สอนประวัติศาสตร์ให้เกิดปัญญา โดยใช้กระบวนการสืบสวนสอบสวนและวิเคราะห์ตีความอย่างนักกฎหมาย(ตอนจบ)


           การสอนประวัติศาสตร์นั้น ครูควรสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย  โดยส่งเสริมให้นักเรียนกล้าที่จะคิด  กล้าที่จะตัดสินใจ  และยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น หากมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือดีกว่า และคำนึงถึงผลดี  ผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่จะตามมา  โดยเชื่อว่าความรู้ที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ เกิดจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน  หากมีการสืบค้นพบข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากกว่านี้อีกก็สามารถทบทวนได้อีก  เช่นเดียวกับที่เราเคยเชื่อในอดีตว่าถิ่นไทยเดิมอยู่ดินแดนเทือกเขาอัลไต  แต่ปัจจุบันความเชื่อนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูลใหม่แล้ว เป็นต้น
            ตัวอย่างหนึ่งจากการวิเคราะห์และตัดสินใจทางประวัติศาสตร์ของศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.วิษณุ  เครืองาม ในบทความเรื่อง “อมรรัตนโกสินทร์ 7”  ถึงเหตุการณ์ตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ความตอนหนึ่งว่า
           “...มีหลายคนถามมาตรงกันราวกับนัดแนะว่าตอนสมเด็จเจ้า พระยามหากษัตริย์ศึกเข้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหายไปไหน ข้อความจากพงศาวดารและบันทึกทั้งหลายมีไว้ตรงกันว่าครั้งพระยาสรรค์เข้ายึดอำนาจสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้คุมพระองค์และเจ้านายสายราชวงศ์ธนบุรีไปไว้ที่โรงอุโบสถวัดแจ้งหรือวัดอรุณฯ ได้ตรัสขอผนวช พระยาสรรค์ก็อนุญาตแต่ก็ให้กักบริเวณไว้ไม่ให้ออกไปไหน บางเล่มว่าใส่สังขลิกคือโซ่ตรวนไว้ด้วยซ้ำ
         จังหวะนั้นเกิดจลาจลทั่วกรุงธนบุรีเพราะเจ้ารามลักษณ์หลานสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหนีจากที่คุมขังออกไปก่อความวุ่นวายประหนึ่งว่าจะยึดอำนาจถวายคืนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่จริงเคยทรงห้ามแล้วว่า “พ่อบุญน้อย สิ้นบุญแต่เพียงนี้” บางเล่มบอกว่าได้ตรัสแก่เจ้าฟ้าทัศพงศ์ เจ้าฟ้าทัศไภยสองพระราชโอรสว่า “ต่อไปให้ไปพึ่งพาสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเถิด”
         หลานน้าสมเด็จเจ้าพระยาฯ คนหนึ่งชื่อทองอิน ขณะนั้นเป็นพระยาสุริยอภัยเจ้าเมืองโคราช บ้านอยู่สวนมังคุดสวนลิ้นจี่ที่เป็นโรงพยาบาลศิริราชทุกวันนี้คุมกำลังมาสู้กับเจ้ารามลักษณ์จนไล่ตามจับเจ้ารามลักษณ์ได้ที่วัดยาง ธนบุรี และเข้าคุมตัวพระยาสรรค์กับพวกไว้ได้ เมื่อครองราชย์แล้วรัชกาลที่ 1 โปรดให้พระยาสุริยอภัยเป็นกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร ต่อมาเป็นกรมพระราชวังหลังพระองค์เดียวในราชวงศ์จักรี บริเวณวังของท่านยังเรียกวังหลังจนบัดนี้
          เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ เลิกทัพกลับจากเขมรมาถึงบางกอกได้สระผมชำระร่างกายแล้วยกขบวนไปที่วัดโพธิ์ พระยาสุริยอภัย พระยาสรรค์และพวก รวมทั้งขุนนางทั้งหลายรออยู่ได้เชิญข้ามฟากไปพระราชวังธนบุรี เหตุการณ์ตอนนี้ฝรั่งวาดเป็นภาพสีติดผนังโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมไว้
          เป็นอันว่าระหว่างนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกคุมพระองค์อยู่ที่วัดอรุณฯ เหตุการณ์ต่อจากนั้นว่าจัดการอย่างไรกับพระองค์กลายเป็นเรื่องหลายสำนวน เล่ากันสนุกสนานพันลึกพิสดารแล้วแต่จะเชื่อสำนวนใด
          สำนวนแรกเป็นพระราชพงศาวดารหรือบันทึกของทางราชการบอกว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ ปรึกษากับบรรดาเสนาอำมาตย์แม่ทัพนาย กองแล้วเห็นว่าในระยะหลังนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระสติสัญญาวิปลาส ทรงหมกมุ่นกับกรรมฐาน สำคัญพระองค์ว่าทรงบรรลุโสดาบันและปล่อยให้การปกครองอยู่ในมือผู้ไม่มีสัตย์มีธรรม ราษฎรเดือดร้อน จึงให้นำพระองค์ไปสำเร็จโทษ (แปลว่าประหาร) ที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ปากคลองบางกอกใหญ่
          สำนวนที่สองเป็นเรื่องตำนานเล่าขานกันในภายหลังเหมือนพงศาวดารกระซิบว่าที่จริงมีการแอบปล่อยตัวพระองค์ให้หลบหนีไปอยู่ที่อื่น กระแสแรกก็ว่าไปอยู่นครศรีธรรมราชเพราะจู่ ๆ ก็มีข่าวพระจากบางกอกไปอยู่ถ้ำที่เขาควนพนม ตอนถึงแก่มรณภาพก็มีเครื่องทรงอลงกรณ์บางอย่างเก็บไว้ในถ้ำ เวลานี้คุณสัมพันธ์ ทองสมัคร ส.ส.เมืองนครฯ ไปสร้างพระตำหนักไว้ที่นั่นผมเคยไปดูมาแล้วใหญ่โตดี
         ถ้าถามว่าทำไมต้องทรงหลบลงไปเมืองนครฯ ก็จะตรงกับประวัติศาสตร์ที่ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยพระราชทานเจ้าจอมปรางแก่เจ้าเมืองนครความไปปรากฏภายหลังว่าเจ้าจอมปรางมีครรภ์ติดไปด้วย จนคลอดบุตรเป็นชายชื่อ “น้อย” คนทราบกันทั้งเมืองว่าเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายหลังรัชกาลที่ 1 ทรงรับมาเลี้ยงจนโตจึงส่งกลับไปเป็นเจ้าพระยานคร ท่านผู้นี้เป็นต้นตระกูล “ณ นคร”
        สำนวนที่สองนี้ยังแตกกระแสไปว่าอาจเสด็จไปอยู่เมืองจันทบุรี เพราะเคยทรงหลบไปอยู่ที่นั่นครั้งนำทหารหนีจากอยุธยาจนได้ชาวจีนจันทบุรีช่วยต่อเรือให้ลงมายึดกรุงธนบุรีสำเร็จ ผมเคยไปซัวเถาและเท่งไฮ้ในเมืองจีน ที่นั่นมีสุสานเครื่องอาภรณ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก่อเป็นฮวงซุ้ย คนจีนนิยมไปเซ่นไหว้ แป๊ะจีนคนหนึ่งอายุเกือบร้อยปีเล่าว่าก๋งของแกเล่าต่อ ๆ มาว่าฮ่องเต้หลบไปอยู่จันทบุรี
        ส่วนที่ว่าทำไมจึงต้องหลบไปอยู่ที่โน่นที่นี่ มีคนเดาต่อไปว่าเมื่อผลัดแผ่นดินและไม่สำเร็จโทษ ก็ต้องปล่อยให้สูญหายไปจะประทับอยู่ในวังได้อย่างไรเพราะข้าน้ำคนหลวงเก่าของท่านก็ยังมีอยู่อาจฮึดขึ้นมา ส่วนที่สันนิษฐานว่าครั้งสร้างกรุงธนบุรีรัฐบาลไม่มีเงินต้องกู้มาจากเมืองจีน เมื่อผลัดแผ่นดินจึงต้องหลบไปก็มีเหมือนกัน เรื่องนี้ทำท่าว่าจะกลายเป็นเรื่องหนีหนี้ไปเสียแล้ว
        สำนวนที่สองนี้ไม่ว่ากระแสใดนักประวัติศาสตร์ไม่ค่อยเชื่อเพราะหาหลักฐานยืนยันยากในขณะที่เอกสารราชการก็ว่าถูกสำเร็จโทษ ผมเองออกจะไม่เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระสติสัญญาวิปลาส แต่อาจหลง ๆ ไปในทางกรรมฐานบ้าง อย่าลืมว่าทรงรบทัพจับศึกฆ่าฟันผู้คนมามาก พอพระชนมายุมากเข้าภาพเก่า ๆ อาจมาหลอกหลอนได้จึงต้องใช้ธรรมะเข้าข่ม สมัยนี้คนที่เข้าวัดจนคลั่งไคล้ขายบ้านขายช่องทำบุญอย่างเดียวหรือตัดผมสั้นเดินตาลอยกินข้าวมื้อเดียวหวังไปนิพพานก็มีถมไป บางทีก็ถูกพระหลอกเอา
       ขณะเดียวกันผมก็ไม่เชื่อว่าทรงถูกสำเร็จโทษเพราะรัชกาลที่ 1 ไม่ใช่คนโหดร้าย อย่าลืมว่าท่านเป็นเพื่อนกัน เป็นนายและข้าเก่ากันมา ข้อสำคัญคือรัชกาลที่ 1 เป็นพ่อตาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพราะทรงยกแม่ฉิมใหญ่ลูกสาวคนโต (พี่สาวรัชกาลที่ 2) เป็นบริจาริกาจนมีพระราชโอรส ทั้งหากสำเร็จโทษจริง พระบรมศพไปอยู่ที่ไหนจะว่าไปฝังที่วัดอินทาราม (บางยี่เรือใต้) โดยไม่เผาก็ผิดปกติ สมัยอยุธยาการล้มราชบัลลังก์สำเร็จโทษกษัตริย์พระองค์ก่อนมีหลายครั้ง แต่พอเสร็จแล้วก็มีการถวายพระเพลิงพระบรมศพใหญ่โตมโหฬารทุกครั้งเพื่อไม่ให้ราษฎรตำหนิ ทำไมครั้งนี้จึงไม่ทำ
       ..ประวัติศาสตร์นั้นเขาให้เรียนรู้ไว้เป็นบทเรียน ไม่ได้เรียนให้โกรธแค้นและแก้แค้น แม้แต่เรื่องพม่ากับไทย ลาวกับไทย เขมรกับไทย มันก็รบกันไปรบกันมาแล้วแต่จะไปฟังข้างใคร เรื่องสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เหมือนกัน ขอให้รู้ว่าท่านเป็นมหาราชบุญคุณท่วมท้น ถ้าไม่ได้ท่านเราคงไม่อยู่มาปกติสุขจนถึงป่านนี้หรอก...”
          เห็นหรือยังว่าการวิเคราะห์ของท่าน  อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทั้งสิ้น  และแสดงความคิดเห็น(กล้าตัดสินใจ)ของตนเองออกมา  ที่เป็นการส่งเสริมให้เกิดทั้งด้านสติปัญญา และความรัก ความสามัคคีในชาติ  ความภาคภูมิใจในความเป็นชาติด้วย
        ยังมีประเด็นอื่นๆอีกมากมายที่สามารถเทียบเคียงกับหลักคิดนี้ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน  ทั้งข้อมูลที่เป็นข้อดีและข้อผิดพลาดในอดีต สำหรับเป็นแนวทางการปฏิบัติตนในปัจจุบันและอนาคต  ซึ่งขึ้นอยู่กับเทคนิคการสอนของครูจริงๆ
      เพราะถ้าหากเรากลัวและปิดบังข้อมูล  คนก็ยิ่งอยากรู้  เหมือนนางพันธุรัตน์เลี้ยงพระสังข์โดยปิดบัง และห้ามไม่ให้เข้าไปในถิ่นหวงห้าม  ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุให้พระสังข์แอบเข้าไปแล้วชุบตัวในบ่อทอง และลักรูปเงาะพร้อมไม้เท้าและเกือกแก้วหนีออกจากเมืองจนเกิดโศกนาฏกรรมแก่นางพันธุรัตน์ตามมา

หมายเลขบันทึก: 435687เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2011 20:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

"..ประวัติศาสตร์นั้นเขาให้เรียนรู้ไว้เป็นบทเรียน ไม่ได้เรียนให้โกรธแค้นและแก้แค้น..."

ตอนเด็กๆลำดวนถูกสอนให้ท่อง ปี พ.ศ.ของประวัติด้านต่างๆ ทำให้ละเลยการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์ค่ะ

พี่สบายดีนะคะ

ดีใจที่ อ.ลำดวนแวะมาเยี่ยม และแลกเปลี่ยนความเห็น ตอนนี้พี่สบายมากๆ อยู่กับความพอเพียงและเข้าใจในความเป็นอนิจจังครับ

เห็นด้วยกับที่อาจารย์บอกค่ะ เพราะการสอนเด็กๆให้รู้จักคิดไม่ใช่ท่องจำอย่างเดียวย่อมเสริมปัญญาให้พลเมืองของชาติ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท