แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

คอร์สวินยาสะของพี่เละ by บี รุ่น 2/09



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ


คอร์สวินยาสะของพี่เละ

บี รุ่น 2/09 ; รายงาน
คอลัมน์ ; จดหมายจากเพื่อนครู
โยคะสารัตถะ ธันวาคม ๒๕๕๒

 

สวัสดีค่ะ พี่เละ

วันนี้ได้อ่านทบทวนการแลกเปลี่ยนที่จดในคอร์สวินยาสะที่เรียนกับพี่ โอ้โห! เนื้อหาอัดแน่นไปด้วยความรู้ ลองนึกๆ ย้อนกลับไปตั้งแต่เดือน ก.ย.แล้ว เป็นคอร์สที่สนุกมากเลยค่ะ ต้องขอขอบคุณพี่มากๆ ที่เปิดโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพวกเรา สำหรับแบบสอบถามที่ส่งมาก่อนเรียนนั้น บีคิดว่าสิ่งที่ตัวเองได้รับจากการเรียนคอร์สนี้ตอบโจทย์ที่ต้องการได้ทุกข้อเลย รู้สึกดีใจที่ตัดสินใจมาเรียน ไม่น่าเชื่อตัวเองว่าที่ผ่านมาต้องลางานหลายที่เพราะวันจันทร์ทำงานที่เสาชิงช้า วันพฤหัสทำงานแถวพุทธมณฑลสาย 4 โชคดีที่ทำงานทั้ง 2 แห่งนี้ เปิดโอกาสให้ลางานได้ (และแอบบอกว่า เรียนเสร็จอย่าลืมมาสอนนะ)

ขอสารภาพว่าแว่บแรกที่ตัดสินใจตอนน้องกลอยโทรมา "ที่ลงชื่อเรียนไว้จะเริ่มแล้วนะคะ" แอบคิดในใจว่า (ขอใช้คำไม่สุภาพนะคะ) "เอา (วะ) ท่าทางคอร์สนี้จะเป็นของหายาก เรียนกับ อ.ธีรเดช ท่าทางคิวจะยาว ถ้าไม่เรียนคราวนี้ก็ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้เรียนกับอาจารย์อีก เรียนก็เรียน (วะ)" ไม่น่าเชื่อเลยว่าชีวิตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง ใน 2 เดือนนี้สิ่งที่ได้รับจากการเรียน มีทั้งความรู้เรื่องอาสนะและโยคะ ที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์และความรู้ของพี่เละ (ขออนุญาตเล่า-เยอะหน่อยนะคะ)

อันดับแรก ตั้งแต่มาเรียนบีตื่นเช้าขึ้นและสามารถฝึกอาสนะทุกวัน รู้สึกได้จริงๆ นะคะดังในหนังสือที่เขียนว่า "อาสนะช่วยให้เราบ่มเพาะความอดทนในร่างกายและจิตใจ เพื่อให้เราสามารถแบกรับความเครียดและความกดดันได้ง่ายขึ้น"

บีขอเปลี่ยนชื่อเป็นกี้ (ไอเยนกี้) แล้วกันนะ รู้สึกนะคะว่าประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น มีความสุขกับชีวิตและการทำงานมากขึ้น (แม้ว่าจะยังขี้เกียจอยู่) รู้สึกเลยว่าอยากฝึกอาสนะ เพราะถ้าได้ฝึกแล้วช่วงที่เหลือของวันจะดีไปตลอด ด้านวิปัสสนารู้สึกว่า สติเกิดบ่อยขึ้นแม้จะยังเผลออยู่ แเต่ก็ไม่นาน แต่ก่อนก็ทำๆ หยุดๆ ยังไม่ค่อยเข้าใจธรรมะ เพราะไม่เคยมีคำว่าธรรมดาสักที จนมาเรียนกับสถาบันฯ ครั้งแรก เสียงพี่หมูกับครูดลยังก้องอยู่ในหัวบ่อยๆ "รู้จักร่างกายของเราอย่างลึกซึ้ง" ได้มาเรียนกับพี่เละแล้วอ่านหนังสือประทีปแห่งชีวิต ก็รู้สึกว่าชอบรู้กายจากการดูกายานุปัสสนามากขึ้น ได้แรงบันดาลใจจากพี่แตนที่ฝึกอาสนะกลางแจ้งตอนเช้า จากที่เคยฝึกแต่ในห้องนอนแค่เปิดประตูออกมาตรงระเบียงแล้วไหว้พระอาทิตย์รับแสงตะวัน แล้วฝึกอาสนะต่อ เวลานอนพักแล้วแหงนหน้ามองฟ้าที่ฟ๊า....ฟ้า (ขอใช้สำนวนพี่แตนค่ะ) รู้สึกเลยว่า ทุกๆ วันเนี่ยคือวันหยุด holiday เลยค่ะ

อันดับที่สองนะคะ ตอนที่เรียนครั้ง-สองครั้งแรกที่พี่พูดถึงท่าปัศจิโมตตานาสนะซึ่งพี่บอกว่าช่วยทำให้ไฟธาตุสมดุลและลดหน้าท้อง กลับบ้านไปบีเน้นฝึกท่านี้ที่สุดเลย ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเกือบๆ 2 เดือน รู้สึกว่าความอยากในการทานอาหารลดลง จากที่ปกติเป็นคนกินข้าวเยอะ ลดเหลือแค่ 1/2 หรือ1/3 ของปริมาณที่กินในทุกมื้อ แม้จะหิวบ่อยเหมือนเดิมแต่ก็กินน้อยแล้วอิ่มโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม จนรู้สึกแปลกใจตัวเองเหมือนกัน (แต่ก็แอบคิดว่าสงสัยไฟธาตุของเราจะเริ่มสมดุลแล้วเลยทำให้กินน้อยลง) น้ำหนักลดลงนิดหน่อย เสื้อผ้าหลวมขึ้น (กำลังจะผอมแน่ๆ เลย) ขาที่สั่นๆ ช่วงที่ฝึกก็สั่นน้อยลงจนเหลือแค่ความรู้สึกว่ามีกล้ามเนื้อขาบางมัดสั่นๆ แต่พอมองแล้วไม่เห็นสั่นเหมือนแต่ก่อน แค่รู้สึกได้เท่า นั้นเอง

และลำดับสุดท้าย สิ่งที่สำคัญได้ทบทวนถามตัวเองถึงคำว่า "ชีวิตที่ลงตัว" การได้รู้จักตัวเองในอีกมุมหนึ่งซึ่งเป็นมุมที่เราเคยมองข้ามไป ได้เห็นหลุมและช่องโหว่ในใจของตัวเอง จวบจนได้มาอ่านหนังสือที่พิเศษสุดๆ อย่างประทีปแห่งชีวิต (สาธุผู้แปลอีกครั้งนะคะ)

นอกจากสิ่งเหล่านี้บีตั้งข้อสังเกตว่า พี่เละได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งสติลงไปในใจของทุกคน บางคำพูดเช่น เค้าไม่สนใจวิชาการก็ไม่ได้แปลว่าเค้าด้อยกว่า, การที่มาฝึกเพราะต้องการลดความอ้วน เราก็ไม่ควรดูแคลนเค้า ฯลฯ หลายถ้อยคำที่พี่เละพูด เหมือนกระจกสะท้อนให้หยุดคิด และทบทวนตนเอง

ส่วนไฟล์ไดอารี่ diary ของพี่เละนั้นบีอ่านจบนานแล้ว เพิ่งมาจัดและจัดเก็บเนื้อหาแยกเป็นหมวดๆ เช่น ประเภทของการฝึก สาเหตุของการเกิดโรคฯลฯ แต่มีอยู่บทนึงที่สะดุดใจมากและว่าจะขอบคุณพี่นานแล้วค่ะ คือที่พี่เขียนว่า

" สมัยที่ไปอยู่กับครูใหม่ๆ นั้น ตัวเองไม่มีความรู้อะไร พกพาแต่หัวใจที่มุ่งมั่น ๑ ดวงเต็มๆ กับความรักชอบในการทำอาหารที่ได้จากแม่ซึ่งเคยทำอาชีพขายอาหาร ทำให้เรารักชอบในเรื่องการปรุงยาไปด้วย หลายครั้งหลายคราวตอนที่อยู่อินเดีย พี่มักนึกภูมิใจที่เป็นลูกของแม่ แม้ว่าสมัยเด็กๆ เราจะเคยเคียดขึ้นในยามที่แม่ทั้งขอร้องทั้งเคี่ยวเข็ญและลงไม้ลงมือบ้างเพื่อที่จะให้เราช่วยแม่ล้างจาน ส่งอาหาร ฯลฯ มานึกๆ ดูแล้ว หากไม่มีประสบการณ์เหล่านี้ในวัยเด็ก เราอาจเป็นคนหนักไม่เอาเบาไม่สู้ ซึ่งก็คงทำให้เราไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ นึกถึงแม่เช่นนี้คราวใดมักเต็มตื้นในหัวใจทุกทีเลย"

อ่านแล้วนึกถึงตัวเองตอนเด็กๆ แม่บีก็ทำอาหารและขนมขายเหมือนกัน นึกถึงภาพตัวเองพยายามร้องดังๆ แกมร้องไห้ตอนกวนแยมสัปปะรดเพื่อให้แม่ได้ยินว่า มันกระเด็นๆ เจ็บๆ ร้อนๆ เผื่อแม่จะได้ให้เลิกทำ แต่ก็ไม่เกิดผล (เพราะแม่ทำอย่างอื่นอยู่) ก็ต้องกวนไปจนเสร็จ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้บีลืมไปแล้ว พอมาอ่านที่พี่เขียนว่า พี่มักนึกภูมิใจที่เป็นลูกของแม่ แม้ว่าสมัยเด็กๆ เราจะเคยเคียดขึ้งในยามที่แม่ทั้งขอร้องทั้งเคี่ยวเข็ญและลงไม้ลงมือบ้างเพื่อที่จะให้เราช่วย ทำเอาบีอึ้ง...ง + น้ำตาซึมไปเลย จริงๆ แล้วถ้าไม่ได้แม่และหากไม่มีประสบการณ์เหล่านี้ในวัยเด็ก บีก็อาจเป็นคนหนักไม่เอาเบาไม่สู้ คงไม่มีความอดทนในหลายๆ อย่างวันนี้ค่ะ ที่มีวันนี้ได้ก็เพราะแม่ทั้งนั้น ขอบคุณมากค่ะที่ข้อความดีๆในไดอารี่ของพี่เละทำให้รู้สึกตัว ก็รู้นะคะว่าตัวเองเป็นคนตั้งใจทำงาน อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก (ลูกพ่อค่ะ- คำขวัญตำรวจ) แต่เกือบเป็นลูกอกตัญญูต่อแม่ซะแล้ว ลืมนึกไปว่าสิ่งเหล่านี้ แม่นั่นเองที่ปลูกฝังให้มา พอนึกขึ้นมาอย่างนี้แล้วมันรู้สึกเต็มตื้นในหัวใจขึ้นมาทันที (ขออนุญาตยืมคำพูดพี่ค่ะ)

แอบขอให้มีคอร์สวินยาสะต่อไปเรื่อยๆ นะคะ (รุ่นพวกบีขอต่อเป็น 2.5 อีกได้มั๊ยคะ) นอกจากความเข้าใจอาสนะแล้ว ลูกศิษย์ของพี่เละก็เกิดการผลิบานทางความคิดและเริ่มเข้าใจหนทางที่จะดูแลร่างกายเพื่อเป็นพาหนะสำหรับเดินทางสู่ความพ้นทุกข์ขึ้นมาบ้าง แม้ว่าจะยังเป็นแค่ภาพรางๆ อยู่ก็ตาม ขอให้บุญกุศลที่พี่ทำเป็นปัจจัยในการเดินทางสู่จุดหมายของพี่เช่นกันค่ะ

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

บี รุ่น 2/09

ปล. ถ้าพี่เละเห็นว่าจดหมายนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ก็ส่งเวียนต่อได้เลยค่ะ ตามแต่ที่พี่เละเห็นสมควรค่ะ 


    
มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขต บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์ 02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 432401เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2011 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท