เพลงอีแซว ตอนที่ 13 เกาะติดเวทีการแสดง ต่างเวทีต่างสถานการณ์ ต่างความรู้สึก


ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร นักแสดงจะต้องทำหน้าที่จนถึงวินาทีสุดท้ายของเวลาที่เจ้าของงานกำหนดมาให้ ความมีมาตรฐาน ความนิยมจะค่อย ๆ ตามมา

เพลงอีแซว ตอนที่ 13

เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว

(ต่างเวที ต่างสถานการณ์ ต่างความรู้สึก)

วันที่ 10, 12, 13 มีนาคม 2554

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547 
 
          ในตอนที่ผ่านมา ผมได้นำเอาภาพบรรยากาศรวมทั้งเหตุการณ์ในการแสดงเพลงพื้นบ้าน ประเภทเพลงอีแซวบนเวทีการแสดง ณ สถานที่ต่าง ๆ มาเล่าให้ท่านผู้ที่ติดตามวิถีชีวิตของครูและลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งซึ่งเดินทางออกไปจากห้องเรียนมาเป็นเวลา 20 ปี นักแสดงกลุ่มนี้ มีจำนวน 15-19 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
          1. กลุ่มผู้แสดงนำ  ทำหน้าที่ร้อง รำ ทำท่าทาง พูดเจรจาที่หน้าเวทีได้อย่างน่าติดตาม  
          2. กลุ่มผู้แสดงประกอบ  ทำหน้าที่แสดงบทบาทประกอบบทร้อง รำ พูดเจรจา
          3. กลุ่มผู้ให้จังหวะ กลุ่มนี้ร้องรำไม่ถนัด แต่ทำหน้าที่ให้จังหวะกลอง ฉิ่ง กรับ ฯลฯ ได้ดี
            
          ผมนำเด็ก ๆ กลุ่มนี้ออกไปรับใช้สังคมมานาน โดยตัวผมเองได้เฝ้ามองและติดตามสังเกตความสามารถของพวกเขามาตั้งแต่ยังไม่มีวงเพลงพื้นบ้านในโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 เป็นความยากลำบากที่สุด ในการที่จะทำให้เกิดการรวมตัวกันแบบมั่นคงเหนียวแน่นและมีความตั้งใจอย่างเห็นว่า พวกเขามีความเป็นหนึ่งเดียวมายาวนาน แต่ความสำเร็จตรงจุดนี้เกิดขึ้นได้เพราะครูคนหนึ่งมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะไปให้ถึงจุดนั้น โดยตัดคำว่าปัญหาและอุปสรรคออกไปจนหมดสิ้น ผมมีจุดเริ่มต้นที่ไม่มีใครมองเห็นคุณค่าและความสำคัญเลย (ขาดคนเหลียวแลมานาน) ไม่เคยย่อท้อ สู้ทนกับคำว่าไม่มี ทำไม่ได้ ความสามารถไม่ถึงด้วยการศึกษาหาประสบการณ์สะสมเอาไว้ในตนเองและถ่ายทอดสู่เพื่อนครู สู่ผู้เรียน จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 3,4,5 ต่อไปในเวลาที่ค่อนข้างจะนาน กึ่งหนึ่งของชีวิตราชการที่ผมได้ทำหน้าที่เป็นครู เป็นอาจารย์มาโดยไม่เปลี่ยนแปลงหรือผันตนเองไปทำหน้าที่อื่น เพราะผมมีความมุ่งมั่นและต้องการเห็นภาพที่ผมใฝ่ฝันมาตั้งแต่ต้น
          จนในที่สุดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2535 ความฝันของผมก็เริ่มที่จะเป็นจริงขึ้นมาเมื่อสิ่งที่ผมต้องการให้มีและพยายามมานานกลับเป็นว่า มีเหตุการณ์หยิบยื่นสิ่งที่เป็นความหวังมาให้ ในระหว่างที่ผมทำหน้าที่สอนกิจกรรมชุมชุมศิลปะการแสดงท้องถิ่น-เพลงพื้นบ้านควบคู่มากับการสอนในรายวิชาศิลปะ ด้านทัศนศิลป์ที่ผมเรียนจบมา ผมใช้ความพยายามที่จะหยิบยื่นสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นถ่ายทอดความรู้ไปยังลูกศิษย์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ปีแล้วปีเล่าจนในบางครั้งก็ท้องใจเหมือนกัน แต่เก็บความขื่นขมใจเอาไว้ไม่ให้เด็ก ๆ ได้รับรู้ วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป มาถึงวันนี้ ผมทำหน้าที่แนะนำความรู้ให้กับนักเรียนมา 41 ปีแล้ว ภาพเก่า ๆ กำลังจะถูกหลงลืมไปตามระยะเวลาที่ยาวนาน และภาพใหม่ ๆ กำลังจะไม่มีการบันทึกเก็บเอาไว้ชื่นชมอย่างที่เป็นมาอีกแล้ว ด้วยเหตุที่ ผมเดินทางมาจนเกือบที่จะถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตราชการ (เกษียณอายุราชการ)

         

          บทความทุกบทความที่ถูกบันทึกเอาไว้ในพื้นที่ของเว็บไซต์ Gotoknow.Org อาจเป็นแหล่งเรียนรู้หรือเป็นช่องทางหนึ่งให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาจากปราบการณ์ของครูคนหนึ่งได้เขียนบันทึกชีวิตการทำงานบนเส้นทางของอาชีพการแสดงเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด เพลงพวงมาลัย เพลงเต้นกำ เพลงเรือ เพลงกระบอก เสภา เพลงแหล่ และทำขวัญนาค ได้มองเห็นวิธีการถ่ายทอดไปยังผู้เรียนที่มากกว่า การเรียนรู้ ทำได้อย่างคล่องแคล่วชำนาญ จนถึงจุดที่เรียกว่า เกิดจิตสำนึกขึ้นภายใน เด็ก ๆ กลุ่มหนึ่งจึงได้มารวมตัวกันที่ห้องศิลปะ 512 โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 เพื่อออกแบบ คิดสร้างสรรค์การแสดงที่ยึดแนวและปรับปรุงมาจากของเก่าให้ร่วมยุคผูกสมัยได้กับยุคปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีบางท่านต่อต้านว่า ผมทำผิดวิธีการ แต่ผมก็พยายามบอกอย่างสุขุมนุ่นนวลว่า นี่คือรูปแบบการจัดการแสดงของผม แนวทางและเอกลักษณ์นี้เป็นของผมที่ผ่านการเรียนรู้ฝึกปฏิบัติมาจากครูเพลงไม่ต่ำกว่า 30 ท่านที่สอนผมมา
          จากจุดเริ่มต้นที่ผมพาเด็ก ๆ ไปแสดงในงานแรก ๆ ถ้าเป็นงานเปิดกว่างให้อิสระกับท่านผู้ชมแล้วละก็ เด็ก ๆ ผู้แสดงจะพูดกับผมทุกครั้งว่า “อาจารย์ค่ะ/อาจารย์ครับ คืนนี้จะมีคนดูมาให้กำลังเราหรือ เวทีตั้งอยู่ในหมู่บ้าน มีผู้คนน้อยมาก และอยู่ห่างจากชุมชน ไกลจากตลาดด้วย” ผมได้แต่ปลอบใจนักแสดงว่า “ไม่ต้องกลัว ประเดี๋ยวเจ่าภาพที่หาเขาก็มานั่งดูเราเอง เล่นให้เต็มที่” เสียงที่ผมเคยได้ยินอย่างนี้เงียบหายไปนานนับสิบปีแล้ว หลัง ๆ มานี้ ไม่มีนักแสดงถามผมว่า จะมีคนดูมาดูไหม มีคนดูมาก คนดูน้อย แต่ผมกลับได้ยินคำพูดในห้องที่เป็นสถานที่ฝึกซ้อมการแสดงในแต่ละงานว่า “งานนี้เราจะเล่นในเรื่องเกี่ยวกับอะไร คิดโครงเรื่องการแสดง จัดลำดับความเร้าใจให้มีเรียบง่ายไปสู่ความตื่นเต้นเร้าใจแล้วกลับมาตั้งต้นใหม่ไปจนจบการแสดง 200 นาทีหรือมากกว่านั้น” (ในบางสถานที่ทีมงานเราทำการแสดงถึง 240 นาที)
          ทุกสิ่งที่ผมกล่าวมา เป็นการมองย้อนกลับไปมองในอดีตอย่างรวบรัดว่า วิถีชีวิตของคนเรา จะต้องมีการศึกษา ต้องตรวจสอบตนเองและพัฒนาความสามารถ จึงจะก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางที่หวังเอาไว้ได้ และภาพแห่งความหวังจะต้องมองเห็นอย่างโดดเด่น ชัดเจน ห้อมล้อมไปด้วยกลิ่นไอของความสำเร็จที่จะนำไปสู่การมีความมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืน เด็ก ๆ แต่ละคนในทีมงาน วงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ได้ผ่านประสบการในการแสดงบนเวทีมาคนละไม่น้อยกว่า 200 งานแสดง เป็นเวลา 3 – 6 ปี ผ่านการประกวดแข่งขันทั้งเดี่ยวและทีมมากันทุกคน จนถึงได้รับรางวัลสูงสุด ระดับประเทศ ระดับภาคกลาง ระดับจังหวัด เป็นจำนวนมาก
          การจัดการเรียนรู้ที่เริ่มต้นจาก การบอกเล่า อธิบาย ไปสู่การสาธิตฝึกปฏิบัติ ปฏิบัติซ้ำ ๆ จนทำได้อย่างชำนาญและรวมตัวกันเป็นทีมงานจัดกิจกรรมการแสดงที่เรียกว่า “เพลงพื้นบ้าน” จนเป็นผลผลิตของสถานศึกษา ที่มีนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ประชาชนให้ความสนใจมาเยี่ยมเยือน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่อบอุ่นใจมากที่สุด ผมฝึกเด็ก ๆ อยู่ในห้องปฏิบัติงาน ห้อง 512 โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ตั้งแต่ปี 2535 เริ่มจากมีผู้ปกครองมารอรับลูก ๆ หลังเลิกฝึกซ้อม แล้วค่อย ๆ ขยายไปเป็นมีประชาชาในท้องถิ่นมาติดต่อวงเพลงอีแซวไปแสดงในงานของท่าน อีกส่วนหนึ่งไปแสดงในกิจกรรมของทางราชการที่เราสังกัดอยู่ เมื่อมีสื่อสารมวลชน หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์มาเจอเข้าก็นำเอาเรื่องราวของเราไปเสนอเป็นข่าวสั้น ๆ ไปจนถึงรายการใหญ่มีความยาว 1-2 ชั่วโมง
          ในเมื่อการปฏิบัติงานของผมเป็นรูปธรรมมาโดยตลอด ไม่เคยหยุดนิ่งและไม่เคยรอคอยงบประมาณจากหน่วยใดมาช่วยส่งเสริม กลับกลายเป็นการขยายชื่อเสียงไปสู่ภายนอกเป็นวงกว้างออกไปมากขึ้น ๆ ทุกที มาจนถึงวันนี้ งานแสดงที่เข้ามามีทั้งหน่วยงานของรัฐ เอกชน ประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ต้องจัดนำผลงานไปแสดงไกลออกไปจากท้องมากขึ้นทุกที แต่ก็อีกนั่นแหละครับ คนเรามีความแตกต่างกัน งานแต่ละงานในทุกสถานที่ ที่ผมนำคณะนักแสดงไปทำหน้าที่รับใช้สังคมก็มีความแปลกแตกต่างกันทั้งเวทีที่จัดให้เราแสดง สถานการณ์ และความรู้สึกก็แตกต่างกันออกไป ตรงนี้เองที่นักแสดงจะต้องปรับตัวให้เข้ากับแต่ละสถานที่ เช่น ไปถึงสถานที่ทำการแสดง ได้เวลาก็ลงมือแสดงไปจนจบโดยไม่มีเงื่อนว่า ยังไม่ได้กินข้าวเย็นเลย อย่างนี้ก็เคยมี หรือในบางสถานที่ มีเจ้าภาพมาให้การต้อนรับดูแลอย่างใกล้ชิด อาหารการกินไม่ขาดตั้งแต่เริ่มต้นจนการแสดงจบลงยังมาช่วยเก็บอุปกรณ์อีกด้วย
           ต่อไปนี้เป็นการนำเสนอบันทึกภาพการแสดงเกาะติดเวทีการแสดง ที่ต่างสถานที่ ต่างสถานการณ์ และต่างความรู้สึก เก็บเอามาจาก การแสดง 3 ครั้ง ที่น่าสนใจ ดังนี้

           

          

          วันที่ 10 มีนาคม 2554 กิจกรรมอุบัติเหตุบนถนน จัดที่โรงแรมสองพันบุรี จ.สุพรรณบุรี

            

          

          วันที่ 12 มีนาคม 2554 งานยกช่อฟ้าหอสวดมนต์ วัดคลองขอม อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี

          

          

          

          วันที่ 13 มีนาคม 2554 งานวัดทองศาลางาม เพชรเกษม 20 เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ 
ทั้ง 3 สถานที่มีความแตกต่างกันที่
         - เวทีทำการแสดงสภาพของเวทีที่ทำการแสดงเป็นคนละรูปแบบ มีขนาดที่แตกต่างกัน
         - สถานการณ์ทั้ง 3 สถานที่ เป็นการจัดงานคนละรูปแบบ มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
         - ความแตกต่างกันในอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมและของนักแสดง งานในโรงแรมมีท่านผู้ชมนั่งให้กำลังในนักแสดงจนจบและขอให้แสดงต่ออีก 1 ชั่วโมง งานแสดงที่วัดคลองขอม มีผู้ชมมาให้กำลังใจปานกลาง และผูชมดูเพลงไม่ดึกนักคนก็บางตา  ส่วนงานที่วัดทองศาลางาม ผู้ชมติดตามชมตั้งแต่ต้นจนจบการแสดงจำนวนมากและขอให้แสดงต่อจะอยู่ชม ขณะนั้นในเวลา 00.30 น. แล้ว ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร นักแสดงจะต้องทำหน้าที่จนถึงวินาทีสุดท้ายของเวลาที่เจ้าของงานกำหนดมาให้ ความมีมาตรฐาน ความนิยมจะค่อย ๆ ตามมาสอดคล้องกับความสามารถของนักแสดงนั่นเอง
          ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทีมงานการแสดง วงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ มีโอกาสได้นำผลงานการแสดงไปรับใช้สังคม ณ สถานที่ต่าง ๆ หลายสถานที่อีกเช่นเคย ท่านที่อยู่ใกล้สถานที่ใด ไปให้กำลัง ไปให้การสนับสนุน ศิลปะการแสดงที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรีกันได้ ดังนี้
            วันที่  8 เมษายน 2554 บันทึกวีซีดี หน่วยงานสาธารณสุข ที่ห้องปะชุมโรงพยาบาลดอนเจดีย์
            วันที่  9 เมษายน 2554 งานสงกรานต์ ที่ อบต. ม่วงงาม อ.เสาไห้ จ.สระบุรี (11.00-14.00น.)
            วันที่ 11 เมษายน 2554 งานสงกรานต์ กระทรวงพาณิชย์ ท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี (09.30น.)
            วันที่ 13 เมษายน 2554 งานทำบุญสงกรานต์ วัดบางเตย ถนนนวมินทร์ 60 เขตบึงกลุ่ม กรุงเทพฯ เวลา 20.30-24.00น. (เต็มรูปแบบ เวทีไฟฟ้าแสงเสียง)

 

         ติดตามเพลงอีแซว เกาะติดเวทีการแสดงตอนต่อไป คิดถึงและเสียดายรายการไทยโชว์
หมายเลขบันทึก: 434523เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2011 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท