กลยุทธ์น่านน้ำสีดำ (Black Ocean Strategy)


ธุรกิจในมุมมืด Black Ocean

ในระยะหลัง ๆ มานี้ เมื่อพูดถึงกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean Strategy) ก็เป็นที่รู้จักกันดีในวงการธุรกิจต่าง ๆ โดยที่กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม เป็นกลยุทธ์ที่ได้มีความริเริ่มมาจาก ศาสตราจารย์ ดับเบิ้ลยู ชาน คิม (W. Chan Kim) โดยที่ ศาสตราจารย์ คิม กล่าวว่า ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันเพียงอย่างเดียว แต่ความสามารถในการหาลูกค้าหรือความต้องการใหม่ ๆ ก็ทำให้ประสบความสำเร็จได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่มีวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีหลายองค์กร ที่ใช้กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม ในการสร้างสรรค์และผลิตสินค้า ตลอดจนการให้บริการ เช่น ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ที่สามารถสร้างตลาดใหม่ให้เกิดขึ้น จนเป็นร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก

Blue Ocean เป็นการคิดนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์ แทนการคิดแบบดั้งเดิมที่เน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือการคิดแบบตาม ๆ กันไป จุดต่างแตกต่างของ Blue Ocean Strategy ก็คือ ความสามารถในการลดต้นทุนในการผลิตสินค้าหรือให้บริการและเพิ่มคุณค่าของสินค้าและบริการในขณะเดียวกัน โดยที่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแบบเดิม จะต้องเลือกระหว่างเพิ่มคุณค่าหรือลดต้นทุนเท่านั้น และไม่สามารถทำทั้งสองอย่างไปพร้อม ๆ กันได้ ซึ่งความสำเร็จและความแตกต่าง คือ ทำให้เกิดกระบวนการคิดของธุรกิจและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้นจากเดิมที่อยู่ในน่านน้ำสีแดง หรือน่านน้ำสีเลือด (Red Ocean) โดยหนีการแข่งขัน ทำให้ธุรกิจต้องสร้างคุณค่าและพยายามทำให้ลูกค้ามีความสุข หรือเกิดความพึงพอใจมากที่สุด

 Red Ocean เป็นกลยุทธ์ที่องค์กรในปัจจุบันใช้การดำเนินธุรกิจ ธุรกิจในปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยกลยุทธ์ที่มีการหักล้างกัน มีการทำสงครามไม่ว่าจะเป็นสงครามด้านราคา ฯลฯ เปรียบประดุจการทำสงครามกัน โดยเน้นที่ความสำเร็จขององค์กรเป็นหลัก ก็คือการสร้างรายได้ให้แก่องค์กรในจำนวนมหาศาล โดยไม่อาจคำนึงถึงบุคคลอื่น ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกจิเหล่านั้น  

กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว (White Ocean Strategy) เป็นอีกแนวคิดหนึ่งของการบริหารธุรกิจในยุคปัจจุบัน เป็นการนำเอาเรื่องนามธรรม เช่น คุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม ศาสนา มาใช้เป็นตัวนำในการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจมากขึ้น เช่น การตอบแทนสังคม หรือที่เรารู้จักกันในนามของ Corporate Social Responsibility (CSR) เพราะถ้าหากองค์กรมีการบริหารจัดการทีดี แต่ขาดสินค้าที่มีคุณภาพดี ขาดการใส่ใจในผู้บริโภค และไม่มีความรับผิดชอบสังคม ก็อาจจะทำให้องค์กรนั้นไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ หรือหากองค์กรมีวิธีในการบริหารจัดการไม่ดี แต่มีสินค้าคุณภาพดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม ก็ไม่อาจจะทำให้องค์กรนั้นประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน

ธุรกิจในระบบปกติ ก็คงจะต้องใช้กลยุทธ์ไม่ว่าจะเป็น น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean) หรือ น่านน้ำสีขาว (White Ocean) เพื่อหลีกหนีการแข่งขันภายใต้น่านน้ำสีเลือด (Red Ocean) เพื่อให้ธุรกิจนั้นเกิดความอยู่รอด แต่ธุรกิจบางประเภท ซึ่งเป็นธุรกิจที่อยูในแถบที่เรามักจะเรียกว่าธุรกิจสีเทา คือธุรกิจที่อาจเป็นธุรกิจที่คาบเกี่ยวระหว่างธุรกิจในระบบปกติและไม่ปกติ อาทิ ธุรกิจอาบอบนวด ธุรกิจสปาบางประเภท ธุรกิจคาราโอเกะบางประเภท ฯลฯ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จะต้องใช้กลยุทธ์ในน่านน้ำสีดำ (Black Ocean Strategy) คือ การช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด โดยไม่จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งขัน ลูกค้า ฯลฯ การดำเนินธุรกิจคือ เพียงให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้มากที่สุด ไม่ว่าจะด้วยกลยุทธ์ใด ๆ ก็ตาม และการดำเนินธุรกิจด้วย Black Ocean นี้มีการดำเนินการหลบเลี่ยงตามช่องว่างของกฎหมาย เป็นการดำเนินธุรกิจด้วยเส้นสาย หรือมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ที่มีอิทธิพล ธุรกิจที่ดำเนินกลยุทธ์แบบนี้อาจต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และไม่ใช่ใครก็สามารถดำเนินธุรกิจแบบนี้ได้ 

ที่มา: ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ คอลัมน์ถนนสู่การลงทุน ASTV ผู้จัดการรายวัน

คำสำคัญ (Tags): #Black Ocean
หมายเลขบันทึก: 433583เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2011 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท