ยินดีต้อนรับสู่บ้านครูพีระยา
นาง พีรยา ยินดีต้อนรับสู่บ้านครูพีระยา สอนอาจ

ประวัติอำเภอเขมราฐ


เขมราฐเมืองประวัติศาสตร์

ประวัติอำเภอเขมราฐ 

  อำเภอเขมราฐเดิมมีฐานะเป็นเมือง   และเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญต่อเมืองอื่นๆ   ในภูมิภาคนี้พอสมควรเพราะเป็นเมืองที่เทียบได้กับหัวเมืองเอก   ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร   มิได้ขึ้นกับเมืองอุบลราชธานีเช่นเมืองอื่นๆ   นอกจากนั้นเมืองเขมราฐยังมีเมืองขึ้นอีกหลายเมือง   เช่น   เมืองอำนาจเจริญ   เมืองคำเขื่อนแก้ว   เป็นต้น 

    สำหรับการตั้งเมืองเขมราฐ   ปรากฏเอกสารที่เป็นหลักฐานว่าใน   พ.ศ.   2357   ซึ่งเป็นปีเดียวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย   โปรดเกล้าตั้งเมืองยโสธรขึ้น   อุปฮาด   (ก่ำ)   ซึ่งเป็นอุปฮาดเมืองอุบลราชธานี   ไม่พอใจที่ทำราชการกับพระพรหมราชวงศา   (ท้าวทิศพรหม)   เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่  2    จึงอพยพไพล่พลไปหาทำเลที่เหมาะสมตั้งเมืองขึ้นใหม่   ซึ่งเป็นการสนองพระบรม   ราโชบายในการตั้งเมืองขึ้นใหม่ในช่วงระยะเวลานั้นๆ   ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ   ให้ตั้งบ้านโศกกงพะเนียง   ขึ้นเป็นเมืองเขมราฐธานีขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร   เมื่อ  พ.ศ. 2357   พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ   แต่งตั้งให้อุปฮาด  (ก่ำ)   เป็นพระเจ้าเทพวงศาเมือง

      ตลอดสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น   เมืองเขมราฐมีความสำคัญ   และขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานครตลอดมา   ครั้นถึง   พ.ศ.   2371   เมื่อเสร็จสิ้นสงครามปราบกบฏเจ้าอนุแล้ว   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้เมืองโขงเจียม   ซึ่งเคยขึ้นตรงต่อเจ้าเมืองจำปาสัก    มาขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐ   เป็นผลให้เมืองเขมราฐมีบทบาทมากขึ้น   เมื่อโปรดเกล้าให้ตั้งเมืองคำเขื่อนแก้วในปี   พ.ศ.   2388   เมืองอำนาจเจริญในปี   พ.ศ.   2401   ก็โปรดเกล้าให้ขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐเช่นกัน  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   เมื่อมีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่   เพื่อให้บังเกิดผลตามที่กำหนดใน   “ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่   ร.ศ.  116 ”  มณฑลอีสานถูกแบ่งออกเป็น   8   บริเวณ   สำหรับเมืองอุบลราชธานีที่อยู่   3   เมือง   คือเมืองอุบลราชธานี   เมืองเขมราฐ   และเมืองยโสธร   แต่ละเมืองมีพื้นที่ขึ้นตรงหลายอำเภอดังที่ปรากฏว่าในปี   พ.ศ.   2445   เมืองเขมราฐมีพระเขมรัฐเดชธนีรักษ์   (คำบุ)   เป็นผู้ว่าราชการเมือง   และมีอำนาจอยู่ในปกครอง   6   อำเภอ   คือ  อำเภออุทัยเขมราฐ   อำเภอประจิมเขมราฐ   อำเภออำนาจเจริญ   อำเภอคำเขื่อนแก้ว   อำเภอโขงเจียม   และอำเภอวารินชำราบ    อันแสดงให้เห็นว่าเมืองเขมราฐ   ยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาก

 

                                ต่อมาใน   พ.ศ.  2452   ได้มีการปรับปรุงการปกครองภายในบริเวณเมืองอุบลราชธานีอีก               ครั้งหนึ่ง   เมืองเขมราฐถูกลดฐานะเป็นอำเภอ   และรวมอำเภออุทัยเขมราฐ   และอำเภอประจิมเขมราฐ        เข้าด้วยกันเป็นอำเภออุทัยเขมราฐขึ้นกับเมืองยโสธร   แต่ก็ยังเป็นบริเวณอุบลราชธานีอยู่เหมือนเดิม

 

                                ในราชการพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   ได้มีการแยกมณฑลอีสานออกเป็น                     2   มณฑล   คือ   มณฑลอุบลราชธานี   กับมณฑลร้อยเอ็ด   เมื่อวันที่   9  เมษายน   2455  และมีการปรับปรุงให้เหมาะสม   เมืองยโสธรถูกยกเลิกไป   เมืองอุทัยเขมราฐก็มีฐานะเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานีตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

                                พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย    โปรดเกล้าให้ตั้งบ้านกงพะเนียง   ขึ้นเป็นเมืองชื่อ             “ เมืองเขมราษฎร์ธานี ”  ขึ้นกับกรุงเทพมหานคร   พร้อมกันนั้นได้ตั้งให้อุปฮาด   (ก่ำ)   เป็นเจ้าเมืองคนแรกในปี   พ.ศ.   2357   แม้ว่าเมืองเขมราษฎร์ธานี   จะเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองเขมราฐในภายหลัง   แต่ก็มีความหมายเดียวกันคือ   “ ดินแดนแห่งความเกษมสุข ”   (ราษฎร์)   เป็นคำที่มาจากภาษาลีสันสกฤตมีความหมายตรงกับ   รัฐ”   หรือ   รัฏฐ”   ซึ่งมาจากภาษาบาลี   หมายถึง   แว่นแคว้น   หรือดินแดนนั้นเอง   ส่วน  “เขม”   เป็นคำมาจากภาษาบาลี   หมายถึง   ความเกษมสุข   ซึ่งหมายความตรงกับ   เกษม   ที่มาจากภาษาสันสกฤต)

                                เมืองเขมราฐเปลี่ยนมาเป็นอำเภอเขมราฐ   ขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี   เมื่อ   พ.ศ.   2452   โดยมีพระเกษมสำราญรัฐ   เป็นนายอำเภอคนแรก   อำเภอเขมราฐ   ได้แบ่งเขตการปกครองแยกเป็นอำเภอต่างๆ   ดังต่อไปนี้

  1.  อำเภอชานุมาน      จังหวัดอำนาจเจริญ    เมื่อปี   พ.ศ.2511

 2. อำเภอโพธิ์ไทร   จังหวัดอุบลราชธานี     เมื่อปี   พ.ศ.2525

 3.   อำเภอนาตาล   จังหวัดอุบลราชธานี     เมื่อปี   พ.ศ.2537

ปัจจุบันมี  นายกร   มาตย์นอก  เป็นนายอำเภอเขมราฐ 

1. ข้อมูลทั่วไปอำเภอเขมราฐ

อำเภอเขมราฐ  เป็นอำเภอชั้น  2  และเป็นอำเภอชายแดน  อยู่ในเขตการ

ปกครองของจังหวัดอุบลราชธานี  มีที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด  ระยะห่างจากตัวจังหวัดประมาณ  105  กิโลเมตร  และห่างจากกรุงเทพมหานครเป็นระยะทางประมาณ  750  กิโลเมตร  แบ่งการปกครองออกเป็น  9  ตำบล  123  หมู่บ้าน  มีประชากร  จำนวน  77,599  คน  แยกเป็นชาย  39,111  คน  และหญิง  38,488 คน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก  คิดเป็นร้อยละ  85

                                2.  อาณาเขตและพื้นที่

      อำเภอเขมราฐ  มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ  526.75  ตารางกิโลเมตรและมีอาณาเขต  ดังนี้

ทิศเหนือ   จดแนวฝั่งแม่น้ำโขง  บริเวณตรงข้ามเมืองสองคอนแขวงสะหวันเขต  ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  (สปป.ลาว)  เป็นแนวยาวตามลำน้ำโขง

ทิศตะวันออก จดแนวฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณตรงข้ามเมืองคอนพะเพ็ง  แขวงสาละวัน  ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)  และอำเภอนาตาล  จังหวัดอุบลราชธานี 

 ทิศใต้      ติดต่อกับอำเภอนาตาล  และอำเภอกุดข้าวปุ้น  จังหวัดอุบลราชธานี 

ทิศตะวันตก  ติดต่อกับอำเภอปทุมราชวงศ และอำเภอชานุมานจังหวัดอำนาจเจริญ 

                               3.  ลักษณะภูมิประเทศ   

    อำเภอเขมราฐ  มีสภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงสลับเนินเขา  ลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย  และมีสภาพเป็นดินเหนียวตาไหล่เขา  มีป่าไม้เบญจพรรณอยู่ทั่วไปเป็นลักษณะป่าโปร่ง    มีแม่น้ำโขงไหลผ่านตามแนวชายแดนด้านทางทิศเหนือ  และทิศตะวันออกตลอดแนวประมาณ  43  กิโลเมตร

  1. การปกครองท้องที่ 

อำเภอเขมราฐ  แบ่งการปกครองท้องที่ออกเป็น  9  ตำบล  123  หมู่บ้าน  คือ

4.1  ตำบลเขมราฐ  22  หมู่บ้าน

4.2  ตำบลขามป้อม                17            หมู่บ้าน

4.3  ตำบลหัวนา                   15            หมู่บ้าน

4.4  ตำบลหนองผือ               14            หมู่บ้าน

4.5  ตำบลนาแวง                  13            หมู่บ้าน

4.6  ตำบลหนองนกทา           13            หมู่บ้าน

4.7  ตำบลแก้งเหนือ              10            หมู่บ้าน

4.8  ตำบลหนองสิม               10            หมู่บ้าน

4.9  ตำบลเจียด                       9              หมู่บ้าน

  1. การปกครองท้องถิ่น

อำเภอเขมราฐ  มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่จำนวน  10  แห่ง

แยกเป็นเทศบาลตำบล  5  แห่ง  และองค์การบริหารส่วนตำบล  5  แห่ง  คือ

  1. เทศบาลตำบลเขมราฐ
  2. เทศบาลตำบลเทพวงศา
  3. เทศบาลตำบลขามป้อม
  4. เทศบาลตำบลหนองผือ
  5. เทศบาลตำบลหัวนา 
  6. องค์การบริหารส่วนตำบลเจียด
  7. องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสิม
  8. องค์การบริหารส่วนตำบลแก้งเหนือ
  9. องค์การบริหารส่วนตำบลนาแวง

10.  องค์การบริหารส่วนตำบลหนองนกทา

  1. ส่วนราชการ  หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ธนาคาร/

ธนาคารพาณิชย์  และสถานศึกษา  รวมทั้งสิ้น   41  แห่ง

ที่ว่าการอำเภอเขมราฐ  ตั้งอยู่ในที่ดินสาธารณประโยชน์เนื้อที่  63  ไร่  1  งาน  10  ตารางวา 

(หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง  เลขที่  อบ  1494  ออกให้  ณ  วันที่  9  เมษายน  2540)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 432101เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2011 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • มาแวะอ่านประวัติศาสตร์ อ.เขมราฐ ครับผม
  • เคยได้ยินแต่ชื่อ ยังไม่เคยไปเลยครับ
  • อยู่ใกล้ อ.ตระการพืชผล ไหมครับ

เห็นประวัติความเป็นมาน่าสนใจมากครับ น่าให้เด็กเยาวชนได้เข้าไปสืบค้นนะครับ..

ว่าที่พันตรีนิัวัฒน์ มาตย์นอก

น่าชื่นชมกับประวัติความเป็นมา ตำนานบอกกล่าวเล่าขาน ความเป็นเขมราฐ ชื่นชมครับ

ครูซอส สวนเขมราฐพอเพียง

เพิ่งย้ายมาอยู่เขมราฐได้ปีกว่า บรรยากาศดีมากค่ะ ได้เรียนรู้สมุนไพรท้องถิ่นอีสาน ชอบต้นมะหาดแก้หัวล้านต้นหมี่แชมพูสระผม ต้นกาวยาย้อมผมหงอก ต้นหนามแท่งสบู่โบราณ และอื่นๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท