Japanification : เป็นอย่างญี่ปุ่น? (ตอนจบ)


"Bad Romance" โดย Lady Gaga มีคนเข้าไปฟังถึง 358.7 ล้าน ไม่เกี่ยวกับเรื่องเล่า แต่..ทำให้คลายเศร้าได้ดีมาก

ตอนท้ายของตอนที่แล้ว มีว่า

“ผมไม่มีเงินค่าจัดการศพ”!

 

       เหตุการณ์ น่าแตกตื่นทำให้รัฐบาลไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องสั่งตรวจสอบ ส่งเจ้าหน้าที่ไป “พบหน้า” ผู้สูงอายุที่อายุยืนกว่า 100 ปีทุกคนทั่วประเทศ ยิ่งค้น ยิ่งพบ ยิ่งหายิ่งชวนแตกตื่นตกใจ

        ทั่วประเทศ พบว่า มีผู้ที่สูงวัยเกิน 100 ปี มากกว่า 234,000 คนที่อยู่ในทะเบียนผู้สูงวัยพิเศษที่ควรได้รับเงินสนับสนุนพิเศษจากรัฐ ไม่มีตัวตนอยู่จริง

 

         หากไม่พบเป็นศพ ก็พบว่าหายตัวไป และควรถูกระบุว่า เสียชีวิตแล้ว เมื่อเนิ่นนานมาแล้ว

 

เกิดอะไรขึ้นกับสังคมญี่ปุ่น?

        เหตุผลประการแรกที่ทำให้คนตายกลายเป็น “แหล่งรายได้” ของคนเป็น ก็คือ

“ไม่รู้”

 

         พวกเขาอยู่ห่างกันไกลเกินไปเพราะความจำเป็นในการทำมาหาเลี้ยงชีพ จนจำเป็นต้องทิ้งผู้เฒ่าผู้แก่ไว้เพียงลำพังในอีกเมืองหนึ่ง อีกอำเภอหนึ่ง

        เหตุผลประการถัดมาก็คือ “หายไป” มีบ้างที่ไร้ร่องรอยให้เสาะหา มีบ้างที่ลูกๆ หลานๆ ไม่ต้องการเสาะหา

        แต่เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้พวกเขาทั้งหมดไม่รายงานการหายตัวไป หรือการเสียชีวิตของผู้เฒ่าในครอบครัวก็คือ “เงิน”

 

       เงิน เพียงไม่กี่พันบาท ที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อคนเป็นมากกว่าจะคำนึงถึงประเพณีและวัฒนธรรมความเหนียวแน่นในครอบครัวและการเคารพผู้อาวุโสอีกต่อไปแล้ว

       “ความยากจน” ที่ว่านี้เป็นเพียง “อาการ” หนึ่งที่สะท้อนถึง 2 ทศวรรษแห่งความว่างเปล่าทางเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่น

 

        อากิระ เนโมโตะ  เจ้าหน้าที่ประจำแผนกดูแลผู้สูงวัยของเขต

อาดาชิ ในกรุงโตเกียว สะท้อนอีกอาการหนึ่งออกมา

       “ไม่มีใครสนใจเพื่อนบ้านกันอีกต่อไป” เขาบอก "ไม่แม้แต่บ้านที่รั้วติดกันหรืออพาร์ตเมนต์ที่ช่องประตูห่างกันเพียงไม่กี่เมตร"

 

          ยิ่งนับวัน คนญี่ปุ่นยิ่งหดตัวเองแคบลง แคบลงเรื่อยๆ เหลือเพียงรัศมีโดยรอบตัวเองไม่กี่ตารางเมตร เริ่มจากผู้สูงอายุ แล้วลุกลามต่อไปยังลูกๆ หลานๆ ทั้งหมดพยายามอยู่ได้ด้วยตัวเอง ใช้จ่ายให้น้อยที่สุด เพื่อดำรงตนให้อยู่ได้นานที่สุด

 

         ทำอย่างไร เงินบำเหน็จบำนาญของตัวเอง หรือของผู้เป็นพ่อ-แม่ ที่ได้รับในแต่ละเดือนจึงจะสามารถยังชีพต่อไปได้

          “ทุกคนคิดถึงแต่เงิน เงินที่ไม่มากมายเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว”  เนโมโตะ บอกอย่างนั้น

 

            มันเริ่มต้นอย่างช้าๆ แต่มั่นคงและแน่วแน่อย่างยิ่ง เริ่มจากซัพพลายเออร์ในอาดาชิ หดหายไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ล้มละลายก็โยกย้ายไปยังจีนพร้อมๆ กับบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ถัดมาร้านรวงในย่านนั้นก็เริ่มปิดตัวลง สุดท้ายแหล่งพบปะของชุมชนคนย่านเดียวกันที่มีอยู่แห่งเดียวก็ร้างราตามไปด้วย

          ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีอนาคต คือสิ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวของผู้คนในญี่ปุ่น

          ความเชื่อมั่น ทะยานอยาก หดหายไปตามกาลเวลาที่ผ่านไป

 

          เมื่อมาตรฐานการครองชีพลดน้อยถอยลง ประเทศชาติที่เคยมั่งคั่งและยังมั่งคั่งอยู่ในบางแง่มุมในเวลานี้ ก็เริ่มเสื่อมทรุด ค่านิยมใหม่เริ่มชัดเจนมากขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว “ความมัธยัสถ์” กลายเป็นเรื่องที่ต้องทำ “ความเสี่ยง” อย่างองอาจและกล้าหาญ คือสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

 

        คนรุ่นใหม่ เจเนอเรชั่นใหม่ ในวัยยี่สิบ คิดเห็นเช่นนี้ เพราะในชีวิตของพวกเขาไม่เคยพานพบอหังการของญี่ปุ่น ไม่เคยลิ้มลองความรุ่งโรจน์ของอาทิตย์ยามอุทัย พวกเขารับรู้และมีประสบการณ์อยู่แต่กับภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ และภาวะเงินฝืด หาได้ยากเย็นอย่างยิ่ง

        ไม่แปลกที่พวกเขาปฏิเสธที่จะซื้อรถยนต์หรือโทรทัศน์ ไม่แปลกที่มีน้อยมากที่ตัดสินใจไปศึกษาต่อในต่างแดนชนิดไปตายดาบหน้า

 

        ชาติที่เคยเปี่ยมด้วยพลวัต ท้าทายทุกอุปสรรค กลายเป็นสังคมที่คับแคบ วัฒนธรรมที่คับแคบอย่างน่าสะพรึงกลัว

       ฮิซากาซุ มัตสึดะ ประธานสถาบันวิจัยการตลาดบริโภคแห่งญี่ปุ่น (เจซีเอ็มอาร์ไอ) เรียกเจเนอเรชั่นใหม่ในวัย 20 เศษเหล่านี้ว่า “คนยุครังเกียจบริโภค” เขาประเมินเอาไว้ว่า เมื่อคนยุคนี้อายุถึง 60 ปี นิสัยมัธยัสถ์ร่วมสมัยของพวกเขาจะส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องสูญเสียมูลค่า การบริโภคไปราว 420,000 ล้านดอลลาร์

 

      “ในโลกนี้ไม่มีเจเนอเรชั่นที่ไหนเหมือนที่นี่อีกแล้ว” มัตสึดะบอก

คนพวกนี้คิดว่าการควักกระเป๋าจ่ายคือความโง่เขลาเบาปัญญาไปแล้ว

        ใน ทรรศนะของนักเศรษฐศาสตร์ ญี่ปุ่นคือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า “ทุนนิยม” กลืนกินตัวเองได้อย่างไร และผู้นำทางการเมืองของญี่ปุ่นล้มเหลวคนแล้วคนเล่าได้อย่างไร

 

       “แจแปนิฟิเคชั่น” คือการตกลึกลงไปใน “กับดักภาวะเงินฝืด” ที่เกิดขึ้นเมื่อ อุปสงค์ล่มสลายจากการที่ผู้บริโภคปฏิเสธที่จะใช้จ่าย ส่งผลต่อไปยังบริษัทธุรกิจที่ขยาดกับการลงทุน และบรรดาธนาคารทั้งหลายนั่งอยู่บนกองเงินออมก้อนมหึมา

        มันกลายเป็นวัฏจักรของความเลวร้าย ที่อยู่ได้ด้วยตัวเองและกลืนกินตัวเองไปเรื่อยๆ ยิ่งไม่มีการจับจ่าย ยิ่งกดดันให้ราคาข้าวของลดลงมากขึ้น งานหายไปมากขึ้น เงินในกระเป๋าผู้บริโภคยิ่งลดลงและยิ่งมัธยัสถ์มากยิ่งชึ้น ซึ่งยิ่งทำให้ธุรกิจยิ่งตัดทอนรายจ่ายมากยิ่งขึ้น ชะลอแผนขยายตัวออกไปอีกเรื่อยๆ และดูเหมือนยังไม่มีที่สิ้นสุด

        จนอาจบางที อาทิตย์อุทัย อาจไม่หลงเหลือให้คาดหวังอีกต่อไปในญี่ปุ่น

ปิยมิตร ปัญญา เขียนไว้ถึงตรงนี้ 

 

        ข่าวแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุน สร้างความตกตะลึง และสะพรึงกลัวอย่างมาก ยิ่งได้เห็นพลังอันมหาศาล แม้เพียงช่วงเศษเสี้ยวและท้ายๆ เหตุการณ์ จากโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต ยิ่งทำให้สงสารและเห็นใจชาวญี่ปุ่นผู้เคราะห์ร้าย  

      ผมเฝ้าติดตามดูข่าวทั้งทางโทรทัศน์ และ อินเตอร์เน็ต...  นอกจากความเสียหาย ความพลัดพราก ความหายนะ ความโศกเศร้า.....แล้ว...

       ผมได้พบความดีงาม ความเสียสละ อดทน รวมแล้ว คือ "ความเป็นญี่ปุ่น"

       พวกเขาใช้มันรับมือกับภัยพิบัติครั้งนี้อย่างน่าชื่นชม ซึ่งผมจะขอรวบรวมนำมาเสนอในตอนต่อไป 

หมายเลขบันทึก: 431843เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2011 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เหรียญย่อมสองด้านเสมอครับ

อันนี้เป็นอีกด้านหนึ่งที่ได้นำเสนอไว้

เชิญชมบันทึก

http://gotoknow.org/blog/supersup300/431814

ขอบคุณครับ

อืม....เกือบโดนฉีดยาแล้วละซี..

เย็นวันศุกร์ไปงานเลี้ยง..ก่อนไปไม่ได้อาบน้ำ กลับบ้านดื่มมานิดหน่อย...

ไม่กลัวน้ำเย็น (ไม่เปิดน้ำร้อน) อาบแบบดั้งเดิม ขันตักราดโครม ๆ ๆ (สะใจ)

ดีที่รีบเช็ดตัว รื้อเสื้อหนาวมาใส่หลายตัว....ค่อยยังชั่ว...

คุณยายก็ดูแลตัวเองให้ดีนะจ๊ะ

มีคนหนุ่มน้อยคนที่สนใจและทุ่มเทเรื่องการเกษตร ไปชมมาแล้วครับ ดีมาก

ขอบคุณครับ

ขอบคุณครับ

ผมตั้งใจจะไปเยี่ยมท่านเหมือนกัน เขียนตอนนี้เสร็จแล้ว จะไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท