DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

นิฮาฟีซะห์ บินนิมุ นักเยียวยาบาดแผลแห่งเจาะไอร้อง


 

นิฮาฟีซะห์ บินนิมุ
นักเยียวยาบาดแผลแห่งเจาะไอร้อง


มูฮำหมัด ดือราแม

 

“ต้องยอมรับว่า ปัจจุบัน เราเน้นหนักกันที่การเยียวยาด้วยเงิน หรือ วัตถุ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้หลังจากสูญเสียสมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่ง สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเยียวยาสภาพจิตใจ และต้องเน้น ต้องให้ความสำคัญให้มากที่สุด”

ความเห็นต่อเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ข้างต้นนี้ เป็นของ ‘นิฮาฟีซะห์ บินนิมุ’ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ประจำศูนย์เยียวยาประจำอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เป็นทัศนะที่กลั่นจากประสบการณ์จากการคลุกคลีอยู่ในพื้นที่ทั้งในฐานะของผู้รับผิดชอบด้านเยียวยา และการเป็นคนพื้นที่โดยกำเนิด


‘นิฮาฟีซะห์’ ให้ภาพว่า อำเภอเจาะไอร้องถือเป็นพื้นที่ต้นธารแห่งการเกิดความรุนแรง เพราะเหตุปล้นปืนที่ค่ายนราธิวาสราชนครินทร์เมื่อ 4 มกราคม 2547 ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง หลังจากนั้น ก็มีเหตุความรุนแรงหลายระลอกตามมา มีผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์จำนวนมาก

เมื่อนำสถิติด้านการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบของศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาประจำอำเภอขึ้นมากางดู (ดูตาราง) จะพบว่า แม้จำนวนผู้เสียชีวิตจะเป็นคนในพื้นที่มากกว่าก็จริง แต่เมื่อรวมสถิติทั้งหมดจะพบว่า ต้องเยียวยาในส่วนของคนนอกพื้นที่จำนวนมากกว่า
“เราต้องเยียวยาตำรวจและทหารที่มาจากนอกพื้นที่เยอะ เพราะส่วนมากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นเหตุระเบิด มีผลต่อผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากในคราวเดียวกัน พอเขาบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ส่งกลับภูมิลำเนา ทางศูนย์ฯ ก็ส่งเรื่องต่อไปให้ทางพื้นที่ภูมิลำเนาของเขาดูแลต่อ

“ส่วนกรณีชาวบ้านที่ต้องเข้าไปเยียวยามีจำนวนมากที่สุดคือเหตุการณ์ไอร์ปาแย (เหตุกลุ่มคนร้ายกราดยิงในมัสยิดไอร์ปาแย) มีผู้บาดเจ็บ 12 รายและเสียชีวิต 10 ราย มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทางศูนย์เยียวยาต้องเข้าไปเกาะติดใกล้ชิดมาก แต่โชคดีที่เรามีบัณฑิตอาสาเข้ามาช่วยเหลือ”

กรณีโศกนาฏกรรมแห่งบ้านไอร์ปาแย นอกจากการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขปกติแล้ว ทางศูนย์เยียวยาฯ อำเภอเจาะไอร้องยังต้องเข้าไปดูแลในส่วนการพัฒนาหมู่บ้านด้วย โดยได้งบประมาณสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เช่น โครงการก่อสร้างรั้วมัสยิดไอร์ปาแยที่เกิดเหตุ โครงการปรับปรุงบาลาเซาะ(ศาลาละหมาด)ในหมู่บ้าน

รวมถึงการเยียวยาทางด้านจิตใจบางด้านที่สำคัญ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบเงินให้แก่ทายาทเพื่อนำไปจ้างประกอบพิธีฮัจย์ให้กับผู้ที่เสียชีวิตที่ยังไม่เคยไปประกอบพิธีฮัจย์ที่เมืองนครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายแห่งชีวิตของคนที่ตายแล้ว รายละ 25,000 บาท ส่วนผู้เสียชีวิตที่เคยไปประกอบพิธีฮัจย์แล้ว จะได้รับครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าว

ที่ผ่านมา มีการนำญาติพี่น้องผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ตัวแทนกลุ่มสตรีและสี่เสาหลักของหมู่บ้านไอร์ปาแยคือ ผู้ใหญ่บ้าน  ผู้นำศาสนา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้นำองค์กรหรือผู้นำธรรมชาติ ไปทัศนะศึกษาที่จังหวัดสตูล เพื่อให้ทุกคนได้ผ่อนคลายความรู้สึกเศร้าโศกและความรู้สึกหวาดระแวงลง

ทั้งหมดเป็นภารกิจการเยียวยาที่นิฮาฟีซะห์ บอกว่า ต้องทำให้ละเอียดรอบคอบ เพราะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่เบื้องหลัง หากเพิกเฉยหรือใช้เงินลงไปอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงศาสนา วัฒนธรรมและวิถีชีวิต นอกจากจะเป็นการเยียวยาที่ไม่ได้ผลสัมฤทธิ์ใดๆ แล้ว ยังส่งผลกระทบอย่างมหาศาลในอนาคต

“เราต้องดูแลไปที่จิตใจเขา ทำให้รู้สึกว่ารัฐไม่ทอดทิ้ง ในทางคดีก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่รัฐก็มีหลายหน่วยที่ทำงานควบคู่กันไป ส่วนของการเยียวยา จะต้องเกาะติดและติดตามผลไปเรื่อยๆ เพราะคำว่า ‘เยียวยา’ มันกว้างมาก รวมทั้งวัตถุ และ จิตใจ ส่วนของจิตใจนี่ยากที่สุด เพราะวัตถุมันใช้เงินซื้อได้ แต่จิตใจใช้เงินซื้อไม่ได้”

นิฮาฟีซะห์ ยังได้ยกกรณีบ้านป่าไผ่และไอร์ปาแย ที่เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกันระหว่างคนทั้งสองหมู่บ้าน เพราะในช่วงเช้ามืดวันที่ 8 มิถุนายน 2552 ก่อนเกิดเหตุยิงถล่มมัสยิดบ้านไอร์ปาแย มีคนร้ายยิงนายช่วย นาดี ชาวบ้านไอร์ปาเซ หมู่ 8 ตำบลตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เสียชีวิตระหว่างเดินทางไปกรีดยางที่บ้านป่าไผ่ ทำให้มีการจุดประเด็นขึ้นมาว่า เหตุการณ์กราดยิงมัสยิดบ้านไอร์ปาแย เป็นการเอาคืน

เธอเล่าว่า หลังเหตุการณ์มีผลให้คนในหมู่บ้านเกิดความหวาดระแวงกับคนจากบ้านป่าไผ่ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอระแงะ แต่มีอาณาเขตติดต่อกับบ้านไอร์ปาแย ตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง ทางศูนย์เยียวยาฯจังหวัดนราธิวาสได้ของบประมาณจาก ศอ.บต.เพื่อพาชาวบ้านจากสองหมู่บ้านนี้ไปทัศนะศึกษาและทำกิจกรรมร่วมกันที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 4 คืน 3 วัน

โดยเป็นกิจกรรมที่มุ่งละลายพฤติกรรมในใจ ลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน และเสริมสร้างความรักสมัครสมานสามัคคีระหว่างกัน โดยหวังว่าหลังจากกลับคืนสู่หมู่บ้านแล้ว คนจากสองศาสนาและสองวัฒนธรรมจะมีความสัมพันธ์อันดีกัน ซึ่งโครงการนี้ผ่านความเห็นชอบแล้วในหลักการ เพียงแต่รองบประมาณอยู่ หากทุกอย่างเรียบร้อย น่าจะดำเนินโครงการได้ในเดือนพฤศจิกายน 2553 นี้

“ปัจจุบันสองหมู่บ้านนี้ยังไปมาหาสู่กันบ้าง แต่ไม่มาก ชาวบ้านไอร์ปาแยนำน้ำยางพาราไปขายที่บ้านป่าไผ่ ซึ่งเห็นสัญญาณว่า วิถีชีวิตเดิมๆ จะกลับมาแล้ว หากเสริมสร้างกิจกรรมร่วมกัน อีกหน่อยคงดีขึ้น” นิฮาฟีซะห์กล่าว

นิฮาฟีซะห์บอกว่า เธอให้ความสำคัญกับการเยียวยาอย่างมาก ไม่ใช่เพียงแค่เป็นงานในสายงานที่รับผิดชอบเท่านั้น แต่การเยียวยาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต

“ต้องปรับต้องเติมไปเรื่อย แต่ต้องละเอียดเพราะมันเป็นชีวิตคน และมีผลต่อทัศนคติของคนในพื้นที่อย่างมาก ทั้งผู้ได้รับผลกระทบเองและคนทั่วไป เชื่อว่ากระบวนการเยียวยายังต้องปรับอีกมาก บางส่วนยังติดขัดกับเงื่อนไขเดิมที่ฝืนไม่ได้ แต่เชื่อว่าอนาคตปรับเปลี่ยนในระดับนโยบายได้ เพื่อให้แนวทางการแก้ปัญหาในองค์รวมเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี” นิฮาฟีซะห์ กล่าวทิ้งท้าย

.......

ตารางแสดงจำนวนผู้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาของอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่ พศ. 2547 จนถึง 2553 (หน่วย : คน)


ประเภทผลกระทบ            คนในพื้นที่         คนนอกพื้นที่        รวม
เสียชีวิต                                 58                    27                  85
ทุพลภาพ                                 5                     7                   12
บาดเจ็บสาหัส                          28                   39                   67
บาดเจ็บปานกลาง                     29                   39                   68
บาดเจ็บเล็กน้อย                       23                   42                   65
รวมทุกประเภท                       143                  154                  297

 

ที่มา: ศูนย์เยียวยาฯ ประจำอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส


********************

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 431085เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2011 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท