Build your own laptop ประกอบ ใช้เอง


laptop
Build your own laptop ประกอบ ใช้เอง
 การประกอบเครื่องโน้ตบุ๊คด้วยตนเองจะมีต้นทุนถูกกว่าการซื้อสำเร็จรูปหรือไม่ Mike Channell จะพาเราไปพบกับคำตอบ...

   เรากำลังนึกภาพสาวกนักอ่าน PCF ตัวยงทุกท่านว่าเป็นปรมาจารย์ขั้นเซียนในวิชาฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ เรากำลังมองเห็นพวกคุณยิ้มแก้มปริเมื่อได้พัลวันไปกับการ์ด PCI และหมุนนอตด้วยไขควงเพื่อตอบสนองความกระหายในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์ที่แรงกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม นี่คือสิ่งที่ทำให้เกจิฮาร์ดแวร์ระดับยอดเพชรมงกุฎต้องผวา เพราะเรากำลังพูดถึงการประกอบเครื่องโน้ตบุ๊คใช้เอง ดูเหมือนว่ามันจะเป็นศาสตร์ที่ดูลึกลับยากแก่การเข้าถึง การจับยัดทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสร้างเครื่องพีซีอันทันสมัยในพื้นที่ขนาดกระจ้อยเท่ากับนิตยสาร PCF วางซ้อนกันสองเล่ม ภาพการประกอบเครื่องด้วยความวุ่นวายกับเครื่องในของโน้ตบุ๊คเป็นสิ่งที่ทำให้เราทุกคนไม่อยากจะนึกถึง เอาล่ะๆ เราขอแถลงว่า ไม่ใช่อย่างนั้นอีกต่อไปแล้ว จับเคสมาตรฐาน ATX โยนทิ้งไป แล้วเตรียมพร้อมอ้อมกอดของคุณต้อนรับเครื่องพีซีแบบพกพา

มีข้อดีขนานใหญ่เมื่อเราพูดถึงการประกอบเครื่องโน้ตบุ๊คขึ้นมาเอง อย่างแรกเลยก็คือ คุณสามารถเลือกใช้อุปกรณ์และเลือกคุณสมบัติต่างๆ ตามที่คุณต้องการได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องยึดติดอยู่กับคุณสมบัติและทางเลือกที่โรงงานจัดมาให้คุณ นอกเหนือไปจากการที่คุณสามารถเลือกอุปกรณ์ต่างๆ ได้เองแล้ว เมื่อคุณได้จัดสเป็กที่คุณชอบพอเป็นที่เรียบร้อย คุณยังสามารถมองหาผู้ขายปลีกบนอินเทอร์เน็ตที่จะให้คุณเลือกซื้อได้ด้วยราคาสบายกระเป๋า แต่เครื่องมาตรฐานโรงงานประกอบให้คุณด้วยราคาที่แพงกว่าเสมอไปจริงเหรอเปล่า? ราคาเครื่องโน้ตบุ๊คได้ตกลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทุกวันนี้คุณสามารถหาเครื่องที่ใช้งานได้ดีในราคาไม่เกิน 3-4 หมื่นบาท เราเพียงแค่ต้องการลุยงานช่าง สวมหมวกนิรภัย ใส่รองเท้าหุ้มส้น แล้วสร้างเครื่องโน้ตบุ๊คให้ได้ไม่ต่างอะไรจากที่โรงงานผลิตออกมาก็เท่านั้น ท้ายที่สุดแล้ว คุณจะได้เครื่องโน้ตบุ๊คที่ประกอบขึ้นด้วยชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่างๆ และมันจะเป็นเครื่องที่อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนโน้ตบุ๊คพะยี่ห้อทั้งหลายก็เป็นได้...

เริ่มกันเลย
อุปกรณ์ที่เราใช้นั้นก็คือ MSI Megabook MS-1022B ซึ่งหาซื้อได้จาก www.ebuyer.com มันมาพร้อมกับตัวโครงสร้างของเครื่องโน้ตบุ๊คอย่างแท้จริง, เมนบอร์ด (ซึ่งมีระบบกราฟิก GeForce 6200, ระบบเสียง, Ethernet และ Wi-Fi มาพร้อมบนบอร์ดแล้ว), แบตเตอรี่, จอภาพ และคีย์บอร์ด สิ่งที่เรากำลังจะบอกก็คือ คุณสามารถใส่หน่วยความจำ (RAM), หน่วยประมวลผล, ฮาร์ดดิสก์ และ ออปติคอลไดรฟ์ ตามที่ใจของคุณปรารถนาได้อย่างเต็มที่ อย่าลืมว่าคุณต้องซื้ออุปกรณ์ที่สามารถใช้กันได้กับสิ่งที่คุณมีด้วย อย่างเช่น หน่วยประมวลผลก็ต้องสำหรับเครื่องโน้ตบุ๊คและเครื่องนี้ก็ต้องเป็น Pentium M ซึ่งมันไม่เหมือนกับหน่วยประมวลผลสำหรับเครื่องเดสก์ท็อป ไม่ใช่เพียงเท่านั้น อุปกรณ์อย่าง RAM, ไดรฟ์ DVD และฮาร์ดดิสก์ของโน้ตบุ๊คก็มีขนาดเล็กกว่าที่ใช้กับเครื่องเดสก์ท็อป

“คุณสามารถเลือกสเป็กของอุปกรณ์ต่างๆ ดังใจของคุณต้องการ ได้อย่างเต็มที่”

ระวัง อย่าซื้ออุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับใช้กับเครื่องเดสก์ท็อปมาใช้ในการนี้ คุณยังจำเป็นต้องตรวจสอบอุปกรณ์งัดแงะของคุณด้วยว่ามีไขควงเหล็กกล้าขนาดเล็ก ของ Phillips มีสภาพพร้อมรบทุกการประการในมือหรือยัง สำหรับชุดไขควงราคาถูกที่คุณได้เป็นของขวัญวันคริสต์มาสนั่นใช้ไม่ได้หรอกนะ PCF

ติดตั้งไดรฟ์
วิธีการประกอบออปติคอลไดรฟ์นั้นง่ายแสนง่าย

>> ขั้นตอนที่ 1
เครื่องโน้ตบุ๊ค MSI นั้นมาพร้อมกับถาดใส่ไดรฟ์ในรูปแบบเฉพาะของมันเอง หาแถบสองตัวบนถาดใส่ไดรฟ์นั้นแล้วใช้ปลายไขควงกดมัน แถบนั้นจะต้องหลุดออกโดยง่ายและแผงใหม่ก็จะลงล็อคพอดิบพอดีกับคลิปและพื้นที่บนถาดนี้
>> ขั้นตอนที่ 2
เครื่องจะมาพร้อมกับสลักสำหรับติดไว้กับตัวไดรฟ์อันแสนเพรียวบาง ซึ่งจะทำให้คุณสามารถไขมันยึดกับตัวเคสโน้ตบุ๊คได้ ตัวฐานยึดจะถูกยึดด้วยนอตสองตัว ณ รูสองรู บริเวณปลายด้านล่างของตัวไดรฟ์
>> ขั้นตอนที่ 3
จับเอาไดรฟ์สอดไปในช่องด้านข้างของตัวเครื่องโน้ตบุ๊คที่นอนรอคุณอยู่ คุณจะรู้สึกได้ถึงความหนืดเล็กน้อยเมื่อตัวช่องเสียบไดรฟ์กำลังสอดตัวเองลงซ็อคเก็ต และสิ่งที่คุณต้องทำต่อจากนี้ก็คือขันนอตยึดตัวไดรฟ์ ณ บริเวณจุดสองจุดบนตัวเคส เป็นอันเสร็จพิธี

จับมันใส่กล่อง
เสียบฮาร์ดไดรฟ์ลงไปให้ตรงช่องเพื่อความแน่นหนา

>> ขั้นตอนที่ 1
ฮาร์ดดิสก์ขนาดเพรียวบางนั้นสามารถเสียบลงไปในถาด (caddy) ได้อย่างง่ายดายด้วยหมุด ยึดตัวเองไว้กับช่องว่างของมัน ตรวจสอบให้แน่ใจว่า “แถบ” นั้นโผล่ออกมาเพื่อการถอดออกที่ง่ายดายหากจำเป็นต้องกระทำ ให้ระมัดระวังตอนถือฮาร์ดดิสก์ไว้ เพราะหมุดที่เบี้ยวเอียงอาจก่อให้เกิดปัญหาได้
>> ขั้นตอนที่ 2
ถอดฝาปิดช่องใส่ฮาร์ดดิสก์ตรงตัวเคสและจับเอาถาดใส่ลงไปในช่องว่าง ระมัดระวังตอนเสียบหมุดลงไป ใส่ลงไปด้านหนึ่งก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ ใส่อีกด้านหนึ่งของถาด เอียงลงไปให้เข้าที่ จากนั้นก็ขันนอตล็อคตัวถาดซะ
>> ขั้นตอนที่ 3
และที่เหลือก็คือการขันนอตปิดฝาภายนอกให้เข้าที่ และปกป้องตัวไดรฟ์ไม่ให้หลุดออกจากตัวเครื่อง ขั้นตอนนี้ง่ายกว่าการหักข้อมือไปมาในเคสของเครื่องเดสก์ท็อปเมื่อถึงเวลาต้องประกอบฮาร์ดดิสก์ขนาดมาตรฐานเสียอีก

“การเสียบ RAM เครื่องโน้ตบุ๊ค เป็นประสบการณ์สุดเสียว”

การ์ดแสนกล
อัพเกรดระบบกราฟิกสำหรับเครื่องโน้ตบุ๊คเป็นเรื่องยาก
   เครื่อง MSI มาพร้อมกับ GeForce 6200 แต่มันไม่มีสล็อต MXM (ซึ่งย่อมาจาก Mobile eXpress Module) ดังนั้นการอัพเกรดไปใช้ระบบกราฟิกระดับสูงสำหรับเครื่องโน้ตบุ๊คเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ในขณะที่กราฟิกการ์ดต่อขยายขายแยกสำหรับติดตั้งเพิ่มเองนั้นก็ยังหาไม่ค่อยได้ในปัจจุบัน (www.mxm-upgrade.com มีแค่รุ่น GeForce 6600 อยู่รุ่นเดียวที่ขายอยู่ในตอนนี้) เราเชื่อว่าในไม่ช้านี้มันจะมีความแพร่หลายมากขึ้นไปพร้อมๆ กับความนิยมในระบบ PCI Express ของเครื่องโน้ตบุ๊ค สถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับการเดินตลาดตรวจสอบข่าวสารล่าสุดก็คือที่ www.laptopvideo2go.com และสำหรับ AOpen 1559 รุ่นที่กำลังจะออกวางตลาด มันมาพร้อมกับสล็อต MXM ก็จริง ทว่าก็ดูไม่ค่อยคุ้มค่าแก่การลงทุนสักเท่าไร แม้ว่ามันจะเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้การประกอบเครื่องโน้ตบุ๊คเองมีความเป็นไปได้มากขึ้นก็ตาม

ประกบชิปลงบนบอร์ด
จงประกอบหน่วยประมวลผลด้วยความบรรจงและแผ่วเบา

>> ขั้นตอนที่ 1
วางหน่วยประมวลผลลงบนซ็อคเก็ต ตัวชิปจะต้องลงไปได้อย่างง่ายได้ ณ มุมหนึ่งของหน่วยประมวลจะมีเหลี่ยมตัด ซึ่งตรงจุดนั้นจะไม่มีขาพิน และมันก็จะตรงกับเหลี่ยมตัดที่มุมหนึ่งของช่องเสียบบนเมนบอร์ดด้วยเช่นนั้น มันไม่ได้ใช้คันโยก มันใช้นอตแทน ขันตามเข็มนาฬิกาแล้วหน่วยประมวลผลก็จะเข้าล็อคอย่างลงตัว
>> ขั้นตอนที่ 2
แกะสารส่งผ่านความร้อน (thermal paste) บนแผงฮีตซิงค์แล้ววางไว้บนตัวหน่วยประมวลผล เสร็จแล้วขันนอตให้แน่น สำหรับตัวพัดลมจะอยู่ในตำแหน่งเลยจากฮีตซิงค์ไปอีกนิด ได้ที่แล้วก็ขันนอตยึดซะ อย่าลืมเสียบสายไฟของพัดลมเข้ากับแหล่งจ่ายไฟแบบสามพินที่อยู่แถวๆ นั้นซะด้วยล่ะ ไม่งั้นคุณจะเป็นต้นเหตุทำให้เมนบอร์ดลุกเป็นไฟ

เสียบให้ลึก ไม่ต้องใช้อะไรยึด แค่จับมันยัดให้ลงร่องก็พอ

กล่าวได้ว่า การประกอบหน่วยความจำ (RAM) ของเครื่องโน้ตบุ๊คเป็นประสบการณ์สุดเสียว ไม่เคยมีกระบวนการในการประกอบอุปกรณ์ใดๆ เลยที่ให้ความรู้สึกว่ามันจะปริแตกและหักคามือ มีช่องสล็อตเสียบ RAM อยู่สองช่องและแถวหน่วยความจำจำเป็นต้องถูกเสียบในแนวทแยง จนกว่าคุณจะได้ยินเสียงคลิกอันแผ่วเบา จากนั้นก็เสียบ RAM ลงไปตรงๆ จนกว่ามันจะเข้าล็อคพอดิบพอดี เสร็จแล้วก็ไปนอนพักสักหน่อย ให้หัวใจอันระรัวได้ปรับสภาพและเต้นในจังหวะปกติ

เราตัดสินใจเอา MSI 1022B เปรียบเทียบกับโน้ตบุ๊ค Toshiba รุ่นประหยัด Satellite Pro M50 โดยใช้ PCMark 2005 เพื่อดูว่าเครื่องโน้ตบุ๊คที่เราประกอบขึ้นเองจะทำงานได้เป็นอย่างไรบ้างในโลกแห่งความเป็นจริง อย่างที่คุณได้เห็น ความสามารถที่ด้อยกว่าเนื่องด้วยหน่วยประมวลผล Celeron ทำให้ MSI โดดเด่นกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเครื่องโน้ตบุ๊คราคาถูกทั่วไป ปัจจัยสำคัญอีกอย่างก็คือ MSI มีหน่วยความจำสำหรับระบบกราฟิก 128MB แบบแยกเป็นเอกเทศ ไม่ได้หยิบยืมจาก RAM ของระบบ ซึ่งหมายความว่าเครื่องโน้ตบุ๊คของเราสามารถใช้หน่วยความจำทั้ง 512MB ได้เลย ในขณะที่ M50 จำเป็นต้องยืมหน่วยความจำมา 64MB เพื่อป้อนให้ GPU เหลือหน่วยความจำสำหรับใช้จริงเพียง 192MB เท่านั้น คุณไม่สามารถเล่น Oblivion บน MSI ได้หรอก แต่มันก็มีความสามารถทางกราฟิกไม่ใช่น้อยเลย และคุณจะได้ตกตะลึงเมื่อพบว่ามีเกมหลายเกมทีเดียวที่สามารถเล่นบน Pentium M และ GeForce 6200 ได้สบาย

ต้นทุน
บอดี้เครื่องโน้ตบุ๊ค  £370
Pentium M 1.73Ghz £139
ไดรฟ์ DVD Rewriter แบบบาง £50
ฮาร์ดดิสก์ 40GB แบบบาง £47
RAM DDR2 512MB สำหรับโน้ตบุ๊ค  £32
ยอดรวม £638

หนทางการอัพเกรด
มาถึงตรงนี้คุณคงจะพอทราบแล้วว่า การอัพเกรดนั้นสามารถทำได้กับอุปกรณ์ดังนี้ : หน่วยประมวลผล, RAM, ฮาร์ดดิสก์ และ ออปติคอลไดรฟ์ สำหรับหน่วยประมวลผล Pentium M สามารถพุ่งได้ถึง 2.26GHz แต่ด้วยความเร็วที่พุ่งไประดับนั้น การชำระหนี้ตามกฎหมายก็จะมีตัวเลขพุ่งไม่แพ้กัน อาจจะมากกว่า 600 ปอนด์ เราขอแนะนำให้ใช้ตัวที่แรงมากกว่าแต่ก็ยังพอเอื้อมถึง 1.83GHz ด้วยราคาราวๆ 220 ปอนด์ ฮาร์ดดิสก์ 40GB อาจไม่เพียงพอแก่การใช้งาน ดังนั้นลองมองหา 80GB สักตัว ด้วยราคาประมาณ £67 และ RAM ขนาด 1GB ก็สามารถหาซื้อได้ด้วยราคา 65 ปอนด์ ทั้งหมดนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเครื่องของคุณมากมาย ถ้าคุณกำลังคิดว่าจะใช้ไดรฟ์ DVD Writer แบบ Dual Layer ด้วยราคา 70 ปอนด์ หาใช่ 50 ปอนด์ ที่เราใช้อยู่ ก็ถือว่าพอทำเนา ไม่น่าเป็นห่วงอะไร ทางเลือกคือสิ่งที่คุณต้องเผชิญ ดังนั้น ตัดสินใจว่าอุปกรณ์ชนิดใดที่คุณต้องการใช้งานเป็นพิเศษหรือต้องการความสามารถเพิ่มเติมจริงๆ แล้วก็เอาน้ำพักน้ำแรงของคุณไปหยอดใส่ซะ

อย่าถลุงเงินทั้งหมดไปกับ CPU รุ่นสูงสุด แค่ความเร็ว 1.9 GHzก็เพียงพอแล้ว...

คำตัดสิน
การประกอบเครื่องโน้ตบุ๊คใช้เองเป็นคำตอบสำหรับทุกคนหรือเปล่า?

  ในขณะที่เราโปรดปรานการสร้างเครื่องโน้ตบุ๊คด้วยมือของเราเองอยู่ไม่ใช่น้อย แต่เราก็ยังไม่มั่นใจเลยว่ามันจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการซื้อเครื่องโน้ตบุ๊คใหม่จริงๆ เริ่มแรกเลย ถ้าคุณเดินตลาดสักหน่อย คุณจะสามารถหาเครื่องที่มีคุณสมบัติใกล้ๆ นี้ได้ Dell 630m มาพร้อมกับราคาเพียง 599 ปอนด์ และถ้าคุณกำลังมองหาเครื่องที่มีสเป็กต่ำกว่านี้ คุณก็ยังสามารถหาเครื่องที่มีราคาต่ำถึง 350 ปอนด์ได้ไม่ยาก เช่น Maxdata ECO4000A จาก eBuyer

  ที่สำคัญ นอกเหนือไปจากเรื่องของการเปรียบเทียบราคาแล้ว เครื่องทั้งสองนั้นก็ยังมีWindows XP ติดตั้งมาให้พร้อมใช้ในเครื่องเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่เครื่องประกอบเองไม่มีมาให้แน่นอน แต่ Alec ก็ได้ให้สติเราว่า Windows ไม่ใช่ทางเลือกเดียวสักหน่อย การติดตั้ง Linux ลงไปแทนจะช่วยลดต้นทุนระบบปฏิบัติการที่ต้องติดตั้งลงไปให้ต้นทุนรวมสุดท้ายพอทัดเทียมกับรุ่นอื่นในตลาด แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ Windows ยังเป็นสิ่งจำเป็น และต้นทุน 50 ปอนด์ ก็อาจเป็นภาวะทางการเงินที่ก่อให้เกิดความกระอักกระอ่วนกับนักประกอบเครื่องโน้ตบุ๊คก็เป็นได้

  เห็นได้ชัดเจนว่า เครื่องโน้ตบุ๊คที่เราสร้างขึ้นมานั้น ไม่ได้มีสเป็กที่แรงสูงอะไรนัก ซึ่งทำให้เราดูเหมือนว่าจะดื้อรั้นทำไปซะอย่างงั้น แม้จะรู้ว่ามีเครื่องราคาถูกเกลื่อนกลาดในตลาดก็ตาม เราพบว่าสถานการณ์ที่การประกอบเครื่องเองเริ่มเป็นผลก็คือเมื่อคุณต้องการอุปกรณ์ระดับสูง ซึ่งนั่นหมายความว่าคุณจะได้ส่วนต่างและประหยัดต้นทุนมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อซื้อส่วนประกอบเอง

  อย่างไรก็ดี คุณจะไม่พบกับปัญหาใดๆ เลยในขั้นตอนการประกอบเครื่อง มันเป็นขั้นตอนที่ง่ายมากๆ ถ้าคุณมีชุดไขควงหัวเล็กของ Philips กระบวนการทั้งหมดสามารถจะเสร็จสิ้นภายใน 10 นาทีเท่านั้น ในขณะที่แนวคิดการประกอบเครื่องโน้ตบุ๊คขึ้นใช้เองยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่เมื่อราคาอุปกรณ์ต่างๆ ลดต่ำลงกว่านี้ และสล็อตแบบ MXM ได้ก้าวเข้ามาเป็นความนิยมในวงกว้าง เราไม่เห็นเหตุผลอื่นใดเลยที่จะปฏิเสธการประกอบเครื่องโน้ตบุ๊คขึ้นใช้เอง แล้วไปซื้อเครื่องโน้ตบุ๊คสำเร็จรูปในท้องตลาดแทน

 

MSI 1022B โดย PCF

Dell 630m

Toshiba Satellite Pro M50

CPU

Pentium M 1.73GHz

Pentium M 1.73GHz

Celeron 1.4GHz

กราฟิก

Geforce 6200 Go

Intel integrated graphics

ATI XPRESS 200M

RAM

512MB

512MB

256MB (64MB ถูกแบ่งไปใช้โดย GPU)

HDD

40GB

40GB

40GB

ออปติคอลไดรฟ์

DVD-RW

DVD+/-RW

DVD/CD-RW

ราคา

£691 (พร้อม XP)

£599

£469

 

ข้อมูลจาก http://technology.msnth2.com 

 

คำสำคัญ (Tags): #เกล็ดความรู้
หมายเลขบันทึก: 43262เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2006 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท