรากลับสามารถทำได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว aggressive และดุดันชัดเจน

ผมเลยเกิดสมมติฐานใหม่ว่าที่เราเห็นทักษะการสื่อสารบกพร่องหย่อนยานนั้น มันเป็นแบบฐานไม่ดี หรือใจไม่ดีกันแน่ เพราะวิธีแก้ วิธีรักษามันคนละเรื่องกัน เรื่องแรกมันเป็นความรู้ เป็นทฤษฎี เป็นการฝึกฝน แต่อีกเรื่องมันผ่านการ "ภาวนา" ให้ความหมาย ปรับสติ ปรับทัศนะ ปรับจิตใจ

เป็นแบบไหนกันแน่?

หมายเลขบันทึก: 435786เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2011 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ค่ะ หลายๆ คนที่เคยพบเจอเจตนาดีค่ะแต่พูดไม่เป็นทำให้สื่อสารผิดหรือสื่อสารแต่น้อย แต่ถ้าได้ฝึกฝน Learning by Doing และได้เรียนรู้จากคนที่เชี่ยวชาญบ่อยๆ การสื่อสารก็น่าจะดีขึ้นได้เองค่ะ

หึ หึ "พูดไม่เป็น" นี่เป็น analogical speaking ใช่ไหมครับอาจารย์จัน

ผมกำลังมีสมมติฐานสองอันที่จะอธิบายปรากฏการณ์ "พูดไม่เป็น" (ทั้งๆที่ "พูดก็เป็น")

ประการแรก พูดไม่เป็นเพราะขาด vocab บางคำไป ใช้ไม่ถูก (กาละ เทศะ) ผิดน้ำหนักหรือความหมาย (silly vs idiot)

ประการสอง เพราะ internal conditions ของคนพูดเอง คือ มีความกลัว ความสำนึกผิด ความอาย ความไม่แน่ใจ ฯลฯ

แบบแรกแก้ตรงๆก็อ่านหนังสือเพิ่ม เรียนเพิ่ม ท่องศัพท์เพิ่ม เปิดพจนานุกรมเพิ่ม จะแก้ได้ตรงกับสมุหฐานของโรค

แบบที่สอง ต่อให้ทำทุกอย่างของแบบแรก ก็ยังแก้ไม่ตก เพราะแก้ผิดจุด แบบหลังนี้จะวินิจฉัยอ้อมๆได้ก็คือ "พอเปลี่ยนบริบท จากพูดไม่เป็น ก็พูดเป็นขึ้นมาทันทีทันใด"

ในสังคมคงจะมีปนๆกัน แต่ผมอยากจะตั้งสมมติฐานว่าแบบหลังนั้น under-diadnosis ตกสำรวจไปเยอะ หรือคิดว่าเป็นเพราะแบบแรก ก็เลยมะงุมมะงาหราแก้ตามแบบแรกไป แก้เท่าไรๆก็ยังไม่หาย

       ตอนนี้ผมกำลังทำงานเล็กๆ เรื่องการสื่อสารในครอบครัวอยู่  ไปทำเวทีครอบครัวมาได้ 4 - 5 เวที  แล้วครับ   จากการพูดคุยกับผู้ปกครองหลายท่าน พบว่าผู้ปกครองยังสื่อสารกับลูกแบบบกพร่องกันอยู่มากครับ ไม่สามารถสื่อสารให้ลูกเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของตัวเองได้

        กำลังหาวิธีว่าจะทำอย่างไรดี  จึงจะแก้ตรงนี้  ถ้ามองกันให้ลึกๆแล้ว   การสื่อสารบกพร่อง ก็น่าจะมาจาก ใจ ไม่ดี ครับ    ก็ต้องแก้ด้วยการ ภาวนา  ปรับสติ ปรับทัศนะ ปรับจิตใจ   นี่ว่ากันด้วยแก้ที่ต้นเหตุกันจริงๆ

       แต่ผมเอง ก็ยอมรับว่า  คงไม่มีกำลังสติที่แข็งแรงอะไรมากมายที่จะไปทำตรงนั้นได้  ที่ทำได้ คือ ให้กระบวนการ    ปรับฐานในการสื่อสาร  เท่าที่จะพอทำได้ ภายในเวลาที่จำกัด

      ที่ผ่านมา ก็ยอมรับว่าการแก้ด้วยการให้ความรู้ ให้ทฤษฎี ให้การฝึกฝน  เป็นวิธีที่ได้ผลน้อยมากครับ   เพราะทำในช่วงเวลาจำกัด และ ไม่ต่อเนื่อง   และ ที่สำคัญ  ยังไปไม่ถึงจิตใจ ครับ

สวัสดีครับคุณ small man

ขอบคุณครับที่กรุณาแวะมาเยี่ยมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์

ผมเองก็พบว่าการ facilitate คนอื่น กลับง่ายกว่าการทำเองกับคนใกล้ชิดรอบตัวที่บ้านด้วยซ้ำ ดังนั้นภายหลังเวลาไป facilitate ใคร ผมก็จะพยายามไม่กระทำแบบ idealistic เพราะทราบดีว่ามันยาก

facilitate คนอื่นที่ง่ายก็เพราะ ตอนเราพูด เราไม่ได้อยู่ในบริบทเดียวกับเขา ไม่ได้มี relationship อะไรมาก่อนแบบที่เขาจะมีกับลูก กับภรรยา ครอบครัว หรือคนอื่นๆ เปรียบได้กับผมวิพากษ์การรบบนกระดาษ มันก็แลง่าย แต่คนที่รบจริงๆจะทราบว่ามันไม่เหมือนกัน

ดังนั้นการ dialogue ที่ใช้เรื่องเล่า ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ลงมาจากหอคอยงาช้าง ฟังชีวิตจริง และเอาชีวิตจริงของเราไปแลก เรียกว่า "เรียนรู้ชีวิตต้องแลกด้วยชีวิต" ไม่วนเวียนอยู่ที่ "ฐานคิด" ได้แก่ protocol script map แต่อยู่กับเรื่องราวที่ผุดปรากฏอยู่เบื้องหน้า อ่อนไหว รำ่ไห้ หัวเราะ อย่างอ่อนโยนและปิติกับชีวิตข้างหน้า มิฉะนั้นถ้าพูดทฤษฏีเยอะๆ มันกลายเป็น wording swordplay เต็มไปด้วยบาลี สันสกฤต คำพูดที่ทั้งคนพูดและคนฟังก็ไม่ทราบว่าหมายความว่าอะไรไปได้ก็มีเหมือนกัน

พวกเราที่ลองทำเรื่องนี้กัน คงจะต้องพยายามเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน เป็นกระจกอันผ่องใส สะท้อนให้เห็นมุมมองหลากหลาย จำกัด blindspot ให้กันและกันครับ บนเส้นทางนี้จะได้ไม่เงียบเหงา แม้ alone ก็ไม่ lonely

มาทักทายยามเช้า เพราะตื่นมาดูบอล ครับ "บางคนพูดได้ทุกเรื่อง ยกเว้น เรื่อง ที่จำเป็น ต้องพูด ครับ" จริงใหมนี่

สวัสดีคะอาจารย์ ได้กลับมาอีกครั้ง เย้..

สำหรับตัวหนู

"communication skil"

ได้จากการเลียนแบบ

กับเรียนรู้จากความผิดพลาด..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท