DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

ศุภวรรณ พึ่งรัศมี “เยียวยาจิตใจด้วยภูมิรู้เพื่อให้สู้ชีวิต”


 

ศุภวรรณ พึ่งรัศมี
“เยียวยาจิตใจด้วยภูมิรู้เพื่อให้สู้ชีวิต”


มูฮำหมัด ดือราแม

 

ว่ากันว่า จิตใจสำคัญกว่าวัตถุ แต่ในมุมของคนทำงานเยียวยาสภาพจิตใจเขาคิดอย่างไร
ว่ากันว่า งานเยียวยาทั้งหมดเน้นหนักที่ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องให้ความสำคัญมากนัก

ทั้งหมดคือมุมมองจากคนนอก แต่คำตอบอยู่ข้างล่างนี้แล้ว....
 
‘ศุภวรรณ พึ่งรัศมี’ นักจิตวิทยาประจำศูนย์ประสานงานวิชาการผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศวชต.จังหวัดปัตตานี และยังเป็นอนุกรรมการโครงการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย เป็นอีกคนหนึ่งให้ภาพการทำงานของ ศวชต.ได้ โดยเฉพาะการเยียวยาด้านจิตใจ ซึ่งนับเป็นแขนงหนึ่งที่สำคัญที่สุดของระบบงานเยียวยาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
‘ศวชต.’ ริเริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี ประธานกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ และ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.)

‘ศวชต.’ ตั้งขึ้นเพื่อทำงานในเชิงการวิจัยฐานข้อมูลและพัฒนา ทั้งยังเป็นการสร้างฐานข้อมูลที่ทันสมัยและเป็นระบบรายงานความก้าวหน้าการติดตามเยียวยาช่วยเหลือผู้สูญเสีย พร้อมกับการระดมความคิดจากทุกฝ่ายมาเรียนรู้และแก้ไขปัญหา โดยมีการจัดระบบการจัดการที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ศวชต. มี 3 แห่ง คือ ที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
.....

 

การเยียวยาสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ เริ่มต้นอย่างไร?

ผู้ได้รับผลกระทบเล่าให้ฟังว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้น ช่วงแรกทำอะไรไม่ถูก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทันทีทันใด และทราบดีว่าเหตุไม่สงบเป็นภัยที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เมื่อเกิดจากน้ำมือมนุษย์ จึงเป็นภัยพิบัติที่เยียวยายากพอสมควร

ความผูกพันระหว่างผู้ที่สูญเสีย ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เพราะถ้าวันใดวันหนึ่งต้องขาดคนที่ต้องพึ่งพาไปอย่างกะทันหัน ก็เหมือนกับขาดเสาหลักของบ้านไป สิ่งที่ทำได้ในช่วงแรก คือ ต้องประคับประคองจิตใจของเขา ต้องให้เขาทำใจให้ได้ก่อน

กระบวนการเยียวยาในช่วงแรกไม่ได้ทำอะไรมาก เพียงแต่ทำให้เขาได้ยืนขึ้นด้วยตัวเองให้ได้ก่อน อันนี้ขึ้นอยู่กับเจ้าตัวว่าจะมีความเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน

อีกอย่างสภาพการตายก็มีผล ถ้าถูกยิงก็ไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่ถ้าถูกตัดคอ หรือถูกระเบิด ความรู้สึกของญาติก็จะเป็นอีกแบบ จิตแพทย์เองก็ต้องเข้าไปช่วย

เมื่อเขาเริ่มดีขึ้นก็จะมีกระบวนการจิตบำบัด จะทำกระบวนการนี้ได้ ก็ต่อเมื่อผู้ได้รับผลกระทบนั้นทำใจได้แล้ว สิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำกระบวนการจิตบำบัด คือกลุ่มเพื่อนผู้สูญเสียที่จะมาช่วยเยียวยากันเอง

บางรายจะเก็บกดไม่แสดงออกอาการ แบบนี้น่ากลัว เพราะเก็บอยู่ภายใน และตัวเขาเองก็จะไม่มีสมาธิ เราจะแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ก่อน

การรักษาทางด้านจิตใจนั้น ก็ต้องไปพบ ไปคุย หรือนำตัวเขาออกมาสู่ภายนอก ปัญหาที่พบก็คือเขาเองก็ไม่ค่อยมีเวลาที่จะออกมาร่วมกิจกรรม เพราะต้องรับภาระภายในบ้าน เช่น เลี้ยงดูลูก

อันนี้ต้องใช้เวลามาก และอีกอย่างการบำบัดนั้น บางทีอาจจะต้องขุดแผลที่อยู่จากข้างในออกมา ตรงนี้ต้องใช้ความระมัดระวังมาก ถ้าไม่มีความไว้ใจมากเพียงพอ ก็จะทำให้เขามีความรู้สึกไม่อยากมาอีกแล้ว

 

ในมุมมองของนักจิตวิทยา ควรวางน้ำหนักการเยียวยาระหว่างวัตถุและจิตใจอย่างไร?

ต้องไปพร้อมกัน ระยะแรกๆ หลังเกิดเหตุการณ์ ผู้ที่เป็นข้าราชการ อย่างน้อยก็มีเงินเดือนช่วย มักจะตั้งหลักได้ แต่ชาวบ้านจะตั้งหลักไม่ทัน เพราะเงินช่วยเหลือเยียวยาส่วนใหญ่ที่ได้รับจะเอาไปใช้หนี้และจัดงานศพ การที่จะนำเงินเยียวยามาใช้ในการตั้งหลักในการดำเนินชีวิตด้วยตัวเอง ยังทำไม่ได้

แต่ถามว่า เงินช่วยเหลือจำเป็นไหม จำเป็นมากในระยะแรก เพราะการตั้งหลักในการดำเนินชีวิตให้ได้นั้น สำคัญมาก

แต่การให้ก็ต้องดูความจำเป็นของผู้ได้รับผลกระทบด้วย ไม่ใช่ให้แบบเหมาจ่ายโดยไม่คำนึกถึงความจำเป็นหรือสิ่งที่เขาอยากได้จริงๆ เช่น แจกวัว แจกปลา โดยไม่ดูความต้องการของผู้รับ ต้องถามก่อนว่า อะไรที่เขาถนัด ถ้าให้ในสิ่งที่เขาไม่ถนัดเขาก็ทำไม่ได้

ผู้สูญเสียส่วนใหญ่ไม่ค่อยเครียดกับการสูญเสียที่เคยเกิดขึ้น อาจมีบ้างที่รู้สึกหวาดหวั่นกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ความเครียดที่มีอยู่ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องการเลี้ยงดูลูก การส่งลูกเรียน ภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ เป็นต้น

ความเครียดที่มีนั้น ทำให้เขาไม่มีเวลาดูแลบ้าน ทำความสะอาดบ้าน การแสดงออกถึงความเครียดมีหลายรูปแบบที่เราเคยเจอ บางรายถึงกับใช้ลูกเป็นที่ระบายก็มี

นักจิตวิทยาต้องแยกประเภทได้ว่า สภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบอยู่ในระดับไหน ตรงนี้จะมีแบบประเมินความเครียดและมีการสังเกตด้วยการเปรียบเทียบพฤติกรรม

 

เหยื่อหรือผู้ได้รับผลกระทบที่อ่อนไหวและเปราะบางทางจิตใจที่สุดเป็นอย่างไร และมีวิธีการเยียวยาแต่ละกลุ่มอย่างไร?

ถ้าในกลุ่มผู้นำศาสนา ทั้งโต๊ะอิหม่าม อุสตาซ(ครูสอนศาสนาอิสลาม) เท่าที่เราเจอ สภาพจิตใจของครอบครับเขาอยู่ในระดับที่ดี เพราะมีความศรัทธาในศาสนา ส่วนใหญ่จะลุกขึ้นยืนเองได้ เพราะใช้ศาสนานำในการดำเนินชีวิต สามารถประคับประคองครอบครัวต่อไปได้

แต่การช่วยเหลือเยียวยาในกลุ่มนี้ ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร แต่ในทางสาธารณสุขจะดูแลทั้งหมด ปัญหาอยู่ที่ว่า การช่วยเหลือทางด้านนี้จะครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่จะตั้งหลักที่โรงพยาบาล

ส่วน ศวชต.จะลงไปช่วยเหลือเยียวยาถึงในพื้นที่เอง แต่ก็ยังมีบ้างที่ตกหล่นอยู่
นักเยียวยาอีกกลุ่มที่เข้าถึงชาวบ้านจริงๆ ก็คือ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

กลุ่มนี้จะเข้าถึงได้มากกว่าศวชต. แต่ก็ยังขาดทักษะในการเยียวยาเช่นกัน คือ เข้าไปในพื้นที่ได้ แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่รู้ว่าจะรับมือต่อกันอย่างไร ดังนั้น การทำงานกันของภาครัฐเอง ก็ต้องมีการประสานงานกัน

 

ปัญหาหรืออุปสรรคสำคัญที่ ศวชต.พบจากการทำงานเยียวยาทางดานจิตใจมีอะไรบ้าง?

จากการเข้าประชุมในหลายๆ เวที ได้ฟังคำถามจากผู้ใหญ่หลายๆ คนว่า 6 - 7 ปีมาแล้วที่ทำงานเยียวยา เมื่อไหร่จะหยุดการเยียวยา การเยียวยาควรจะจบได้แล้ว ขอตอบตรงนี้เลยว่า คุณก็ต้องทำบ้านเมืองให้สงบก่อน ถ้าบ้านเรายังไม่สงบ การเยียวยาก็ต้องมีตลอด
ที่สำคัญ ในการเยียวยาต้องทำให้ผู้ได้รับผลกระทบมีความรู้มากที่สุด เพราะความรู้ด้านต่างๆ มีส่วนสำคัญในการลุกขึ้นสู้ชีวิต

การศึกษามีส่วนช่วยได้มากสำหรับการเยียวยา เพราะถ้าคนมีการศึกษา เขาก็จะรู้ว่าต้องสู้ชีวิตอย่างไร แต่คนบ้านเราส่วนใหญ่มีการศึกษาไม่สูง ซึ่งก็เป็นปัญหาในการดำเนินชีวิตต่อไปด้วย เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นชีวิตอย่างไร

การเยียวยา ไม่ใช่แค่เยียวยาเรื่องการสูญเสีย เพราะการสูญเสียที่เกิดขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปความรู้สึกที่มีอยู่ บางครั้งก็จางหายไป แต่ยังมีการเยียวยาด้านอาชีพและการศึกษาของลูกๆ

ที่สำคัญคนภาคใต้ไม่ได้งอมืองอเท้า เขาก็ทำอะไรเพื่อตัวเองมามากแล้วเช่นกัน เพราะเหตุการณ์ไม่สงบไม่ยอมจบเสียที การต่อสู้ของผู้สูญเสียเอง เพื่อจะให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปก็มีมาโดยตลอด

 

ตำรวจ ทหาร ควรได้รับการเยียวยาสภาพจิตใจด้วยหรือไม่ นักจิตวิทยาควรเข้าไปดูแลหรือไม่?

สภาพจิตใจของตำรวจ ทหารก็แย่เช่นกัน เท่าที่มีโอกาสไปช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจของตำรวจหลังเหตุการณ์ระเบิดสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี สิ่งที่ตำรวจกลัวไม่ใช่เหตุความรุนแรง แต่กลัวเรื่องงาน เรื่องคุณภาพชีวิต

ทหารก็เช่นกัน น่าสงสารมาก หลังประสบเหตุการณ์ ไม่มีใครดูแล เท่าที่เราสอบถาม พบว่า บางทีเงินเดือนก็ออกช้า สวัสดิการก็ได้ช้า

ปัญหาการเยียวยาอีกอย่างที่เราเจอกับภาครัฐ คือมีการเปลี่ยนหัวหน้างานบ่อย เราเองก็ตั้งหลักไม่ทัน พอทำงานจะเข้ากันได้ ก็เปลี่ยนอีก จึงต้องมาเริ่มกันใหม่ มันก็ไม่ไปข้างหน้าสักที ถ้าเอาจริงก็อย่าย้ายคนดีๆ ออกไป เราต้องเดินไปข้างหน้า อย่าถอยหลังบ่อยอย่างนี้

 

มองอนาคตการเยียวยาว่า ควรเป็นอย่างไร?

ภาครัฐเองก็จะเพิ่มงบประมาณเยียวยา การทุจริตในส่วนนี้จะมีมากขึ้นแน่ๆ เพราะมีเงินจำนวนมาก ผู้ได้รับผลกระทบบางรายถูกกินหัวคิวเรื่องเงินเยียวยา แต่ไม่รู้ว่าเงินส่วนไหนที่หลุดไป

อนาคตการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ ต้องรัดกุมในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ และต้องมีการตรวจสอบด้วย ต้องโปร่งใสในการจัดการระบบการเยียวยา ต้องมีความตั้งใจในการทำงาน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ต้องทำจุดนี้ให้เกิดขึ้น

ในเรื่องการรับรองสามฝ่าย(ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง) กรณีที่ไม่รับรองว่าเป็นเหตุการณ์ไม่สงบ ซึ่งทำให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นั้น ไม่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ให้บอกเหตุผลที่ไม่รับรองด้วย

ตรงนี้ต้องอธิบายให้ชัดเจน ต้องชี้แจงด้วยว่าอะไรเป็นอะไร เพราะบางทีชาวบ้านจะมองเป็นอื่นไปกับครอบครัวที่เจ้าหน้าที่สามฝ่ายไม่รับรอง อันนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก



ฝ่ายตรงข้ามรัฐหรือฝ่ายที่รัฐมองว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ต้องได้รับการเยียวยาและการดูแลจากนักจิตวิทยาด้วยหรือไม่?

ตามหลักเกณฑ์ ฝ่ายตรงข้ามรัฐไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐอยู่แล้ว แต่ต้องมีการเยียวยาในกรณีพิเศษ ทาง ศอ.บต. ต้องตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะถ้ามองในแง่มนุษยธรรมแล้ว จำเป็นต้องช่วยเหลือให้เท่าเทียมกัน เพราะเขาเองก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา
....................................


ภารกิจ ศวชต.เยียวยาสตรี เด็ก คนพิการ

ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลบางส่วนจากฐานข้อมูลของศูนย์ประสานงานวิชาการผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศวชต.ในการช่วยเหลือเยียวผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ดังนี้

กลุ่มสตรี
มีสตรีได้รับผลกระทบ 391 ราย (กันยายน 2552) ได้รับการเยี่ยมเยียนและทำกิจกรรมร่วมกับ ศวชต. 196 ราย สามารถฟื้นฟูตนเองได้ 35 ราย อีก 16 ราย สามารถให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้

กลุ่มเด็ก
เป็นกลุ่มเด็กเห็นพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดถูกทำร้าย 102 ราย (มกราคม 2547-มิถุนายน 2551) ได้เข้าไปเยี่ยมเด็กเหล่านี้ 89 ราย

กลุ่มผู้พิการ
เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและต้องกลายเป็นคนพิการในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 86 ราย ในจำนวนนี้มี 11 รายที่ย้ายที่อยู่ จึงเยี่ยมได้ 75 ราย

ส่งเสริมอาชีพ
ศวชต.ได้จัดรับฟังความคิดเห็นและสนับสนุนความเข้มแข็งด้านอาชีพ 18 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมโครงการ 180 คน สามารถสร้างแกนนำกลุ่มอาชีพ 20 คน จัดตั้งกลุ่มอาชีพผู้ได้รับผลกระทบ รวม 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมะกรูดหวาน กลุ่มตัดเย็บตะลุโบะ กลุ่มโคกโพธิ์สัมพันธ์ และกลุ่มผ้าทอสายบุรี

นอกจากนี้ยังส่งเสริมอาชีพรายบุคคลที่ยั่งยืนด้วย จำนวน 5 คน คือ อาชีพเลี้ยงไก่ 2 ราย ปลูกผัก 2 ราย และทำขนมโดนัท 1 ราย


********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 431101เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2011 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท