ข้อค้นพบจากงานวิจัยมิตินโยบาย การบริหารงาน


ข้อค้นพบจากงานวิจัยมิตินโยบาย การบริหารงาน

ข้อค้นพบจากงานวิจัย มิตินโยบาย/การบริหารงาน 

 

ประเด็น

ข้อค้นพบ

การบริหารงาน

ที่ผ่านมา

เนื่องจากปี ๒๕๔๖ – ๒๕๕๒ มีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายชุด แต่ไม่ว่านโยบายยาเสพติดจะเหมือนหรือต่างกัน ทรัพยากรการบริหารที่สำคัญคืองบประมาณที่ส่วนราชการต้องใช้ในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ข้อมูลบ่งชี้ว่างบประมาณได้ถูกจัดวางไว้แล้วล่วงหน้า ๑ ปี หน่วยงานต่างๆ ทำงานตามคำของบประมาณจึงมิได้นำยุทธศาสตร์ของรัฐบาลมาพิจารณา หน่วยปฏิบัติมักนำโครงการที่ได้รับงบประมาณตามคำของบประมาณมาจัดกลุ่มให้สอดคล้องกับแนวทาง

ตามยุทธศาสตร์ ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายใด หน่วยปฏิบัติยังคงปฏิบัติเช่นเดิม สำหรับจังหวัดที่สามารถบูรณาการงบประมาณและมาจัดสรรใหม่ตามลำดับความจำเป็นตามสถานการณ์และนโยบายมีจำนวนน้อย ส่วนมากใช้วิธี “แบ่งเค้ก” ด้วยหวังในสัมพันธภาพและการประสานงานที่ดีต่อกันในอนาคต[1]

 

 

 

 

 

ประเด็น

ข้อค้นพบ

แนวคิดการพัฒนาการแก้ไขปัญหายาเสพติดและการพัฒนานโยบาย[2]

หลักการฯ เดิม พยายามลดอุปสงค์และอุปทานของยาเสพติดโดยใช้มาตรการความร่วมมือทางกฎหมาย มองว่าสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็น “อาชญากรรม” แต่ไม่สามารถทำให้ปัญหายาเสพติดลดลง โดยก่อให้เกิด

-ระบบการควบคุมยาเสพติดมีผลเชิงลบมากขึ้น เช่น เพิ่มผลกำไรให้ผู้ค้า เพิ่มจำนวนการเข้าถึงความเป็นอาชญากรรม

-ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดเกี่ยวพันกับปัญหาสุขภาพโดยตรงและมีหลักฐานสนับสนุนว่ามีผลมาจากความเป็นอาชญากรรมและความเป็นคนชายขอบ

-สหประชาชาติมีความสนใจและกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการควบคุมปัญหายาเสพติด

รัฐบาลจึงจำเป็นต้องทำการตรวจสอบกฎหมายด้านยาเสพติด กลยุทธ์ เพื่อให้ใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และบรรลุวัตถุประสงค์พื้นฐานของนโยบายยาเสพติด คือ “เพื่อเพิ่มความมั่นคงของมนุษย์ สุขภาพ และการพัฒนา” โดยเสนอแนวทางพัฒนานโยบาย ดังนี้

   ๑)  ยุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ ด้านยาเสพติด จะต้องพัฒนามาจากกระบวนการประเมินโครงสร้างนโยบายและวัตถุประสงค์โดยผ่านการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการต่างๆ และมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนอย่างเพียงพอ กรอบด้านเป้าประสงค์ต้องครอบคลุมชนิดของยาเสพติดที่มีผลกระทบต่อเนื่องและมีแนวโน้มเป็นอันตรายต่อสังคม และให้ความสำคัญกับการลดความรุนแรงและองค์กรอาชญากรรม ผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชน การติดเชื้อเอดส์ และเชื้ออื่นๆ เป็นต้น กรอบยุทธศาสตร์และมาตรการต้องสอดคล้องกับเป้าประสงค์ และกรอบด้านหน่วยงานต้องมีการประสานความร่วมมือในทุกระดับ เช่น กระทรวง กรม องค์กรท้องถิ่น ชุมชน และกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย รวมทั้งกรอบด้านทรัพยากร เป้าหมาย เวลา และพันธกิจ

   ๒)  กิจกรรมทุกอย่างควรดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

 โดยบุคคลต้องไม่ถูกจำกัดสิทธิ์เพราะเป็นผู้เสพ ผู้เพาะปลูกยาเสพติด หรือมีเชื้อ HIV/AIDS ต้องมีสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องไม่ถูกคุกคามต่อสิทธิการมีชีวิตอยู่ ไม่ถูกวิสามัญฆาตรกรรม อาจไปถึงการพิจารณาไม่มีโทษประหารชีวิต ไม่ถูกคุกคามโดยเป็นผู้ถูกกักบริเวณ ถูกทารุณกรรม ไม่ตกเป็นทาส  ได้รับการดูแลด้านสุขภาพขั้นพื้นฐาน ไม่มีการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ถูกแปลกแยกจากคนอื่น ตราบาป มลทินที่เกิดจากการ

บังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ โดย

-ให้ความสำคัญกับสุขภาพด้วยการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐาน การป้องกัน บำบัด และดูแลสุขภาพผู้เกี่ยวข้อง และการพัฒนามาตรการลดอันตราย

 

ประเด็น

ข้อค้นพบ

 

-การให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างรอบด้านไม่เพียงแต่ทางเลือกในการพัฒนาเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจน การศึกษา การจ้างงาน และความมั่นคงทางสังคม

-การให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดรายสำคัญมากกว่ากลุ่มผู้ค้ารายย่อย ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และประชากรกลุ่มเสี่ยง

๓)  นโยบายด้านยาเสพติดควรเน้นการลดผลกระทบที่เป็นอันตรายมากกว่ามุ่งลดขนาดของอุปสงค์และอุปทาน

นโยบายที่ให้ความสำคัญกับการลดอันตรายมีประสิทธิผลดีกว่านโยบายปลอดยาเสพติด มาตรการต่างๆ มักมุ่งเน้นส่งเสริมสุขภาพ เช่น โครงการป้องกันอันตรายจากการใช้ยาเสพติด การป้องกันยาเสพติด การส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นต้น เพื่อลดอันตรายต่อตัวบุคคล ชุมชน  และประชากรโดยรวม ดำเนินการโดยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข สวัสดิการสังคม และสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการการเพิ่มศักยภาพผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพื่อเพิ่มผลผลิตทางสังคม ภาครัฐจึงควรเริ่มประเมินอันตรายจากการใช้ยาเสพติดอย่างจริงจัง และวางนโยบายที่เหมาะสมเพื่อการแก้ปัญหาที่ตรงเป้าหมาย

๔)  ยุทธศาสตร์และมาตรการด้านยาเสพติดและกิจกรรมต่างๆ ควรดำเนินการในลักษณะเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มทางสังคมของกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนด้อยโอกาส ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมมีความสัมพันธ์กับการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อันเนื่องมาจากปัญหาความยากจน ที่อยู่อาศัย สุขภาพจิต ซึ่งเป็นสิ่งอ่อนไหวอันจะนำสู่การติดยาเสพติด รัฐจึงต้องผลักดันมาตรการต่างๆ อย่างระมัดระวัง เช่น

-มาตรการลดมลทินทางสังคม เพิ่มการยอมรับของชุมชนให้ผู้มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนได้

-มาตรการลงโทษเยาวชนที่เป็นผู้เสพและครอบครองเพื่อเสพโดยไม่ให้ต้องออกจากระบบการศึกษา หรือออกจากงาน

-ดำเนินการให้เหมาะสมในมาตรการที่เน้นการจำคุก ทั้งนี้ เนื่องจากการลงโทษรุนแรงต่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยหวังให้หลาบจำ เนื่องจากจะส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีปัญหาด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น และใกล้ชิดกับองค์กรอาชญากรรมมากขึ้น

-มาตรการบังคับใช้กฎหมายจะผลักดันให้ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหลบลงใต้ดินและมาตรการทางสังคมไม่ได้ผล

 

 

 

 

ประเด็น

ข้อค้นพบ

 

๕) รัฐบาลควรสร้างความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับภาคประชาชนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และส่งมอบภารกิจพร้อมสนับสนุนกลยุทธ์ของภาคประชาชนเป็นเจ้าของดำเนินการได้เอง ภาคประชาสังคมควรเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การกำหนดนโยบายจนถึงการขับเคลื่อนนโยบาย ด้วยการวางโครงสร้างและเงื่อนไขต่างๆ เพื่อการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ สนับสนุนให้มีการสื่อสารระหว่างผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผน รับรู้ในมาตรการ และโครงการต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อตนเอง ค้นหาหุ้นส่วนและผู้รับประโยชน์จากองค์กรภาคประชาชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะผู้ร่วมปฏิบัติงานและขับเคลื่อนงาน กระตุ้นเครือข่ายภาคประชาสังคมให้สนับสนุนนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่กำหนดขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลการดำเนินงาน

 

 

 

ประเด็น

ข้อค้นพบ

ข้อเสนอการบริหารจัดการ

ด้านตัวยาและการเฝ้าระวัง

 

 -ด้านตัวยาที่แพร่ระบาด พบว่าหน่วยงานรัฐให้ความสำคัญกับตัวยาหลักโดยมิได้สนใจยารักษาโรคที่ใช้ในทางที่ผิดและการนำสารเคมีทางอุตสาหกรรมมาใช้เสพอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่งและเมื่อรัฐกดดันด้านการปราบปราม ผู้เสพผู้ติดยาเสพติดจะหันไปใช้ยาในทางที่ผิดมากขึ้น ดังนั้นการติดตามแนวโน้มของสารเสพติดจึงควรขยายความให้ครอบคลุมแนวโน้มของแพร่ระบาดที่ปรากฏในกฎหมายอันประกอบด้วย พรบ.ยาเสพติดให้โทษฯ พรบ.วัตถุออกฤทธิ์ พรบ.สารระเหย และ พรบ.โภคภัณฑ์ควบคุม และควรมุ่งเน้นอธิบายปัญหาของตัวสารที่แพร่ระบาดใน ๓ มิติ คือ กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง พื้นที่แพร่ระบาด และช่วงเวลาแพร่ระบาด แล้วจึงทำการวิเคราะห์สาเหตุของการแพร่ระบาด ประเด็นแหล่งผลิต ช่องทางการไหลออกจากแหล่งผลิต วิธีการเคลื่อนย้ายมายังพื้นที่เป้าหมาย และหนทางที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาด ซึ่งจะสามารถบ่งชี้ได้ว่ามาตรการ และปฏิบัติการที่ดำเนินการอยู่ในขณะนั้นได้ก่อให้เกิดประสิทธิผลที่ต้องการเป็นอย่างไร ทั้งนี้ระบบเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถเชื่อมต่อเป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศทุกระดับ และมีเนื้อหาของการเฝ้าระวังครอบคลุมไปถึงอุปทาน อุปสงค์ และผลกระทบ

 

 

ประเด็น

ข้อค้นพบ

ข้อเสนอด้านกฎหมาย

กระบวนการยุติธรรมใช้ระยะเวลานานตั้งแต่การจับกุม จนถึงการส่งฟ้อง เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมไม่ใช่เจ้าหน้าที่ผู้สืบสวนส่งฟ้อง จึงเกิดช่องว่าง และเกิดความคลาดเคลื่อนในสาระสำคัญของคดีเป็นจุดอ่อนของระบบให้ผู้กระทำผิดหลุดพ้นจากข้อกล่าวหา นอกจากนี้ยังมีความสับสนระหว่างอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอาญา และกฎหมายยาเสพติด ทำให้ผู้ปฏิบัติงานวิตกกังวลจึงควรดำเนินการทบทวนให้มีความสอดคล้องกันเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ

 

การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในการตรวจค้น จับกุม สกัดกั้น การข่าวพื้นที่ 

 

-การสกัดกั้นในพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพเกิดจากเจ้าหน้าที่มีทักษะในการตรวจค้นสูง ดังนั้นการวางกำลังสกัดกั้นควรพิจารณาถึงศักยภาพของเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่เดิม           ไม่ควรให้มีการเพิ่มศักยภาพในทุกด้านของเจ้าหน้าที่

-สำหรับประสิทธิภาพในการจับกุมในพื้นที่ขึ้นอยู่กับระบบการข่าวข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ดังนั้นการวางสายข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางสายข่าวเพื่อทราบข้อมูลก่อนยาเสพติดจะถูกนำเข้าและสายข่าวเพื่อเข้าถึงเครือข่ายผู้ค้ายา โดยความถูกต้อง น่าเชื่อถือเกิดจากการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และเป็นวิทยาศาสตร์

 

ข้อเสนอด้านลดอุปสงค์และลดผลกระทบ

 

-ในด้านการป้องกันพบว่าผู้ปฏิบัติขาดความรู้ในด้านการป้องกันที่มีประสิทธิผล จึงไม่สามารถบ่งชี้ว่าสิ่งที่จัดให้กลุ่มเสี่ยงจะสามารถป้องกันการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้ดีเพียงใดและคุ้มค่าหรือไม่ ผู้ปฏิบัติจึงเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดความรู้และสุขศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบเท่านั้น งบประมาณที่ได้รับจึงนำไปใช้ในโครงการเดิมโดยขาดตัวชี้วัดถึงประสิทธิผลการดำเนินงาน

-ในด้านการบำบัด บุคลากรที่ให้การบำบัดรักษามีการโยกย้ายสับเปลี่ยน มีบุคลากรกว่าร้อยละ ๑๐ ที่ต้องให้การบำบัดฯ ผู้ป่วยโดยไม่ผ่านการฝึกอบรมทั้งในและต่างประเทศ และกว่าร้อยละ ๒๐ ที่ผ่านการฝึกอบรมแต่ยังขาดทักษะในการบำบัด และยังมีข้อสงสัยด้านมาตรฐานการบำบัดและการติดตามผลการบำบัดรักษา ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านการป้องกันและบำบัดจึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงปัญหางบประมาณด้านความพอเพียงและความเป็นธรรมของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

-ด้านลดผลกระทบ ต้องพิจารณาถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อตัวผู้เสพเอง ต่อชุมชน คนรอบข้าง ซึ่งควรมีมาตรการลดผลกระทบทั้งในแง่ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน อาชญากรรม ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ

 



[1] ศึกษานโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด,รศ.ดร.มานพ คณะโต และคณะ,๒๕๕๓

[2] เพิ่งอ้าง

หมายเลขบันทึก: 431396เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2011 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีข้อค้นพบ(เดิม ๆ) เพิ่มเติมดังนี้ครับ

ระบบราชการ เองไม่ได้ให้การสนับสนุนการทำงานเหมือนลมปากที่พ่อนออกมาแต่ละรัฐบาลเลย

ตัวอย่างเช่น ในการสนับสนุนประประมาณของภาครัฐ ที่มีต่อภาคประชาสังคมระดับพื้นที่ กลุ่มคนหรือชุมชน จะลดลงทุกปี

แต่ในขณะที่บุคลากรภาครัฐ ยังเบิกได้เต็ม ทั้งค่าเดินทาง เบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ฯลฯ

ส่วนภาคประชาสังคม ไม่ว่าอยู่บนเขาลูกไหน ดอยไหน ต้องมาเสียเวลาในร้อยละ ร้อยห้าสิบถึงสองร้อย ในการจัดทำเอกสารการเงิน เช่น ถึงแม้ว่ารับเงินห้าบาท ต้องมีสำเนาบัตร จ่ายเงิน10 บาทต้องมีใบเสร็จที่มีหัวร้าน เวลาจะถ่ายเอกสารต้องเดินทางไป 20 กม. ระหว่างชุมชนเดินทางไปมาหาสู่กัน 10 กิโลเมตร เส้นทางสันเขาให้ค่าเดินทาง 100 บาท งบประมาณสนับสนุนการทำงานภาคประชาสังคม ของทั้งจังหวัดสามปี เท่ากับการจัดประชุมสัมนาของหน่วยงานภาครัฐ ด้านยาเสพติดที่จัดในโรงแรมครั้งเดียว

นี่คือเศษเสี้ยวของภาพจริงที่เกิดขึ้นครับ และที่สำคัญ ไม่มีนักวิชาการคนไหน ที่ลงมาทำงานและเคียงข้างกับภาคประชาสังคมอย่างแท้จริงครับ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท