การช่วยเหลือทางกฏหมายแก่ผู้ต้องขัง


การช่วยเหลือทางกฏหมายแก่ผู้ต้องขัง

นัทธี จิตสว่าง

เราแน่ใจได้เพียงใดว่าบุคคลที่ถูกฟ้องร้องในคดีอาญาในศาลจะได้รับความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงความรู้ด้านกฎหมายที่จะใช้เป็นข้อต่อสู้ตามข้อกล่าวหา คำเปรียบเปรยของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งต่อสาธารณะว่านักโทษร้อยละ20 อาจจะเป็นการติดคุกฟรี นับเป็นคำวิจารณ์ที่ชี้ให้เห็นทัศนะต่อความไม่สมบูรณ์ของระบบในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการไม่สามารถเข้าถึงความรู้ และข้อแนะนำทางกฎหมายที่จะนำไปใช้ในการพิสูจน์ความจริงในศาล โดยมีตัวอย่างจริงๆ ในกรณีของนางทองคำ ครคง ที่ต้องติดคุกฟรีนับปี โดยที่มิได้กระทำผิด แต่เพราะมีชื่อไปพ้องกับผู้กระทำผิดตัวจริง ทำให้ถูกจับกุมไปดำเนินคดีและถูกจำคุกอยู่นับปี รวมทั้งกรณีของนักโทษที่ชื่อ ธวัชชัยของเรือนจำกลางบางขวาง ที่ถูกจำคุกคดีข่มขืนกระทำชำเราหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี และพรากผู้เยาว์ ได้ฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2545 โดยก่อนหน้านั้นได้เขียนจดหมายลาตายทิ้งท้ายประชดกระบวนการยุติธรรมว่า เขาไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด และยังมีอีกหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีของผู้กองคนหนึ่งที่ถูกจับในกรณียัดยาบ้าให้กับเหยื่อหลายราย ทำให้ผู้เสียหายต้องถูกติดคุก โดยไม่ได้กระทำผิด

 

กรณีดังกล่าวข้างต้น เป็นกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ หลายประเทศเช่นกัน ซึ่งมีกรณีของการจำคุกผู้ที่ไม่ได้กระทำผิด (wrongful conviction) เช่น ที่ประเทศออสเตรเลีย มีคดีการจำคุกผู้ที่มิได้กระทำผิดที่เป็นคดีใหญ่ๆ เท่าที่ได้มีการพิสูจน์แล้วถึง 7 คดี ในขณะที่ประเทศแคนาดา มี 13 คดี ญี่ปุ่น 2 คดี เนเธอร์แลนด์ 4 คดี นิวซีแลนด์ 7 คดี นอร์เวย์ 7 คดี สเปน 2 คดี สหราชอาณาจักรมีการบันทึกเรื่องนี้อย่างจริงจังพบว่ามีถึง 31 คดี และสหรัฐอเมริกา ถึง 14 คดีนับตั้งแต่ปีค.ศ. 1961

กรณีต่างๆ เหล่านี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมยังมีช่องว่างในการอำนวยความยุติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้าถึงความรู้ด้านกฎหมาย และการต่อสู้ในระหว่างการพิจารณาคดีของผู้ต้องขังที่เป็นคนยากจน ไม่มีความรู้ หรือไม่สามารถที่จะจ้างทนายหรือผู้รู้ผู้ชำนาญทางกฎหมายมาต่อสู้คดีให้ได้

ปัญหาสำหรับผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นหากต้องมาถูกจองจำในเรือนจำ เพราะการถูกคุมขังจำกัดเสรีภาพจะทำให้การเข้าถึงกฎหมาย ถูกจำกัดไปอีกระดับหนึ่ง ทำให้การศึกษาหาความรู้ทางกฎหมาย การปรึกษาผู้รู้ทางกฎหมาย ตลอดจนการจัดหาทนายความ ถูกจำกัดมากกว่าบุคคลโดยทั่วไป ที่สำคัญปัญหาทางกฎหมายของบุคคลที่ถูกจำคุกเหล่านี้ ไม่ได้มีแต่เพียงปัญหาทางคดีเท่านั้น ยังมีปัญหาข้อกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ทั้งเป็นปัญหาของครอบครัว ปัญหาทางแพ่ง ตลอดจนปัญหาสิทธิของผู้ต้องขังและการปฏิบัติระเบียบกฎเกณฑ์ภายในเรือนจำ นอกจากนี้ พิจารณาในแง่ของความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแล้ว โดยเฉพาะการจัดหาเอกสาร หรือให้คำแนะนำข้อกฎหมายต่างๆ รวมทั้งจัดให้ผู้ต้องขังได้พบทนายหรือทนายผู้ช่วยรวบรวมข้อมูลจากการค้นคว้าทางกฎหมาย หรือแบบฟอร์มกฎหมายต่างๆ ตามที่ต้องการ ฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย จึงเป็นหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือทางกฎหมายให้ผู้ต้องขังอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ต้องขังที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถกรอกแบบฟอร์มขอรับความช่วยเหลือได้ตามเงื่อนไขที่กรมราชทัณฑ์กำหนด ทั้งนี้ จะต้องผ่านการกลั่นกรองจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อน หากเข้าเกณฑ์แล้วก็จะได้รับบริการช่วยเหลือทางกฎหมายที่ทางเรือนจำจัดให้

สำหรับโครงการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องขังของรัฐมิสซิสซิปปี้ ประเทศสหรัฐฯ มีเป้าหมายในการให้การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องขังทุกคนให้ได้มีโอกาสพบกับทนายหรือผู้ช่วยทนาย หรือข้อมูลทางกฎหมาย โดยในเรือนจำแต่ละแห่งจะมีการจัดตั้งแผนกให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายขึ้น เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถติดต่อศาล ติดต่อขอรับเอกสารทางกฎหมาย และให้คำแนะนำทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม คำแนะนำทางกฎหมายดังกล่าว จะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคดีที่ผู้ต้องขังถูกกล่าวหาเท่านั้น จะไม่รวมถึงกรณีข้อกฎหมายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย โดยในการขอรับความช่วยเหลือผู้ต้องขังต้องยื่นคำร้องผ่านทางเรือนจำเพื่อขอรับบริการ โดยผู้อำนวยการฝ่ายช่วยเหลือกฎหมายชองเรือนจำจะตรวจสอบและจัดหาฎีกาข้อกฎหมายและคำอธิบายที่เกี่ยวข้อง หรือจัดให้พบทนายแล้วแต่กรณี

ส่วนในรัฐแมรี่แลนด์ การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายสำหรับผู้ต้องขัง มีหลายฝ่ายโดยผู้ต้องขังสามารถที่จะขอความช่วยเหลือได้จากทนาย เสมียนศาล สมาคมช่วยเหลือทางกฎหมายสำหรับผู้ต้องขัง จากเจ้าหน้าที่ห้องสมุด เพื่อขอข้อมูลทางกฎหมาย และสามารถขอรับความช่วยเหลือจากเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันเองที่มีความรู้ทางกฎหมาย ทั้งนี้ โดยกรมราชทัณฑ์ของรัฐแมรี่แลนด์จะจัดให้มีฝ่ายบริการแนะนำทางกฎหมายให้แก่ผู้ต้องขัง โดยจัดขึ้นในเรือนจำต่างๆ ซึ่งผู้ต้องขังสามารถขอรับบริการความช่วยเหลือได้ ในกรณีที่ผู้ต้องขังไม่สามารถหาทนายมาต่อสู้คดีได้ อาจร้องขอต่อศาล ซึ่งศาลอาจส่งให้ทนายอาสามาช่วยในคดีดังกล่าวหากเข้าเกณฑ์ที่กำหนด

รูปแบบการให้การช่วยเหลือทางกฎหมายในเรือนจำ

การให้บริการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำอาจทำได้หลายรูปแบบหลายระดับ ขึ้นอยู่กับประเภทของเรือนจำที่ผู้ต้องขังถูกคุมขังอยู่ และกฎหมายของประเทศต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้รับการช่วยเหลือหรือเข้าถึงกฎหมายได้มากน้อยเพียงใด

ในสหรัฐอเมริกา การให้การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องขังถือเป็นสิทธิของผู้ต้องขังที่จะพึงได้โดยตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงมีรูปแบบในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องขังจึงมีหลากหลาย

ก.      การพบทนาย

การอนุญาตให้ผู้ต้องขังพบทนายความ เพื่อปรึกษาคดีที่ถูกฟ้องร้องอยู่ในศาลถือเป็นสิทธิของผู้ต้องขัง ที่เรือนจำต้องเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้พบทนายได้ในห้องพิเศษแยกจากห้องเยี่ยมญาติโดยทั่วไป เพื่อให้ทนายและผู้ต้องขังได้ปรึกษาหารือในเรื่องคดีได้อย่างสะดวก ไม่ถูกรบกวนจากเสียงของญาติอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีผู้ต้องขังจำนวนมากไม่มีโอกาสได้จ้างทนาย หรือปรึกษาทนาย เนื่องจากไม่มีเงิน หรือผู้ที่จะสามารถติดต่อหาทนายที่ไว้ใจให้ได้ จึงต้องต่อสู้คดีโดยไม่มีทนาย หรือใช้ทนายขอแรง แต่ไม่ว่ากรณีใด การเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้พบทนายถือเป็นบริการที่เรือนจำจะต้องอำนวยความสะดวกจัดให้ผู้ต้องขัง รวมตลอดจนถึงการให้คำแนะนำหรือเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้จัดหาทนายได้โดยสะดวก

 

ข.      การจัดห้องสมุดกฎหมายประจำเรือนจำ

เรือนจำในสหรัฐฯ ทุกแห่งจะต้องจัดให้มีห้องสมุดกฎหมายให้ผู้ต้องขังได้ศึกษา ค้นคว้าข้อกฎหมายเพื่อใช้ในการต่อสู้คดีให้ตนเอง หรือเพื่อนผู้ต้องขัง หรือจะศึกษาเพื่อประกอบความรู้เพิ่มเติม หรือเพื่อเหตุผลใดก็ตาม ดังนั้น จะเห็นว่าผู้ต้องขังในเรือนจำของสหรัฐฯ จะมีโอกาสที่จะเข้าถึงความรู้ด้านกฎหมายได้ง่าย หากสนใจที่จะศึกษาค้นคว้า โดยเฉพาะผู้ต้องขังที่ถูกกล่าวหาทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์จะมีโอกาสที่จะศึกษากฎหมายเพื่อต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ โดยศาลสูงของสหรัฐฯ ได้เคยตัดสินว่าเรือนจำต้องจัดห้องสมุดกฎหมายให้ศึกษาได้ง่าย ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่ในการให้คำแนะนำในการศึกษาค้นคว้าด้วย นอกจากนี้หากเรือนจำไม่สามารถจัดหาหนังสือกฎหมายในห้องสมุดได้อย่างเพียงพอ อาจให้ผู้ต้องขังได้ใช้สิทธิในการเข้าถึงห้องสมุดกฎหมายภายนอกเรือนจำได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องสิทธิการใช้ห้องสมุดกฎหมายนี้ ศาลสูงของสหรัฐฯ ได้วินิจฉัยในคดี Lewis V. Casey ในปีค.ศ. 1996 ลดสิทธิในการเข้าถึงห้องสมุดกฎหมายว่า ผู้ต้องขังจะต้องแสดงถึงความเดือดร้อนที่แท้จริง ที่จำเป็นต้องอาศัยการค้นคว้าข้อกฎหมายมาช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ สภาสูงของสหรัฐ ยังได้ออกกฎหมาย Prison Litigation Reform Act ในการจำกัดสิทธิผู้ต้องขัง ในการเข้าถึงห้องสมุดกฎหมายอีกด้วย

 

ค.      การจัดตั้งผู้ช่วยทนาย

การจัดให้มีโครงการผู้ช่วยทนายเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เรือนจำอาจจัดเป็นบริการให้กับผู้ต้องขังหรือยอมรับให้มีผู้แนะนำกฎหมายสมัครเล่น หรือผู้ที่มิได้เป็นนักกฎหมายอาชีพ มาแนะนำข้อกฎหมายให้กับผู้ต้องขัง ซึ่งในทางปฏิบัติอาจจะเป็นผู้ต้องขังด้วยกันที่มีพื้นฐานทางกฎหมายอยู่บ้าง ซึ่งศาลสูงสหรัฐฯ เคยตัดสินว่าสามารถทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อระเบียบของเรือนจำ นอกจากนี้ อาจเป็นอาสาสมัครจากภายนอกหรือนักศึกษากฎหมาย ในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ มาให้คำปรึกษากฎหมายเบื้องต้น ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหากฎหมายของผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นปัญหาข้อกฏหมายเบื้องต้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องอาศัยนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ แต่เป็นการให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย หรือระเบียบปฏิบัติในเรือนจำ หรือการจัดการทรัพย์สินของครอบครัว เป็นต้น นอกจากการมีผู้ช่วยทนายแล้ว ศาลสูงสุดสหรัฐฯยังเคยมีคำตัดสินในคดี Johnson V. Avery ให้สิทธิผู้ต้องขังที่จะช่วยเหลือแนะนำผู้ต้องขังอื่นในข้อกฎหมายได้

 

ง.       โครงการช่วยเหลือทางกฎหมาย

ในบางเรือนจำของสหรัฐฯ จะมีโครงการช่วยเหลือทางกฎหมายสำหรับผู้ต้องขัง โดยจัดตั้งเป็นกองทุนที่จะให้การช่วยเหลือทางด้านการเงินในการต่อสู้คดี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการจ้างนักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือผู้ช่วยกฎหมายที่ทำงานอยู่ในโครงการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องขัง ทั้งนี้ โดยมีทนายความอาวุโสหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ในการตรวจสอบและกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จะได้รับการปฏิบัติและสิทธิในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้ดังเช่นทนาย นอกจากนี้กองทุนยังครอบคลุมไปถึงการช่วยเหลือด้านการค้นหาเอกสาร ฎีกาหรือแม้แต่การจ้างทนายในการต่อสู้คดีให้ หากเจ้าหน้าที่กองทุนพิจารณาเห็นว่าคดีดังกล่าวจำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือขาดโอกาสในการต่อสู้คดี

 

การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อผู้ต้องขังในประเทศไทย

ผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีอยู่ในเรือนจำ โดยเฉพาะผู้ต้องขังที่เข้าใหม่และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือไม่ใช่พวกเก๋าคุก หรือไม่ได้กระทำผิดจริง จะประสบปัญหาความว้าวุ่นในเรื่องคดีเป็นอย่างยิ่ง ต่างพยายามที่จะหาทางที่จะต่อสู้ข้อกล่าวหา พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองหรือหาทางลดหย่อนผ่อนโทษ ในรายที่มีญาติ ก็จะมีผู้ที่ติดต่อหาทนายมาดำเนินการให้ เพราะการถูกจำคุกทำให้มีข้อจำกัดในการติดต่อทนายความภายนอกด้วยตนเอง ผู้ต้องขังกลุ่มนี้จึงมีญาติและทนายความที่ให้ความช่วยเหลือในทางคดี ในขณะที่ผู้ต้องขังอีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่มีญาติ จะขาดผู้ที่ติดต่อหาทนายความในการต่อสู้คดี ก็จะใช้บริการทนายขอแรง หรือหันเข้าหาผู้ต้องขังด้วยกันเอง จะไม่หันเข้าหาเจ้าหน้าที่เรือนจำ เพื่อขอรับคำแนะนำ เนื่องจากเรือนจำไม่มีบริการด้านนี้ให้กับผู้ต้องขังทำให้ผู้ต้องขังต้องหันไปพึ่งผู้ต้องขัง ที่ทำตัวเป็น “ทะแนะ” คอยแนะนำปัญหาข้อกฎหมาย หรือลู่ทางในการต่อสู้คดีให้ผู้ต้องขังอื่นๆ ซึ่งบางรายก็จะแนะนำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเขียนคำร้อง แถลงการณ์ได้ดี แต่บางรายแนะนำในทางที่ผิดๆ บางรายเป็นการหลอกลวงเอาค่าเหนื่อย

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า การให้บริการช่วยเหลือด้านกฎหมายต่อผู้ต้องขัง จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งนับเป็นการให้หลักประกันในสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์ยังไม่มีหน่วยงานช่วยเหลือทางกฎหมายให้ผู้ต้องขังโดยตรง แต่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังติดต่อผ่านเรือนจำกับหน่วยงานช่วยเหลือทางกฎหมายภายนอก (แต่ไม่เป็นที่นิยม หรือรู้จักของผู้ต้องขังเท่าใด) การต่อสู้คดีของผู้ต้องขังส่วนใหญ่ จึงพึ่งพาทนายความส่วนตัวของผู้ต้องขัง โดยเรือนจำจะเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้พบทนายความได้สะดวกตามระเบียบ โดยพบในสถานที่เฉพาะแยกจากการเยี่ยมญาติอื่นๆ เพื่อมิให้เสียงจากญาติอื่นๆ มารบกวน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ต้องขังที่มีฐานะเท่านั้นที่จะมีโอกาสหาทนายความส่วนตัวได้ ในขณะที่ผู้ต้องขังบางส่วนอาจขอรับบริการจากทนายขอแรง แต่ยังมีผู้ต้องขังในเรือนจำอีกจำนวนมากที่ไม่มีทนายความหรือนักกฎหมายให้ความช่วยเหลือแนะนำในคดีความ อีกทั้ง ในเรือนจำส่วนใหญ่จะไม่มีหนังสือกฎหมายหรือห้องสมุดกฎหมายให้บริการต่อผู้ต้องขัง นอกจากในเรือนจำที่มีผู้ต้องขังศึกษาในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช การบริการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อผู้ต้องขังที่ไม่มีฐานะส่วนใหญ่จะมาจากเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันเอง แนะนำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กรมราชทัณฑ์จึงได้เร่งดำเนินการตามโครงการห้องสมุด “พร้อมปัญญา” ที่จะจัดทำห้องสมุดมาตรฐานขึ้นในเรือนจำทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้มีหนังสือกฎหมายให้ผู้ต้องขังได้ศึกษาอย่างทั่วถึง

การขาดบริการช่วยเหลือทางกฎหมายทำให้ผู้ต้องขังหมดโอกาสที่จะต่อสู้คดี โดยเฉพาะหากเป็นผู้ที่ไม่มีกำลังทรัพย์ด้วยแล้ว มีบางกรณีผู้ต้องขังยอมรับโทษทั้งๆที่ ไม่ได้ทำผิด เพื่อที่จะรับโทษน้อยแทนการต่อสู้คดีที่เสียค่าใช้จ่ายสูง เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาการจำคุกคนไม่ได้กระทำผิด (wrongful conviction) จึงมีความเป็นไปได้ เช่นกรณีของนางทองคำ ที่ติดคุกฟรีนับปี เพราะชื่อพ้องกัน และกรณีเช่นนี้อาจไม่ได้มีคดีเดียว แต่ก็เป็นคดีที่สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของการเข้าถึงกฎหมายของตัวจำเลยได้อย่างดี

การดำเนินการในเรือนจำ

เพื่อให้ผู้ต้องขังโดยเฉพาะผู้ต้องขังคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีได้มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างยุติธรรม โดยมิให้การถูกจองจำเป็นข้อจำกัดในการที่จะติดต่อสื่อสารในการต่อสู้คดี รวมทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังที่มีฐานะยากจนหรือ ไม่มีความรู้ด้านกฎหมายได้เข้าถึงข้อกฎหมายทั้งในเรื่องของคดี และข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องขัง และเพื่อเป็นการลดปัญหาจากการจำคุกคนไม่ผิด กรมราชทัณฑ์ได้เปิดโครงการบริการทางกฎหมายสำหรับผู้ต้องขังขึ้น โดยถือเป็นภารกิจส่วนหนึ่งของเรือนจำ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการประสานงานหรือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ต้องขังกับองค์กรภายนอกที่ให้บริการ

ในส่วนของเรือนจำ ได้กำหนดให้เรือนจำจัดบริการในลักษณะเดียวกัน คือ

  1. สอบถามความต้องการการช่วยเหลือทางกฎหมายของผู้ต้องขัง เมื่อแรกเข้าว่ามีประการใด การมีทนายความ หรือปัญหาข้อกฏหมายอื่นๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการให้บริการในโอกาสต่อไป
  2. มอบหมายให้มีเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมาย รับผิดชอบดูแลให้บริการด้านกฎหมายของผู้ต้องขัง ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการประสานงานกับทนายความส่วนตัวของผู้ต้องขัง หรือองค์กรการช่วยเหลือทางกฎหมายภายนอก หรือปรึกษาผู้รู้ด้านกฎหมายอื่นๆ ซึ่งรวมทั้งจัดให้มีผู้แนะนำทางกฎหมาย ซึ่งเป็นผู้ต้องขังด้วยกัน แต่มีความชำนาญอย่างเป็นทางการ อีกนัยหนึ่ง เป็นการจัดระเบียบการให้คำแนะนำทางกฎหมายของผู้ต้องขังด้วยกันให้เป็นระบบและเป็นทางการ
  3. จัดให้มีมุมหนังสือกฎหมายในห้องสมุดของเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสศึกษา ข้อกฎหมาย รวมทั้งเอกสาร แบบฟอร์ม ตลอดจนตัวอย่างคำแถลงหรือคำร้องต่างๆ
  4. การจัดทำคู่มือ แนะนำเกี่ยวกับการรับความช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือคำแนะนำในการต่อสู้คดี รวมทั้งการเรียกร้องค่าทดแทนจากการต้องโทษถูกจองจำในเรือนจำโดยไม่มีความผิด
  5. เชิญวิทยากรผู้มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ทางกฎหมาย มาบรรยายให้ความรู้และให้คำปรึกษาข้อกฎหมายแก่ผู้ต้องขัง ซึ่งปัจจุบันได้มีการดำเนินการแล้วที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปรากฏว่าได้รับความสนใจ และสอบถามปัญหาข้อกฎหมายอย่างมากมายจากผู้ต้องขัง และทำให้ผู้ต้องขังทราบสถานภาพทางกฎหมายที่แท้จริงของตน

การให้บริการช่วยเหลือทางกฎหมายของราชทัณฑ์ดังกล่าว น่าจะเป็นการลดปัญหาการจำคุกคนไม่ผิดลงได้ระดับหนึ่ง จึงจัดเป็นบริการที่สำคัญเพราะเป็นจุดสำคัญในกระบวนการยุติธรรม ในการอำนวยความยุติธรรม มีหลายกรณีที่เป็นเหตุให้เกิดกรณีจำคุกคนไม่ผิด เช่น ความผิดพลาดของพยานในการจดจำตัวผู้กระทำผิด การให้การเท็จ การเป็นพยานเท็จ การสมยอมสารภาพรับผิดแทนผู้อื่น การกลั่นแกล้งพยาน หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ผิดพลาด การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในการพิสูจน์ความผิด เช่น DNA ในชณะเดียวกันก็ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ต่อสู่คดี โดยสามารถเข้าถึงกฎหมายได้อย่างเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องขังอาจให้ผลในทางลบต่อเรือนจำ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ต้องขังบางคนได้ใช้ช่องทางในการติดต่อทางไปรษณีย์ ในการรับข้อแนะนำทางกฎหมายในการซุกซ่อนสิ่งของต้องห้ามเข้าเรือนจำ หรือใช้เป็นช่องทางในการติดต่อซื้อขายยาเสพติดหรืออาวุธ

สรุป

การให้บริการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ต่อสู้คดีอย่างยุติธรรม โดยที่การถูกคุมขังไม่เป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงความรู้ด้านกฎหมายของผู้ต้องขัง เรือนจำในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่จึงจัดให้มีบริการให้ความช่วยเหลือต่อผู้ต้องขังอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านการเป็นสะพานในการประสานกับองค์กรภายนอก และการให้บริการด้านห้องสมุดกฎหมายในเรือนจำ ในขณะที่ในประเทศไทย การให้บริการการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องขังยังอยู่ในขอบเขตจำกัด ยังไม่มีบริการอย่างเป็นทางการแต่ประการใด อย่างไรก็ตาม ในปีพ.ศ. 2546 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มเปิดบริการให้การช่วยเหลือทางกฎหมายต่อผู้ต้องขังอย่างเป็นระบบ และครบวงจรอย่างเป็นทางการมากขึ้น โดยมีทั้งการสืบหาผู้มีปัญหาทางกฎหมาย การจัดบริการให้คำปรึกษา การเปิดโอกาสและอำนวยความสะดวกให้พบทนายความ การจัดมุมหนังสือกฎหมาย และการจัดบรรยายทางกฎหมายโดยวิทยากร เป็นต้น ทั้งนี้ โดยมุ่งที่จะทำให้การถูกจองจำไม่เป็นการตัดโอกาสผู้ต้องขังในการที่จะต่อสู้คดีอย่างเท่าเทียมกัน อันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

 

บรรณานุกรม

James Inciardi, Criminal Justice, New York, Harcourt Brace Jovanovich Publishers, 1987

Sean O’ Toole and Simon Ryland (eds.) Corrections Criminology, NSW: Hawkins Press, 2005

‘Wrongful Convictions in Canada’ www. ryerson.ca/soc705/wrongcon/index.htm

 

หมายเลขบันทึก: 432170เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2011 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท