ความในใจเรื่องหลักสูตรครู 6 ปี (ตอนที่ 1)


ทำไมหลักสูตรครูต้อง 6 ปี?

          มีกระแสวิพากษ์ถึงความเหมาะสม ความจำเป็น และความพร้อม สำหรับหลักสูตรครู 6 ปี และกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมการศึกษาไทย

          ผู้เขียนขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ในฐานะครูคนหนึ่ง ดังนี้

          1.  ทำไมหลักสูตรครูต้อง 6 ปี ? มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ? ที่ครูต้องเรียนจบปริญญาโท (4+2) ครูปริญญาตรีไม่มีคุณภาพหรือ ? มีการศึกษาวิจัยกันหรือยังว่าครูปริญญาตรีไม่มีคุณภาพ ? เพิ่งจะขยายหลักสูตรครูปริญญาตรีจาก 4 ปี เป็น 5 ปี ผลิตได้แค่ 2 รุ่น จะเปลี่ยนอีกแล้วหรือ ? ฯลฯ

           จากสารพัดคำถาม น่าจะลงไปดูที่มาของปัญหา ว่าทำไมหลักสูตรครูจึงขยายเป็นปริญญาตรีควบโท 6 ปี

          ประเด็นที่ 1 การผลิตครูของประเทศไทยในปัจจุบัน มี 2 รูปแบบ คือ หลักสูตรผลิตครูโดยตรง ระดับปริญญาตรี 5 ปี กับหลักสูตรผลิตครูโดยอ้อม คือ รับผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาอื่น เรียนประกาศนียบัตรบัณฑิต 1 ปี รวมเรียน 5 ปี ในรูปแบบที่เรียกว่า 4+1 การผลิตครูเข้าสู่ระบบจึงแตกต่างกับวิชาชีพขั้นสูงอื่นที่ไม่มีการอนุญาตให้ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาวิชาอื่นสามารถเรียนต่อยอดแล้วได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ทั้งยังได้วุฒิการศึกษาสูงกว่าผู้เรียนสาขาวิชาชีพโดยตรง ทั้งที่ใช้เวลาเรียนเท่ากัน (เกณฑ์ สกอ.ถือว่าหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสูงกว่าหลักสูตรปริญญาตรี สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ไม่เกินร้อยละสี่สิบของหลักสูตรปริญญาโท ส่วนหลักสูตรปริญญาตรีของครู แม้จะเรียน 5 ปี ก็เทียบโอนหน่วยกิตไม่ได้)

          สรุป ผู้เรียนหลักสูตรครูโดยตรง 5 ปี มีปัญหาด้านศักดิ์และสิทธิที่มีน้อยกว่าผู้เรียนครูภายหลังรูปแบบ 4+1 = 5 ปี

 

          ประเด็นที่ 2 คุรุสภาได้ประกาศยกเลิกการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูสำหรับผู้เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต 1 ปี หลังวันที่ 19 สิงหาคม 2553 ทำให้ผู้ประสงค์จะเป็นครูที่สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่นต้องเรียนหลักสูตรปริญญาโททางการศึกษา 2 ปี เป็นระบบ 4+2 ส่งผลให้คุณภาพมาตรฐานของครู ระหว่าง 2 รูปแบบข้างต้นแตกต่างกัน คือ ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาอื่นจะเรียน 6 ปี ได้วุฒิปริญญาโท ส่วนผู้เรียนหลักสูตร 5 ปี เป็นครูปริญญาตรี เกิดเป็นสองมาตรฐานระหว่างผู้เรียนหลักสูตรครู 5 ปี โดยตรง กับผู้เรียนหลักสูตรครูโดยอ้อม (ต่อยอด) หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี + ปริญญาโท 2 ปี = 6 ปี

          สรุป การจัดครูสอนวิชาเฉพาะ (วิชาเอก) อาทิ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จะเป็นสองมาตรฐานก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการทางวิชาการ

 

          ประเด็นที่ 3 ผู้ที่เรียนหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี หากประสงค์จะมีความก้าวหน้าทางวุฒิการศึกษาด้วยการเรียนปริญญาโท จะต้องใช้เวลาเรียนปริญญาโท 2 ปี รวมเรียนปริญญาตรี, โท 5+2 = 7 ปี มากกว่าผู้เรียนปริญญาตรีสาขาอื่นที่เรียนปริญญาตรี, โท (4+2= 6 ปี) อีก 1 ปี

          สรุป ผู้ที่ตัดสินใจเรียนหลักสูตรครูโดยตรงตั้งแต่เริ่มต้น มีปัญหาต้องเสียเวลาเรียนมากกว่า เสียเงินมากกว่า เสียโอกาสความก้าวหน้ามากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่เรียนหลักสูตรครูโดยอ้อมภายหลัง ซึ่งโดยเหตุผลทางวิชาชีพไม่สมควรเป็นเช่นนั้น

 

          แนวคิดการทำหลักสูตรครู 6 ปี จึงน่าจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความเสมอภาค ความเท่าเทียมในโอกาส ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการผลิตครูตามหลักสูตรทั้ง 2 รูปแบบ และเป็นการยกระดับคุณภาพครูด้านความรู้และวุฒิการศึกษาอีกทางหนึ่งด้วย

หมายเลขบันทึก: 432719เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2011 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

- โดยส่วนตัวนั้นผมคิดว่าหลักสูตร ครู 4 ปี ครู 5 ปี และ ครู 6 ปี นั้นมีความเหลื่อมล้ำกันในหลายด้านทั้งในตอนเรียนและหลังจากจบเข้ามาทำงานแล้ว (เรื่องเงินเดือนและวิทยฐานะ) ประเด็นนี้ทำให้ครูด้วยกันเองเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เปรียบเทียบเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในประเด็นดังกล่าวอยู่บ่อยๆ

- ขอบคุณทรรศนะ ที่ทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างครับ

รับทราบและจะนำไปคิดต่อครับ อาจารย์ ;)...

ยังไม่เห็นความแตกต่างกันเลยครับ

ครูที่จบ 4 ปี ครู 5 ปี พอเข้าบรรจุก็เริ่มต้นนับหนึ่งเหมือนกันทุกคน

ไม่เห็นมีใครสอนได้ดีตั้งแต่แรก

ต้องมาปรับ มาพัฒนาเหมือนกันหมด

แต่เงินเดือนต่างกัน

ศักดิ์และสิทธิ์ต่างกัน

2 มาตรฐาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท