คู่มือการฝึกบริหารการหายใจและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพปอดในผู้ป่วยโรคหืด


คู่มือการฝึกบริหารการหายใจ
และการออกกำลังเพื่อสุขภาพปอดในผู้ป่วยโรคหืด

ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุภรี สุวรรณจูฑะ
หน่วยโรคระบบหายใจเด็ก และ 
โครงการส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพปอดเด็ก
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

โรคหอบหืด (asthma) และการออกกำลังกาย

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าผู้ที่เป็นโรคหอบหืดไม่สามารถออกกำลังกายได้ เพราะผู้ที่เป็นโรคหอบหืด เมื่อออกกำลังกายบางครั้งจะรู้สึกไม่สบาย เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก อึดอัด หรือเจ็บในทรวงอก หรืออาจเกิดอาการหอบหืดอย่างรุนแรง อาการไม่สบายต่าง ๆ ที่เกิดเวลาออกกำลังกายในที่นี้จะขอเรียกสั้น ๆ ว่า EIB ซึ่งเป็นศัพท์ทางการแพทย์ ย่อมาจากคำว่า Exercise Induced Bronchospasm หมายถึง อาการหดเกร็งของหลอดลมหรือทางเดินหายใจที่เกิดจากการออกกำลังกาย ซึ่งจะรวมอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย เช่น อาการเหนื่อยง่าย หายใจเสียงดัง ไอ หายใจถี่และแรง อึดอัด เจ็บในอก ทรวงอกบุ๋มมีอาการเกร็งไม่ขยายตัว ทำให้รู้สึกเหมือนปอดแฟบเล็กลงจนหายใจไม่สะดวก อาจวิงเวียน ปวดท้อง และหมดแรง อาการมักเกิดภายหลังการออกกำลังที่หนักสักพักใหญ่ (ไม่เกิน 15 นาที) ถ้าปล่อยให้อาการหนักมาก ไม่ได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที อาจทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เกิดการคั่งค้างของกาซคาร์บอนไดออกไซด์ จนทำให้เกิดภาวะการหายใจล้มเหลวตามมาได้

ผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ออกกำลังหนักเกินไป ประมาณถึงร้อยละ 80-90 ของผู้ป่วยจะแสดงอาการ EIB ที่เป็นเช่นนี้เพราะการออกกำลังที่หนัก ทำให้ร่างกายต้องการออกซิเจนมากขึ้น ต้องการขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายมากขึ้น ทำให้ต้องหายใจลึก เร็ว และหนักขึ้นตามลำดับ จนบางครั้งต้องหายใจทางปากช่วยด้วย เพื่อให้ทันกับความต้องการของร่างกาย การหายใจเช่นนี้ทำให้อุณหภูมิภายในทางเดินหายใจลดลง ทำให้เสียน้ำ และความชื้นภายในทางเดินหายใจลดลง ภาวะทางเดินหายใจแห้งและเย็นนี้เองที่เป็นเหตุกระตุ้นให้เกิด EIBซึ่งมิใช่จะเกิดกับผู้ป่วยหอบหืดเท่านั้น แม้ในคนปกติทั่วไปที่ออกกำลังหนักเกินไปก็มี EIB เกิดขึ้นได้ เช่นพบได้ในนักกีฬาที่ฝึกหนักเกินไปถึงร้อยละ 10 หรือผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคหอบหืด แต่มีประวัติเป็นภูมิแพ้เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นแพ้อากาศ แพ้อาหารบางชนิด พบว่ามี EIB ได้ถึงร้อยละ 50 โดยทั่วไป

ผู้ที่จะมี EIB ง่ายมักจะมีอาการที่พอจะสังเกตุได้ง่าย ๆ คือ เป็นหวัดง่าย มีเสมหะในคอ ทำให้ต้องกระแอมไล่เสมหะเสมอ ถ้าให้ออกกำลังหนัก เช่นให้วิ่งเร็วไม่เกิน 5 นาที ก็จะหมดแรง ถ้าออกกำลังในอากาศที่แห้ง เย็น เช่น ในห้องปรับอากาศ หรือที่มีลมเย็นพัดแรง จะเกิด EIB ได้ง่าย แต่จะออกกำลังได้ดีในน้ำ ขณะที่อากาศและอุณหภูมิในน้ำอุ่นพอดี เพราะน้ำช่วยรักษาอุณหภูมิและความชื้นภายในทางเดินหายใจให้ปกติตลอดเวลาออกกำลังกาย บุคคลที่เป็น EIB ง่าย ๆ เหล่านี้ อาจมีความไวสูงต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงในระบบทางเดินหายใจ มากกว่าคนอื่น ๆ เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคหอบหืดซึ่งมีความไวสูงยิ่งกว่า เข้าใจว่าผู้ป่วยหอบหืดอาจจะมีเซลล์เม็ดเลือดขาว (mast cells) ในเนื้อเยื่อปอดและทางเดินหายใจมากผิดปกติ เซลล์เหล่านี้เมื่อถูกกระตุ้นด้วยสารภูมิแพ้ หรือภาวะเปลี่ยนแปลงในระบบหายใจ จะหลั่งสารที่กระตุ้นการหดเกร็งของถุงลมปอดและหลอดลม จึงเกิด EIB ได้ง่าย และเฉียบพลัน

โรคหอบหืดเป็นโรคที่เป็นกันมาก ปัจจุบันนี้จะพบมากขึ้นในเด็กเล็ก เนื่องจากภาวะแวดล้อมเป็นพิษ โรคหอบหืดไม่ใช่เป็นโรคที่น่ากลัวอย่างที่เคยเข้าใจกันมาแต่ก่อน เพราะปัจจุบันนี้มีวิธีการรักษาได้ และเป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ด้วยว่าผู้ที่เป็นโรคหอบหืด สามารถออกกำลังกายได้ และการออกกำลังกายก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืด เพราะการออกกำลังกายสามารถช่วยบรรเทาอาการหอบหืดทำให้อาการดีขึ้น ถึงแม้จะไม่หายขาดจากโรคเลยทีเดียวแต่จะทำให้ผู้ป่วย แข็งแรงขึ้น EIB ลดลง ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป เด็กที่ป่วยด้วยโรคหอบหืดทั่วไป เมื่อออกกำลังหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังจะรู้สึกไม่ค่อยสบายดังกล่าวมาข้างต้น เด็กเหล่านี้จึงขาดความมั่นใจ และไม่ชอบที่จะร่วมกิจกรรม เช่น เล่นกลางแจ้ง ฝึกวิชาพละศึกษา หรือเล่นกีฬาเหมือนเด็กทั่วไป ทำให้มีลักษณะเหมือนเด็ก เกียจคร้าน ไม่เอาไหนในสายตาของญาติพี่น้องที่บ้าน และเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน ซึ่งมีผลทั้งทางด้านจิตใจ ทำให้เด็กมีปมด้อยคิดว่าตัวเองมีความสามารถต่ำกว่าเพื่อน เด็กจะแยกตัวเองจากกลุ่ม เลี่ยงการทำกิจกรรมร่วมกับเด็กอื่น ๆ ผลที่ตามมาก็คือ เด็กจะขาดการออกกำลังกาย ร่างกายจะยิ่งอ่อนแอลง เป็นเหตุให้อาการโรคหอบหืดรุนแรงขึ้นตามลำดับ

เด็กที่ป่วยด้วยโรคหอบหืดจำเป็นที่จะต้องออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่เหมาะสมเป็นไปตามขั้นตอนตามลำดับภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ พยาบาล และครู ฝึกออกกำลังกาย จะทำให้เด็กเริ่มเรียนรู้ว่าตนเองสามารถออกกำลังกายได้ เด็กจะรู้สึกแข็งแรงขึ้นสามารถควบคุมไม่ให้เกิด EIB ในที่สุดเด็กจะมั่นใจที่จะร่วมกิจกรรมและเล่นกีฬาได้เหมือนเด็กปกติอื่น ๆ หรืออาจพัฒนาจนถึงขั้นเป็นนักกีฬาที่ใช้กำลังหนักมาก ๆ ได้ เป็นที่มาของความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจของ ผู้ป่วยเองและผู้ที่รักใคร่ใกล้ชิด ที่สามารถควบคุมเอาชนะโรคได้

การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ สำหรับคนทั่วไป

สุขภาพที่ดี หมายถึง การมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บใด ๆ และมีสุขภาพจิตที่ดี ร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ต้องประกอบด้วยอวัยวะทุกระบบที่สมบูรณ์แข็งแรง สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อวัยวะในระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ ระบบหายใจ ระบบประสาท กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อต่อต่าง ๆ เป็นต้น การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี มีวิธีการหลากหลายรูปแบบให้เลือก ขึ้นอยู่กับความชอบ ความสนใจ และความถนัดของผู้ออกกำลังกาย คนส่วนใหญ่จะออกกำลังกายเพื่อการพักผ่อน สังคม ธุรกิจ การแข่งขัน การกีฬา และสุขภาพ

การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ หากหวังผลแน่นอน จำเป็นจะต้องเลือกวิธีการ การวางแผนการฝึก จัดวางตารางเวลา และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน หรือไม่ได้ออกกำลังเป็นประจำอยู่แล้ว ควรเริ่มด้วยการออกกำลังเพื่อสร้างความแข็งแรงของหัวใจ ระบบหมุนเวียนโลหิต และระบบหายใจเสียก่อน คือเลือกออกกำลังแบบแอโรบิค (Aerobic Exercise) เช่น การเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน เต้น แอโรบิค เป็นต้น โดยออกกำลังอย่างต่อเนื่องไม่หยุด นานประมาณ 15-30 นาที ด้วยความหนักที่พอเหมาะพอดีกับสุขภาพร่างกาย ฝึกประมาณสัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง ภายใน 3 – 6 เดือน จะปรากฏผลให้เห็นได้ชัดว่าหัวใจและปอดแข็งแรงขึ้น และมีผลให้การทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ทั่วร่างกายแข็งแรง มีประสิทธิภาพดีตามไปด้วย จะรู้สึกว่าร่างกายเบาสบาย คล่องแคล่ว แข็งแรง สามารถออกกำลังได้หนักและนานยิ่งขึ้นกว่าเดิม เป็นผลพวงแบบลูกโซ่ตามมา คือ สุขภาพดียิ่งขึ้นตามลำดับจนกลายเป็นคนสมบูรณ์แข็งแรงเต็มที่ หรือเป็นนักกีฬาได้ในที่สุด นอกจากการออกกำลังกายแบบแอโรบิคแล้ว

การออกกำลังกายแบบแอนแอโรบิค (Anaerobic Exercise) การฝึกด้วยน้ำหนัก (Weight Training) และการออกกำลังโดยเหยียดยืด (Stretching Exercise) ก็เป็นการฝึกที่ควรทำประกอบไปด้วยเพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงเต็มที่ ความหนักในการออกกำลังกายแบบแอโรบิคของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัย และสุขภาพร่างกายของบุคคลนั้น ๆ ความหนักของการออกกำลังกายไม่ได้ดูที่การเคลื่อนไหว ร่างกายว่าเร็วหรือช้า หนักหรือเบา แต่วัดได้ด้วยอัตราการเต้นของหัวใจ (ชีพจร) เมื่อออกกำลังหนักขึ้น ๆ หัวใจจะยิ่งเต้นเร็วขึ้นตามลำดับ

ดังนั้นการออกกำลังในขนาดพอเหมาะพอดี ก็ควรเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อเร่งให้ชีพจรสูงขึ้นในระดับที่พอดี คือประมาณ 60-80% ของชีพจรสูงสุดของบุคคลนั้น สามารถคำนวณได้จากสูตรต่อไปนี้

60% ของชีพจรสูงสุด = 0.6 ( 220 – อายุ – ชีพจรขณะพัก ) + ชีพจรขณะพัก

ตัวอย่างการคำนวณ เช่น คนในวัย 20 ปี มีชีพจรขณะพัก 80 ครั้งต่อนาที

60% ของชีพจรสูงสุด = 0.6 (220 – 20 – 80) + 80 = 152 ครั้ง/นาที

80% ของชีพจรสูงสุด = 0.8 (220 – 20 – 80) + 80 = 176 ครั้ง/นาที

ดังนั้น บุคคลนี้ควรออกกำลังจนหัวใจเต้นได้ถึง 152 ครั้ง/นาที หรือมากกว่า แต่ไม่เกิน 176 ครั้ง/นาที ผู้ที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เมื่อออกกำลังประมาณนี้จะไม่เหนื่อย มากนัก สามารถทำได้นานต่อเนื่องถึง 15 – 30 นาที โดยไม่หยุดพักก็ได้ แต่อาจหนักเกินไปสำหรับคนที่ร่างกายอ่อนแอ หรือมีความผิดปกติโดยเฉพาะในระบบหายใจ หัวใจ และ ทางเดินโลหิต ผู้ที่คิดจะออกกำลังกายโดยเฉพาะผู้ที่มีวัย 35 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว จึงควรให้แพทย์ตรวจร่างกายก่อนเพื่อความปลอดภัย

ในการออกกำลังกายแต่ละครั้ง ควรระมัดระวังมิให้เกิดการบาดเจ็บ เช่น ก่อนออกกำลังกายก็ควรอบอุ่นร่างกาย (warm up) เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมที่จะออกกำลังหนักได้โดยปลอดภัย ควรใช้เวลาอย่างน้อย 5 นาที หลังจากการออกกำลังก็ควรผ่อนคลายการออกกำลัง (cool down) เพื่อร่างกายจะได้กลับคืนสู่สภาพปกติ ควรใช้เวลาอย่างน้อย 5 นาทีเช่นกัน การ warm up และ cool down นี้ ถ้าได้ทำนานกว่านี้ เช่น 10 – 15 นาที จะยิ่งดี โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอ และผู้สูงอายุ

ตารางชีพจรขณะออกกำลังกายสำหรับคนทั่วไป

ช่วงอายุ (ปี) ชีพจรขณะออกกำลังกาย (ครั้ง / นาที)

0 – 10 ffffffffffff161 – 188 
11 – 20 fffffffff 155 – 180 
21 – 30 ffffffff f149 – 172
31 – 40 fffffffff 143 – 164
41 – 50 fffffffff 137 – 156
51 – 60 fffffffff 131 – 148
> 60fffffffffffffff 125 – 140

การออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหอบหืด

                ผู้ป่วยโรคหอบหืดที่เป็นมาก  ถ้าให้ออกกำลังกายเพียงเล็กน้อยก็อาจมีอาการ EIB ตามมาได้ จึงไม่ควรออกกำลังตามใจชอบ ควรให้แพทย์รักษาจนสามารถควบคุมอาการของโรคและ   ป้องกัน EIB ที่จะเกิดจากการออกกำลังให้ได้เสียก่อน
เมื่อแพทย์เห็นสมควรให้ออกกำลังกายได้  ก็ควรเริ่มด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ และออกกำลังอย่างเบาที่สุดก่อน  โดยมีแพทย์  พยาบาล  และครูฝึก  คอยดูแลอย่างใกล้ชิด  เพื่อเฝ้าระวังมิให้เกิด EIB  ในระยะเริ่มแรกแพทย์อาจต้องใช้ยาเพื่อป้องกัน EIB เช่น พ่นยาขยายหลอดลม เป็นต้น  ผู้ป่วย หอบหืดที่เป็นมาก  ถ้าให้ออกกำลังหนักในระดับที่คนปกติทำได้มักแสดงอาการ EIB ภายใน 15 นาที  หลังจากเริ่มออกกำลังกาย  ดังนั้นจึงควรเลือกวิธีการออกกำลัง  เช่น  ควรเดิน  แต่ไม่ควรวิ่ง  ใช้ท่ากายบริหาร  และการเหยียดยืดกล้ามเนื้อ  และข้อต่อ  หรือฝึกยกน้ำหนักเบา ๆ   ใช้เวลาในการ warm up          10–15 นาที หรือมากกว่านั้น โดยไม่เข้าสู่ระดับการ            ออกกำลังหนักเลยก็ได้  เป็นการออกกำลังเบาแต่ใช้เวลานาน  ซึ่งมีผลให้ร่างกายดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง  นอกจากนี้  การ warm up  เป็นเวลานานกว่า 15 นาที  ก่อนการออกกำลังกายยังอาจช่วยให้ผู้ป่วยบางคนสามารถออกกำลังหนักขึ้นได้  โดยไม่เกิด EIB ซึ่งเข้าใจว่าการ  warm up นาน ๆ จะกระตุ้นให้ต่อมอดรีนัล (Adrenal Gland) หลั่งสารอีพิเนฟริน (Epinephrine) หรือ                        สารนอร์อีพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งเป็นสารขยายหลอดลม และอาจช่วยลดปริมาณเม็ดเลือดขาวในทางเดินหายใจได้ด้วย
ภายหลังการออกกำลังกายทุกครั้ง  ทุกสัปดาห์  และทุกเดือน  ที่ผ่านไป  ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจร่างกาย  เพื่อประเมินว่าการออกกำลังกายและการรักษาให้ผลดีหรือไม่เพียงใด เช่น       ผู้ป่วยใช้ยาน้อยลง  หรือผู้ป่วยไม่แสดงอาการ EIB ในขณะออกกำลัง เป็นต้น  การออกกำลังแบบแอโรบิคมีผลทำให้ระบบหายใจ และระบบหมุนเวียนโลหิตแข็งแรงขึ้น  กล้ามเนื้อแข็งแรง  และการเคลื่อนไหวร่างกายดีขึ้น จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยสามารถออกกำลังได้หนักและนานขึ้นกว่าเดิม  จึงควรปรับกิจกรรมการออกกำลังให้เหมาะสมกับสมรรถภาพร่างกายที่ดีขึ้น เพื่อให้ได้ผลที่ดียิ่งขึ้นตามลำดับ  การปรับการออกกำลังให้หนักและนานขึ้นก็ควรเป็นไปอย่างระมัดระวังมาก ๆ เพราะความเสี่ยงที่จะเกิด EIB ก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน การลดความเสี่ยงอาจทำได้โดยให้ออกกำลังหนักขึ้น  ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 0.5 – 2 นาที  สลับกับการออกกำลังเบา ๆ  หรือพักสัก 2 – 3 นาที ทำซ้ำหลาย ๆ รอบ  ร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวจนสามารถยืดช่วงเวลาการออกกำลังหนักให้นานขึ้น  พร้อมกับลดเวลาการพักให้น้อยลง  จนในที่สุดอาจสามารถออกกำลังหนักติดต่อกันไปโดยไม่ต้องพัก
EIB อาจเกิดภายหลังการออกกำลังกายเสร็จเรียบร้อยแล้วหลายชั่วโมง (ไม่เกิน 24 ชั่วโมง) การ cool down   เป็นเวลานานกว่า 10 นาที  จะช่วยลด EIB ภายหลังการออกกำลังกาย
กิจกรรมการออกกำลังกายควรให้ผู้ป่วยเลือกชนิดที่ชอบ ถนัด และสนุกที่จะทำ  เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเครียด  ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่รู้ว่าทำแล้วมักเกิด EIB เช่น  ถ้าวิ่งแล้วรู้สึกว่าเกิด EIB บ่อย ๆ แต่สามารถถีบจักรยานได้อย่างสบาย ๆ ก็ควรเลือกการถีบจักรยานเป็นการออกกำลังกายจะเหมาะกว่า  ผู้ป่วยโรคหอบหืดมักชอบออกกำลังกาย   ในน้ำ เพราะไม่ทำให้เกิด EIB จะเห็นว่ามีผู้ป่วยหอบหืดสามารถเป็นนักกีฬาว่ายน้ำได้ ผู้ป่วยหอบหืดที่ออกกำลังกายจน  แข็งแรงเต็มที่และอยากจะเล่นหรือแข่งขันกีฬา ก็อาจทำได้ แต่ควรเลือกประเภทกีฬาที่ไม่หนักเกินกำลังของตนเอง  เช่น  เล่นกอล์ฟ  ยิมนาสติก  หรือแม้แต่เทนนิส  วอลเล่ย์บอล  ฟุตบอล     ก็อาจเล่นได้ถ้ารู้จักฝึกอย่างถูกต้อง
นอกจากการฝึกออกกำลังกายอย่างถูกต้อง และการรู้จักใช้ยาในภาวะที่จำเป็นแล้ว ผู้ป่วยหอบหืดที่รักการออกกำลังกายควรฉลาดที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่จะกระตุ้นให้เกิด EIB เช่น ควรเลือกออกกำลังในสถานที่ที่บรรยากาศถ่ายเท           ปลอดโปร่ง  สะอาด  ปราศจากฝุ่นละออง  เกษรดอกไม้           สารภูมิแพ้  เช่น  สารเคมี  ควันพิษ  ควันบุหรี่  ควันท่อไอเสีย     รถยนต์  ตลอดจนสัตว์ที่กระตุ้นภูมิแพ้  สถานที่ออกกำลังกายควรมีอุณหภูมิและความชื้นพอเหมาะ ไม่ควรออกกำลังภายในที่หนาวเย็น  หรือลมแรง  ระวังอย่าให้เกิดภาวะเครียด  และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่กระตุ้นภูมิแพ้  เช่น  กุ้ง  ปลา  ถั่ว  ไข่ขาว  และอื่น ๆ

ที่มา  http://www.thaipedlung.org/mustknow_dek_01.php
หมายเลขบันทึก: 431629เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2011 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท