การนำเสนอภาพการจัดการความรู้ต่อคณะกรรมการบริหาร สคส.


ยินดีกับความสำเร็จของกรมฯ นับว่าเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ และขอสนับสนุนทำให้ดียิ่งขึ้นต่อไปอีกโดยกรมฯนำ KM ไปใช้ มีรูปแบบที่ชัดเจน มีผลเห็นเป็นรูปธรรม

     เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2549 ทีม KM กรมฯ ประกอบด้วย ผอ.มนตรี วงษ์รักษ์พานิช ท่านเกษตรจังหวัดนครพนม (คุณสุทธิชัย ยุทธเกษมสันต์) คุณธุวนันท์ พานิชโยทัย คุณพัชรินทร์ นาคะประวิง และคุณสัมฤทธิ์ เทวะภูมิ  (ศูนย์สารสนเทศ) ได้นำเสนอภาพการจัดการความรู้ของกรมส่งเสริมการเกษตรต่อคณะกรรมการฯสคส.

%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b+%e0%b8%aa%e0%b8%84%e0%b8%aa

ประธานบอร์ด และ ศ.นพ.วิจารณ์

     เริ่มจาก ผอ.มนตรี กล่าวนำ  ดิฉันเสนอภาพรวมของกรมส่งเสริมการเกษตร คุณสุทธิชัย นำเสนอ KM ของ จ.นครพนม ซึ่งท่านเกษตรจังหวัดได้กล่าวถึงการค้นพบ tacit knowledge ของเกษตรกรกลุ่มปลูกแตงโม ต.นาดำ อ.ศรีสงคราม คิดค้นการใช้ถุงพลาสติกใส่แกลบรองต้นต้นแตงโม สามารถกำจัดเสี้ยนดินได้ ซึ่งเป็นความรู้ที่ไม่มีในตำรา ส่วนทั้ง2 ท่านจากศูนย์สารสนเทศได้นำเสนอการทำ KM โดยใช้ it mobile  ดำเนินการโดยการสร้างทีม it ไปแก้ไขปัญหาระดับอำเภอและจังหวัด ทำให้เกิดผลดีต่อทีม it molileมีการถอด tacit knowledge ทำให้ทีมมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน มุ่งมั่นแก้ปัญหาและพัฒนางาน ทีมอำเภอและจังหวัดมีความพึงพอใจต่อการรับบริการ

Dsc02926

ผอ.มนตรีและคุณพัชรินทร์

         เมื่อทีมของกรมฯ ได้นำเสนอแล้ว คณะกรรมการฯได้กล่าวชื่นชมและมีความประทับใจต่อการดำเนินงาน KM ของกรมฯ  ที่สามารถนำ KM เป็นเครื่องมือไปใช้ในงานปกติ ดังนี้

         1. ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ประทับใจตั้งแต่การนำเสนอผลงานการจัดการความรู้ของกรมฯที่มิราเคิลแกรนด์ สิ่งที่ สคส.ได้ทำตั้งแต่เริ่มจากการไม่รู้ จนมีการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ขณะนี้มี movement ใหม่ ๆ เกิดขึ้นกลมกลืนไปกับเนื้องาน แม้ว่าจะใช้โมเดลปลาทูเหมือนกัน แต่มี DNA แตกต่างกันไปในแต่ละหน่วยงาน จึงเสนอให้ สคส.จัดทำคลังความรู้ที่เกิดขึ้นจากการจัดการความรู้ของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อการนำไปใช้ในวงกว้างกระจายสู่สาธารณะต่อไป  นอกจากนี้ ผลที่เกิดขึ้นจากการจัดการความรู้นอกจากการพัฒนาคน, งาน แล้วยังต้องมีเรื่องของกระบวนการเรียนรู้อีกด้วย

        2. อ.สุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์  กล่าวว่าเพิ่งทราบว่ามี KM เกิดขึ้นในกรมฯ รู้สึกมีความหวังทางออกของเกษตรกรไทย มีข้อสังเกต 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรก เจ้าหน้าที่ของกรมฯสามารถทำให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีคิด ให้เป็นการพึ่งพาตนเองได้ เพราะอยู่ใกล้ชิดกับเกษตรกร แต่ขณะนี้บางครั้งเจ้าหน้าที่ของเรายังไม่ได้ใช้ฐานคิดนี้ไปสู่เกษตรกรเท่าใดนัก ส่วนข้อที่สอง ขณะนี้เกษตรกรบางส่วนก็ยังไม่เปลี่ยนวิธีคิดจากเกษตรกรตาโต มีหนี้สินไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งคำนึงถึงดิน น้ำ ตลอดจนความสุขของเกษตรกร

       3. นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ดีใจที่เห็นที่หน่วยราชการมีความเคลื่อนไหวเรื่อง KMเช่นนี้ ฝากคำถามให้คิดเรื่องการค้นพบอะไรจากการทำ KM ซึ่งแตกต่างจากตำรา ความรู้ใหม่เช่นนี้จะมีประโยชน์มาก  คลังความรู้เรื่องเสี้ยนดินที่เกษตรจังหวัดนครพนมเล่าให้ฟังน่าสนใจ เป็นความรู้ที่นอกตำรา ทำอย่างไรจะสู้กับความรู้ในตำราได้ การเปลี่ยนวิธีคิดยากและท้าทายกว่า การวัดความสำเร็จของ KM ด้านเกษตรปลอดภัย ยังไม่ชัด ควรวัดว่า KM ทำให้เกษตรปลอดภัยเปลี่ยนแปลงอย่างไร ข้อมูลภาพใหญ่เห็นผลหรือยัง

       4. คุณวรรณา เลิศวิจิตรจรัส ได้เล่าความประทับใจที่มีต่อกรมส่งเสริมการเกษตรว่า การทำงานร่วมกันกับ สคส.เป็นลักษณะเพื่อน ให้คำแนะนำ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเป็นครูซึ่งกันและกัน กรมฯทำ KM มากกว่าที่ก.พ.ร.กำหนดไว้  เน้นลงที่เกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้าของกรมฯด้วย โดยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตนเป็นคุณอำนวย นอกจากนี้ กรมฯยังเป็นวิทยากรบรรยายแก่หน่วยงานอื่น ๆ หลายหน่วยงาน มีการดำเนินกิจกรรมกับ สคส.อย่างต่อเนื่องในเวทีต่าง ๆ ที่กรมฯก้าวมาถึงจุดนี้ สคส.ไม่ได้ให้ทุนเลย นอกจากนี้สังเกตเห็นว่าทีมกรมฯ มีความสุข และสนุกที่ได้ทำ KM ไม่มีความเครียด ก็ดีใจกับทีมงานของกรมฯ

%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b%e0%b8%84%e0%b8%b8%e0%b8%93%e0%b8%ad%e0%b9%89%e0%b8%ad

คุณวรรณา เสนอความเห็น

       5. อ.ชัชนาถ เทพธรานนท์ จากสวทช. กล่าวว่าที่ได้เห็นวันนี้คือ การใช้ KM เป็นเครื่องมือที่มุ่งเน้นสู่ลูกค้าให้บรรลุพันธกิจตนเอง นอกจากการมีเป้าหมายร่วมกันแล้ว ยังมีการช่วยเพื่อนอีกด้วย มีข้อเสนอให้มีการเชื่องโยงกับภายนอกด้วยเช่น กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะเกิดประโยชน์มาก

     ประธานคณะกรรมการบริหารฯ ศ.(พิเศษ) ดร.สมชัย ฤชุพันธ์ ได้แสดงความยินดีกับความสำเร็จของกรมฯ นับว่าเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ และขอสนับสนุนทำให้ดียิ่งขึ้นต่อไปอีกโดยกรมฯนำ KM ไปใช้ มีรูปแบบที่ชัดเจน มีผลเห็นเป็นรูปธรรม แต่การนำเสนอบางคำไม่สื่อต่อหลักการพื้นฐานของ KM เช่น การติดตาม การนิเทศ ฯลฯ ควรใช้คำใหม่เช่นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเป็นหุ้นส่วน และคำว่าการได้รับการลปรร. เปลี่ยนเป็นมีการลปรร.กี่ครั้ง จะตรงกับหลักการ KMมากกว่า  ภารกิจหลักของกรมฯ ได้แก่ การสร้างและเผยแพร่ความรู้ ต่างกับที่อื่น ๆ  ดังนั้น KM จึงเหมาะสมกับภารกิจกรมฯมาก KM ในหน่วยงานย่อย เช่น ศสท.ซึ่งเป็น supporting unit  ควรจะทำKM ในลักษณะสนับสนุนงานหลักขององค์กร เช่น การค้นพบโปรแกรมที่ง่ายและเอื้อต่อการทำงานหลักขององค์กร ต้องคำนึงเสมอว่าภารกิจของกรมฯคือการสร้างให้เจ้าหน้าที่มีขีดความสามารถในการพัฒนาตนเอง สร้างและต่อยอดความรู้ได้  ดังนั้น หน่วยงานย่อยระดับกอง ต้องมีการเผยแพร่ความรู้การเกษตรให้ดีขึ้น  จึงจะตรงกับภารกิจหลัก อนึ่ง กรมฯจะเป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้เกษตรกรใช้วิธีการ KM พัฒนาการเกษตรของตนเองได้ ให้เกษตรกรสามารถเปลี่ยนพฤติกรรม สะสม พัฒนา และสร้างความรู้

     ทั้งนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้กล่าวสรุปว่าบทบาทหน้าที่ของสคส.คือการขับเคลื่อน KM ของประเทศ และต้องการเห็นตัวอย่างการทำ KM ซ้อน KM เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสคส. สนับสนุนส่งเสริมการให้ดำเนินการเอง นอกจากนี้ในเรื่ององค์ความรู้จะเสาะหาองค์กรข้างนอกมาดำเนินการ นอกจากนี้ในเรื่องการสร้างสุขภาวะทั้งมวล สคส.จะช่วยเชิง process โดยใช้กระบวนการ KM เข้าไปช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวทั้งในระดับอำเภอและตำบลต่อไป

     ทีมงานของกรมฯ ขอขอบคุณคณะกรรมการที่ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ และจะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ จะได้นำไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรต่อไป

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 43538เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2006 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2012 08:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท