DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

‘นิมัศตูรา แว’ พยาบาลด่านหน้าเยียวยาใต้


 

‘นิมัศตูรา แว’ พยาบาลด่านหน้าเยียวยาใต้

 

มูฮำหมัด ดือราแม

 

หากจะกล่าวว่า “พยาบาลคือด่านหน้าของการเยียวยารักษาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ก็คงไม่ผิดนัก เพราะสถิติความรุนแรงในพื้นที่ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตพุ่งขึ้นทุกวัน

กลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บที่ถูกส่งไปถึงโรงพยาบาลเหล่านี้ จะได้รับการดูแลจากพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเป็นอันดับแรกอย่างรีบเร่งก่อนถึงหมอ ไปจนถึงระหว่างการผ่าตัด ช่วงการพักรักษาตัว หรือแม้แต่ช่วงที่กลับไปพักฟื้นที่บ้านแล้ว พยาบาลก็ยังอาจต้องตามไปดูแลในบางรายด้วย

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ยะลา สถาบันพระบรมราชชนก เป็นสถาบันหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการผลิตพยาบาลเข้ามาดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่างๆ ยิ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแล้ว ยิ่งต้องใส่ใจกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอันเนื่องมากจากความไม่สงบ ซึ่งสถาบันแห่งกำลังทำบทบาทนี้อยู่

“นิมัศตูรา แว” ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ยะลา สถาบันพระบรมราชชนก ในฐานะประธานศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดยะลา หรือ ศวชต.ยะลา พูดถึงบทบาทและความท้าทายในวิชาพยาบาลต่อการเป็นหน้าด่านของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้

.....................

 

บทบาทอง ศวชต. ในเรื่องงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

หลักคิดของศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดยะลา หรือ ศวชต.ยะลา ในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบ คือ เราต้องการให้เขาเข้มแข็งและพึ่งตัวเองได้ โดยการใช้ความรู้และกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตของบุคคลทุกกลุ่มวัย

เพราะฉะนั้นกิจกรรมจะประกอบด้วยการเยี่ยมให้กำลังใจ การประเมินความต้องการ การสนับสนุน การให้ข้อมูลความรู้ การให้คำปรึกษา การประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และพัฒนาความเข้มแข็งเพื่อให้ดูแลตัวเองหรือกลุ่มอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนได้ รวมทั้งรวบรวมข้อมูล และพัฒนาองค์ความรู้ ผ่านกระบานการวิจัย

กรอบหลักคือ ผู้ได้รับผลกระทบเข้มแข็ง ช่วยตัวเองได้ ซึ่งนอกจากเราสนับสนุนในสิ่งต่างๆ แล้ว เรายังเป็นหน่วยประสานให้เขาด้วย เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มหญิงหม้าย กลุ่มผู้พิการ กลุ่มเด็กกำพร้า

ขณะเดียวกันเราก็ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรงพยาบาล เพราะวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ยะลา ก็อยู่ใกล้โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เราเข้าไปดูตั้งแต่ผู้ได้รับบาดเจ็บเข้าโรงพยาบาล แล้วก็ตามไปดูการพักฟื้นที่บ้าน ซึ่งเรามีนักศึกษาพยาบาลสายวิชาชีพนี้อยู่แล้ว

เราได้พัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะเรารู้ว่าสุดปลายทางอนาคตคือ เขาต้องดูแลตัวเองหรือกลุ่มของตัวเองได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน เพราะไม่สามารถอาศัยคนอื่นได้ตลอดเวลา

ในการทำงานในพื้นที่ เรามีกลุ่มคนที่เป็นอาสาสมัคร คือ อสม.(อาสาสมัครสาธารณาสุขหมู่บ้าน) เป็นหลัก และมีกลุ่มอื่นๆเข้ามาด้วย โดยเฉพาะจากองค์กรพัฒนาเอกชน เรามีกลุ่มนักศึกษาที่มีจิตอาสาและนักศึกษาที่อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนเข้ามาร่วมด้วย

ส่วนกิจกรรมที่ทำ เช่น กลุ่มเด็กกำพร้าในตำบลกรงปินัง จังหวัดยะลา 40 คน ที่พ่อเสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 โดยนำมาเข้าค่ายที่วิทยาลัย เพราะเราต้องการให้คนข้างนอก เห็นว่าเด็กเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง

เป้าหมายคือ เราต้องการให้เด็กมีทิศทาง มีเป้าหมายว่า อนาคตของเขาต้องการอะไร ถ้าเขามีเป้าหมาย มีทิศทาง เขาก็จะมีอนาคต เรายังมองว่า กระบวนการช่วยเหลือเขาต้องร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเราพยายามเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย เพราะเราจะช่วยเขาไปตลอดก็คงไม่ใช่

แต่เจตนคติของชุมชนเองก็สำคัญฒาก อย่างวันนั้นกำนันบอกว่า เป็นหน้าที่รับผิดชอบของคนในหมู่บ้านที่ต้องดูแลเด็กกำพร้า แล้วก็มีเจ้าหน้าที่และองค์กรอื่นๆ เข้าไปร่วมด้วย แล้วก็มีเครือข่ายหญิงหม้ายที่ผ่านกระบวนการปรับตัวแล้วและมีความเข้มแข็งเข้ามาเป็นเครือข่ายด้วย นอกจากนี้ยังมีศิษย์เก่าที่เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพยาบาลในสถานีอนามัยและโรงพยาบาลชุมชน

ศวชต.ยะลาก่อตั้งเมื่อปี 2552 โดยศวชต.แห่งแรกคือที่ปัตตานี ตั้งอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ศวชต.ได้ชวนเราเข้าไปร่วมฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันจนกระทั่งเกิด ศวชต.นราธิวาส และศวชต.ยะลา ตามลำดับ

ศวชต.ยะลา ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เนื่องจากเรามีข้อจำกัดเรื่องเวลาและบุคลากร แต่เราก็เริ่มทำงานไปเรื่อยๆ แล้วเราก็นำมาเชื่อมโยงกับการเรียนการสอน เชื่อมกับหน่วยงานประจำของเรา

 

การเชื่อมกับการเรียนการสอนทำอย่างไร 

เนื่องจากการรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บเริ่มต้นจากโรงพยาบาล ซึ่งนักศึกษาพยาบาลก็ต้องฝึกปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลอยู่แล้ว ส่วนนอกเวลาฝึกปฏิบัติงานก็มีนักศึกษาจิตอาสาเข้ามาช่วยอยู่ด้วย

อย่างกรณีเด็กที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์ไม่สงบรายหนึ่ง ชื่อสุไฮมี ที่มีการนำเสนอข่าวจนมีคนบริจาคเครื่องช่วยหายใจ ตอนนี้แม่ได้มาเช่าบ้านอยู่ใกล้ๆ วิทยาลัย เราก็ตามไปเยี่ยมดูอยู่ตลอด เพราะหลังจากออกจากโรงพยาบาลข่าวก็เงียบหายไป แต่ชีวิตเขาต้องดำเนินต่อไป คนอื่นไม่มีใครรู้หรอกว่า เขาจะอยู่อย่างไร อาจารย์ก็พานักศึกษาไปดู

อาจารย์จะวางแผนให้นักศึกษาได้ไปดูแลผู้ได้รับผลกระทบในช่วงนอกเวลาปฏิบัติงานด้วย ซึ่งเป็นการเสริมหลักสูตรในการเรียนรู้ด้วยจิตอาสาของเขาเอง

อย่างกรณีนี้ ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและไม่สามารถนั่งได้ เมื่อผมยาวขึ้นแล้วไปกดต้นคอ ทำให้ไม่สามารถตัดผมได้ ช่างตัดผมก็ตัดให้ไม่ได้ แม่เขาจะตัดเองก็ไม่กล้า เราก็เลยให้นักศึกษาเข้าไปตัดผมให้ แล้วฝึกให้แม่สามารถตัดผมลูกซึ่งเป็นผู้ป่วยเองได้

นี่ถือเป็นวิชาชีพพยาบาลเลย เพราะได้ประสบการณ์ จากการปฏิบัติจริง ได้ความรู้ ได้ความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

 

แสดงว่าแต่ละกรณีมีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งนักศึกษาก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วย  

เพราะอาจารย์เองก็ไม่ได้คิดหรือไม่รู้ว่า หลังจากผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลแล้วจะเป็นอย่างไร เราเองก็ได้เรียนรู้ไปด้วย นักศึกษาเองก็ได้เรียนรู้ไปด้วย เรามีกรณีต่างๆ ที่ทำให้นักศึกษาเข้าใจความเป็นองค์รวมของคนมากๆ เพราะการดูแลคนต้องดูแลทั้งหมด ต้องเข้าใจบริบททั้งหมด เราคิดว่า เราได้ลูกศิษย์ที่เป็นพยาบาลที่ดี ที่เข้าใจดูแลคนด้วยจิตอาสา เข้าใจความเป็นมนุษย์ เข้าในองค์รวม

เรามีหลายกิจกรรมที่ทำให้เป็นพยาบาลที่ดี เรามีหลักสูตรอบรมวิชาเวชปฏิบัติ โดยเอาพยาบาลที่จบแล้วมาเรียนเฉพาะทาง มาดูแลผู้ป่วยในชุมชน เราก็เอากรณีที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบให้คนดูแล ได้สัมภาษณ์ เอามาให้คนเห็น ซึ่งการดูแลต้องดูแลแบบองค์รวม

 

การเยียวยาในอนาคตควรเป็นอย่างไร 

เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ต้องช่วยกันดูแล และเราสร้างคนที่จะเข้ามาดูแลคนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนักศึกษาพยาบาล และคนเข้ารับการอบรม แต่การเยียวยาในอนาคต ต้องไม่ใช่มาจากหน่วยงานภาครัฐหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เราจะต้องทำอย่างไรให้ชุมชนดูแลกันเองได้ สามารถพึ่งตัวเอง พึ่งกลุ่มของตัวเองมากขึ้น สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เราต้องทำให้เขามีศักยภาพดูแลตัวเองได้

เราไม่ได้ทำงานใหญ่เลย แต่เราภาคภูมิใจที่เป็นจุดเล็กๆ ที่พยายามช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและเยียวยาสังคม ในฐานะสถานศึกษา ที่สร้างคนให้เป็นบัณฑิตที่พึ่งประสงค์

 

พยาบาลเหมือนด่านแรกของการเยียวยา ซึ่งนอกจากดูแลเรื่องการบาดเจ็บแล้วยังช่วยเหลือดูแลอะไรอีก  

ดูแลทั้งหมด เพราะเราไม่ได้สอนให้ดูแลแค่ร่างกายเท่านั้น อย่างน้อยต้องบริหารจัดการจิตใจที่ได้รับผลกระทบด้วย เพราะคนที่ได้รับผลกระทบหนึ่งคนในครอบครัว คนอื่นก็ได้รับผลกระทบไปด้วยทั้งหมด

ต้องคำนึกถึงองค์ประกอบอื่นด้วย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม แต่ไม่ใช่พยาบาลไปทำให้ทั้งหมด แต่อาจเป็นผู้ที่ประสานงานให้หน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยเหลือดูแล หรือกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ที่จะช่วยให้เขาอยู่ได้ เช่น กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง

พยาบาลต้องเข้าใจองค์รวมของผู้ที่เข้ามาใช้บริการ ไม่ใช่แค่การดูแลรักษาอาการบาดเจ็บ เราคาดหวังว่าพยาบาลจะเป็นอย่างนี้ เราไม่ต้องการแค่ดูแลทางกาย ทางใจ แต่ต้องการให้เข้าใจองค์รวมความเป็นมนุษย์

 

ตอนนี้นักศึกษาพยาบาลจิตอาสาที่เรียนในหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับการดูแลผู้ได้รับผลกระทบกี่คน  

ประมาณ 150 คน จากทั้งหมด 356 คน จริงๆ แล้ว การเรียนการสอนจะหมุนเวียนกันไปจนครบทั้งหมด เพราะเป็นกิจกรรมการที่นักศึกษาต้องเข้ามาเรียนด้วย เพียงแต่กิจกรรมนี้เริ่มจากนักศึกษาที่มีจิตอาสาก่อนที่เข้ามาช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับผลกระทบ แล้วก็มีนักศึกษาเข้าเพิ่มเรื่อยๆ แต่โดยหลักสูตรการเรียนการสอนแล้ว นักศึกษาก็จะได้ร่วมกิจกรรมครบทุกคน

อย่างที่เรามีแนวคิดบริการสังคมโดยการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน อย่าง ศวชต.ก็ดูแลในเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ อาจารย์บางท่านก็ดูแลเรื่องการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน โดยเราเลือกชุมชนที่อยู่ใกล้ไปทำกิจกรรม เช่น ชุมชนจารู ชุมชนบาโงปาแด ในเขตเทศบาลนครยะลา ชุมชนบ้านท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งในกลุ่มเหล่านี้เราก็ได้เจอกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ เราก็ให้นักศึกษาลงไปเพื่อช่วยเหลือสังคม

การทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากสภาพจริงมันจะได้เข้าใจมากกว่าการเรียนในตำรา มันเป็นชีวิตสดๆ ชีวิตล้วนๆ ที่มันกระแทกใจเขา และเขาเข้าใจความทุกข์ของคน ตอนนี้นักศึกษากลุ่มนี้ยังเรียนไม่จบ ตอนนี้กำลังเรียนอยู่

สำหรับนักศึกษา 150 คน ดังกล่าว เป็นนักศึกษาพยาบาลตามโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 3,000 คน เพื่อนำมาปฏิบัติงานในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ของกระทรวงสาธารณสุข โดยกระจายไปตามวิทยาลัยพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งโครงการนี้จะสิ้นสุดในปี 2555

 

บทสรุปการเยียวยา   มุมมองพยาบาลชายแดนใต้ 

การเยียวยาผู้ประสบเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้นั้น  นอกจากบทบาทของโรงพยาบาลและสถานีอนามัยในการดูแลด้านร่างกายให้หายจากภาวะบาดเจ็บแล้ว  ยังมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเยียวยาด้านจิตใจของผู้ประสบเหตุหรือครอบครัวผู้สูญเสีย  ซึ่งแน่นอนว่าการเชิญเขาเหล่านั้นมารับการเยียวยาที่สถานพยาบาลคงได้อะไรไม่มาก  แต่หากพยาบาลสามารถลงไปเยี่ยมบ้านของเขาได้  ไปเยียวยาโดยเห็นสภาพความเป็นอยู่จริงที่บ้านของเขา  ให้กำลังใจ ให้คำแนะนำที่ปฏิบัติได้ตามบริบทของบ้านและครอบครัว  ย่อมจะมีคุณค่าในการเยียวยาอย่างมาก

พยาบาล 3,000 คน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการผลิตมาเพื่อการแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านสุขภาพในพื้นที่ และกำลังจะจบการศึกษาในปี 2555 จะเป็นอีกกำลังสำคัญที่จะมาเติมเต็มในพื้นที่  ซึ่งจะสามารถร่วมกระบวนการเยียวยาแก่ผู้ประสบเหตุความไม่สงบและครอบครัวได้อย่างมาก  อย่างไรก็ตาม  พยาบาลกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เรียนพยาบาลในวิทยาลัยพยาบาลนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้  การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เข้าใจการเยียวยาและสถานการณ์ในพื้นที่หลังจบการศึกษาก็น่าจะเป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน

หากพยาบาลในพื้นที่มีจิตอาสา มีเจตคติที่ดีต่อการลงเยี่ยมบ้านเยียวยาในชุมชนแล้ว  เชื่อว่าจะทำให้กระบวนการเยียวยาเปลี่ยนจากการเยียวยาด้วยเม็ดเงินไปสู่การเยียวยาอย่างเป็นองค์รวมได้อย่างแท้จริง  และครอบคลุมทุกพื้นที่ได้ด้วย เพราะทุกอำเภอและแทบทุกตำบลมีพยาบาลประจำการอยู่นั่นเอง

 

********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 431079เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2011 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท