“กรมบัญชีกลาง” เร่งเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของประเทศ


“กรมบัญชีกลาง” เร่งเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของประเทศ

“กรมบัญชีกลาง” ในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญของกระทรวงการคลังประกาศนโยบายเร่งเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงการคลังในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมยืนยันบริหารระบบ
การคลังและควบคุมดูแลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ในการนำไปใช้ในโครงการต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้อย่างเต็มที่

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางพร้อมที่จะเป็นหน่วยงานในการสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงการคลัง โดยในปีงบประมาณ ๒๕๕๔ ได้กำหนดยุทธ์ศาสตร์ไว้ ๓ ประการคือ   ประการแรก การเป็นกลไกหลักของนโยบายการคลังที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) กรมบัญชีกลางจะสร้างความยั่งยืนทางการคลัง รักษาเสถียรภาพภาคการเงิน  ตลาดทุน  และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวม
การส่งเสริมและรักษาวินัยการคลัง โดยปรับปรุงแนวทางการจัดสรรงบประมาณของประเทศให้สอดคล้องกับกําลังเงิน
ของแผ่นดิน  รวมทั้งเร่งออกกฎหมายการเงินการคลังของรัฐ  เพื่อให้เป็นกลไกในการกํากับ และเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติที่ดี การบริหารการรับจ่ายเงินของรัฐบาล รวมทั้งการบริหารจัดการหนี้สาธารณะคล่องตัวและตอบสนองแนวนโยบายในการพัฒนาภายใต้วินัยการเงินการคลัง

ประการที่ ๒  การปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุล (Fiscal Consolidation) ภายในระยะเวลา 5 ปี ตามเป้าหมายของรัฐบาล กรมบัญชีกลางจะปฏิรูประบบการใช้จ่ายของรัฐ เพื่อให้มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายลงทุนอย่างเพียงพอ และควบคุมรายจ่ายประจำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยอยู่บนพื้นฐานของการไม่เป็นการรอนสิทธิเดิมและควรมีการขยายสิทธิต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะสม โดยคํานึงถึงวินัยทางการเงินการคลัง เพื่อมิให้เป็นข้อจํากัดในด้านภาระงบประมาณ

ประการที่ ๓ การเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กร (Strengthen the CGD Organization) กรมบัญชีกลาง
จะสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรมจริยธรรม และธรรมาภิบาลให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมทั้งพัฒนา
ความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ  เพื่อให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชน การพัฒนาระบบบริหารภาครัฐสามารถอํานวยความสะดวกให้บริการแก่ประชาชน  รวมทั้งยกระดับคุณภาพมาตรฐานและธรรมาภิบาล
เป็นที่ยอมรับของประชาชน การจัดระบบงานให้มีความยืดหยุ่น  คล่องตัว  รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส  สามารถตรวจสอบได้  และส่งเสริมพัฒนาระบบบริหารผลงานและประสิทธิผลของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้มีประสิทธิภาพ  ประสิทธิผลในการส่งมอบบริการสาธารณะ

            อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว
ไปหลายด้าน อาทิ ๑. ด้านการรับ-จ่ายเงินภาครัฐ ได้แก่ โครงการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จำนวน ๒,๐๗๐,๐๐๐ ล้านบาท ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลซึ่งกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่าย
ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยภาพรวมเป้าหมายร้อยละ ๙๓ และงบลงทุนเป้าหมายร้อยละ ๗๒ ของงบลงทุน จำนวน ๓๔๕,๑๑๔.๒๑ ล้านบาท  โดยผลการเบิกจ่าย ณ วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๔ ในภาพรวม  เบิกจ่ายแล้ว ๑,๐๑๖,๘๗๐.๕๕ ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ ๔๙.๑๒  สูงกว่าเป้าหมาย ร้อยละ ๘.๓๒ (เป้าหมายร้อยละ ๔๐.๘๐) งบลงทุนเบิกจ่ายแล้ว  จำนวน ๑๓๒,๘๗๘.๐๗ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๓๘.๕ สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ ๕.๙ (เป้าหมายร้อยละ ๓๒.๖) ในส่วนของจังหวัดขณะนี้มีปัญหาด้านการเบิกจ่าย ซึ่งจาการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่าย ยังมีจังหวัดที่ยังไม่เบิกงบลงทุนเลย  ๓๕ จังหวัด  ก็ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อดูว่ามีปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้าง โดยให้สำนักงานคลังจังหวัด
ช่วยประสานงานและดูแลอีกทางหนึ่งด้วย  สำหรับงบไทยเข้มแข็ง ทั้ง ๒ รอบ รวมเป็นเงินจำนวน ๓๕๐,๐๐๐ ล้านบาท เบิกจ่ายแล้วจำนวน ๒๖๙,๑๗๙.๓๙๖ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๗๖.๙๐ 

โครงการจัดสรรเงินภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติกำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระบบ GFMIS ผ่าน Web Online โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติงานในการ
รับเงิน  การนำส่งเงิน  และการเบิกจ่ายเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้แก่ อปท. โดยผ่านระบบ GFMIS   ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๔  เริ่มนำร่องก่อน ๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี (รวมเมืองพัทยา) จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม โดยมี อปท. รวมจำนวน 170 แห่ง โดยจะเริ่มดำเนินการเดือนเมษายน 2554 นี้   โครงการเชื่อมโยงข้อมูลระบบ e-LAAS  
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าสู่ระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐ แบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS)  ผ่าน
Web Online และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการคลังให้กับบุคลากรท้องถิ่น  โดยเชื่อมโยง ระบบ GFMIS  กับท้องถิ่น
ทั่วประเทศ (E-LAAS) สำหรับ อปท. ประมาณ ๗,๙๐๐ แห่ง ทั่วประเทศ โดยระยะเริ่มต้น มีจังหวัดนำร่อง ๔ จังหวัดคือ ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร และนครสวรรค์  โดยจะมีการโอนเงินอุดหนุนทั่วไปจากระบบ GFMIS เข้าบัญชี
เงินฝากธนาคาร ของ อปท. จำนวน ๓๕๘ หน่วย  ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๔ มีการโอนเงินแล้ว จำนวนเงิน ๑,๘๘๘,๔๔๙,๔๔๙.๕๐ บาท และ โครงการปรับขึ้นเงินเดือนและค่าครองชีพร้อยละ ๕ ของข้าราชการตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๔ ซึ่งสามารถช่วยเหลือด้านการครองชีพแก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญได้ ๔๐๗,๕๒๑ คน เป็นจำนวน ๑,๕๗๖ ล้านบาท

           2. ด้านกฎหมาย ได้แก่ โครงการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (บำเหน็จ
ค้ำประกัน) โดยขณะนี้กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างดำเนินการออกกฎกระทรวง  จัดทำข้อตกลง (MOU) กับสถาบันการเงิน  ออกหนังสือสั่งการกระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ และจัดทำระบบบำเหน็จค้ำประกันรองรับการปฏิบัติงานให้สถาบันการเงินฝึกการรับส่งข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินกับกรมบัญชีกลาง ผ่าน INTERNET ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๔  จำนวน  ๑๒  ธนาคาร  และคาดว่าระบบบำเหน็จค้ำประกันพร้อมเปิดระบบให้ใช้งานได้ทันทีที่กฎกระทรวงประกาศใช้  จัดทำข้อตกลงกับสถาบันการเงินเรียบร้อยและออกหนังสือสั่งการกระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติแล้ว  

๓. ด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อาทิ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement : e-GP) โดยเป็นการพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (EPIC)  ในส่วนของระบบปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  ให้ครอบคลุมทุกวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง และครอบคลุม ทุกขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จนถึงการตรวจรับเงินจ่ายเงิน สามารถติดตามการจัดซื้อจัดจ้างได้ทุกขั้นตอน รวมถึงการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอก เช่น การตรวจสอบหนังสือค้ำประกัน (Bank Guarantee) ผ่านระบบของธนาคารการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการเบิกจ่ายไปยังระบบ GFMIS เป็นต้น และ การปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการ โดยได้ทำการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการมีแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์โดยยึดหลัก
ความโปร่งใส  และความเป็นธรรม  ซึ่งการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯ  ได้คำนึงถึงความสอดคล้องเชื่อมโยงกับ
ราคาตลาด  และสามารถนำไปใช้ได้ทุกหน่วย (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) เป็นสำคัญ 

และ ๔. ด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ อาทิ มาตรการควบคุมการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ปัจจุบันพบว่า รายจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในค่อนข้างคงที่  เนื่องจากนำระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Group: DRG) มาใช้ในการเบิกจ่าย แต่รายจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก ซึ่งยังเป็นการจ่ายตามรายการที่สถานพยาบาลเรียกเก็บ (Fee for service) มีการเพิ่มในอัตราสูงและมีสัดส่วนสูงขึ้น เมื่อเทียบกับค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ – ๒๕๕๔ สัดส่วนค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๕๓ จนถึงประมาณร้อยละ ๗๕ 

           “อย่างไรก็ตาม ทางกรมบัญชีกลางได้เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพองค์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะสนับสนุนการดำเนินของกระทรวงการคลังและรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและผลักดันเศรษฐกิจให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ขณะเดียวกันจะดูแลและบริหารการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนดูแลข้าราชการและพนักงานของรัฐ มิให้เสียประโยชน์จากการดำเนินงานนี้” นายรังสรรค์ อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าว 

 

----------------------------

หมายเลขบันทึก: 433553เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2011 14:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท