หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง


 

 

     นอกจากการช่วยเหลือของผู้อื่นแล้ว เหตุที่ส่งผลต่อการเขียนวิทยานิพนธ์จนสำเร็จและทำให้ผมเรียนจบปริญญาโทนั้น คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินเลยไปนักหากจะบอกว่าเป็นเพราะศักยภาพทางด้านวิชาการของตนเอง

     จริงอยู่ว่าศักยภาพด้านนี้ผมได้มาจากการเล่าเรียนในชั้นเรียน แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนน้อย ปราศจากการเรียนรู้อีกส่วนหนึ่งที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้ไม่มีวันที่ผมจะเขียนวิทยานิพนธ์นั้นได้สำเร็จ

     การเรียนรู้ที่เพิ่มเติมมาจากการเรียนในชั้นเรียนคือการได้เข้าร่วมขบวนงานวิจัยท้องถิ่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และผู้ที่มีส่วนสำคัญที่ให้โอกาสผมเข้าไปเรียนรู้นั้นก็คือ ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ในขณะที่ท่านเป็นรองผู้อำนวยการ สกว. ซึ่งท่านเป็นผู้กำกับดูแลและขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

     ผมพบท่านครั้งแรกเมื่อสมัยยังเป็นพระ ตอนนั้นผมช่วยงานอยู่ในโครงการพระธรรมจาริก สำนักงานอยู่ที่วัดศรีโสดา จ.เชียงใหม่

     คนที่ชักชวนให้ผมเข้ามาร่วมขบวนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นคนแรกมิใช่ อ.ปิยะวัติ โดยตรง แต่เป็นอาจารย์อีกท่านหนึ่ง อาจารย์ท่านนั้นได้เชิญ อ.ปิยะวัติ ไปประชุมร่วมกับพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งที่วัดศรีโสดา ซึ่งผมเป็นผู้นัดหมายนิมนต์พระจากพื้นที่ต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม

     จำได้เพียงแค่เป็นการประชุมให้แนวคิดเกี่ยวกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น บอกตามตรงว่าวันนั้นผมน่าจะเข้าใจได้เพียงกระผีกริ้น แต่ด้วยท่าทีของ อ.ปิยะวัติ ในวันนั้นผมทุ่มให้หมดใจกับการเข้าไปร่วมงานกับท่าน

     ขณะนั้นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ของ สกว. นั้น ได้ตั้งสำนักงานอยู่ที่คณะเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีอาจารย์สองสามท่านจาก ม.เชียงใหม่ ม.แม่โจ้ และ ม.พายัพ เป็นทีมงาน มีเจ้าหน้าที่เป็นคนหนุ่มสาวอีกจำนวนหนึ่ง สำนักงานนั้นเรียนว่า สกว.สำนักงานภาค รับผิดชอบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเริ่มทดลองนำร่องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

     ผมได้รับคำเชิญชวนให้เข้าไปร่วมขบวนนี้ตั้งแต่เริ่มตั้งสำนักงานฯ ได้ไม่นานนัก  จากนั้นการเรียนรู้ด้านการวิจัยของผมก็เป็นไปในอัตราเร่งที่สูงกว่าที่ผ่านมา

     สำหรับ อ.ปิยะวัติ นั้นนอกจากท่าทีอันอ่อนน้อม สุภาพ ให้เกียรติผู้คน ง่าย ติดดิน สมถะแล้ว ความเฉลียวฉลาด ลุ่มลึก และเข้าใจอะไรได้อย่างรวดเร็วของท่าน ก็ทำให้ผู้คนต่าง ๆ ศรัทธา ให้การยอมรับ ซึ่งก็รวมทั้งผมด้วย

     ท่านมิได้มีพื้นฐานในด้านงานพัฒนาชุมชน /สังคมมาก่อน แต่ด้วยสติปัญญาของท่านทำให้ท่านเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างถ่องแท้และลุ่มลึก บทความ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ของท่านที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เป็นคำยืนยันส่วนตัวผมอย่างหนักแน่น

     ในช่วงที่ผมเข้าไปมีส่วนร่วมในขบวนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นนั้น ผมมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับ อ.ปิยะวัติ ค่อนข้างบ่อย ทั้งไม่เป็นทางการและในที่ประชุมต่าง ๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่ผมได้ค่อยเรียนรู้จากท่านทีละเล็กละน้อย ไม่เพียงความรู้เท่านั้น ผผมได้ซึมซับรับเอาคุณลักษณะแบบท่านหลายประการมายึดถือปฏิบัติ

     กล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่า อ.ปิยะวัติ  เป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของประเทศไทย ท่านไม่เพียงการทำงานอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักวิชาการและแกนนำชาวบ้านในท้องถิ่นอย่างทุ่มเทเท่านั้น ช่วงนั้นผมทราบมาว่าในทางนโยบายท่านก็มุมานะบากบั่นอยู่ไม่น้อยไปกว่ากัน ด้วยแนวคิดนี้ใหม่มาก ๆ ต่อวงวิชาการ การทำความเข้าใจให้นโยบายเห็นด้วยและคล้อยตามน่าจะต้องใช้พลังมากมาย

     ถึงวันนี้ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ได้แสดงให้เห็นถึงคุณูปการณ์ในการเสริมสร้างพลังอำนาจทางปัญญาให้กับต่อชุมชนท้องถิ่นของประเทศมากน้อยเพียงใด และทำให้วิชาการและนักวิชาการมารับใช้ชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ผู้อยู่ในวงการน่าจะพอทราบกันดี  เพราะเช่นนี้กระมัง ท่านอาจารย์วิจารณ์ พานิช อดีตผู้อำนวยการ สกว. ท่านแรกกล่าวถึง อ.ปิยะวัติว่าเป็น “บิดาแห่งการวิจัยชาวบ้าน”

          ผมไม่ได้พบท่านมานานมากแล้ว ตั้งแต่ท่านเข้าไปรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ สกว. กระทั่งครบ ๒ วาระ ๘ ปี ครั้งสุดท้ายเห็นท่านในรายการโทรทัศน์ วันนั้นผมยกมือไหว้ท่านผ่านทางโทรทัศน์...

 

.

หมายเลขบันทึก: 434125เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2011 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะ

ทำไมบันทึกเกี่ยวกับบุคคลไม่อยู่ในบล็อกเดียวกัน

สวัสดีค่ะคุณ'หนานเกียรติ'

ขอชื่นชมทั้ง'ลูกศิษย์' และท่าน'อาจารย์' ค่ะ

สวัสดีครับพี่คิม...

แหะ แหะ ย้ายแล้วครับ...

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร. พจนา - แย้มนัยนา 

หากจะิยามผมเป็นลูกศิษย์ อ.ปิยะวัติ ก็น่าจะได้ แตจ่น่าจะเป็นศิษย์หางแถวมากกว่า
มีโอกาสดีที่ได้เรียนรู้จากท่าน แต่ก็พัฒนาตัวเองได้แค่นี้เอง
แหะ แหะ จะว่าไปเสียชื่อท่านเปล่า ๆ ที่มีศิิษย์ไม่เอาไหนแบบผม... 

สวัสดีค่ะน้องหนาน

  • ถ้าท่านอ่านบันทึกของน้องหนาน ท่านคงปลื้ม ยิ้มแก้ปริแน่ ๆ เลยค่ะ
  • สงวนลิขสิทธิ์มั้ย ไหว้ท่านผ่านโทรทัศน์เนี่ย
  • พี่อิงจะได้ทำบ้าง 555555555+
  • เท่าที่อ่านบันทึกของน้องหนาน รู้สึกว่าช่วงที่บวชเป็นพระ อยู่ใต้ร่มกาสาวพัตร์เนี่ย
  • น้องหนานจะไดพบพานแต่สิ่งที่ดี ๆ ในชีวิตนะคะ
  • ขอบพระคุณค่ะสำหรับการแวะไปฟังเพลงร่วมกันทั้นที่ เรือนปั้นหยา และที่กระท่อมอิงจันทร์
  • พอดี พี่อิงเป็นหลายบ้านหน่ะ  อิ..อิ..อิ...หลายใจ(หลายบล็อก)ด้วย 55555555555+

 

สวัสดีครับ พี่อิงจันทร์ 

ผมคิดว่าอาจารย์คงจะจำผมไม่ได้หรอกครับ และหากจะรื้อฟื้นความทรงจำก็น่าจะต้องใช้เวลา ด้วยผมเป็นคนที่ไม่มีความสลักสำคัญอะไร ที่บังเอิญโคจรไปอยู่ในรัศมีท่าน

ช่วงที่เป็นพระผมได้พบปะกัลยาณมิตรจำนวนมากครับ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ใจดีที่เมตตาต่อผม 

แหะ แหะ หลังจากลาสิกขาออกมาไม่ค่อยได้พบใครเลยครับ สงสัยจะบาปหนา

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนทักทายกันนะครับ

 

คนดีๆ ย่อมไม่ลืมคุณความดีที่มีต่อกัน..สิ่งดีๆจึงเกิดตามมาอีกอย่างต่อเนื่อง..จงศรัทธาในความดี..พี่ใหญ่เชื่อเช่นนั้น..

สวัสดีค่ะ

 อ่านเรื่องราวแล้ว ศรัทธาและชื่นชม อาจารย์ ปิยะวัติ และคุณหนานเกียรติมากค่ะ  สบายดีนะคะ พี่ดาชมภาพ อโวคาโดแล้วคิดถึงเสมอค่ะ ปิดเทอมน้องเฌวาอยู่ที่ไหนค่ะ เดินทางบ่อยๆกับคุณพ่อหรือเปล่าค่ะ

สวัสดีครับ พี่ใหญ่ นาง นงนาท สนธิสุวรรณ 

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมและให้แง่คิดดี ๆ ครับ
อ.ปิยะวัตินี่ถือว่ามีบุญคุณกับผมมากเลยครับ

สวัสดีครับ พี่กานดา น้ำมันมะพร้าว  

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
ตอนนี้ปิดเทอมครับ เฌวาอยู่บ้านครับ เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วไปอยู่ที่ดอยมูเซออาทิตย์กว่า อีกสองสามวันก็จะเดินทางไปที่ดอยมูเซออีกครับ
ตอนนี้อโวคาโด้เริ่มออกแล้วครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท