พี่หญิง: พูดไม่ได้ แล้วไง..


ผมได้รับปรึกษาให้ไปดูคนไข้ผู้หญิงคนหนึ่งที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลมาหลายสัปดาห์ ผมขอเรียกคนไข้คนนี้ว่า..พี่หญิง

พี่หญิงอายุ ๕๕ ปี เป็นมะเร็งปอดระยะลุกลาม ผ่านการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือคีโมมาหลายขนานเกือบ ๒ ปี ช่วงนี้อาการทรุดหนักเนื่องจากโรคลุกลามไปหลายแห่ง มีอาการท้องมาน น้ำเต็มช่องท้องแน่นอึดอัด และปวดหลังมากจนนอนไม่หลับ นอกจากนั้นยังมีโรคแทรก คือ อัมพาตแขนขาซ้ายจากเส้นเลือดอุดตันในสมองด้วย

พี่หญิงมีสายยางให้อาหารทางจมูก มีสายออกซิเจนในจมูก และมีสายน้ำเกลือที่แขนขวา ซึ่งถูกเชือกผูกติดไว้กับราวกั้นเตียง

"ถ้าไม่ผูกไว้ หญิงเขาจะเอามือมาดึงสายออก" พี่สาวของคนไข้อธิบายสาเหตุที่น้องสาวของตนเองต้องถูกผูกแขนไว้

"เจ็บตรงไหนมั้ยครับ" คือ คำถามแรกที่ผมก้มลงไปถามคนไข้

มีแต่เสียงครางอืออาในลำคอเล็ดลอดออกมาให้ผม คุณพยาบาลและพี่ๆน้องๆของคนไข้ได้ยิน

"หญิงเขาพูดไม่ได้ บอกอะไรก็ไม่ได้" หนึ่งในพี่น้องคนไข้บอกผม

ผมลองใหม่ คราวนี้เปลี่ยนเป็นถามนำ เริ่มจากชี้ไปที่ตรงจมูก แล้วถามว่า "เจ็บตรงนี้มั้ย ถ้าเจ็บก็พยักหน้านะ"  พวกเราต่างก็รอลุ้นว่าคนไข้จะสื่อสารกับเราได้หรือไม่ เพราะคิดว่า การพยักหน้าน่าจะง่ายกว่าพูดออกมาเป็นคำๆ

แต่สุดท้าย คนไข้ก็ได้แต่ครางอืออา มองไม่ออกว่าพยักหน้าหรือส่ายหน้า คิ้วขมวดจนหน้าผากย่น

ผมใช้มือกุมมือขวาคนไข้ที่ถูกมัดไว้ ..ท่ามาตรฐาน palliative care ที่มีคนชอบค่อนแคะ ปรากฏว่าคนไข้บีบมือผมแน่น แล้วพยายามดึงมือผมกดลงต่ำ

ผมตัดสินใจปลดสายรัดแขนของคนไข้ออก แล้วบอกทุกคนว่า ขอปลดชั่วคราว เพราะผมกุมมือคนไข้ไว้ ยังไงมือผมก็ไวกว่าคนไข้แน่ๆ ถ้าจะกระตุกขึ้นไปถอดสายยาง ผมห้ามทันแน่นอน

พอมือข้างนั้นเป็นอิสระ พี่หญิงก็กำมือผมแน่นแล้วฉุดมันลงไปที่ต้นขาขวาซึ่งบวมฉึ่งและมีหมอนรองพิงกับราวกั้นเตียงไว้

"เจ็บตรงนี้หรือครับ" ผมถามเมื่อมือของเราสองคนกุมกันไปถึงน่องของพี่หญิง

พี่หญิงพยักหน้าทันที ชัดเจน ไม่มีข้อสงสัย

เรารับรู้ได้ว่าคนไข้เจ็บต้นขาที่พิงกับราวกั้นเตียง จึงช่วยกันขยับหมอนมารองแล้วเปลี่ยนอิริยาบทให้  ระหว่างนั้นผมใช้มือลูบขาของคนไข้เบาๆ จะว่านวดก็ไม่เชิง แต่เป็นสัมผัสเบาๆ แล้วถามคนไข้ว่า "ลูบเบาๆแบบนี้ดีมั้ย"

พี่หญิงพยักหน้าทันทีอีก

เรารับรู้ได้ว่า คนไข้ชอบให้ผมลูบต้นขา ผมก็เลยจัดการสนองให้ในระหว่างที่คุยกันไปเรื่อยๆ ช่วงไหนที่ผมเผลอคุยเพลินแล้วไม่ลูบ คนไข้จะกุมมือผมกดต่ำลงไป เป็นสัญญาณว่าให้ลูบต่อ

ผมเลยพูดกับพี่ๆน้องๆของคนไข้ว่า ถ้าเรานั่งอยู่ใกล้ๆแล้วกุมมือคนไข้ไว้ คอยลูบขาเขาเป็นข่วงๆ ก็น่าจะดี

หนึ่งในพี่น้องคนไข้เห็นด้วยทันที บอกว่า คนไข้เคยบอกไว้ว่ากลัวอยู่คนเดียว ซึ่งถ้ามีคนคอยลูบคอยแตะตัว น่าจะเป็นสัญญาณว่ามีคนอยู่ด้วยใกล้ๆตลอดเวลา

ระหว่างที่เราคุยกันนั้น พี่หญิงแอบเอามือไปแตะๆตรงสายให้อาหารที่จมูกบ่อยครั้ง พอเราพูดดักคอไว้ มือนั้นก็ชะงัก ผมก็ถามว่า "พี่เจ็บจมูกใช่มั้ย"

คราวนี้พี่หญิงก็พยักหน้าชัดๆอีก

ผมจึงได้โอกาสเริ่มเปิดประเด็นเรื่อง คามจำเป็นที่ต้องใส่สายยางให้อาหาร ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า มีประโยชน์เรื่องการให้สารอาหารกับคนไข้ในภาวะใกล้เสียชีวิตอย่างนี้น้อยมาก ยกเว้นว่าคนไข้ชอบ ซึ่งก็ไม่ใช่พี่หญิงคนนี้ ความจำเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือ ยังมียาชนิดรับประทาน เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ที่ต้องใช้วิธีเทผ่านสายยาง ส่วนยาระงับปวดและเหนื่อยซึ่งเป็นยาบรรเทาอาการหลักๆก็เป็นยาในรูปฉีดอยู่แล้ว ผมจึงเริ่มเปิดอีกประเด็นว่า ยารับประทานกลุ่มนั้นต้องทบทวนแล้วว่า ยังจำเป็นต้องให้อีกหรือไม่ เมื่อคนไข้มาถึงจุดนี้

ระหว่างนั้น พี่หญิงก็เอามือยกสูงขึ้นไปจับหมอนที่รองต้นคอตัวเอง ท่าแบบนั้น ใครเห็นก็รู้ว่า คนไข้กำลังเมื่อยหลังกับต้นคอที่นอนอยู่แบบนั้นมานาน เราก็เลยช่วยกันขยับจับท่าให้คนไข้

ตลอดช่วงเวลาที่มือข้างนั้นเป็นอิสระ พี่หญิงสื่อสารกับเราได้เป็นอย่างดีว่าสิ่งใดชอบ สิ่งใดไม่ชอบและไม่สุขสบาย

ครับ..พี่หญิงสื่อสารกับเราด้วยมือและแขนข้างนั้น อวัยวะเดียวที่ยังสื่อสารกับผู้อื่นได้ดั่งใจ แต่เสียดาย มันถูกพันธนาการเอาไว้อย่างแน่นหนา แล้วเราเองก็ไปคิดเหมาเอาว่า พี่หญิงพูดไม่ได้ พี่หญิงสื่อสารไม่ได้

หมายเลขบันทึก: 432282เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2011 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

สวัสดีค่ะ

อ่านช่วงแรกอึดอัดแทน "พี่หญิง"มากค่ะ และขอบคุณคุณหมอค่ะที่เข้าใจและได้ช่วยเธอในที่สุด นี่คือการรักษาคนไข้ด้วยจิตใจที่เข้าใจและเข้าถึง เป็นแบบของหมอที่ทุกคนต้องการค่ะ :)

Ico48

  • ขอบคุณครับ
  • แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นกฏเกณฑ์ตายตัว ว่า ห้ามผูกมัดคนไข้เลย
  • ลองวาดภาพคนไข้ที่ไม่มีญาติอยู่ดูแลสักคนเดียว หมอพยาบาลก็งานล้นมือ บางสถานการณ์เราก็จำเป็นต้องทำ ถ้าการปล่อยมือเป็นอิสระนั้น ทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีครับ

สวัสดีค่ะ

คุณหญิงคงมีความรู้สึกทุกข์ทรมานมากนะคะที่เจ็บก็บอกใครไม่ได้ เพราะพูดไม่ได้  แต่ก็เพราะความจำเป็นในการรักษาประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่ง

ขอเป็นกำลังใจคุณหมอค่ะ

โชคดีของคนไข้ที่มาเจออาจารย์

ธรรมะจัดสรร ค่ะ

Ico48

  • พี่หญิงสอนให้ผมรู้ว่า ถ้าเราตั้งใจใส่ใจ เราจะสื่อสารกันได้ ไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง แน่นอนครับ มันต้องลองผิดลองถูกกันหลายยก

Ico48

  • ยังบอกอะไรไม่ได้หรอกครับ เพิ่งเจอกกันวันแรกเอง
  • ไม่รู้เป็นโชคของใครกันแน่ ของคนไข้ หรือ ของผม

มากราบ คารวะ ขอบพระคุณครับ

Ico48

  • ผมควรเป็นฝ่าคารวะ พี่ JJ มากกว่านะครับที่มาถ่ายทอดความรู้ถึงบ้าน
  • ขอบพระคุณพี่มากครับ

ชอบ "ท่ามาตรฐาน palliative care อะ" หึ หึ

Ico48

  • เหอ..เหอ.. กำลังกลุ้มใจอยู่ กลัวมีคนเอาไปเปรียบเทียบกับ เวลาเดินเข้า 7-11 แล้วได้ยินคำว่า สวัสดีครับ

นึกถึงตอนสมัยเป็น Extern คนไข้ในวอร์ดชอบดึงสาย NG
ตอนนั้น..คิดว่าการแก้ปัญหาคือผูกมือไว้

เรื่องของอาจารย์ทำให้นึก
ถ้าตอนนั้น ฉุกคิดว่า..การใส่ NG คุ้มกับที่ต้องพันธนาการคนไข้หรือไม่ ?

Ico48

  • ต้องตอบว่า มันขึ้นกับว่า..สถานการณ์เป็นอย่างไร
  • สิ่งที่ผมไม่ชอบ คือ แนวทางตายตัว ที่ชอบกำหนดว่า ห้ามทำโน่น ห้ามทำนี่ โดยไม่ดูสถานการณ์
  • ถ้า ไม่มีญาติเฝ้าเลย พยาบาลงานยุ่ง แล้วไม่ผูกไว้ ผมก็ยังคิดไม่ออกว่า จะทำยังไง กับความเสี่ยงเรื่องการดึงสาย ถอดน้ำเกลือซึ่งแทงยาก
  • แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูด้วยว่า สาย NG และบรรดาน้ำเกลือที่เรากลัวจะถูกดึงนั้นมันสำคัญแค่ไหน จำเป็นต้องใส่จริงมั้ย เช่น เปลี่ยมาใช้การฉีดแบบ subcutaneous แทนได้มั้ย เป็นต้น
  • คิดถึงปัทมามากเลย เมื่อไรจะกลับเมืองไทยครับ

มาหาความจริงของชีวิตนะครับ

เป็นเช่นนี้เหมือนกันทุกคน

โฮ้..จริงด้วย ผมก็ใช้ท่านี้บ่อยนะครับอาจารย์

คนไข้ยังต้อง admit อีกนานเท่าไหร่ครับ..NG นั้นสำคัญมากไหมครับ คนไข้กินเองไม่ได้เพราะอะไรเอ่ย?

Ico48

  • ผมก็ยังเชื่อว่า เราก็ยังน่าจะทำอะไรให้มันดีกว่านี้ได้ นะครับ

Ico48

  • เรื่อง NG ผมว่า มันคงได้ประโยชน์ไม่ได้มากนัก จึงคุยกับญาติไปแล้ว กำลังรอการตัดสินใจว่าจะถอดหรือเปล่า
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท