นักสังคมสงเคราะห์ในศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากพิบัติภัย


นักสังคมสงเคราะห์ในศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากพิบัติภัย

                “ฤาโลกจะสิ้นสุดที่ คศ.2012 จริงๆ” เป็นคำถามที่คุ้นหูของวงสนทนาในยุคนี้เพราะแค่ระยะเวลาไม่กี่เดือนของต้นปี คศ.2011ชาวโลกได้รับข่าวของอุบัติภัยธรรมชาติในหลายประเทศตั้งแต่นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และพม่าซึ่งมีความรุนแรงและผลกระทบต่อผู้คนนับล้านชีวิต  แม้ประเทศไทยขณะนี้เองเราก็ประสบกับฝนตกหนักน้ำป่าทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน และแผ่นดินถล่มซ้ำอีกหลายจังหวัดภาคใต้ทั้งที่เป็นฤดูร้อนซึ่งปกติแล้งน้ำแต่คราวนี้กลับนองด้วยน้ำฝนและน้ำตาผู้ประสบภัย มีการวิเคราะห์สาเหตุของปรากฎการณ์กันอย่างหลากหลายแต่แล้วมักสรุปที่เพราะน้ำมือมนุษย์ยุคใหม่ใช้ทรัพยากรกันอย่างฟุ่มเฟือย 

ความทุกข์ยากเดือดร้อนที่ผู้ประสบภัยได้รับนั้นเป็นภาระของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนอาสาร่วมกันเข้าช่วยเหลือระดมทั้งทุนทรัพย์ สิ่งของ กำลังแรงกาย กำลังความสามารถของแต่ละฝ่ายแต่ละคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ ในฐานะนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพเราจะช่วยเหลือในระยะวิกฤตและฟื้นฟูระยะยาวได้อย่างไรซึ่งประสบการณ์ทำงานกับผู้ประสบภัยนี้เรายังมีบทเรียนหรือองค์ความรู้เฉพาะด้านไม่มาก บทบาทส่วนใหญ่ตกลงที่ทีมสหวิชาชีพด้านสุขภาพจิตที่เห็นได้ชัดคือเมื่อเหตุการณ์สึนามิที่ภาคใต้ ทีมสุขภาพจิตโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้ถอดบทเรียนเป็นหนัง สือ ย้อนรอยสึนามิ ตีพิมพ์ปี 2549 และอาจมีอีกหลายเล่มแต่ผู้เขียนยังไม่มีโอกาสได้พบเห็น ส่วนองค์กรสวัสดิการสังคมด้านเด็กและครอบครัวอย่างสหทัยมูลนิธิได้เข้าช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสึนามิในจังหวัดระนองเป็นระยะเวลา 5 ปีจึงได้ถอนตัวปิดโครงการซึ่งเล็งเห็นว่าบทเรียนกลั่นจากประสบการณ์ที่มีคุณค่าจะเป็นประโยชน์ต่อไปจึงได้ร่วมมือกับสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยถอดบทเรียนการทำงานแต่ทว่ายังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน

                ผู้เขียนได้เห็นภาพข่าวศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยชั่วคราวที่อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราชหนึ่งในหลายจังหวัดที่ประสบภัยในปีพศ.2554นี้ และคิดว่านักสังคมสงเคราะห์จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยในศูนย์ช่วยเหลือได้อย่างไร จึงได้ค้นคว้าประสบการณ์ของกลุ่มนักสังคมสงเคราะห์ฮ่องกงที่ได้เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มณฑลเสฉวนในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปีพศ.2551 นักสังคมสงเคราะห์ได้กำหนดเป้าหมายการช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยเล็งเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรี เริ่มต้นการช่วยเหลือตั้งแต่ในศูนย์อพยพผู้ประสบภัยชั่วคราว ซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาพที่อาหาร และน้ำสะอาดยังไม่พอเพียง ผู้ประสบอยู่ในภาวะเครียด ท้อแท้สิ้นหวัง งานเฉพาะหน้าคือการสร้างทีมงานชุมชนที่จะต้องรับผิดชอบเรื่องอาหาร น้ำสะอาด และสุขลักษณะของที่พักอาศัย และกระตุ้นให้ผู้ประสบภัยที่เข้มแข็งและผู้ผ่านพ้นวิกฤตมาระยะหนึ่งแล้วกลายเป็นทีมผู้ช่วยเหลือ ระยะแรกนักสังคมสงเคราะห์ต้องค้นหาผู้นำตามธรรมชาติในกลุ่มผู้ประสบภัย ช่วยกันทำให้ผู้ประสบภัยสงบ มีสติ จัดระบบผู้ประสบภัยคัดกรองผู้เจ็บป่วย ผู้สูงอายุ เด็กที่อ่อนแอเพื่อการดูแลพิเศษ ขอความร่วมมือให้มีผู้นำที่เป็นผู้ประสานงานกับภาครัฐและองค์ที่เข้ามาช่วยเหลือต่างๆ จัดแบ่งภาระการช่วยเหลือที่เป็นกิจวัตรประจำวันให้แก่ผู้ประสบภัยเพราะถ้าผู้ประสบภัยอยู่เฉยรอรับความช่วยเหลือจะยิ่งเครียดโดยจัดให้มีทีมนันทนาการ ร้องเพลง แต่งเพลงหรือคำกลอนท้องถิ่นที่ให้กำลังใจ ทีมเล่านิทานสำหรับเด็ก ทีมชักชวนกันออกกำลังกายหรือเต้นรำ ทีมสำรวจซ่อมแซมสร้างที่พักอาศัยชั่วคราว ทีมบันทึกประวิตศาสตร์ของเหตุการณ์และเก็บวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวข้องไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มีการประชุมทีมงานและประชุมผู้ประสบภัยอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การสื่อสารทั่วถึงหากมีการตั้งศูนย์กลางการสื่อสารได้จะเป็นการดี 

นักสังคมสงเคราะห์กลุ่มชนต้องจัดกลุ่มพูดคุยกับผู้ประสบภัยเรื่องการฟื้นคืนพลังชีวิตเพื่อให้เกิดแรงจูงใจและกำลังใจในการต่อสู้กับชีวิตอย่างมีความหวังและศักดิ์ศรี ค้นหาคนต้นแบบมาเป็นผู้ช่วยเหลือ จากประสบการณ์ในมฑเสฉวนนั้นนักสังคมสงเคราะห์ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องจากการทำงานฉุกเฉินเพื่อบรรเทาสู่การฟื้นฟูสภาพจิตใจและชีวิตเป็นระยะเวลานานถึง 3 ปีด้วยหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน ความเสมอภาค สุขภาพ และการใช้เทคโนโลยี่ที่เหมาะสมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ประสบภัย

 

http://www.hkcss.org.hk/sp/szechwan/download/swcdm.pdf

หมายเลขบันทึก: 434443เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2011 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท