แมงพลัด..ตัวชี้วัดระบบนิเวศน์


แมลงพลัด.. แมลงพลับ.. แมลงหวัง..ก็เรียก

   

แมลงพลับ แมลงพลัด หรือ แมลงหวัง

  แมงพลับ หรือแมงพลัด  หรือแมงหวัง เป็นภาษาถิ่น ที่ใช้เรียกชื่อแมลงชนิดหนึ่ง เป็นแมงด้วงอยู่ในตระกูล Curculionidae,weevil  ซึ่งมีขา ๖ ขา แต่ชาวบ้านทั่วไปอาจจะเรียกสั้นๆว่า "แมง" (จริงๆแล้วแมงต้องมี ๘ ขา) ตัวขนาดเท่าแมลงกว่าง ลำตัวกลมรี ปีกชั้นนอกแข็งมีหลายสี สีเทา สีขาว ชาวบ้านเรียกแมงพลับชี ปีกสีน้ำตาลเรียก แมงพลับโหนด จนถึงสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีจุดสีขาวขึ้นที่ปลายปีกตัวใหญ่กว่าหัวแม่มือเล็กน้อย หัวเล็ก ตรงหัวมีตา ๒ ตา มีหนวด ๒ เส้น แต่ไม่ยาวมากนัก ต่อจากหัวเป็นหน้าอกและลำตัว มีก้นแหลม ปีกนอกแข็ง ปีกในค่อนข้างอ่อน ตัวคล้ายแมงดานา แต่แมงดานาตัวแบน ส่วนแมงพลัดตัวรีกลมอ้วน

 วงจรชีวิตของแมงพลับ ตัวอ่อนที่ออกจากไข่อาศัยอยู่ใต้ผิวดิน ชาวเรียกว่า "ด้วง" หรือ "หนอนทราย" จนตัวแก่มีปีกจะขึ้นจากดินมาหากินยอดใบไม้อ่อน เช่น ยอดเนียง ยอดหัวครก(มะม่วงหิมพานต์) ยอดมะขาม ยอดมันปู ยอดกำชำ(มะหวด) ซึ่งเป็นยอดไม้ที่แมงพลับชอบ จะกินยอดไม้อยู่ประมาณ ๒ สัปดาห์ จนไข่เจริญเติบโตเต็มที่ ตัวผู้จะผสมพันธุ์แล้วตัวเมียจะตายฝังตัวฝังไข่อ่อนไว้ในดิน ไข่ออกเป็นตัวประมาณ ๒ สัปดาห์ มีรูปลักษณะเป็นตัวหนอนด้วง ลำตัวนิ่มเป็นปล้อง อาศัยอยู่ใต้ดิน กินเศษอินทรีย์ทรากจนแก่ตัวสร้างปีก พอฝนตกดินชื้นก็จะขึ้นจากดิน จะตรงกับช่วงหลังฤดูฝนใบไม้ผลิใบพอดี แมงพลับกัดกินยอดไม้ เช่นยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดมันปู ยอดสะตอ เป็นต้น

 

"หนอนทราย" ที่ถูกไข่ทิ้งไว้ให้เจริญเติบโตใต้ดิน รอวันติดปีกออกหากินหลังฤดูฝน

 แหล่งที่พบ

  แมงพลัด  ชอบอาศัยอยู่ตามต้นไม้ เช่น ต้นมะขาม ต้นมะม่วงหิมพานต์ ในสวนข้างบ้าน ต้นเนียง ต้นมันปู ในสวน..ในควน..ในเขา..ต้นสนแถบริมทะเล สามารถจับได้ทั้งกลางวันและกลางคืน   กลางวันใช้วิธีขึ้นไป เขย่า หรือขย่ม กิ่งไม้(ภาษาใต้เรียกว่า "หม"แมงพลับ) ถ้าเป็นกลางคืน ใช้ไฟล่อ ให้แมงพลัดมาเล่นไฟ   แล้วตกลงพื้นก็เก็บได้ง่าย   หรืออาจจะเขย่าต้นไม้ที่ใกล้แสงไฟให้ตกลงมา แล้วจึงเก็บไปทำอาหารต่อไป ปัจจุบันชาวบ้านทันสมัยขึ้น ที่ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ควนตาสีปาน" ที่เป็นป่าธรรมชาติบนควนเล็กๆ ผสมผสานกับสวนยางที่พันธุ์ไม้อื่น เช่น เนียง กำชำ ฯลฯ อยู่ใกล้ทะเลสาบสงขลาตอนกลาง ทุกปีราวๆเดือนมีนา-เมษายน ชาวบ้านจะนำหลอดไฟฟ้าอุลตร้าที่มีแสงสีม่วง หรือชาวบ้านเรียก "หลอดไฟแมงดา" พร้อมแบเตอร์รี่รถยนต์ขึ้นไปจองพื้นที่เพื่อเปิดไฟสีม่วงล่อแมงดาประมาณ ๒๐-๓๐ จุด/คืน  แต่ละจุดแต่ละเจ้าสามารถเก็บแมงพลับได้คืนละ ๘,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ ตัว วันรุ่งขึ้นมาล่อไฟจับกันใหม่เป็นเช่นนี้อยู่ประมาณ ๑ เดือนกว่าๆจึงหมดฤดูกาลจับแมงพลับของชาวเกาะใหญ่

 

ชาวบ้านตำบลเกาะใหญ่ พร้อมอุปกรณ์ จับจองพื้นที่รอเวลาเปิดไฟดักล่อแมงพลับบนควน "ตาปาน"

  ที่นี่แต่ละปีชาวบ้านจับแมงพลับขายแบบเป็นล่ำเป็นสันประมาณ ๖ ล้านตัวขายสดตัวเป็นๆที่แม่ค้าในถิ่นรับซื้อตัวละ ๕๐ สตางค์ เพื่อนำไปปรุงโดยการผัดน้ำมันยัดไส้ถั่วขายตัวละ ๒ บาท ลองคำนวณดูว่าที่นี่แต่ละปี แมงพลับทำรายได้ให้กับชาวชุมชนปีละเท่าใด นับเป็นแมลงเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ที่ชาวชุมชนต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการเป็นอยู่ของแมงพลับ โดยเฉพาะช่วยกันหันกลับมาใช้วิถีเกษตรอินทรีย์เพื่อพลิกฟื้นคืนชีพให้ผืนดินกันให้มากๆ

แมงพลับที่จับได้ ขังไซ รอขายแม่ค้า

วิธีปรุงเป็นอาหารแบบบ้านบ้าน..โดยทั่วไป แมงพลับสามารถนำไปทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น แมงพลัดยัดไส้ โดยเอาแมงพลัดมาลวกน้ำร้อนให้สุก แกะ ปีก ขา หัว และก้นออก ไส้ใช้เนื้อหมูสับละเอียด หัวผักกาดสับละเอียด น้ำปลา น้ำตาล ผัดแล้วนำไปยัดในตัวแมงพลัด นำไปทอด  นอกจากนี้ อาจนำแมงพลัดไปคั่วเกลือ ผัดกะทิ แกงส้ม หากจับได้มาก ๆ ก็สามารถนำไปจำหน่ายได้แมลงพลับเป็นอาหารของคน แมงพลับมีรสชาติ มัน ชาวบ้านจะเก็บมาคั่วหรือทอด นำมารับประทานเป็นกับข้าว หรือกับแกล้มให้โปรตีนสูง

   

    แม่ค้าแมงพลับ ที่ขายตามตลาดนัด งานวัด งานบุญ บ่อนวัวชน ฯลฯ        แม่ค้าบางคนก็จับมาปรุงเอง บางคนซื้อแมงพลับที่ปรุงสำเร็จมาขายต่อ

 

หมายเลขบันทึก: 432542เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2011 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบคุณเรื่องราว แมงพลัด ตัวชี้วัดที่ดีเยี่ยมค่ะอาจารย์ ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณคุณหนูรี ที่ติดตามอ่านเรื่องราวแบบบ้านบ้าน พยายามเสาะหาเรื่องราว ข้อมูลแบบบ้านบ้าน ของชาวบ้านเรามานำเสนอผ่านเวที..ให้บ่อยๆ มีอะไรจะชี้แนะเชิญนะครับอย่าได้เกรงใจ..ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยน..

บ้านผมที่สิงหนคร ใช้ถั่วลิสงคั่วอัดเข้าทางก้น นำไปผัดกับน้ำผึ้งโหนด (น้ำตาลโตนด) ครับ รับประทานกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อร่อยอย่าบอกใครเชียวครับครู

แมงพลับ จริงๆเรียกให้ถูกต้องแมลงพลับ แถวบกบ้านเรายังมากเพราะมีลักษณะเป็นป่าสันทรายเหมาะที่จะวางไข่ การผัดแมงพลับมีทั้งใช้ถั่วใต้ดินอัดก้น  หรือใช้กากหมู ผัดน้ำผึ้งและใส่กะทินิดหน่อยจะอร่อยแล

แถวบกบ้านครูอิงก็เรียกแมงพลับค่ะ  ตอนเด็ก ๆ ชอบฟาดแมงพลับ  กลางคืนก็โละแมงพลับ สนุกสุด ๆ ค่ะ  ต้มใส่น้ำส้ม หรือต้มเกลือ ก็อร่อยแล้ว พูดแล้วน้ำยายหยัย  แต่สมัยนี้ไม่กล้ากินแมงพลับค่ะ  เค้าบอกว่า ยาฆ่าแมลงเยอะ ไม่ปลอดภัยเหมือนก่อน แต่ครูอิงก็แอบซื้อแมงพลับที่ชาวเกาะใหญ่เอามาขายที่ตลาดนัดค่ะ

ต้องสารภาพว่า ตอนเด็ก ๆ เคยทรมานแมงพลับ ด้วยการเล่นแผลง ๆ โดยเอาแมงพลับเป็นของเล่น เช่น ผูกเชือกแล้ววี ให้มันบินบ้างหละ  จับมันบิดปีกบ้างหละ โอยคิดแล้วบาปจริง ๆ  เลยเรา ขอบพระคุณบันทึกดี ๆ มีสาระ ถูกใจอิงจันทร์อีกแล้วครับท่าน 5555555555+

 

ขอบคุณที่เข้าเยี่ยมชม ให้กำลังใจชาวบกด้วยกัน จันทวงศ์เป็นตระกูลแถวหลาหลวงทุ่งระโนด ไม่แน่ใจว่ากับพี่'ยูร จันทร์ทวงศ์ อดีต ผอ.สทท. ช่อง ๑๑ หาดใหญ่ รู้จักกันมั่งหรือหม้าย ผมกำลังจะทไความตกลงกับ อบต. เกาะใหญ่ และ ททท. ภาคใต้ เขต ๑ หาดใหญ่ เพื่อจัดกิจกรรมเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้กับชาวเกาะใหญ่ โดยสนับสนุนการปลูกต้นเนียง ต้นนาง ต้นหัวครก ต้นขาม ที่แมงพลับชอบกิน และทำเกษตรอินทรีย์สร้างพื้นที่ให้กับแมงพลับ และจัดการท่องเที่ยวแลแมงพลับเล่นไฟ และเทศกาลกินแมงพลับที่เกาะใหญ่ เพราะที่นี่มีแมงพลับมากจริงๆปีหนึ่งๆ ๕-๖ ล้านตัวที่จับได้ นับว่ามากที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ช่วยกันโหมโรงทางสื่อต่างๆกันต่อไป

สวัสดีค่ะ

  • ในระดับผู้ใหญ่เขาคงรู้จักกันค่ะ สำหรับครูอิงไม่ค่อยได้อยู่บ้าน เพราะมารับราชการอยู่ที่ประจวบฯตั้งแต่ปี 30 อีกประการหนึ่งครอบครัวครูอิงชาวนาเต็มขั้น  จึงไม่ค่อยได้ข้องแวะกับญาติ ๆ ทางในเมืองสักเท่าไหร่ค่ะ เป็นคนสทิงพระค่ะ
  • สนับสนุนความคิดของครูฑูรย์ เต็มที่ค่ะ การปลูกพืชเหล่านี้ นอกจากเป็นที่อยู่ของแมงพลับแล้ว  ยังได้ผลผลิตอีกกองเบ้อเร่อ   แค่ต้นหัวครก นั่นก็รายได้อย่างงาม ที่บ้านครูอิงปลูกต้นหัวครกไว้ริมรั้ว หมั่นตัดกิ่ง ให้มันแตกใบอ่อน  เก็บยอดหัวครกขายได้ด้วยค่ะ เม็ดหัวครกแพงมาก ซื้อกินโลละ 200 พูดแล้วอยากกิน เม็ดหัวครกหลาน้ำผึ้ง ที่ใส่บนใบปอ หน่ะค่ะ
  • เมื่อไหร่มีงานแมงพลับเล่นไฟ เอามาแจ้งในบล็อกบ้างนะคะ เผื่อตรงกับช่วงที่กลับบ้านพอดี จะได้ไปเที่ยวค่ะ น่าจะตรงกับช่วงปิดเทอม

แมงพลับขึ้น แมงพลับไข่ส่วนใหญ่เป็นช่วงปลายเดือนมีนา - เมษา หลังฝนพะเต็มที่แล้ว แต่ปีนี้แมงพลับขึ้นน้อยกว่าปีก่อนๆ ปรกติช่วงวันงานคัดเลือกทหารแถวบก อำเภอ'ทิ้ง โนด กระแสสินธ์ หาแมงพลับกินยากมากอาจเป็นเพราะธรรมชาติเปลี่ยนไป น้ำท่วมสองหน โยะเข้าอย่างรุนแรง

ฐิติพงศ์ แก้วพิบูลย์

แถวนาหม่อมเมื่อประมาณ ปี 2550 เยอะ หาได้เต็มถัง ต่อ คืนเลยครับ
แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีเลยครับ กลัวจะสุญพันธุ์หมดแล้ว เพราะคนกินเยอะเกิน และตัดต้นไม้ ปลูกสวนยางกันหมด

อีกเมนูสำหรับแมงพรับคือแมงพลับผัดเผ็ด-ลวกแมงพลับดึงปีกดึงขาดึงขี้ออก-ถอดในน้ำมันจนสุกกรอบพักไว้-นำเครื่องแกงผัดเผ็ดลงผัดในน้ำมันจนสุกใส่แมงพลับเติมเครื่องปรุงตามชอบ เป็นกับข้าวก็ได้เป็นกับแกล้มก็ดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท