DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

‘ภาณุ อุทัยรัตน์’ งานเยียวยาคือการแก้ปัญหา


‘ภาณุ อุทัยรัตน์’
งานเยียวยาคือการแก้ปัญหา


มูฮำหมัด ดือราแม

 

ผู้คนที่บาดเจ็บล้มตายในชายแดนใต้จำนวนมากนับตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ด้วยสาเหตุนานาปการ แต่ใครบ้างที่สมควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยา อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความไม่สงบ

ในการกำหนดพิจารณาเรื่องนี้ รัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กยต. ขึ้นมา ตั้งแต่ปี 2548 โดยอนุกรรมการซึ่งเป็นกลไกลสำคัญในการกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะเป็นคู่มือในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่จะพิจารณาว่า ใครสมควรได้รับการช่วยเหลือและจะช่วยเหลืออย่างไร

อนุกรรมการชุดดังกล่าว คือ คณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธาน คนปัจจุบันคือ นายภาณุ อุทัยรัตน์

ภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในช่วงสถานการณ์รุนแรง จากนั้นได้ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนจะลงพื้นที่ชายแดนใต้อีกครั้งในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านกิจการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ควบตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ภาณุ อุทัยรัตน์ ได้สัมผัสกับเยียวยาทั้งในฐานะผู้ปฏิบัติ คือ หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบประจำจังหวัดปัตตานี และในฐานะผู้อำนวยการ ได้เปิดอธิบายภาพงานเยียวยาในปัจจุบัน และมุมมองในอนาคต ไว้ดังนี้



ภาณุ อุทัยรัตน์

 

ภาพรวมของการเยียวยาในวันนี้

 บทบาทของคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ เป็นการหน่วยงานที่จะพิจารณาในเงื่อนไขว่าใครจะได้รับหรือไม่ได้รับเงินเยียวยา และยังเหมือนเป็นการอุดรูรั่วของ กยต.(กรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้) อีกด้วยว่า มีตรงไหนที่เราจะต้องดูแลเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ

บางเรื่องที่ไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์กำหนดไว้ เช่น การนำผู้เจ็บป่วยกลับภูมิลำเนา การนำศพกลับภูมิลำเนา ถ้าไม่มีหลักเกณฑ์ในการใช้จ่ายเงินหรือไม่มีงบประมาณ ศอ.บต.จะช่วยเหลือดูแลในบางจุดหลังจากทางจังหวัดดำเนินการไปแล้ว

อันต่อมา เราเป็นศูนย์ในการรับข้อเสนอแนะหรือข้อร้องเรียนที่คนได้รับผลกระทบหรือผู้ให้การเยียวยา ซึ่งเปรียบเสมือน ลูกค้า ว่ามีเรื่องไหนที่ยังไม่สบายใจ เรามีหน้าที่ตรวจสอบและสนับสนุนการแก้ปัญหาของศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบประจำอำเภอและจังหวัดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ศอ.บต.มีความคิดหรือแนวปฏิบัติให้กับศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาฯ คือ การให้มากกว่าที่ขอ ไม่รีรอที่จะช่วยเหลือ คือ ช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับผลกระทบให้ได้สิทธิ์ครบตามหลักเกณฑ์ทุกอย่าง

เรามีวิธีตรวจสอบว่า เขามีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยาครบถ้วนหรือยัง เช่น ศอ.บต.จัดทำคู่มือประจำครอบครัว หรือประจำตัวบุคคลเล่มสีแดง เพื่อให้รู้ว่า ผู้ได้รับผลกระทบคนนี้ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐแล้วหรือไม่และอย่างไร

เมื่อมีคนแปลกหน้าหรือสื่อมวลชนไปถามว่า รัฐช่วยเหลืออย่างไร เขาจะพูดว่า ไม่ได้รับการดูแล แต่ถ้าเราเรียกดูคู่มือ ก็จะทราบว่าใครได้เงินช่วยเหลือไปเท่าไหร่แล้ว

อันที่สองคือ บริการหลังการขาย เช่น ด้านอาชีพ ศอ.บต.มีหน้าที่ติดตามดูว่า คนครอบครัวที่ได้รับเงินช่วยเหลือด้านอาชีพ หรือผ่านการฝึกอาชีพ หรือการต่อยอดอาชีพได้ผลอย่างไร มีรายได้อย่างไร มีผลผลิตและตลาดเป็นอย่างไร

ศอ.บต.ไปเปิดบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้ได้รับผลกระทบ หากติดสัญลักษณ์ว่า เป็นบูธขายสินค้าในสี่จังหวัดชายแดนใต้คนให้ความสนใจมาก โดยเราตั้งแบรนด์(ตราสินค้า) ว่าในภาพรวมว่า ได้ของได้ใจ คือคนซื้อได้ทั้งของและได้ใจพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนเป็นการให้กำลังใจพี่น้องผู้ได้รับผลกระทบด้วย

แบรนด์นี้เป็นแบรนด์สินค้าของผู้ได้รับผลกระทบ เรามีฉลากเฉพาะซึ่งมีคุณสมบัติจำเพาะของสินค้า ซึ่งคนจะไม่ดูว่าสภาพสินค้าเป็นอย่างไร เพราะคนจะช่วยกันซื้อ ถุงใส่ของเป็นถุงสีชมพู  เราพยายามจะแยกแบรนด์ให้ต่างจากสินค้าอื่นเพื่อจูงใจ

ส่วน การให้มากกว่าที่ขอ ไม่รีรอที่จะช่วยเหลือ เป็นการติดตามหลังการขายคือ หลังการให้บริการ ให้มากกว่าที่ขอคือ การครอบคลุม ไม่รีรอที่จะช่วยเหลือคือความรวดเร็ว

ต่อมา สิ่งที่ศอ.บต.กำลังทำ นอกเหนือจากการกำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไป คือพิจารณาเพิ่มเติมกรณีผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ความไม่สงบ 491ราย ตั้งแต่ปี 2547-2553

คนเหล่านี้รู้สึกว่า กำลังรอการช่วยเหลืออยู่ เพราะเราไม่มีคำตอบว่า เขาควรจะได้หรือไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ศอ.บต.จึงให้ตรวจสอบหลักฐานใหม่ ซึ่งที่ผ่านไปมีหลักฐานเพิ่มเติม

ตัวอย่างเช่น กระสุนปืนที่ยิงรายวัน ต่อมามีการยิงเจ้าหน้าที่ตายหรือบาดเจ็บ ตรวจสอบพบว่าเป็นกระสุนปืนที่ออกจากปืนกระบอกเดียวกัน จึงสรุปได้ว่า เป็นการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบ

ส่วนในรายที่เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ไม่รับรองเลย หรือไม่รับรองทั้งหมด หรือรับรองสองในสามก็เอามาตรวจสอบด้วย ถ้าปรากฏชัดเจนว่า เป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องยาเสพติด หรือเป็นเหตุอื่นที่ไม่ใช่การก่อความไม่สงบ เราก็ตัดออก เพราะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยา

แต่ถ้าฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบมีหลักฐานเพิ่มเติม ก็สามารถนำมาให้พิจารณาได้เพื่อรักษาผลประโยชน์ที่ควรได้รับ คือ เป็นหนังสือตอบโต้

ใน 491 รายดังกล่าว อาจต้องมีการรับรองใหม่ ถ้าเป็นรายที่มีการรับรองไปแล้วหนึ่งในสาม หรือสองในสาม จะให้เงินช่วยเหลือเยียวยาซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุดไปก่อนในตอนนี้ 50% หรือ 25% ก็คงไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ผ่านมานานแล้ว

สำหรับเงินช่วยเหลือที่ให้ได้ก่อน ตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทวงมหาดไทย ถ้าคนตายเป็นหัวหน้าครอบครัวได้ 50,000 บาท สมาชิกได้ 25,000 บาท โดยเรียกเงินเหล่านี้ว่าเงินช่วยเหลือในการจัดการศพ ช่วยเหลือในสวัสดิการ

ขั้นตอนเหล่านี้ทางจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยส่งข้อมูลมาให้คณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2553

หลังได้รับข้อมูลมาก็พอสรุปได้ว่า มี 344 รายเป็นเหตุส่วนตัวชัดเจน ส่วนที่เหลือ มีการรับรองเพิ่มเติมว่าเป็นเหตุไม่สงบและเข้าหลักเกณฑ์ที่เราต้องให้เงินสงเคราะห์ช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ใหม่ คือ 50,000 กับ 25,000 บาทดังกล่าว

ยังมีกรณีตกสำรวจและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอีกหรือไม่?

มีการพิจารณาในระดับจังหวัดแล้ว รวมอยู่ใน 491 รายดังกล่าว แต่ทางศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาระดับอำเภอก็มีสิทธิที่จะนำมาพิจารณาอีกได้ สมมุติคนหนึ่งเสียชีวิต แต่ยังไม่ได้รับรอง แต่เขามีภาระที่ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัว ซึ่งควรได้รับความช่วยเหลือมากกว่า 50,000 บาทด้วยซ้ำ ดังนั้นการให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น จะพยายามให้มากที่สุด

ส่วนรายที่เกี่ยวกับกลุ่มก่อความไม่สงบหรือรายที่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน ถ้ามีหลักฐานเพิ่มเติมในภายหลัง ทั้งที่เขาสามารถหามาเองหรือรัฐหามาได้ เราก็ให้สิทธิเขาร้องอุทธรณ์หรือมีนำหลักฐานใหม่มาเสนอ โดยไม่มีอายุความ

ในรายที่ยังคลุมเครือ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป 2 -3 เดือน กว่าจะมีการรับรองได้เพียงสองในสาม เมื่อมีหลักฐานเพิ่มเติม เราต้องให้เงินช่วยเหลือโดยทันที 25% เพราะบางครั้งการรับรองในระยะเวลากระชั้นชิดคงไม่ได้

ในรายที่ยังคลุมเครือ เราตั้งกติกาไว้ว่าเราไม่เอาผิดกับคนตาย ถ้าผู้ตายอาจเป็นฝ่ายก่อความไม่สงบ แต่ยังไม่ช่วยเหลือ จนกว่าเวลาผ่านมาระยะหนึ่ง และสงสัยว่าน่าจะไม่ใช่เหตุการณ์ไม่สงบ

ที่ผ่านมา กยต. มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การเยียวยาอย่างไรบ้าง

ประเด็นแรกคือ ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ว่า ทุพลภาพ จึงจะได้รับเงินช่วยเหลือเท่ากับเสียชีวิต คือ 500,000 บาท สำหรับคนที่ทำงานให้รัฐ ซึ่งผ่านความเห็นชอบแล้ว

ประเด็นที่สอง การเพิ่มเงินค่ายังชีพระหว่างการศึกษา โดยการพิจารณาของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีการเพิ่มเงินในระดับมัธยมศึกษากับระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จาก 2,000 บาทเป็น 2,500 บาท ต่อเดือน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีชั้นสูง (ปวส.) กับระดับอุดมศึกษาจาก 2,500 บาทเป็น 3,000 บาท
เพิ่มทุนการศึกษาในระดับมัธยมศึกษากับปวช.จาก 20,000 บาท เป็น 25,000 บาท และปวส.กับอุดมศึกษาจาก 25,000 บาท เป็น 30,000 บาท

ปัญหาเรื่องการใช้เงินเยียวยาในพื้นที่มีเยอะ เช่น ชาวมุสลิมที่มีเมียหลายคน หรือกรณีเมียกับแม่สามีแย่งเงินกัน แก้ปัญหาอย่างไร

ศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาระดับจังหวัดได้รวบรวมปัญหา พบมีหลายกรณี เช่น การมารับเงินช่วยเหลือไม่พร้อมกันทำให้เกิดปัญหา ไม่ได้ตกลงเรื่องทรัพย์สินไว้ก่อนที่จะทำบันทึกข้อตกลงว่าใครจะได้รับเงินช่วยเหลือบ้าง ก็เป็นปัญหา การตัดสินใจมอบเงินโดยไม่มีพยานบุคคลมาเป็นพยานก็เป็นปัญหา

ทางศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาระดับจังหวัด ได้นำประสบการณ์ที่ได้มาเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหา ซึ่งดำเนินการโดยผู้ว่ารายการจังหวัด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ฯ ซึ่งขณะนี้ ผมคิดว่าปัญหาน้อยลง

ในหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยา ที่ให้คนทำงานให้กับรัฐ ถ้าตายได้ 500,000 บาท ชาวบ้านได้ 100,000 บาท ทั้งที่ชาวบ้านเป็นเป้าหมายที่อ่อนไหวกว่า เพราะไม่มีเครื่องมือป้องกันตัว ชาวบ้านบอกว่าไม่เป็นธรรม ได้มีการพูดคุยกันในประเด็นนี้อย่างไร

มีการพูดคุยกัน เรื่องเหล่านี้ละเอียดมาก เราจะมองในมุมไหน มองในมุมผู้มีบทบาทหน้าที่โดยตรง จะมองเป็นศัตรูของผู้ก่อความไม่สงบโดยตรงคือเจ้าหน้าที่รัฐ หรือจะมองว่าเป็นเป้าหมายของฝ่ายตรงข้าม มองว่าพี่น้องประชาชนมีคุณค่าอีกหนึ่งชีวิตในฐานะที่ไม่มีอะไรไปต่อกรกับคนร้าย เป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างอ่อนแอ ดังนั้นหนึ่งชีวิตก็น่าจะเท่ากัน

เรื่องทั้งหมดอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดว่า ควรจะได้รับความช่วยเหลือเท่ากันหรือไม่ อันที่สองควรจะช่วยเหลือย้อนหลังหรือไม่ กำลังรวบรวมข้อเสนออยู่ การช่วยเหลือประชาชนอาจให้จาก 100,000 บาท เป็น 300,000 บาท และกรณีของกลุ่มพลังมวลชน เช่น ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และอาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อรบ.) จาก 200,000 บาท เป็น 300,000 บาท

 

การเยียวยาฝ่ายตรงข้ามกับรัฐได้ดำเนินการอย่างไร

มีการพูดคุยกันเยอะ ทั้งกรณีตากใบ, กรือเซะ, บานา ,ไอร์ปาแย รวมทั้งกรณีใหม่ๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ทั้งหมดเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ แต่เป็นกลุ่มคนที่มีความคิดต่างจากรัฐ

กรณีนี้ได้ใช้ในโครงการของศอ.บต.เท่านั้น ส่วนกรณีฝ่ายที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม หรือคนที่อยู่ในคุกหรือในเรือนจำ ศอ.บต.มีหน้าที่ดูแลสมาชิกที่อยู่ข้างนอก
คนผิดอยู่ในคุก แต่ถ้าตายไปแล้วก็ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่คนข้างนอกและคนที่เหลืออยู่ยังเป็นคนดี เราตั้งเป็นเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการที่หัวหน้าครอบครัวหรือสมาชิกไปอยู่ในคุก เราดูแลเรื่องการศึกษาของบุตร เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพจิต ด้านการรักษาพยาบาล อะไรต่างๆ เหล่านี้

 

ฝ่ายที่เข้าไม่ถึงการเยียวยามีบ้างหรือไม่

เราใช้เครือข่ายที่มีอยู่ในพื้นที่เข้าไปดูแลหรือสำรวจว่าใครที่ยังเข้าไม่ถึงการเยียวยาบ้าง ให้เขาส่งเรื่องมา เราจะดำเนินการต่อให้ เรามีบัณฑิตอาสาดูแลกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ของตัวเอง

 

กรณีปฏิเสธการเยียวยาจากรัฐมีหรือไม่

มีตอนต้นๆ แต่หลังๆ รับการเยียวยาจากรัฐทั้งหมดหมด ที่ผ่านมาเคยมีคนตายที่ญาติไม่อาบน้ำศพบ้าง ไม่ใช่ความผิดความถูก แต่ผมคิดว่าเราควรดูแล อารมณ์ของคนในบางครั้งมีการสูญเสีย ความเสียใจ แต่พอทำใจได้ เราเข้าไปดูแลเลย พอเขารับของไปแล้ว เขาก็ต้องอยู่ในการดูแลของเรา ถึงลูกจะดื้อแต่ก็ยังเป็นลูกของเรา

 

รายที่ปฏิเสธการช่วยเหลือจากรัฐมีวิธีการพูดหรือจัดการอย่างไร

มีการคุยกัน ผู้ใหญ่ กำนัน บัณฑิตอาสาเข้าไปเยี่ยมเยียน เราเข้าไปดูแลอย่างจริงใจ มีความห่วงใยจริงๆ โดยที่เราไม่ผลักดันให้เขามีใจออกห่างจากเราไป ต้องดึงมือเขาเข้ามา เป็นการหยิบยื่นความเมตตาให้ ความผิดที่เกิดขึ้น เป็นความผิดเฉพาะตัว

 

กรณีคนที่หายได้เข้าไปดูแลอย่างไร?
ดูแลทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องคนหาย เราได้ประชาสัมพันธ์และแจ้งไปทางจังหวัดแล้ว ให้ช่วยบอกต่อๆ กันไป ในเรื่องการช่วยเหลือ โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1884 บอกได้ทุกกรณี เดือดร้อนเรื่องอะไรก็บอกได้ เราจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล หรือต้องการแจ้งคนหาย

เท่าที่พบกรณีคนหายตอนนี้มีที่ปัตตานี 4 ราย หายมานานตั้งแต่ปี 2548 คือกรณีเด็กวัยรุ่นจากบ้านปากาฮารัง อำเภอเมืองปัตตานีไปเที่ยวนราธิวาส แล้วหายตัวไป เราเข้าไปดูแลจิตใจคนในครอบครัว และได้มอบเงินเยียวยาให้ด้วย

 

มองอนาคตการเยียวยาควรเป็นอย่างไร?

คิดว่ายังไม่จบ จะต้องมีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น แต่คิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แม้ยังมีโอกาสที่จะเกิดเหตุไม่สงบ แต่อย่างแรก เราก็ต้องทำงานเชิงรุก ทำงานอย่างมีความหวัง พี่น้องให้ความร่วมมือมากขึ้น มันเป็นความหวัง

สอง ถึงไม่มีลูกค้า คือ ผู้ได้รับผลกระทบและผู้ให้การเยียวยาเพิ่มขึ้น แต่คนที่สูญเสียอยู่แล้วเราต้องดูแล เช่น เด็กอายุหนึ่งเดือนที่สูญเสียพ่อแม่ เราก็ต้องดูแลจนเรียนจบปริญญาตรี และให้การเยียวยาต้องมีต่อเนื่อง อย่างน้อยยี่สิบปี ไม่ใช่เยียวยาครั้งเดียว จบแล้วจบเลย

คนเหล่านี้คือคนที่เราต้องสร้างโอกาสเพื่อให้ได้เห็น ได้กลับมา ได้มีทัศนคติที่ดีต่อรัฐต่อไป ซึ่งผมก็ไม่อยากให้เปิดเผยตัวเลขจำนวนคนเหล่านี้ เพราะค่อนข้างจะเป็นความเสียหาย มีผลกระทบกับทุกฝ่ายเวลานำเสนอข้อมูลออกไปและขาดการวิเคราะห์ที่มาที่ไป

ถึงจะเป็นข้อแรกหรือข้อที่สอง เราก็ไม่แพ้ เราต้องจัดการให้ดีที่สุด เราพร้อมจะรับคนที่ได้รับผลกระทบ

 

มองว่าการเยียวยาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างไร

เราสามารถดึงคนที่ไม่เข้าใจรัฐมารับความช่วยเหลือได้ โดยเข้าใจรัฐมากขึ้น ไม่ใช่เพราะอยากได้เงินหรือสิ่งของ แต่เข้าใจในความห่วงใยของรัฐ และกลับมาหาเรา มันจะนำไปสู่ความรู้สึกที่ดีของสมาชิกในครอบครัว เช่น พ่อถูกยิงตาย แม่ได้รับการช่วยเหลือ ความคับแค้นใจถูกสลายไปได้

เพราะฉะนั้นถ้ารัฐได้ดูแล นอกจากการทำหน้าที่ปกติของรัฐ คิดว่า มันจะได้นอกเหนือกว่านั้น เราต้องทำให้ได้ชัดเจน เป็นความบริสุทธิ์ใจของเรา อย่างคนนี้สามีตาย ภรรยาส่งลูกเรียนจบ ไปเรียนเมืองนอก มีบ้าน มีความมั่นคง มีอาชีพ ไม่ใช่เป็นเพราะสามีตาย เราให้สิทธิกับความเสียใจ เป็นการลุกขึ้นมาสู้เพื่อลูก

อีกอย่างหนึ่งที่คุยกันคร่าวๆ คือ การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย เป็นเรื่องสำคัญ ได้เสนอกันว่า เราจะระดมเพื่อให้องค์กรพัฒนาเอกชน ที่ดูแลเรื่องการสร้างบ้าน ซ่อมแซมหรือขยาย ในลักษณะที่ร่วมใจกัน และทำกิจกรรมในวาระสำคัญ เช่น วันพ่อ เอาเงินนั้นมาสร้างบ้านให้คนเหล่านี้ แล้วมันจะเห็นเป็นรูปธรรม

เพราะฉะนั้น ผมมองว่า การเยียวยามันคือส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ทำให้คนหันมามีทัศนคติที่ดีกับรัฐ เราต้องดำเนินการควบคู่กันไปกับการป้องกัน ถึงจะมีกรณีใหม่ๆ เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเขาเห็นความจริงใจของรัฐ ผมคิดว่า คนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โดยตรงนี้จะค่อยๆ น้อยลงในที่สุด


********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 431097เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2011 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 11:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท