DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

ชีวิตลำเค็ญครอบครัว‘อามิน’ กับคดีที่ต้องสู้กันถึงฎีกา


 

ชีวิตลำเค็ญครอบครัว‘อามิน’
กับคดีที่ต้องสู้กันถึงฎีกา


มูฮำหมัด ดือราแม

 

“อามิน” คือนามสมมุติ ของราษฎรคนหนึ่งในตำบลเนินงาม อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เขาคือหนึ่งในจำเลยคดีก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ผลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากจะสร้างความยากลำบากให้ตนเองและครอบครัวแล้ว อามินยังต้องลุ้นกับการต่อสู้คดีที่ถึงขั้นฎีกากันแล้ว

อามิน มีอาชีพเป็นครูสอนศาสนาที่โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ บาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ได้เงินเดือนๆ ละ 4,800 บาท โดยเป็นเสาหลักในการหารายได้เข้าครอบครัว

แต่ด้วยความหวั่นวิตกว่า เหตุร้ายอาจเกิดขึ้นกับตน จึงตันสินใจลาออกจากการเป็นครูที่โรงเรียนนี้ เนื่องจากก่อนหน้านั้น เคยเกิดเหตุการณ์คนร้ายยิงครูสอนศาสนาในโรงเรียนเดียวกันเสียชีวิตมาแล้ว 4 - 5 คน

เหตุที่อามินไม่อยากตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับกับเพื่อนครูที่เสียชีวิตไปแล้ว เนื่องจาก อามินคิดว่า ตอนนั้น ครูสอนศาสนาหรืออุสตาซมักตกเป็นเป้าสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะมองว่าเป็นคนปลูกระดมเยาวชนในพื้นที่ให้เป็นผู้ก่อความไม่สงบ

เมื่อลาออกมาแล้ว จึงยึดอาชีพกรีดยางพาราหารายได้ให้กับครอบครัว โดยทุกวันต้องเดินทางออกไปกรีดยางที่หมู่บ้านสือเลาะ ตำบลเรียง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ห่างจากบ้านราว 20 กิโลเมตร เพื่อหาเงินมาใช้จ่ายดูแลทั้งพ่อ แม่ที่แก่ชรา และภรรยากับลูกสาวอีก 2 คน จากรายได้เพียงวันละประมาณ 200 – 300 บาท

แต่ในที่สุด เหตุร้ายก็เกิดขึ้นกับอามินจนได้

ย้อนรอยเหตุการณ์

อามิน เล่าวว่า เช้าวันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน 2551 ขณะที่ตนเองเดินทางไปงานศพคุณยายที่บ้านบาโงย ตำบลโกตาบารู อำเภอรา จังหวัดยะลา ประมาณเวลา 9 โมงเช้า มีชาวบ้านมาบอกตนว่า มีตำรวจ ทหารและทหารพรานมาล้อม ทำให้ตนเองรู้สึกกลัว เพราะตอนนั้นชาวบ้านรู้จักตนเองว่าเป็นอุซตาซ จึงบอกให้หลบไปข้างหลังกลุ่มชาวบ้าน แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ล้อมไว้หมดแล้ว

“เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นผมก็ตะโกนให้ผมหยุด และสั่งให้หมอบ ตอนที่กำลังจะหมอบลง ก็ถูกเจ้าหน้าที่ยิงใส่ กระสุนโดนเข้าเบ้าตาซ้าย 1 นัด และหน้าท้อง 1 นัด ตามมาด้วยถูกเตะคางและเหยียบจนเลือดอาบและฟันหัก จากนั้นผมก็สลบไป”

ตนสลบไปนานประมาณ15วัน รู้สึกตัวอีกทีที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ในสภาพที่สวมกุญแจมือ มีเจ้าหน้าที่เฝ้าเวรยามตลอดเวลา เมื่อตนรู้สึกตัวแล้ว ตำรวจก็นำตนขึ้นศาลและนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำกลางยะลา

“เจ้าหน้าที่อ้างว่า ผมเป็นฝ่ายชักปืนต่อสู้ ซึ่งปืนที่ผมครอบครองเป็นปืนที่เพื่อนบ้านฝากไว้กับผม ก่อนที่เจ้าของปืนเสียชีวิต เมื่อเจ้าของเสียชีวิต ผมก็ไม่รู้ว่า จะไปเก็บไว้ที่ไหน จึงพกไว้กับตัวเอง แต่ตอนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ไม่ได้ถามอะไรเลย สั่งให้หมอบแล้วยิงใส่ผมทันที”

อามิน

 


ชีวิตในเรือนจำ

การใช้ชีวิตในเรือนจำลำบากมากในช่วงแรก เพราะร่างกายเพิ่งฟื้น ยังไม่หายจากอาการบาดเจ็บดี กรามหัก ฟันหักกินข้าวลำบาก ต้องกินข้าวต้มเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ตนอยู่ในสภาพนั้นนานประมาณ 5 เดือนร่างกายถึงจะเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ก็ยังไม่หายดีเท่าที่ควร

แต่ความลำบากก็เพิ่มขึ้นมาอีก เมื่อต้องถูกย้ายไปอยู่ที่เรือนจำกลางสงขลา ทางครอบครัวสามารถเดินไปเยี่ยมได้เดือนละครั้งเท่านั้น เพราะระยะทางไกลและมีค่าใช้จ่ายสูง

จนกระทั่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกตนเป็นเวลา 34 ปี ในข้อหามีอาวุธปืนในครอบครองและพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ แต่ศาลอุทธรณ์ได้ลดโทษเหลือจำคุกเพียง 3 ปี และยกฟ้องในคดีพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ ทางอัยการไม่พอใจจึงยื่นฎีกา

ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ โดยต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัววงเงินสูงถึง 500,000บาท

ผลกระทบที่ได้รับ

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น ผลกระทบที่ตนเองได้รับ คือ
1.ตนเองไม่มีสิทธิที่จะทำงานเหมือนกับคนทั่วไป จะกลับไปสอนหนังสืออย่างเดิมก็ไม่ได้
2.ภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวทั้งหมด ตกเป็นของภรรยาคนเดียว ซึ่งทำให้ต้องทำงานหนักขึ้นและลำบากมากสำหรับผู้หญิงคนเดียว
3.เจ้าหน้าที่รัฐระแวงต่อตน ส่วนคนรู้จักก็ห่างหายไป และหลังจากเกิดเหตุไม่เคยได้รับการช่วยเหลือหรือได้รับการเยียวยาแต่อย่างใดเลย

ในขณะที่ครอบครัวยังมีหนี้เงินกู้จากธนาคาร อีกประมาณ 60,000 บาท

ตอนนี้ภรรยาต้องทำงานคนเดียว เพราะตนเองยังไม่สามารถทำอะไรหนักๆได้ ตนสงสารและเห็นใจภรรยาที่ต้องดิ้นรนอยู่คนเดียว ต้องทำทุกอย่างเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องหาเงินมาปลดหนี้ ซึ่งยิ่งทำให้ลำบากมากขึ้น


ภรรยาและลูกของอามิน 


เมื่อต้องประสบกับความยากลำบากมากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย “หลังจากตำรวจแจ้งข้อว่า ผมเป็นคนร้ายแล้ว คนในหมู่บ้านต่างประณามว่า ผมเป็นคนร้าย ต่างก็ระแวงผม ทำให้ต้องวางตัวลำบากมาก ไม่มีใครมาเยี่ยมเลย ไปไหนมาไหนก็ต้องระวัง กลัวจะเกิดเหตุร้ายกับผมอีก”

ทุกวันนี้ ตนได้กลับมาอยู่กับครอบครัวแล้ว ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ รายได้ของครอบครัวมาจากกการกรีดยางพาราอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งภรรยาเป็นคนกรีดยางคนเดียว รายได้วันละประมาณ 350 บาท หากวันไหนฝนตกก็กรีดยางไม่ได้ รายได้ก็ขาดไป

ส่วนค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน ตกประมาณวันละ 200 – 300 บาทต่อวัน ค่าไฟฟ้าอย่างเดียวก็เดือนละ 500บาทแล้ว

อามิน เล่าทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ และไม่มีตัวแทนองค์กรไหนมาเยี่ยมเลย แม้แต่ตอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

ชีวิตนี้ช่างโดดเดี่ยวเหลือเกิน

...

...

...

 

 

ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน


ในชายแดนใต้ยังมีอีกหลายกรณีที่มีลักษณะที่ผู้ได้รับผลกระทบต้องต่อสู้ชีวิตตามลำพัง ทั้งการต่อสู้กับความเดือดร้อนที่ได้รับและการต่อสู้คดีที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไรหรือเมื่อไหร่ เพราะแม้การพิจารณาคดีที่ส่วนมากมักใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ปี ในศาลชั้นต้น แต่นั่นก็นานมากพอในความรู้สึกของทั้งคนที่ประสบเหตุเองและคนแวดล้อม

เพราะฉะนั้น ผลกระทบจากกรณีเช่นนี้ จึงร้ายแรงมาก แม้ผลกระทบต่อร่างกาย คืออาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น จะค่อยๆ ทุเลาลงตามเวลาและการรักษา แต่ผลกระทบทางด้านจิตใจน่าจะยาวนานกว่า ตราบเท่าที่ร่างกายไม่เอื้อต่อการทำงานและคดีที่ยังไม่จบลง ส่วนผลกระทบทางด้านสังคมก็คงค่อยๆทุเลาลงตามกาลเวลา

ดังนั้น กระบวนการเยียวยาในกรณีนี้ จึงควรมีทั้ง 3 ทาง คือ ทางร่างกาย จิตใจและสังคม
การเยียวยาทางด้านร่างกายที่เห็นชัดเจนคือการการักษาจากอาการบาดเจ็บที่ได้รับ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของบาดแผล แต่การเยียวยาทางด้านจิตใจนั้นมีความซับซ้อนกว่า อาจต้องทำไปพร้อมกันหลายอย่าง เช่น การช่วยเหลือครอบครัว อาชีพ ทุนการศึกษา รวมทั้งการช่วยเหลือทางด้านคดี หรือการช่วยเหลือตามสิทธิของจำเลย เป็นต้น

ในกรณีนี้ ผลกระทบที่น่าจะสำคัญ คือความรู้สึกโดดเดี่ยวของผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งตัวอามินเองและครอบครัว ดังนั้นกระบวนการเยียวยาในกรณีนี้ จึงน่าจะเริ่มที่ครอบครัวได้ ส่วนตัวจำเลยนั้น ก็คงเยียวยาตามสิทธิของจำเลยที่ควรได้รับ สิทธิทางกฎหมาย ที่สำคัญควรจะมีความต่อเนื่อง

ประเด็นปัญหาคือ ในกรณีนี้หมดสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนดขึ้น ดังนั้น องค์กรภาคประชาชนหรือองค์กรเอกชนที่ควรจะมีบทบาทนี้ ในขณะเดียวกับภาครัฐก็ไม่ควรทิ้งบทบาทนี้ แต่ต้องมาออกแบบวิธีการที่เหมาะสม เพื่อให้เห็นว่า ได้ดูแลพลเมืองภายใต้ปกครองของรัฐให้ดีที่สุด

 

********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 431075เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2011 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 09:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท