ข้อคิดเห็นต่อแนวทางในการสนับสนุนทุนโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับประถมศึกษา ของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค)


ในระยะแรก สสค อยู่ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส และในอนาคตจะมิทิศทางของการดำเนินการแบบเดียวกับ สสส นั่นหมายถึง อยู่ในรูปของกองทุนในระดับพระราชบัญญัติ

วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมประชุมผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำความเข้าใจและหารือแนวทางในการสนับสนุนโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับประถมศึกษา โดยสาระหลักๆมี ๒ ส่วนคือ

(๑)               การทำความเข้าใจความเป็นมาของ สสค ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตามมติ ครม. วันที่ ๑๑  พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมพลังทางสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ให้มากยิ่งขึ้น ขับเคลื่อนสังคมไทยให้มีจิตสำนึกของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งผลให้เยาวชนไทยมีคุณภาพที่สูงขึ้น มีสุขภาวะที่ดีโดยดำเนินงานผ่าน การสนับสนุนการพัฒนาความคิดริเริ่มดีๆในรูปแบบของการปฏิรูปการศึกษาไทย ในระยะแรก สสค อยู่ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส และในอนาคตจะมิทิศทางของการดำเนินการแบบเดียวกับ สสส นั่นหมายถึง อยู่ในรูปของกองทุนในระดับพระราชบัญญัติ

(๒)               แนวทางในการสนับสนุนทุนโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับประถมศึกษา ซึ่งมีประเด็นหลักๆของการสนับสนุนใน ๓ เรื่องคือ (๑) การสนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะการอ่าน (๒) การสนับสนุนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกและอยากเรียนไปพร้อมกัน และ (๓) การส่งเสริมการพัฒนาคุณลักษณะที่ดีงามของผู้เรียน ทั้งนี้ การสนับสนุนมีทั้งแบบเดี่ยว และ แบบกลุ่มโรงเรียนหรือการทำงานร่วมกับชุมชนได้

(๓)               ทั้งนี้ ผู้เขียนมีข้อสังเกตเล็กๆต่อทั้ง ๒ เรื่องข้างต้นใน ๕ ประเด็น

๓.๑      กองทุนนี้เป็นกลไก ไม่ใช่แหล่งเงินทุน เพื่อให้กองทุนนี้ตอบสนองต่อการพัฒนาและปฏิรูประบบการศึกษา ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า กองทุนนี้ไม่ใช่แหล่งเงินทุน แต่เป็น “กลไกหรือเครื่องมือ” สำคัญในการพัฒนาและปฏิรูประบบการศึกษา เพราะหากคนในสังคมไทยเข้าใจว่า กองทุนนี้เป็น แหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ ทุกคนจะมองกองทุนนี้เป็นแค่ เงิน เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว กองทุนนี้ต้องเป็นกลไกในการไปสนับสนุนการทำงานในรูปแบบต่างๆ มากกว่าแค่การสนับสนุนงบประมาณ เช่น การสนับสนุนความรู้ การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้ง การสนับสนุนการสร้างจิตวิญาณในเรื่องการรักในการเรียนรู้ให้กับมนุษย์ในสังคมไทย เป็นต้น

๓.๒     ขอบข่ายของการสนับสนุนไม่ได้จำกัดแค่นวัตกรรมใหม่ๆ แต่รวมถึง ประสบการณ์การเรียนรู้ทีดีด้วย และ ขอบข่ายการสนับสนุนต้องลงลึกถึง การสร้างวัฒนธรรมความรักในการเรียนรู้ และ การประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อตนเอง ชุมชน และ สังคม เข้าใจว่าโดยเนื้อหาหลักๆของการทำงานของกองทุนนี้ คือไม่ได้จำกัดแค่การแสวงหานวัตกรรมใหม่ๆเท่านั้น แต่หมายรวมถึง การส่งเสริมให้ค้นหาตัวอย่างเชิงประสบการณ์ที่ดี หรือ เรียกว่า รวบรวม สะสมGood practice และพัฒนาต่อยอดให้เป็น best practice  นอกจากนั้น ในแง่ของกรอบการสนับสนุนทั้ง ๓ เรื่อง อาจไม่เพียงพอ เพราะหากพิจารณาจากแนวคิดเรื่อง การปฏิรูปการเรียนรู้ ของ นพ.ประเวศ วะสี จะพบว่า ฐานเจดีย์ความรู้ของเด็ก เยาวชน ต้องเติบโตจากรากฐานของความรู้ในชุมชนก่อนที่จะเป็นความรู้ในเชิงอาชีวะ และ ความรู้ในเชิงวิชาการ เป้าหมายสำคัญของการสนับสนุนนอกจากจะสนับสนุนประเด็นหลักทั้ง ๓ แล้ว อาจจะต้องให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการสร้างจิตวิญญาณและวัฒนธรรมในการรักที่จะเรียนรู้ และ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และ สังคมได้ รวมไปถึง จิตวิญญาณและความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ไปยังผู้อื่นได้ด้วย

๓.๓      กลไกในการสนับสนุนหมายรวมถึงการให้ความรู้ในการพัฒนาโครงการด้วย หลายครั้งที่ผู้เสนอโครงการไม่ใช่นักเขียนข้อเสนอโครงการ หมายความว่า การเขียนข้อเสนอโครงการอาจจะไม่ได้สื่อความหมายเช่นเดียวกับที่ต้องการเขียน รวมถึง ผู้เสนอโครงการไม่ใช่นักวิจัยมืออาชีพ การเขียนข้อเสนอโครงการจึงอาจไม่ได้เป็นไปตามระเบียบวิธีวิจัย ในหลายโครงการจึงตกอยู่ในภาวะ “ไม่ผ่าน” ดังนั้นเพื่อให้เกิดการการพัฒนาศักยภาพของผู้เสนอโครงการ จำเป็นที่จะต้องมีกลไกในการสนับสนุนในการให้ความรู้ในการพัฒนาข้อเสนอโครงการ รวมทั้งทักษะในการทำงานศึกษาวิจัยให้กับผู้เสนอโครงการ ซึ่งอาจเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะก่อนเสนอโครงการโดยมีการเปิดรับผู้สนใจพัฒนาโครงการ และ ระยะหลังจากที่มีการเสนอโครงการเข้ามาแล้ว เพื่อพัฒนาทักษะในการทำงานเชิงวิจัย

๓.๔      กลไกในการขยายผลความรู้ที่ได้จากการทำงานของผู้ศึกษาไปยังสังคมแบบกลุ่มเดียวกันและแบบรวมกลุ่ม ในการสนับสนุนการเรียนรู้ของ สสค ได้กำหนดให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานต่อสาธารณะเพื่อเป็นการสนับสนุน ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ดังนั้นทุกโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจะตองเตรียมข้อมูลและสื่อสำหรับนำเสนอในเวทีปีละ ๒ ครั้ง ซึ่งอาจไม่เพียงพอ ควรจะต้องเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในอีก ๒  ระดับ คือ ระดับกลุ่มคนทำงานที่มีประเด็นการทำงานเหมือนหรือใกล้เคียงกัน ระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามกลุ่มและสามารถสร้างระบบการทำงานร่วมกันได้ และ การกำหนดเพียงปีละ ๒ ครั้ง อาจน้อยเกินไป ควรให้แต่ละระดับมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะนำองค์ความรู้ที่สังเคราะห์แล้วเข้าสู่เวทีรายงานผลประจำปี โดยเวทีรายงานผลนี้น่าจะเป็นตลาดนัดแห่งความรู้ที่ทุกคนจะได้นำเสนอผลงาน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ และ เสริมศักยภาพคนทำงาน รวมทั้ง สร้างกลไกในการสนับสนุนโดยภาคส่วนต่างๆ

๓.๕      กลไกในการต่อยอดเพื่อความยั่งยืน ในการสนับสนุนการทำงานคงต้องช่วยผู้เสนอโครงการในการทำงานเพื่อสร้างความยั่งยืนของการทำงานต่อยอดความรู้ที่ได้จากการทำงานในระดับพื้นที่ ในส่วนนี้ กองทุน น่าจะมีบทบาทในฐานะผู้สนับสนุนกระบวนการ หรือ กลไกในการทำให้ผู้เสนอโครงการสามารถทำงานต่อยอดโครงการในพื้นที่ได้ เช่น การจัดทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วนของพื้นที่ เป็นต้น เพื่อให้ในระยะยาว ผลการศึกษาจะกลายเป็นความรู้ของ “ชุมชน” และ ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนการทำงานต่อ

 

หมายเลขบันทึก: 431229เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2011 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 20:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท