พัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน


ครู งานวิจัย ชุธาตุ ชุมชน พระพุทธศาสนา พัฒนา สตรี สิ่งแวดล้อม เชียงตุง พระมหาเทวีจิรประภา

การพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อมโดยกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน 

โดย 

รุ่งทิพย์    กล้าหาญ

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

ความสำคัญของปัญหา

มิติของกาลเวลา ได้ผันแปรความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมจากการเคารพในคุณค่ากลับกลายเป็นเอาชนะเพื่อนำมาตอบสนองการดำรงชีวิต จนกลายเป็นการทำลายและดูเสมือนทวีความรุนแรงมากขึ้นตามพัฒนาการของเทคโนโลยี  จนนำไปสู่การเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม และส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในหลายด้าน ซึ่งได้พยายามหาทางแก้ไขโดยการป้องกันและควบคุมทรัพยากรธรรมชาติ  จากการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้  รวมถึงวิธีการออกกฎหมายห้ามและบทลงโทษ  หากแต่วิธีการเหล่านี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และที่สำคัญยิ่งคือการแก้ไขที่ต้นเหตุซึ่งต้องรีบเร่งดำเนินการคือ  การปลูกฝังสร้างจริยธรรมของผู้คนต่อสิ่งแวดล้อม

            รากฐานของความคิดทางจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อมคือ “การคิดถึงผู้อื่นและสิ่งอื่น”  โดยการคิดและการสร้างมุมมองที่เชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่น ในลักษณะที่เกื้อกูลพึ่งพาระหว่างกัน มีสำนึกรู้สึกว่า ในชีวิตประจำวันของเราสัมพันธ์กับสิ่งภายนอกตัวตลอดเวลา ทั้งระหว่างเพื่อนมนุษย์ที่ร่วมชุมชน  สังคม  ประเทศ  มนุษย์โลกและสิ่งนอกตัวที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งการสร้างสำนึกอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์ให้แทรกซึมในทุกอณูของวิถีชีวิตนั้น ต้องพัฒนาทักษะการคิดเองหรือการคิดได้ด้วยตนเอง  และรูปแบบการเรียนรู้ด้วยกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน ซึ่งเน้นการร่วมกันทำความเข้าใจอดีตและปัจจุบัน  วิเคราะห์ความเชื่อมโยงอนาคต ร่วมสร้างพันธสัญญาวิสัยทัศน์ของอนาคตร่วมกันและลงมือจัดทำแผนปฏิบัติเพื่อบรรลุยังเป้าหมายร่วมกัน จึงมีความเหมาะสมในการนำมาปรับใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างและพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดความตระหนักและสำนึกถึงบทบาทของตนต่อสังคม   และท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ก่อเกิดการบ่มเพาะเป็นลักษณะนิสัยที่เหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อม

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

          เพื่อพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อมโดยกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน   สำหรับนิสิตชั้นปีที่  3     คณะครุศาสตร์   มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตเชียงใหม่

 

คำถามการวิจัย

            1. การเรียนรู้วิธีใดที่จะสร้างและพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้เรียน โดยเฉพาะผู้เรียนในกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ

            2. การเรียนรู้ด้วยกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกันจะสามารถสร้างพลังความคิด  การมีส่วนร่วมของผู้เรียนในการสร้างสิ่งที่ดี  มีความหมาย  ตรงกับความสนใจ มีการวางแผนออกแบบกิจกรรม  ฝึกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ และเกิดการสั่งสมเป็นจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับบุคคลและสาธารณะได้เพียงใด

 

สมมติฐานการวิจัย

หลังจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน  นิสิตมีการพัฒนาด้านความรู้ ความเข้าใจ   พฤติกรรม และเจตคติที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม    

 

คำสำคัญ

การพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม  หมายถึง การสร้างแนวทางประพฤติปฏิบัติและความนึกคิดที่ดีงามของบุคคลต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับบุคคลและสาธารณะ โดยมีลักษณะที่ปรากฏถึงความตระหนัก  และมีพฤติกรรมการปฏิบัติที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

 

ขอบเขตการวิจัย

เป็นวิจัยชั้นเรียน   ที่เลือกใช้เทคนิคการวิจัยเชิงกึ่งทดลอง โดยศึกษาในกลุ่มนิสิตชั้นปีที่ 3 คณะ

ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาวิทยาการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 จำนวน  16 รูป  ซึ่งนิสิตทั้งหมดมีสถานภาพเป็นพระภิกษุสงฆ์

 

แนวคิดทฤษฎีและกรอบแนวคิดในการวิจัย

1. แนวคิดรูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาจริยธรรม  

2. แนวคิดกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน  F.S.C. (Future  Search  Conference)  

3. แนวคิดการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ   

4. แนวคิดการพัฒนาจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม

5.งานวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวน  11 เรื่อง

                                                 

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย       

          1.แบบทดสอบ

            1.1.) แบบวัดทักษะการคิดต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม

            1.2.) แบบวัดความตระหนักต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อม

            1.3.) แบบวัดความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

            1.4).แบบวัดพฤติกรรรมการใช้และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

            1.5.แบบวัดความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ด้วยกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน 

2.แบบสังเกตพฤติกรรม

3.เอกสารใบงานมอบหมาย : เอกสารบันทึกความรู้ ,บันทึกกระจกส่องตนด้านสิ่งแวดล้อม  ,รายงานโครงการพัฒนาตนเองด้านสิ่งแวดล้อม , การศึกษาชุมชน และรายงานผลโครงการทำงานเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อม

4. แผนการจัดการเรียนรู้  ซึ่งสร้างตามหลักการสร้างอนาคตร่วมกัน จำนวน  8  แผน  สำหรับการสอน  14  ครั้ง  เวลาสอนทั้งหมด  42  คาบ  คาบละ  50  นาที  ประกอบด้วย

   4.1)แผนการเรียนรู้ที่ 1 บอกเล่าและย้อนทวน :วิเคราะห์ตนเอง / บันทึกกระจำส่องตนด้านสิ่งแวดล้อม

   4.2.)แผนการเรียนรู้ที่ 2  วาดหวัง – รำลึกอดีต: ระดมคิดภาพอดีตและความฝัน /แผนที่ความคิด

  4.3) แผนการเรียนรู้ที่ 3 ทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ : ระดมคิด / ต้นไม้เจ้าปัญหา /โครงการพัฒนาตนเองด้านสิ่งแวดล้อม

  4.4) แผนการเรียนรู้ที่  4 สร้างแรงบันดาลใจ :บทเรียนจากชุมชน/บทปฏิบัติการศึกษาวิถีชุมชน

  4.5.) แผนการเรียนรู้ที่ 5 สร้างแรงบันดาลใจ : แบบอย่างความดี /ศึกษาสมรภูมิ/องค์กร/บุคคลต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม

 4.6.) แผนการเรียนรู้ที่ 6  กำหนดวิสัยทัศน์และแผนงานแวดล้อม : ออกแบบโครงการทำดีเพื่อสังคม

  4.7) แผนการเรียนรู้ครั้งที่  7  ทำดีเพื่อสังคม:โครงงานเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อม

 4.8.) แผนการเรียนรู้ครั้งที่  8  ทบทวนสรุปบทเรียน : เวทีเรียนรู้/นำเสนองาน

 

การรวบรวมข้อมูล

1. การทดสอบนิสิตก่อน -หลังการเรียน

2. การสังเกตพฤติกรรม

3. การเก็บรวบรวมข้อมูลจากบันทึกการเรียนรู้   บันทึกกระจกส่องตนด้านสิ่งแวดล้อม   รายงานการพัฒนาตนเองด้านสิ่งแวดล้อม   รายงานการศึกษาชุมชน  และรายงานโครงงานเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อม 

 

การวิเคราะห์ข้อมูล

        ใช้วิธีการผสมผสานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติพื้นฐานและค่า Paired Sample  test  โดยกำหนดแปลผลระดับขั้นการพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อมเป็น 4  ระดับคือ  ขั้นพอใจรับรู้  , ขั้นเต็มใจตอบสนอง , ขั้นเห็นคุณค่าและขั้นจัดระบบ 

            สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพของการพัฒนาจริยธรรม  ได้มีการนำข้อมูลจากสมุดบันทึกการเรียนรู้  บันทึกกระจกส่องตนด้านสิ่งแวดล้อม  รายงานการพัฒนาตนเองด้านสิ่งแวดล้อม  รายงานการศึกษาชุมชน  การนำเสนอผลโครงการทำงานเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อม มาประกอบการอธิบายข้อมูลเชิงสถิติ      ซึ่งทั้งหมดได้ถูกนำมาประมวลผลการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งรายบุคคล   ซึ่งจะสามารถสะท้อนถึงความรู้  ความเข้าใจ  การวิเคราะห์ สังเคราะห์  ตลอดจนทัศนคติต่อการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม

 

ผลการวิจัย

หลังการเรียนรู้ด้วยกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกันนิสิตมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  0.05  ในทุกด้านคือ

-  ด้านความตระหนักต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อม (4.93)

- ด้านจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีพัฒนาระดับขั้นของจิตสำนึกสูงจากระดับขั้นตอบสนองเป็นระดับขั้นเห็นคุณค่าและการจัดระบบ 

-  ด้านพฤติกรรมการปฏิบัติ  : มีลักษณะพฤติกรรมการใช้และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม(4.73)

-  ด้านทักษะการคิดต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม :มีการคิดอย่างเป็นระบบ/คิดเชิงวิเคราะห์และสร้างสรรค์

-  พฤติกรรมการกระตือรือร้นในการเรียนรู้ พัฒนางานที่มอบหมาย ร่วมกิจกรรมชุมชน

- ผลงานเชิงประจักษ์สะท้อนความเข้าใจและห่วงใยสิ่งแวดล้อม พร้อมพัฒนาตนเองและขยายผลสู่สังคม เช่น การประหยัดกระดาษ   - ประหยัดไฟฟ้า

 - การทำดีเพื่อสังคม ด้วยกิจกรรมโครงงานเพื่อสังคม มีออกแบบและพัฒนาโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่สร้างสรรค์และส่งผลกระทบต่อสังคม  เช่น    การรณรงค์ชักชวนผู้คนในชุมชนร่วมปลูกป่าในวันสำคัญ    หรือการเฝ้าระวังไฟป่า  หรือการจัดการขยะเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

 บทสรุปจากการวิจัย

 

1.การเรียนรู้ด้วยกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกันสามารถพัฒนาให้นิสิตเกิดจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแสดงออกทั้งการคิด การพูด  การกระทำทั้งในระดับบุคคลและสาธารณะ  ตลอดจนร่วมมีบทบาทสร้างการเรียนรู้เรื่องการแก้ไขสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน ด้วยการบูรณาการหลักวิธีทางพุทธศาสนา

2.การสร้างสำนึกทางจริยธรรมและทำให้เจริญงอกงามต่อไป จำเป็นต้องน้อมนำจริยธรรมที่มาออกมาจากใจและสร้างการซึมซับความดี โดยเริ่มจาก

2.1.การสร้างศรัทธาในความดีของผู้อื่นเพื่อมองคนในแง่บวก : แบบอย่างความดี/ศึกษาดูงานก่อเกิดแรงบันดาลใจ สามารถดึงความดีออกมาจากใจ

2.2.การส่งเสริมให้ทำความดีเพื่อสร้างความคิดบวกต่อตนเองในการทำดี : การไม่ประมาทในการทำความดี โดยเริ่มจากสิ่งเล็กน้อยแต่บ่มเพาะประจำ  เกิดการใช้ความดีบ่อย ๆ นำสู่ความเข้มแข็งในการทำดี และเป็นพื้นฐานสำหรับการทำดีในระดับสูงขึ้นเพื่อส่วนรวม  เสมือนต้นกล้าที่ถูกรดน้ำบ่อย ๆ เช่น  การวิเคราะห์ตนเองและพัฒนาตนเองในการทำดีเพื่อสิ่งแวดล้อม และการทำงานเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อม

2.3. การเสริมสร้างจริยธรรมโดยพลังกลุ่ม ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน  เกิดแรงบันดาลใจช่วยหล่อเลี้ยงและเพิ่มพูนความดี

 

ข้อเสนอแนะจากการวิจัย 

 1. การออกแบบกิจกรรมเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คำนึงการมีส่วนร่วมสูงสุด โดยกระตุ้นการสะท้อนคิดและคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงกับความเป็นจริงทางสังคม  เศรษฐกิจ  และควรใช้กับกลุ่มผู้เรียนที่ไม่เกิน  40  คน 

2.ลักษณะจำเพาะของประชากรกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นพระภิกษุสงฆ์ ทำให้เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมโครงงานเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อม  ที่สามารถระดมพลังการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ภายในเวลาจำกัด  ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดสำหรับการนำไปปรับใช้กับกลุ่มอื่น   

3.การทดลองเพียงกลุ่มเดียวทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบผลการวิจัยได้    ดังนั้นหากมีการทดลองสอนสองกลุ่มคือ  กลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม  จะช่วยให้สามารถเปรียบเทียบพัฒนาการของผู้เรียนทั้งสองกลุ่มได้ว่า    กระบวนการสร้างอนาคตร่วมกันสามารถพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งสิ่งแวดล้อมของผู้เรียนได้เพียงใด

 

ผลกระทบจากการวิจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

-          ศรัทธาที่ชุมชนมีต่อบทบาทของพระสงฆ์ โดยการที่นิสิตชักนำชุมชนให้เกิดการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม จนเกิดกิจกรรมเช่น การศึกษาดูงาน  การขยายผลการเรียนรู้เรื่องจุลินทรีย์ชีวภาพ  (E.M.) การปลูกป่าและการทำแนวป้องกันไฟป่า   

-          ก่อเกิดแรงกระตุ้นทางสังคมต่อคณะสงฆ์ในพื้นที่ด้านการร่วมกิจกรรมสิ่งแวดล้อม ดังกรณีบวชป่าสืบชะตาขุนน้ำ 

-          เกิดกิจกรรมชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม

-          การขยายผลในสถานศึกษา ซึ่งนิสิตได้นำความรู้ประสบการณ์จากการเรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในสถานศึกษาที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู  จนก่อเกิดกิจกรรมเช่น การจัดการขยะเพื่อสิ่งแวดล้อม  

            -  นอกจากนี้ยังเป็นแรงผลักดันหนึ่งให้เกิดการรวมตัวของนิสิตในการจัดตั้งชมรมครูพระอาสาพัฒนาชุมชน ที่มีการผนวกกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่ง

 

 

หมายเลขบันทึก: 435765เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2011 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท