การปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวก่อนเข้าสู่ฤดูการทำนา


การปรับปรุงคุณภาพดินที่ดีต้องพึ่งพาธรรมชาติใช้วิถีธรรมชาติและให้ธรรมชาติเป็นตัวปรับปรุงดิน

การปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวก่อนเข้าสู่ฤดูการทำนา 

            การรุกคืบของกระแสบริโภคนิยมทำให้ปัจจุบันเราเร่งทำการผลิตข้าวเพื่อจำหน่ายซึ่งแตกต่างจากอดีตที่ทำกินเพียงเพื่อบริโภคในครัวเรือน  การใช้สารเคมีทางการเกษตรก็เพิ่มขึ้นเพื่อหวังผลกำไรของผลผลิต ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในผลิตผลการเกษตรซึ่งเป็นอันตรายโดยตรงและโดยอ้อมต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ผลกระทบยังทำให้สิ่งมีชีวิตในดินถูกทำลาย สะสมสารพิษในดินจนดินเสื่อมสภาพ  ที่นักวิชาการเรียกว่า “ดินตาย” เป็นการก่อความหายนะให้กับดิน การปรับปรุงคุณภาพดินที่ดีต้องพึ่งพาธรรมชาติใช้วิถีธรรมชาติและให้ธรรมชาติเป็นตัวปรับปรุงดิน การปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เกิดความสมดุลมีหลายวิธีการที่จะนำไปใช้หรือปรับเปลี่ยนประยุกต์ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

            การใช้ปุ๋ยคอกและอินทรีย์วัตถุในการปรับปรุงบำรุงดิน

            เป็นทางเลือกระดับต้นๆที่เกษตรกรเลือกใช้ เพราะปุ๋ยคอกเป็นแหล่งธาตุอาหารของพืชที่หาได้ง่ายและราคาถูก เนื่องจากเกษตรกรไทยส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปกับการปลูกข้าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยง โค กระบือ ไก่ เป็ด และสุกร ทำให้ได้มูลสัตว์เป็นจำนวนมาก เมื่อนำมาผ่านกระบวนการหมักแล้ว สามารถนำเอาไปใช้ในพื้นที่แปลงเกษตรกรได้ทันที ในปุ๋ยคอกมีจุลินทรีย์  อินทรีย์วัตถุ วิตามิน และฮอร์โมนพืชบางชนิด แต่เมื่ออินทรียวัตถุถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายแล้ว ทำให้ธาตุอาหารบางส่วนละลายไปกับน้ำและบางส่วนระเหยเป็นก๊าซ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ หรือไนโตรเจนเปลี่ยนอยู่ในรูปก๊าซแอมโมเนียที่มีกลิ่นฉุน เช่น มูลค้างคาว   มูลไก่   เป็นต้น  ในปุ๋ยคอกแต่ละชนิดมีธาตุอาหารพืชไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ เช่น มูลโค จะมีปริมาณ ไนโตรเจนอยู่ประมาณ 1.91 % ฟอสฟอรัส 0.56 % โพแทสเซียม 1.40 %  มูลค้างคาว มีไนโตรเจนอยู่ประมาณ 5.28 % ฟอสฟอรัส 8.42 % โพแทสเซียม 0.58 %   มูลไก่  มีไนโตรเจนประมาณ 3.77 %  ฟอสฟอรัส 1.89 % โพแทสเซียม 1.76 %  เป็นต้น

              การใช้ปุ๋ยคอกมีข้อดี คือ เป็นวัสดุอินทรีย์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีราคาถูก แต่ก็มีข้อเสียคือการนำเอาปุ๋ยคอกไปใส่ให้กับต้นพืชโดยตรงอาจเป็นอันตรายแก่พืชได้ เนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นจากการหมักในดินและแรงดันออสโมติก เกิดจากความเข้มของแร่ธาตุทำให้ต้นพืชสูญเสียน้ำทางราก และเหี่ยวเฉาตายในที่สุด ดังนั้นควรนำปุ๋ยคอกมาหมักให้เกิดการย่อยสลาย และไม่มีความร้อนหลงเหลืออยู่ นอกจากนี้ระหว่างการหมักปุ๋ยคอกความร้อนที่เกิดขึ้นสูงถึง 70 องศาเซลเซียส จะช่วยลดเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคได้  จึงเป็นการลดความเสี่ยงการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตผลการเกษตร การใช้ปุ๋ยคอกและอินทรียวัตถุเพื่อปรับปรุงโครงสร้างดินอาจใช้เป็นจำนวนมากได้ตั้งแต่ 1 – 3 ตันต่อไร่ต่อครั้ง ข้อควรระวังอีกอย่างหนึ่งคือการแพร่ระบาดของวัชพืชต่างที่มากับปุ๋ยคอกและอินทรีย์วัตถุ

               การใช้น้ำหมักชีวภาพฉีดพ่นก่อนไถกลบตอซัง

              ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีทางชีวภาพโดยการนำน้ำหมักชีวภาพที่ได้จากการหมักวัสดุ เศษหอยเชอรี่ ปลา ผักผลไม้หรือเศษอาหารบ้านเรือน โดยกิจกรรมของจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ในการหมักตอซัง กล่าวได้ว่าน้ำหมักชีวภาพมีประโยชน์เป็นสารช่วยในการเจริญเติบโต ช่วยในการกระตุ้นการเจริญและเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ในดิน ทำหน้าที่ย่อยสลายตอซังได้ดี ตอซังอ่อนนุ่ม ย่อยสลายได้ง่ายและไถกลบสะดวกขึ้น  ปัจจุบันมีการเรียกชื่อน้ำหมักชีวภาพที่แตกต่างกันออกไป เช่น น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยน้ำจุลินทรีย์ เป็นต้น และผู้คิดค้นวิธีการทำน้ำหมักชีวภาพขึ้นมาขณะนี้ไม่ต่ำกว่า 100 สูตร ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นและราคาถูก โดยผู้สนใจสามารถทดลองทำ และเรียนรู้นำไปใช้ กับพืชผลของตนเอง

           การไถกลบตอซังหรือการไถหมักตอซัง-ฟางข้าวในนาหลังเก็บเกี่ยว

            หมายถึง การไถกลบตอซังข้าวที่อยู่ในไร่นาภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ลงไปในดินระหว่างการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกขณะที่ดินมีความชื้น และปล่อยทิ้งไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยสลายในดิน ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งของอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืช แล้วจึงปลูกพืชหลักตาม

           วิธีการไถกลบตอซัง

            การไถกลบตอซังในพื้นที่ปลูกข้าว  กรณีการปลูกข้าวเป็นพืชหลักชนิดเดียว ให้ทิ้งฟางข้าวและตอซังข้าวไว้ในแปลงนาเพื่อรักษาผิวหน้าดิน เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ทำการเตรียมดิน พร้อมกับไถกลบตอซัง และฟางข้าว ทิ้งไว้เป็นเวลา 20 วัน เพื่อให้วัสดุตอซังย่อยสลายเสียก่อน จึงปล่อยน้ำเข้าสู่แปลงนาเพื่อเตรียมปลูกข้าวต่อไป  การปลูกพืชไร่หลังนา หรือปลูกพืชหมุนเวียน ทำการไถกลบตอซังและฟางข้าวได้ทันที แล้วจึงปลูกพืชไร่ตามมา และเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชไร่แล้ว ให้ทิ้งตอซังไว้ เมื่อถึงฤดูทำนาจึงไถกลบวัสดุเหล่านี้ ทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน ก่อนจะทำการปลูกข้าวต่อไป

            ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการย่อยสลายวัสดุตอซัง

            ชนิดของวัสดุ  วัสดุที่ย่อยสลายยากได้แก่ ตอซังข้าว หรือฟางข้าวจะใช้ระยะเวลาการย่อยสลายประมาณ 20 วัน สำหรับวัสดุตอซังข้าวโพด และพืชตระกูลถั่ว จะใช้เวลาประมาณ 15 วัน  อุณหภูมิในดินที่มีระดับสูงขึ้น จะมีผลทำให้วัสดุตอซังมีการย่อยสลายได้เร็วขึ้น  ดินที่มีปริมาณความชื้นพอเหมาะ จะทำให้เกิดการย่อยสลายวัสดุได้ดีขึ้น

           ประโยชน์ของการไถกลบตอซัง คือ ช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช  ดินมีความโปร่งร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี และความหนาแน่นของดินลดลงช่วยเพิ่มปริมาณของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน อีกทั้งยังเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ และหมุนเวียนธาตุอาหารพืชคืนสู่ดิน  อินทรียวัตถุ จะดูดซับธาตุอาหารในดิน และปลดปล่อยออกมาอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช และลดความเป็นพิษของเหล็กและแมงกานีสในดิน  ช่วยในการลดระดับความเค็มของดิน  รักษาระดับความเป็นกรดและด่างของดิน ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช  เพิ่มผลผลิตให้กับพืชการไถกลบตอซังในพื้นที่เกษตรกรรมอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ผลผลิตพืชเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่เผาตอซังลดปัญหามลภาวะสภาพแวดล้อมและอุบัติเหตุ

          การใช้ปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน

          ปุ๋ยพืชสดเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ได้จากการไถกลบหรือตัดสับต้นพืชลงในดินขณะที่กำลังมีการออกดอกเพราะมีธาตุอาหารสมบูรณ์และได้น้ำหนักสดมาก หลังจากนั้นปล่อยให้เกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติ ก็จะได้ธาตุอาหารสำหรับพืชที่จะปลูกต่อไป ในการปลูกพืชสำหรับเป็น พืชปุ๋ยสดนิยมพืชตระกูลถั่วมากที่สุดเพราะ ปลูกง่าย โตเร็ว มีราก ใบ ลำต้นมากและมีการสลายตัวเร็ว พืชที่นิยมใช้เป็นปุ๋ยพืชสด ได้แก่ ส่วน ปอเทือง โสนอัฟริกัน โสนไต้หวัน โสนคางคก ถั่วที่ปกคลุมดินช่วยปราบวัชพืช ต้นและใบร่วงเป็นปุ๋ยบำรุงดิน เช่น ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ถั่วลาย ถั่วอัญชัน เป็นต้น

          ในการนำเอาพืชตระกูลถั่วมาเพาะปลูกเป็นพืชปุ๋ยสดมีข้อพิจารณาคือ ลักษณะของดิน ต้องปรับให้เหมาะสม เช่น ถ้าดินเปรี้ยวควรใส่ปูนขาว  ในฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกควรเป็นต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม ก่อนการปลูกพืชหลักประมาณ 3 เดือน หรือปลายฤดูฝน หลังการเก็บเกี่ยวพืชหลัก โดยที่ดินยังมีความชื้นอยู่

           วิธีการปลูกมี 3 วิธี คือการหยอดเป็นหลุม  โรยเมล็ดเป็นแถว   และหว่าน ซึ่งควรไถดะก่อนหว่านเมล็ดแล้วคราดกลบ การใช้ปุ๋ยพืชสดจะเป็นการเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ แร่ธาตุและความอุดมสมบูรณ์แก่ดินในเวลารวดเร็ว

            วิธีการใช้ปุ๋ยพืชสดทำได้ดังนี้

            การตัดสับและไถกลบควรทำในช่วงที่พืชมีธาตุไนโตรเจนและน้ำหนักสดสูงสุดเมื่อเริ่มออกดอกและบานเต็มที่  ในการปลูกพืชปุ๋ยพืชสดในพื้นที่ขนาดใหญ่ใช้วิธีหว่านเมล็ดประมาณ 3 – 4 กิโลกรัมต่อไร่ และไถกลบก่อนปลูกพืชหลัก  ปลูกแซมระหว่างร่องปลูกพืชหลักให้ปลูกเมื่อพืชหลักโตเต็มที่แล้วเพื่อป้องกันการแย่งธาตุอาหาร   กรณีที่เกษตรกรมีพื้นที่ว่างเปล่าตามหัวไร่ปลายนาควรปลูกพืชปุ๋ยพืชสดแล้วตัดเอามาใส่ในแปลงปลูกพืชหลักและไถกลบ

          การผลิตข้าวให้ได้ผลผลิตสูงยังมีปัจจัยอีกหลายด้านที่ต้องนำมาประกอบกัน เช่น  การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีและเหมาะสมกับพื้นที่  เทคนิคในการดูแลรักษา  การป้องกันและกำจัดวัชพืช  การเฝ้าระวัง ป้องกันและกำจัดแมลงและศัตรูข้าว ครับ....

Hosting Thanks: NETHISPEED.COM

หมายเลขบันทึก: 432610เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2011 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เป็นการบำรุงดิน ที่มีประโยชน์ต่อชาวนาโดยตรงครับ ทำได้ก็ได้กับตัวคนทำนาเอง

ขอบคุณ นะครับ

http://gotoknow.org/blog/supersup300/431814?refresh_cache=true

มาส่งเสริมการบำรุงดินด้วยปุ๋ยคอกและอินทรียวัตถุครับ

ขอบคุณทั้งสองท่านที่ร่วมแสดงความคิดเห็น ครับ...

เป็นแนวทางที่ถูกต้องที่เกษตรกรต้องนำปฏิบัติ

ขอบคุณ...คุณรัตน์ ที่ร่วมแสดงความคิดเห็นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท