การประชุมเรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11


เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๔ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เชิญศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ เข้าร่วมการประชุมเรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ

คณะอนุกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ได้จัดทำแผนสอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ในส่วนยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • พัฒนาคุณภาพคนไทยให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาประเทศในอนาคต

๑) การพัฒนาคุณภาพคนไทยทุกช่วงวัย

(๑) พัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นองค์รวมทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ คุณธรรมและจริยธรรม โดย

(๑.๑) เตรียมความพร้อมของพ่อแม่และผู้ดูแลในการเลี้ยงดูเด็กที่เหมาะสมกับพัฒนาการทางสมอง สติปัญญา และร่างกาย ผลักดันให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุขด้วยการกระตุ้นให้ได้คิดและลงมือทำด้วยตนเอง เชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้เข้ากับชีวิตจริง และปฏิบัติตนเป็นต้นแบบที่ดีด้านคุณธรรมและจริยธรรม

(๑.๒)    ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพศูนย์เด็กเล็กทั้งในชุมชน สถานประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับภูมิสังคม โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพของผู้ดูแลเด็ก และการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างคนสามวัย

(๒)   พัฒนาเด็กวัยเรียนให้มีความรู้ทางวิชาการ และสติปัญญาทางอารมณ์ที่เข้มแข็งสามารถศึกษาหาความรู้และต่อยอดองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง โดย

(๒.๑)    การพัฒนาหลักสูตรและปรับกระบวนการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้านที่เชื่อมโยงกับภูมิสังคม โดย

(๒.๑.๑)         บูรณาการการเรียนรู้ให้หลากหลายวิชาทั้งด้านวิชาการ ทักษะชีวิต และสันทนาการที่ครอบคลุมทั้งศิลปะ ดนตรี กีฬา วัฒนธรรม ศาสนา ความเป็นไทย และเรื่องอาเซียนศึกษา

(๒.๑.๒) ปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนการสอนทั้งการเรียนรู้ในห้องเรียนและจัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน เรียนรู้เป็นกลุ่มและสร้างนิสัยใฝ่รู้ มีทักษะในการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าและรับฟังความเห็นของผู้อื่น สนับสนุนการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์   การจัดกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสาธารณะประโยชน์ โดยเฉพาะกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี และอาสาดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เป็นต้น

(๒.๑.๓)         ค้นหาเด็กที่มีอัจฉริยภาพและผู้มีความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ให้ได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพให้มีความเป็นเลิศ สามารถแสดงศักยภาพในเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง

(๒.๒)    ส่งเสริมการใช้และการอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น รวมทั้งการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องควบคู่กับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง รวมทั้งการเรียนรู้ภาษาสากล และภาษาเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน

(๒.๓)    เน้นครูผู้สอนให้มีวุฒิตรงตามวิชาที่สอน มีระบบ กระบวนการผลิตและพัฒนาครูที่มีคุณภาพ สามารถดึงดูดคนเก่งและดี มีจิตวิญญาณความเป็นครู โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและยกย่อง ครูเพื่อศิษย์และหรือครูสอนดี เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ครู รวมทั้งมีระบบจูงใจให้ครูพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการปรับวิธีประเมินสมรรถนะที่สะท้อนประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ

(๒.๔)    เสริมสร้างทักษะชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมและถูกต้องให้แก่เด็ก โดยเฉพาะการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น สามารถจัดการ ควบคุม ดูแลอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม มีความรู้ ความเข้าใจในหลักโภชนาการ คุณค่าของอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์และมีคุณภาพ

(๓)   พัฒนากำลังแรงงานให้มีความรู้และสมรรถนะที่สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตและบริการบนฐานความรู้และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

(๓.๑) พัฒนากำลังแรงงานในภาคเกษตร โดยจัดระบบการศึกษาเพื่อสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถด้านการเกษตรที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างครบวงจร  สนับสนุนด้านวิชาการและปฏิรูปการฝึกอบรมอาชีพสู่การปฏิบัติจริง การสร้างจิตสำนึกและแรงจูงใจให้เยาวชนเข้าสู่อาชีพเกษตรกรรมอย่างมีศักดิ์ศรีควบคู่กับการเชิดชูคุณค่าของอาชีพเกษตรกร เพื่อให้ภาคการเกษตรเป็นฐานการผลิตที่มั่นคงของประเทศ

(๓.๒)    ผลิตและพัฒนากำลังแรงงานระดับกลาง โดยเน้นการจัดการเรียน   การสอนตามแนวทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา การยกระดับคุณภาพมาตรฐานอาชีวศึกษาให้ผู้เรียนมีสมรรถนะในการประกอบอาชีพที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสอดคล้องกับความเชี่ยวชาญของสถานศึกษา รวมทั้งสร้างเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนกับภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะสถานประกอบการ ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้นานาชาติ

(๓.๓)    พัฒนาคนให้มีการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษาฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  และระดับอุดมศึกษา รวมทั้งสนับสนุนการผลิตและพัฒนานักวิจัย ผู้สร้างและพัฒนานวัตกรรมในสาขาต่างๆ ตลอดจนต่อยอดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมระดับสูงที่เชื่อมโยงองค์ความรู้ใหม่กับภูมิปัญญาวัฒนธรรมไทย สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของสินค้าและบริการที่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือเชิงสังคม

(๓.๔)    สนับสนุนให้มีการวางแผนและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรภาครัฐอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง สร้างความชัดเจนในบทบาทและภาระงานของข้าราชการ  พนักงาน และลูกจ้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรและการปฏิบัติงานของภาครัฐให้มีผลิตภาพสูงขึ้น

(๓.๕)    จัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพสนับสนุนการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเสรีด้านแรงงานภายใต้กรอบความร่วมมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเร่งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้มีการนำคุณวุฒิวิชาชีพไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้แรงงานมีสมรรถนะและมีเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพที่ชัดเจน และนำไปประเมินค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับความรู้ ทักษะอาชีพ และประสบการณ์ ตามกลไกตลาด

(๓.๖)    เตรียมความพร้อมคนไทยในการรับประโยชน์และลดผลกระทบที่จะเข้ามาพร้อมกับการเข้าออกของแรงงานอย่างเสรี สร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถของคนไทยในการออกไปทำงานต่างประเทศ ยกระดับทักษะด้านอาชีพและทักษะด้านภาษาควบคู่กับการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมจากผลกระทบของการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี

(๓.๗)   เร่งบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานการจ้างงาน การคุ้มครองแรงงาน และการพัฒนาทักษะฝีมือที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

(๔)   พัฒนาผู้สูงอายุให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม มีคุณภาพ มีคุณค่า สามารถปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลง เป็นพลังในการพัฒนาสังคม

(๔.๑) ส่งเสริมการสร้างรายได้และการมีงานทำในผู้สูงอายุ โดยกำหนดลักษณะประเภทงานและอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม ควบคู่กับการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะทั้งด้านวิชาการและการใช้สื่อการเรียนรู้สมัยใหม่ให้แก่ผู้สูงอายุ เพื่อการประกอบอาชีพและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

(๔.๒)    ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำความรู้และประสบการณ์ของผู้สูงอายุที่เป็นคลังสมองของชาติ ปราชญ์ชาวบ้าน/ผู้มีความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น และประเทศ

(๔.๓)    พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบที่หลากหลายตามความเหมาะสมกับศักยภาพ ทรัพยากร และความต้องการของท้องถิ่น ทั้งในด้านการจัดบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมอย่างบูรณาการ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาชุมชนที่มีศักยภาพและความพร้อมให้เป็นต้นแบบของการดูแลผู้สูงอายุเพื่อขยายผลไปสู่ชุมชนอื่น       

๒)   สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้สู่วัฒนธรรมการเกื้อกูล เสริมสร้างทักษะให้คนมีจิตสาธารณะ ด้วยการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต  และการต่อยอดสู่นวัตกรรมความรู้ การฝึกฝนจนเกิดความคิดสร้างสรรค์ การเปิดใจกว้างพร้อมรับทุกความคิดเห็น และการปลูกฝังจิตใจที่มีคุณธรรม ควบคู่กับการพัฒนาคนด้วยการเรียนรู้ในศาสตร์วิทยาการให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย สอดคล้องกับแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต รวมทั้งการพัฒนาต่อยอดตามศักยภาพและความถนัด

๓)   การสร้างเสริมสุขภาวะคนไทยให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ โดยการพัฒนาความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว ชุมชน การเร่งดำเนินมาตรการส่งเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพ การใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ในการพัฒนาคุณภาพบริการและขยายบริการสุขภาพเชิงรุก รวมทั้งมุ่งสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งในการดำเนินกิจกรรมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ

๔)   สร้างจิตสำนึกของประชาชนให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยสร้างความตระหนักถึงการเคารพกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน การสร้างค่านิยมให้มีพฤติกรรมการผลิตและบริโภคที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมน่าอยู่

  • ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างโอกาสการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้คนทุกกลุ่มทุกวัยสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และองค์ความรู้ที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ใหม่

๑)   สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ด้วยการสร้างกระแสสังคมให้การเรียนรู้เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน สร้างนิสัยใฝ่รู้และรักการอ่านตั้งแต่วัยเด็ก ควบคู่กับการส่งเสริมให้องค์กรและสื่อทุกประเภทเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ สื่อสารด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความสามารถในการดำรงชีวิตได้อย่างรู้เท่าทัน

๒) การสร้างปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

(๑)    เสริมสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาในระดับท้องถิ่น ชุมชน และประเทศ โดยพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อให้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง หรือบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ พัฒนาแหล่งเรียนรู้ของชุมชนในรูปแบบที่หลากหลายสอดคล้องกับภูมิสังคม และพัฒนาและยกระดับศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ สู่ภูมิภาคและชุมชน

(๒)   พัฒนาและเปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ทั่วไป อาทิ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์กีฬา รวมทั้งเปิดพื้นที่/เวทีสาธารณะให้เป็นศูนย์รวมการแลกเปลี่ยนให้กับนักคิดอย่างสร้างสรรค์ โดยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ การแสดงออก และนำเสนอผลงานเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนให้มีการบริหารจัดการพื้นที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ประชาชนเข้าถึงอย่างสะดวกและใช้บริการได้เต็มศักยภาพ มีการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้สมัยใหม่ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้

(๓)   พัฒนาองค์ความรู้ของท้องถิ่นทั้งจากผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน และจัดให้มีการจัดการองค์ความรู้ในชุมชนอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พัฒนาทักษะด้านภาษาและเทคโนโลยีให้เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ตลอดจนเนื้อหาสาระที่เอื้อต่อการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเอง

(๔)   การปรับปรุงและผลักดันกฎ ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต มาตรการภาษีที่เกี่ยวข้อง ให้เอื้ออำนวยและส่งเสริมให้เกิดการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

๓)        ส่งเสริมการศึกษาทางเลือกที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน

(๑)    จัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ยืดหยุ่น หลากหลาย เข้าถึงได้ง่าย ที่สัมพันธ์สอดคล้องกับวัฒนธรรม วิถีชีวิต และการประกอบอาชีพในแต่ละท้องถิ่น โดยเน้นการพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เรียนรู้เป็นกลุ่มจนติดเป็นนิสัยใฝ่เรียนรู้

(๒)   มีระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ ปรับระบบการวัดประเมินผลผู้เรียน และระบบการเข้ารับการศึกษาต่อให้เอื้อต่อการจัดการศึกษาทางเลือก และต่อประชากรทุกกลุ่มตามศักยภาพของผู้เรียน

(๓)   ส่งเสริมให้มีการพัฒนาบทเรียนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เนต และการใช้มาตรการทางภาษีในการสนับสนุนการผลิตสื่อเพื่อการเรียนรู้และเป็นช่องทางสำหรับคนทุกกลุ่มวัยแสดงออกอย่างสร้างสรรค์

  • เสริมสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยมาขับเคลื่อนกระบวนการการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดย

๑) พัฒนาบทบาทของสถาบันหลักทางสังคมในกระบวนการพัฒนาประเทศ

(๑)    สนับสนุนสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา ปลูกฝังกระบวนการคิดที่ยอมรับความแตกต่าง และจิตสำนึกประชาธิปไตยในทุกระดับ ตั้งแต่ปัจเจก ชุมชน ท้องถิ่น และระดับประเทศ ให้รู้และเข้าใจบทบาท หน้าที่ในความเป็นพลเมือง และการเคารพสิทธิของผู้อื่นตั้งแต่วัยเด็กจนตลอดชีวิต

(๒)   นำคุณค่าอันดีงามของครอบครัวไทย อาทิ ความเอื้ออาทร และการเป็นเครือญาติ มาพัฒนาต่อยอด โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ในการสร้างการเรียนรู้ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และเชื่อมโยงสถาบันครอบครัวกับสถาบันศาสนาและสถาบันการศึกษาเพื่อปลูกฝังวัฒนธรรม ค่านิยมและจิตสำนึกที่ดีในการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมที่จะมีผลกระทบต่อการเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรม   

(๓)   ส่งเสริมภาคประชาสังคมและองค์กรธุรกิจเอกชนให้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนและสังคม โดยกำหนดมาตรการสนับสนุนการทำงานเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับกลไกภาครัฐ  การส่งเสริมภาคเอกชนที่ประกอบกิจการเพื่อสังคมที่สร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ขององค์กรและผลประโยชน์ของชุมชนและสังคม การยกย่ององค์กรธุรกิจเอกชนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสาธารณะ ตลอดจนสนับสนุนให้สถาบันทางสังคมยกย่องคนดีในสังคมที่เป็นต้นแบบและตัวอย่างที่ดีผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

๒)         นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภูมิปัญญาท้องถิ่น อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชน คุณค่าของความสงบสุขและการแบ่งปันตามวิถีดั้งเดิม มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการการเรียนรู้ในชุมชนที่เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตบนฐานชีวิตของคนในชุมชนและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

๓)         นำความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาต่อยอดในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการพัฒนาสังคมของประเทศ โดย

(๑)            สนับสนุนสื่อ กลไกของรัฐ และภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาต่อยอดวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมสู่วัฒนธรรมไทยร่วมสมัยที่เสริมสร้างคุณค่าและมูลค่าทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง

(๒)   สร้างค่านิยมให้คนไทยภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทย และการยอมรับความแตกต่างของความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งทางความคิด และสร้างความเป็นเอกภาพในสังคม  

๔) บูรณาการกลไกการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิในการเข้าถึงบริการของรัฐและสิทธิชุมชน ทั้งในระดับครอบครัว ระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับสากลให้เชื่อมสัมพันธ์กันอย่างเกื้อกูล โดยใช้กลไกจังหวัดและสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่เป็นแกนหลักในการเชื่อมประสานภาคส่วนต่างๆ

๕)         สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวัฒนธรรมร่วมกับประชาคมโลก โดยเฉพาะประชาคมอาเซียน เพื่อให้เกิดการไหลเวียนทางวัฒนธรรมในรูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางความคิดและค่านิยม และเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประชาคมอาเซียนร่วมกัน

 

 

หมายเลขบันทึก: 432773เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2011 17:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมมีโอกาสเข้าร่วมประชุมในกลุ่มเศรษฐกิจ จึงขอโอกาสนำข้อสรุปของกลุ่มมาเผยแพร่ดังนี้

ภาพรวมแผนฯ 11

1.แผนฯครอบคลุมทุกประเด็นแต่ไม่เพียงพอ ควรกำหนดเน้นให้ชัดว่าทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยอีก 5 ปีจะไปทางไหน จัดลำดับความสำคัญของมาตราการภายใต้งบประมาณที่จำกัด แนวการวางแผนปฎิบัติควรประชุมร่วมกับภาคเอกชนด้วย

2.ในแต่ละยุทธศาสตร์ เป้าหมาย ตัวชี้วัด และแนวทางการพัฒนา ควรสอดคล้องกัน นอกจากนั้น ตัวชี้วัดของทุกยุทธศาสตร์ควรให้มีการสอดคล้องกันด้วยเพื่อความชัดเจนในการแปลงแผนไปสู่การปฎิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อต้องนำไปปฎิบัติและมีการประเมินผล

3.ในการแปลงแผนไปสู่การปฎิบัติ ยังขาดความชัดเจนในบทบาทความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ทั้งนี้ควรหารือกับ กพร ในการกำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพของหน่วยงานให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯด้วย

ขอต่อเรื่องสรุปการประชุมของกลุ่มเศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์การสร้างเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพบนฐานความรู้

วัตถุประสงค์/เป้าหมาย

1.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ควรระบุให้มีความชัดเจนว่า เป็นการปรับในทุกภาคเศรษฐกิจ (ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ)

2.ควรเพิ่มเป้าหมายในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

ตัวชี้วัด

1.ควรเพิ่มและปรับปรุงตัวชี้วัดด้านการบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้ชัดเจน เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านการคลัง

2.ในประเด็นด้านงบประมาณรายจ่ายระยะปานกลาง ควรกำหนดตัวชี้วัดเพิ่มเติมให้ชัดเจน ในกรณีการใช้เงินให้เปล่า เงินโอน เงินอุดหนุน

3.ด้านการคลัง ควรกำหนดตัวชี้วัดด้านความโปร่งใสให้ชัดเจน และควรมีการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดตัวชี้วัดกลางที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน

แนวทางพัฒนา

1.ควรพิจารณาปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการปรับโครงสร้าง การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งการเปิดเสรีการค้า

1.1.โดยแสดงให้เห็นว่า ต้องมีการเตรียมความพร้อมในด้านใด เช่น การพัฒนาคนในแต่ละภาคเศรษฐกิจ กฎระเบียบต่างๆที่จะต้องใช้เชื่อมโยงกับต่างประเทศ เป็นต้น

1.2.สำหรับการสร้างเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ควรให้ความสำคัญกับการเตรียมทุน/ทรัพยากรมนุษย์(ให้ความสำคัญมากที่สุด/เป็นตัวตั้ง)

1.3.ควรปรับแนวทางพัฒนาคน/ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมการพัฒนา SMEs และเทคโนโลยี ให้ชัดเจนมากขึ้นโดยควรเน้นการสร้างคนในภาคธุรกิจให้รู้จริง

1.4.เน้นความสมดุลของการพัฒนา โดยเฉพาะความสมดุลระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบทซึ่งเป็นสังคมที่มีลักษณะเฉพาะ

1.5.ควรมีแนวทางที่ชัดเจนในการบริหารจัดการแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมทั้งระบบ(ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว)เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างด้านการผลิต เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือในหลายหน่วยงาน

2.ควรกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเพื่อสร้างนวัตกรรมให้ชัดเจน

2.1.โดยควรชี้ให้เห็นว่าใครจะเป็นคนสร้างนวัตกรรม

2.2ควรให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมด้านบริการ และสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจสร้างนวัตกรรม

2.3.สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

3.สร้างความเข้มแข็งของ Supply Chain ในทุกภาคการผลิตและบริการ โดยเริ่มตั้งแต่ภาคเกษตร

4.เน้นการสร้างวินัยทางการเงินและการออม ให้คนรุ่นใหม่อยู่อย่างพอเพียง

5.เพิ่มช่องทางการลงทุนในเรื่องต่างๆ โดยรัฐควรมีการลงทุนร่วมกับ SMEs เพื่อให้เกิดการสร้างงานให้เพียงพอและรองรับแรงงานในประเทศ

6.ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Technological Infratructure) เพิ่มขึ้น เนื่องจาก ICT มีความสำคัญเพิ่มขึ้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเป็น Enable factors ในการพัฒนาด้านอื่นๆต่อไป

7.ในการปรับโครงสร้าง ควรเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของอำนาจผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการปรับตัวเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรม

8.ด้านการบริการ/ท่องเที่ยว

8.1.สร้างทางเลือกในการสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการบริการนอกเหนือจากการท่องเที่ยว

8.2.แนวทางการพัฒนาควรเพิ่มด้านการพัฒนาธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว กำหนดให้ชัดเจนว่าจะใช้องค์ความรู้มาพัฒนาภาคธุรกิจบริการได้อย่างเป็นรูปธรรมและเชื่อมโยงกับภาคอื่นๆได้อย่างไร

8.3.ภาครัฐควรสนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว เช่นสายการบินและการขนส่งเป็นต้น

8.5.เน้นการพัฒนาคนให้มาก โดยเฉพาะด้านภาษา เพื่อให้สามารถแข่งขันและทำการค้ากับต่างประเทศได้ และควรอบรมให้ความรู้แก่บุคคลากรด้านบริการท่องเที่ยว

9.ภาครัฐควรกำหนดกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ/ธุรกิจที่ดีให้เข้ามาประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว และควบคุมธุรกิจที่ไม่ดี ที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์

10.ควรมีแนวทางการพัฒนาเพื่อรองรับและใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าให้ชัดเจน (ปัจจุบันกว้างเกินไป) และควรสร้างความรู้และความเข้าใจ และเพิ่มแนวทางในการรับมือกับการเปิดเสรีทางการค้าโดยเฉพาะ AEC

11.ควรพิจารณาเงินลงทุนจากต่างประเทศ(FDI)ทั้งผลดีและผลเสียต่อประเทศโดยรวม

 

 

สรุปประเด็นของกลุ่มเศรษฐกิจในหัวข้อ:

ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค

วัตถุประสงค์/เป้าหมาย

ยุทธศาสตร์ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านเศรษฐกิจมากกว่าความมั่นคง ซึ่งควรต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความขัดแย้งเชิงนโยบายในการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง

แนวทางการพัฒนา

1.ควรมีแนวทางการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น GMS IMT-GT AEC ASEAN+3/+6 เป็นต้น โดยควรเน้นการเพิ่ม production capacity การสร้างความมั่นคงทางการเงิน เพื่อสร้างให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน

2.ภาครัฐต้องส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ (OFDI) อย่างจริงจัง โดยกำหนดบทบาทของหน่วยงานภาครัฐให้ชัดเจน และเพิ่มความสามารถของภาครัฐในการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทยอย่างครอบคลุมและครบวงจร โดยเฉพาะการสนับสนุนนักลงทุนที่เป็น SMEs

3.มีนโยบายและแผนการควบคุมการลงทุนจากต่างชาติ ที่สมดุลในทุกมิติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (ความคุ้ม และความเสี่ยง ของประเทศชาติ)

 

ขอบคุณคณะอนุกรรมของคณะกรรมการจัดทำเเผนพัฒนาธุรกิจเเห่งชาติ ที่ไปประชุมกับสภาพัฒน์เพื่อรับฟังร่างเเผนพัฒนาแห่งชาติฉบับที่ 11

  1. ผมมีโอกาสไปร่วมรับฟังและเป็นประธานกลุ่มย่อย ช่วงหนึ่งต้องเข้าก่อนทานข้าว
  2. ขอบคุณอนุกรรมการทีมงานของอนุกรรมการของเราและเจ้าหน้าที่ของผมที่กรุณาตามไป
  3. หม่อมหลวงชาญโชติ, ผ.อ.มนตรี คุณวีระชัย, และคุณศิริลักษณ์ ช่วยกันเสนอเรื่อง สภาทุนมนุษย์เพื่อธุรกิจ คงจะดูว่ามีโอกาสได้ใส่ไว้ในแผ่นหรือไม่?  
  4. ผมคิดว่าสภาพัฒน์ต้องรับฟังความคิดของบุคคลที่เป็น Experts มากขึ้น เพราะ Macro ไม่พอ ต้อง Micro สำคัญที่สุดคือ ประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือ?
  5. ถ้าภาคเกษตรและบริการและอุตสาหกรรม จะนำเศรษฐกิจยั่งยืนและเศรษฐกิจฐานความรู้ ต้องมี
  • นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และทุนมนุษย์ คำถาม คือสภาพัฒน์จะสร้างอย่างไร ใครเป็นคนนำตัวละคร
  • จะลงทุนอย่างไร ที่เป็นรูปธรรม มีเงินลงทุนหรือเปล่า? และได้ผลจริงไหม?

                                                                                                    จีระ หงส์ลดารมภ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท