แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

When we make a home :) by เจ๊หลี (จู)



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ


When we make a home :)

เขียนโดย ; เจ๊หลี่ (จู)
คอลัมน์ ; สะกิด สะเกา
โยคะสารัตถะ ตุลาคม ๒๕๕๒

 

ดูเหมือนว่า ในช่วงระยะ 2-3เดือนที่ผ่านมา ผู้คนรอบตัวของฉันล้วนมีเรื่องให้ต้องเกี่ยวข้องกับ "บ้าน"ในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป

เช้าวันเสาร์ที่สามของเดือนมิถุนายน เพื่อนสนิทคนหนึ่งโทรศัพท์ทางไกลจากต่างประเทศมาถึงฉัน เพื่อขอให้ช่วยเป็นธุระจัดการจองซื้อห้องชุดขนาดกะทัดรัดซึ่งตั้งอยู่แถบใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพ ด้วยความตั้งใจว่า ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า หากเขาได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองไทยตามแผนการที่วางไว้ เขาจะมีโลกส่วนตัวขนาด 48 ตารางเมตรแห่งนี้ไว้เป็นที่พักอาศัย และหากเขาโชคดีพอ ถึงวันนั้นแล้วเขาอาจได้พบใครซักคน ที่พร้อมจะใช้เวลาบนระเบียงกว้างไปกับการนั่งฟังเพลงเพราะๆ ด้วยกัน ซึ่งแน่นอนว่า ใครซักคนที่ว่านี้ -น่าจะเป็นองก์ประกอบสำคัญที่สุดที่ทำให้ "บ้าน" มีความหมายและเป็นสถานที่ๆสวยงามที่สุดในชีวิต

การแยกตัวออกมาใช้ชีวิตอิสระตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และอาชีพการงานที่ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยเสมอทำให้เพื่อนของฉันไม่รู้สึกผูกพันกับคำว่าครอบครัวมากนัก ในช่วงระยะหลัง เพื่อนของฉันเริ่มรู้สึกไม่แน่ใจว่า ควรจะจัดให้ตัวเองเป็นคนของพื้นที่ตรงไหนกันแน่บนโลกนี้ สถานที่ตรงไหนกันแน่ที่เขาสมควรเรียกว่าเป็น "บ้าน" ที่แท้จริง ระหว่างกรุงเทพที่แออัด วุ่นวายไร้ระเบียบ (ซึ่งเขาพบว่า ไม่สามารถอยู่ติดบ้านได้เลยซักครั้งที่กลับมา) หรือในต่างประเทศที่มีมาตรฐานสูงในด้านคุณภาพชีวิต แต่ก็ เหงา แห้งแล้งและขาดแคลนมิตรภาพหล่อเลี้ยงจิตใจจากผู้คนรอบตัว...

และที่สำคัญไปกว่านั้น, ไม่ว่าเขาเลือกที่จะอยู่ที่ไหนก็ตาม อาการกลวงเปล่าภายในจิตใจก็ยังคงดำรงอยู่ ..อย่างเท่าๆ กัน ..

ต้นเดือนกรกฎาคม น้องสาวที่รู้จักกันได้ไม่นานนัก โทรมาขอเช่าห้องพักที่บ้านฉันในระยะสั้นๆ เพื่อรอเวลาให้ผ่านช่วงขาลงของธุรกิจท่องเที่ยวในรอบปี และจะกลับขึ้นไปสานต่อธุรกิจเล็กๆ ของเธออีกครั้งในช่วงปลายปี แม้เราจะไม่ได้สนิทสนมกันมากนัก แต่บุคลิกที่เปิดเผยทำให้เธอเล่าเรื่องของตัวเองให้ฉันฟังโดยที่ฉันไม่เคยถาม เธอให้นิยามตัวเองว่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่เจริญเติบโตมาแบบเว้าๆ แหว่งๆ ภายในบ้านที่ขาดแคลนความรัก ความทรงจำในอดีตที่เกี่ยวกับ "บ้าน" ของเธอ จึงมักเป็นเรื่องเล่าประเภท black comedy ที่ผสมปนเประหว่างความเศร้า ความตลกขบขัน ความรู้สึกเสียดสีเย้ยหยันชีวิต ที่อาจจะสนุกหากได้รับฟังแต่จะไม่ใช่เรื่องตลกเลยหากเกิดขึ้นจริงกับชีวิตของใคร...

ฉันไม่แปลกใจเลยที่การได้มี "บ้าน" สักหลังเป็นของตัวเอง คือความหวังและแรงขับเคลื่อนในการดำรงชีวิตของน้องสาวคนนี้ วันหนึ่ง หลังจากที่ย้ายตัวเองมาเป็นผู้เช่ารายใหม่ของฉันได้ไม่นาน เธอก็สารภาพว่าชอบบรรยากาศการร่วมโต๊ะกินข้าวเย็นกับฉันและครอบครัวที่บ้านฉันที่สุด แม้ว่ากับข้าวบนโต๊ะจะเวียนวนไปได้ไม่ไกลกว่าไข่เจียวและแกงส้มประจำตระกูล (อันนี้เธอตั้งชื่อให้) เหตุผลง่ายๆที่เธอบอกก็คือ "หนูว่าอารมณ์มัน "บ้าน" ดีว่ะพี่"...

. . . . . . . . .

บ้านของฉันนอกจากจะประกอบด้วยสมาชิก 5 คนและหมาน้อย 3 ตัวแล้ว เรายังอาศัยอยู่ร่วมในที่ดินเดียวกับผู้คนอีกกว่า 200 ชีวิตในฐานะเป็นลูกค้าผู้เช่าห้องพัก อันเป็นธุรกิจหลักของครอบครัวที่ดำเนินต่อเนื่องมาเกือบ 30 ปี

ใครจะรู้บ้างว่า ห้องพักบางห้องที่มีขนาดพื้นที่เพียงแค่ 25 ตารางเมตร ได้ทำหน้าที่เป็น "บ้าน"ให้กับครอบครัวเล็กๆ ที่ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก 2 คน ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะนั่นหมายความว่า ทุกตารางนิ้วของพื้นที่ในห้องได้ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อครอบครัวนี้อย่างคุ้มค่าที่สุด ฉันเข้าใจด้วยตัวเองว่า เจ้าของครอบครัวคงมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้ยังไม่สามารถย้ายออกไปอยู่บ้านพักอาศัยที่มีพื้นที่กว้างขวาง สะดวกสบายกว่านี้ได้ จึงจำเป็นต้องอดทนอยู่ร่วมกันใน "บ้าน"แคบๆ หลังนี้ต่อไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ดูเหมือนว่าความคับแคบของพื้นที่มีผลก็แต่ความไม่สะดวกในการพักอาศัย แต่ไม่ได้ลดทอนความสุขหรือสัมพันธภาพของครอบครัวเล็กๆนี้เลย

ถึงบรรทัดนี้แล้ว ฉันเริ่มเห็นว่า แท้ที่จริงความหมายของคำว่า "บ้าน" น่าจะมีขอบเขตลึกซึ้งมากไปกว่าการเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีพรองจากอาหารและเครื่องนุ่งห่ม ความเป็น "บ้าน" ในที่นี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาด ที่ตั้ง หรือวัสดุที่ใช้ประกอบขึ้นมาเป็นตัวบ้านเลยแม้แต่น้อย "บ้าน" น่าจะหมายถึงพื้นที่ที่ถูกปลูกสร้างขึ้นมาด้วยความรักและเอาใจใส่ มีความสงบร่มเย็นเป็นพื้นฐานที่แข็งแรง มีความปลอดภัยเป็นประตูที่ช่วยปกป้องและอนุญาตให้คนในบ้านเปิดเข้าไปพักได้ทุกเวลาที่อ่อนแรงเหนื่อยล้า และเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขที่แท้จริง

จะดีแค่ไหน หากเราทุกคนสามารถปลูกสร้างบ้านหลังนี้ได้ด้วยตัวของเราเอง ?

หากยังไม่มั่นใจ ฉันขอแนะนำวิธีง่ายๆด้วยการมองย้อนกลับเข้าไปในพื้นที่เล็กๆซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งของหัวใจ แล้วเริ่มต้นออกแบบ สร้างบ้านในแบบที่เราต้องการด้วยตัวเองที่นี่ ใส่ความเมตตาหากต้องการได้บ้านที่อบอุ่น ใส่ความเพียรถ้าอยากได้บ้านที่แข็งแรง การสร้างบ้านที่สงบสุขและมั่นคงภายในจิตใจของเราเป็นงานที่อาจเรียกร้องเวลาทั้งชีวิต แต่เมื่อบ้านของเราเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เราจะพบพื้นที่ที่ต้อนรับเสมอทั้งในยามสุขและทุกข์ ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ในสวนที่เราตั้งใจปลูกให้เกิดความร่มเย็นอาจช่วยแบ่งปันความสบายให้กับคนใกล้ชิดได้อาศัยพักพิงในวันที่อากาศร้อนได้อีกด้วย

ฉันได้เพียงแต่หวังว่า เราคงไม่ได้หลงทางมาไกลเกินไปจนกระทั่งหาทางกลับบ้านไม่ถูกเสียแล้ว ...

หวังว่าเพื่อนทุกคน จะหาทางกลับ "บ้าน" ของเราได้ด้วยตัวเองค่ะ :) 

  


    
มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขต บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์ 02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 431972เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2011 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บ้านคือวิมานค่ะน้อง

ทุกที่ๆมีความสงบ

คือบ้านของเราค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท