DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

อดิลัน อาลีอิสเฮาะ “ศาลยกฟ้องแล้วทำไมไม่อยากเยียวยา”


 

อดิลัน อาลีอิสเฮาะ
“ศาลยกฟ้องแล้วทำไมไม่อยากเยียวยา”


มูฮำหมัด ดือราแม

 

ผลกระทบจากความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มีแค่ บาดเจ็บล้มตาย หรือทรัพย์สินเสียหาย แต่การถูกดำเนินคดีความมั่นคงในพื้นที่ก็คือผลกระทบอย่างหนึ่ง แต่ใครจะรู้บ้างว่า เป็นคดีที่ได้รับการพิสูจน์ทราบแล้วว่า จำเลยไม่มีความผิดตามคำพิพากษาของศาล ไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ เลย

โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา รายงานสถิติคดีความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2553 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม 2553 ว่า มีคดีที่ศาลพิพากษาแล้ว 238 คดี จำเลย 440 คน จากคดีอาญาที่เป็นคดีความมั่นคงทั้งหมด 7,439 คดี

ในจำนวน 238 คดี แยกเป็นคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ 135 คดี จำเลย 216 คน ยกฟ้อง 103 คดี จำเลย 224 คน เท่ากับมีคดียกฟ้องสูงถึง 43% ส่วนใหญ่อยู่ในศาลชั้นต้น รองลงมาคือศาลอุทธรณ์ และมีคดีที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเพียง 1 คดี คือคดีลอบวางระเบิดรถจักรยานยนต์หน้าบริษัทพิธานพาณิชย์ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เหตุเกิดเมื่อต้นเดือน มกราคม 2547 มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 นาย ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย

ที่สำคัญจำเลยที่ถูกยกฟ้องเหล่านี้ ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 จนกลายเป็นหนึ่งในข้อร้องเรียนที่มีต่อมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

‘อดิลัน อาลีอิสเฮาะ’ นักกฎหมายผู้เป็นหัวหน้ามูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา จึงมองเห็นปัญหาเหล่านี้ดี จึงพยายามสะท้อนปัญหาเหล่านนี้ออกมาจากฐานข้อมูลที่ตัวเองต้องสัมผัสอยู่ทุกวัน เพื่อให้นำสู่การแก้ปัญหา อันจะส่งผลดีต่อชายแดนใต้ตามไปด้วย

............


ปัญหาที่สำคัญที่สุดของงานเยียวยาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมคืออะไร?

ศูนย์ทนายความมุสลิมมีความเห็นว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในการพิจารณาจ่ายเงินในหลายประเด็น

ประเด็นที่เห็นบ่อยที่สุดคือ จำเลยในคดีอาญาที่เป็นคดีความมั่นคง 90% ที่ศาลพิพากษายกฟ้องไม่ได้รับการชดเชยตามพระราชบัญญัติฉบับนี้

ที่ผ่านมาเราให้จำเลยยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม แต่ยังไม่เคยได้รับการชดเชยซักราย โดยอ้างว่าศาลพิพากษายกฟ้อง จากข้อเท็จจริงเชื่อว่าจำเลยน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ศาลยกฟ้องเพราะประเด็นอื่น เช่น พยานหลักฐานอ่อน คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ใช้หลักเกณฑ์นี้มาตัดสิน เพื่อจะไม่จ่ายเงิน


ในเมื่อยกฟ้องเพราะไม่มีหลักฐานพอเอาผิดได้ ทำไมจึงไม่ได้เงินชดเชย?

เราต้องกลับไปดูรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญบอกว่า ให้สันนิษฐานว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะตัดสินถึงที่สุดว่า มีความผิด


ในการพิจารณาคดีอาญา ศาลจะพิจารณาเฉพาะพยานหลักฐานโจทก์เป็นสำคัญว่า โจทก์มีพยานหลักฐานน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนในการกล่าวหาจำเลยว่าเป็นคนร้าย แต่ศาลบางครั้งไม่คำนึงถึงพยานหลักฐานของจำเลยว่า จำเลยจะมีหลักฐานที่จะมายืนยันหักล้างได้ว่า ตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์


ศาลจะฟังแค่พยานหลักฐานโจทก์ ถ้าศาลฟังแล้วเชื่อไม่ได้หรือไม่น่าเชื่อว่าเป็นคนร้ายจริง ศาลจะยกประโยชน์ในความสงสัยนั้นให้จำเลย ไม่ต้องฟังพยานหลักฐานจำเลย


ถ้าเป็นอย่างนี้ ในมุมของรัฐธรรมนูญ ทุกคนคือผู้บริสุทธิ์ กรณีนี้จำเลยได้รับพิสูจน์แล้วว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา นำประเด็นนี้ มาเป็นข้ออ้างที่จะไม่จ่ายเงินทดแทน


ทำไมจึงยึดหลักรัฐธรรมนูญ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจึงร่างหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า กรณีนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยหรือไม่
อีกทั้งยังขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วยว่า การปฏิเสธจ่ายเงินชดเชยในกรณีนี้ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

แล้วคิดว่าจะต้องแก้ปัญหาที่จุดไหน?

ถ้ากลัวว่าเป็นการเปิดช่องให้รัฐต้องเสียเงินมากมายในการจ่ายเงินให้จำเลยคดีความมั่นคงที่ศาลยกฟ้องแล้ว ทำไมไม่พัฒนาการสืบสวนสอบสวนให้ได้มาตรฐาน จะได้ไม่มีคดีที่ถูกยกฟ้องจำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนี้แสดงว่า มีปัญหาตั้งแต่การสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐาน ไม่หนาแน่นพอใช่หรือไม่

ถ้ามั่นใจว่าจำเลยผิดจริง ก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอ คุณจะไม่ต้องเสียเงินชดเชยจำเลยที่ศาลยกฟ้อง

การที่ศาลพิพากษายกฟ้องจำนวนมาก ไม่ได้หมายความว่าทนายความเก่ง เพราะถ้าจำเลยเป็นคนร้ายจริง ทนายความก็เอาไม่อยู่ ดังนั้น ต้องพัฒนาที่ต้นของกระบวนการยุติธรรม คือการสืบสวนสอบสวน ไม่ใช่แค่ใช้พยานบอกเล่ามาซัดทอดต่อๆกัน

 

ในฐานะนักกฎหมายมองเรื่องการเยียวยาทั้งระบบขณะนี้เป็นอย่างไร?

การฟื้นฟูจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าฝ่ายไหนเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ นี่คือกติกาสังคม กติกาสังคมภายใต้กฎหมายว่า คุณมีสิทธิได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐ แต่ถ้ารัฐไม่สามารถปกป้องได้ คุณก็เป็นผู้เสียหาย

คุณเป็นประชาชน คุณต้องเรียกร้องเอาตามสิทธิที่คุณพึงจะได้รับ แล้วรัฐบอกว่ามีคนตั้งข้อหาว่าคุณเป็นคนร้าย สุดท้ายกระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ว่า ไม่ได้เป็นคนร้าย รัฐจะต้องเยียวยาให้คุณตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 นี่คือช่องทางที่จะลดความขัดแย้งในสังคมได้
นั่นหมายความว่า ผู้ปฏิบัติต้องทำด้วยความเป็นธรรม ไม่มีอคติในการวินิจฉัยว่า ใครควรจะได้หรือไม่ควรได้รับการเงินทดแทน

คุณต้องการเอาถ้อยคำในคำพิพากษามาเป็นมาตรฐานในการจ่ายเงินทดแทน แต่ผมว่าต้องว่ากันตามผลการตัดสิน

ถามว่าหลักในการพิจารณาคดีของศาลต้องเป็นไปทางเดียวกันกับผู้ปฏิบัติหรือไม่ เพราะศาลเชื่อหรือไม่เชื่อในพยานหลักฐานโจทก์เท่านั้น ถ้าจะใช้เกณฑ์นี้ ศาลก็ต้องมีมาตรฐานเดียวกันกับเกณฑ์ของคุณ เพียงแต่ตอนนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น

 

แสดงว่ามีปัญหาเรื่องมาตรฐานในการพิจารณาการจ่ายเงินทดแทน?

มาตรฐานคนละมาตรฐาน หลักคนละหลัก หลักการของศาลคือ ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่หลักของการเยียวยาในกรณีนี้ คือ ต้องเป็นผู้ไม่ทำความผิด

ศาลไม่จำเป็นต้องบอกว่า ผิดหรือไม่ผิด แต่ดูพยานหลักฐานโจทก์แล้วว่า ตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด แต่คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา

หยิบเอาจุดนี้มาใช้พิจารณา เพื่อเป็นข้ออ้างในการไม่จ่ายเงิน

ดังนั้นหลักการจ่ายเงินทดแทนในกรณีนี้คือ จะจ่ายให้เฉพาะคนที่เชื่อว่าบริสุทธิ์จริงๆ เท่านั้น คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาจะให้เฉพาะประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน

 

ในมุมมองของนักกฎหมายมองจุดนี้อย่างไร?

การที่จะไม่ช่วยเหลือเยียวยาผู้สูญเสียที่อยู่ฝ่ายกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบนั้น ถามว่าใครเป็นผู้ตัดสินว่าใครเป็นกลุ่มขบวนการ หลักฐานคืออะไร

อย่างที่ผมบอก เวลาสู้คดีกันในชั้นศาล สุดท้าย 90% ศาลพิพากษายกฟ้อง แสดงให้เห็นอะไร แต่คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญายังเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้เป็นสมาชิกขบวนการ เพียงแต่พยานหลักฐานไม่พอที่จะเอาผิดได้

ผมอยากถามว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาที่จะตีความว่า ใครเป็นหรือไม่คนในเป็นขบวนการหรือไม่ แต่สำหรับผมแล้ว เรายังอยู่ภายใต้รัฐไทยและรัฐไทยก็อยู่ภายใต้ศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นต้องถือรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ผมใช้หลักเดิม คือ ต้องถือคำตัดสินของศาล
โดยเฉพาะปัจจุบันเกณฑ์การไม่ให้ความช่วยเหลือกับครอบครัว คุณไม่แยกหรือว่า หากเชื่อว่าสามีหรือลูกเป็นคนในขบวนการแล้ว ครอบครัวจะเป็นด้วยหรือไม่ อะไรทำให้คุณเชื่อเช่นนั้น ผมว่ามันคนละประเด็นกัน หากมองในมุมการเยียวยาเพื่อแก้ปัญหาแล้ว ผมว่าการไม่รับเยียวยามันจะก่อปัญหาในระยะยาวได้ จะผิดหรือถูกหลักเกณฑ์อย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 ........

 

เงินทดแทนจำเลยในคดีอาญา

พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 กำหนดผู้มีสิทธิได้รับค่าคุ้มครองแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ผู้เสียหายในคดีอาญา และ จำเลยในคดีอาญา

ผู้เสียหายในคดีอาญา
ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึง ผู้ที่ได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจ จากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยผู้เสียหายมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น และไม่มีโอกาสได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยวิธีอื่นใด เช่น ไม่สามารถจับตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ หรือ จับได้แต่ผู้กระทำความผิดไม่มีทรัพย์สินใดจะมาชดใช้ความเสียหายให้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้เสียหายหรือทายาท จึงมีสิทธิได้รับ ค่าตอบแทน ที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ

ค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา แบ่งเป็น 2 กรณี
1.กรณีเสียชีวิต ประกอบด้วย ค่าตอบแทนตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ค่าจัดการศพ จำนวน 20,000 บาท ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู ไม่เกิน 30,000 บาท ค่าเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
2.กรณีทั่วไป ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ ตามปกติจ่ายในอัตราวันละไม่เกิน 200 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบกิจการงานได้ตามปกติ ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 30,000 บาท

จำเลยในคดีอาญา
จำเลยในคดีอาญา หมายถึง ผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ต่อมาภายหลังปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด มีการถอนฟ้องระหว่างการดำเนินคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าไม่ได้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายแก่จำเลยหรือทายาท จึงมีสิทธิได้รับ ค่าทดแทนและค่าใช้จ่าย ที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ

ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา แบ่งเป็น 2 กรณี

1.กรณีเสียชีวิต ประกอบด้วย ค่าทดแทน จำนวน 100,000 บาท ค่าจัดการศพ จำนวน 20,000 บาท ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท ค่าเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
2.กรณีทั่วไป ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท หากความเจ็บป่วยนั้นเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท หากความเจ็บป่วยนั้นเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดีอัตราวันละไม่เกิน 200 บาท นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบกิจการงานได้ตามปกติ

ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี ได้แก่ ค่าทนายความ เท่าที่จ่ายจริงในอัตราไม่เกินกฎกระทรวงกำหนด ค่าใช้จ่ายอื่น เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท

การยื่นคำขอค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่าย ทำได้ภายในกำหนดเวลา ดังนี้
1.กรณีผู้เสียหาย ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รู้ถึงการกระทำความผิด
2.ในกรณีจำเลย ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง เพราะปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือวันที่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือ การกระทำของจำเลย ไม่เป็นความผิด

กรณีผู้เสียหายหรือจำเลยในคดีอาญาไม่สามารถยื่นคำขอด้วยตนเองได้ ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหนังสือจากผู้เสียหายหรือจำเลย สามารถยื่นคำขอแทนได้

หากบุคคลใดยื่นคำขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่าย โดยแสดงข้อความหรือพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน
ต้องอยู่ในประเภทความผิดดังต่อไปนี้ 
        1.ความผิดเกี่ยวกับเพศ 
        2.ความผิดต่อชีวิต 
        3.ความผิดต่อร่างกาย 
        4.ความผิดฐานทำให้แท้งลูก 
        5.ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก


วิธีการยื่นคำขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่าย

          ให้ยื่นคำขอ ณ สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม หรือที่ สำนักงานบังคับคดีประจำจังหวัด

คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา

คณะกรรมการ มีปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ

กรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ดังนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการคลัง กรมการปกครอง กรมคุมประพฤติ กรมพระธรรมนูญ กรมราชทัณฑ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สภาทนายความ

นอกจากนี้ยังมีกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีก 5 คน ในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ ด้านสังคมสงเคราะห์ และด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน

ข้าราชการ สังกัดกระทรวงยุติธรรมเป็นเลขานุการ

คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่หลัก คือ พิจารณาอนุมัติค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้

 


********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 431104เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2011 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท