DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

ปากคำสองผู้ต้องหาชายแดนใต้ ความมั่นคงกับการเยียวต้องเดินคู่กัน


  

ปากคำสองผู้ต้องหาชายแดนใต้
ความมั่นคงกับการเยียวต้องเดินคู่กัน


มูฮำหมัด ดือราแม

 

ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการถูกเจ้าหน้าที่จับกุมหรือควบคุมตัว ซึ่งอาจจะถูกตัวผู้กระทำผิดหรือผิดตัวหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์กันในกระบวนการยุติธรรม แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการจับกุมหรือควบคุมตัว คือความยุ่งยากลำบากที่ตามมา

เช่นเดียวกับกรณีของสองผู้ต้องหาเหตุการณ์เดียวกัน แต่อยู่คนละสถานที่และเวลาในจังหวัดยะลา ซึ่งแม้คดีนี้ยังไม่สิ้นสุดที่พอจะเรียกได้ว่าเขาคือ “แพะ” รายหนึ่งที่ถูกจับกุมโดยมิชอบ แต่ทั้งสองรายก็มั่นใจในความบริสุทธิ์ของตนเอง ทั้งยังเปิดเผยให้เห็นความเจ็บปวดและความยากลำบากภายหลังที่ต้องคดีซึ่งยังไม่มีใครรับผิดชอบ

รายแรกคือ ‘นายเซ็ง หะมิดง’ อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 62 หมู่ 9 บ้านตาเนาะปูเตะใน ตำบลตาเนาะปูเตะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา อาชีพรับจ้างกรีดยาง ได้บอกเล่าถึงวันที่เกิดเหตุการณ์ว่า เหตุเกิดในวันอาทิตย์ซึ่งจำเดือนไม่ได้แต่อยู่ในปี 2551

เวลาประมาณ 11.00 น. หลังกลับจากกรีดยางก็มานั่งอยู่บนแคร่ศาลาหน้าบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของชาวบ้านทั่วไปที่จะมาจับกลุ่มพูดคุยกันเพื่อเป็นการพักจากการทำงานในช่วงเช้า สักพักหนึ่งก็มีรถของเจ้าหน้าที่รัฐวิ่งเข้ามา บนรถมีเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบประมาน 10 คนอยู่บนรถคันดังกล่าว ซึ่งขับมาด้วยความเร็วสูงตรงเข้ามาที่บ้านของตน พอถึงหน้าบ้านห่างประมาณ 50 เมตร เจ้าหน้าที่บนรถก็ยิงปืนขึ้นฟ้าจำนวนหลายนัด

นายเซ็งบอกว่าเมื่อได้ยินเสียงปืนหลายนัดแล้วตนเองตกใจก้มลงหมอบ หลังจากนั้นก็ได้คลานเข้าไปหาลูกๆ ที่อยู่ห่างจากตนเองประมาณ 5 เมตร จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้หันกระบอกปืนลงมาข้างล่างแล้วกราดยิงเพราะคิดว่าตนเองและเพื่อนบ้านจะหลบหนี

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ประมาณ 5 คนได้วิ่งโอบล้อมไปข้างหลังบ้าน ตนเองโดนกระสุนที่หลังเท้าหนึ่งนัด เมื่อลูกชายที่อยู่ในบ้านเห็นตนถูกยิงก็ได้มาโอบกอด และบอกเจ้าหน้าที่ว่าหยุดยิงได้แล้ว ยิงทำไม

หลังจากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ชุดใหญ่ได้ตามมาอีกชุดและล้อมบ้านของตนเองเอาไว้ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ชุดหนึ่งจะนำตนไปส่งโรงพยาบาล

“ผมเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ หลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลเจ้าหน้าที่ได้พาผมเข้าอยู่ในเรือนจำจังหวัดยะลา 12 วัน เจ้าหน้าที่บอกว่า บ้านผมเป็นที่ชุมนุมของกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่ก็ประกันตัวออกมาในวงเงินสามแสนห้าหมื่นบาท โดยใช้ตำแหน่งของกำนันและผู้ใหญ่บ้านช่วยค้ำประกัน เพราะเขาเห็นว่าน่าสงสารผมบาดเจ็บจากการถูกยิง”

นายเซ็งเล่าว่า ตอนที่อยู่ในเรือนจำ นั้นไม่มีการดูแลอะไรทั้งสิ้นจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ ทั้งที่ตนเองก็บาดเจ็บอยู่ ผ่านไป 3 วันก็ไม่มีหมอมาเปลี่ยนผ้าผันแผลให้

ภายหลังจากการประกันตัวแล้วกลับมาอยู่ที่บ้าน ความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ นั้นไม่ปรากฏ การเยียวยาอะไรก็ไม่มี มีแต่ นายอำเภอบันนังสตา และปลัดอำเภอที่มาเยี่ยมเท่านั้น

เขาบอกว่าถ้ามีความช่วยเหลือมาก็ดี เพราะตนเองก็ทำงานไม่ค่อยคล่องตัวมากนัก หลังที่โดนกระสุนที่หลังเท้า ใช้การไม่ค่อยสะดวก ช่วงแรกๆจะรู้เจ็บเวลาเดิน มาช่วงหลังๆ นี่เองที่ค่อยยังชั่วขึ้น

นายเซ็งบอกว่า ตนเองเป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวและลูกๆ 9 คน ลูกคนโตแต่งงานแล้วมีลูก 4 คน ย้ายไปอยู่บ้านภรรยา ส่วนลูกๆ ที่อยู่บ้าน ก็ทำงานรับจ้างทั่วไปตามบ้านแล้วแต่คนจ้างไปทำอะไร ถางสวน ถางป่า เวลาว่างก็ช่วยสอนตาดีกาบ้าง

ส่วนลูกคนเล็ก 3 คนกำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนบันนังสตา รายได้ต่อวันของตนเองนั้นอยู่ที่ประมาณ 150 บาท ก็พอกินพอใช้ตามแบบชาวบ้าน

“ชีวิตตอนนี้ก็ไม่มีอะไรมารบกวน แต่ก็หวาดกลัวบ้างเวลาไปกรีดยาง เพราะยังนึกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น”

“ส่วนเรื่องคดีก็ยังอยู่ในชั้นศาลรอวันและเวลาพิจารณา ผมก็อยากให้คดีเสร็จสิ้นไวๆ เหมือนกัน เพราะความรู้สึกไม่ค่อยดีเลย ที่ต้องอยู่ในฐานะแบบนี้ต้องตกเป็นจำเลยทั้งๆ ที่ความเป็นจริงมันก็ไม่เป็นเช่นนั้น ผมมั่นใจในความบริสุทธิ์ของผม” นายเซ็งบอกเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านของนายเซ็งในวันนั้น ยังส่งผลเกี่ยวพันต่อเนื่องกับกรณีเจ้าหน้าที่สนธิกำลังบุกจับกุมตัว ‘นายอัมราม มะเระ’ อายุ 28 ปี อาชีพรับจ้างกรีดยาง มีลูก 2 คน เป็นฝาแฝดอายุ 2 ขวบ อยู่บ้านเลขที่ 236 หมู่ที่ 9 บ้านตาเนาะปูเตะใน ตำบลตาเนาะปูเตะ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

อัมรามบอกว่า หลังเกิดเหตุการณ์ที่บ้านของนายเซ็ง ประมาณ 3 เดือน เจ้าหน้าที่ได้เดินทางมาควบคุมตัวตนเองที่บ้าน โดยบอกว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ คือการปะทะกับเจ้าหน้าที่บ้านของนายเซ็ง

อัมรามกล่าวยืนยันว่า วันนั้นตนเองไม่ได้อยู่ที่นั่นด้วยซ้ำไป เพราะไปทำธุระอยู่ในตัวอำเภอบันนังสตา แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า ตนเองหลบหนีไปในวันดังกล่าวหลังการปะทะเสร็จสิ้น

“เจ้าหน้าที่มาเจอผมที่บ้านวันนั้นบอกว่า เชิญตัวไปสอบสวนที่โรงพัก แต่พอขึ้นรถแล้วได้เอาหมายให้ผมดูพร้อมทั้งรูปถ่ายของผมที่เป็นหมายจับจากเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นได้สวมกุญแจมือ ตั้งข้อหาว่าปลุกระดมโดยใช้บ้านของนายเซ็งเป็นสถานที่” นายอัมรามกล่าว

อัมรามบอกว่า ต้องถูกจองจำอยู่ในเรือนจำนาน 4 เดือน ญาติจึงได้ยื่นขอประกันตัวในวงเงินแปดแสนบาท ซึ่งเป็นความยากลำบากพอสมควรที่ต้องหาเงินก้อนนี้มาประกันตัวตนเอง เพราะรายได้ของตนเองในแต่ละวันที่ได้จากการรับจ้างกรีดยางก็อยู่ที่ 200 กว่าบาท พอใช้จ่ายในแต่ละวัน เท่านั้นเอง


นายอัมราม มะเระ (ซ้าย) ตกเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับนายเซ็ง หะมิดง ที่กำลังชี้รอยแผลจากการถูกยิงที่เท้า ระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

 

“แต่ก็จะทำอย่างไรได้ เรามีลูกมีภรรยาที่ต้องดูแล ถ้าปล่อยไว้เช่นนั้นครอบครัวเราจะอยู่อย่างไร ถ้าขาดเสาหลักของครอบครัวไป ผมจึงต้องยอมให้ประกันตัว” ผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงกล่าว

อัมรามบอกว่า ฐานะความเป็นอยู่ของตนเองก็เช่นเดียวกับทางนายเซ็ง ซึ่งต้องรับภาระเลี้ยงดูครอบครัว เพราะไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไร การช่วยเหลือต่างๆ ก็มาไม่ถึงตน ส่วนเรื่องเงินชดเชยที่เคยได้ยินมา ก็ไม่รู้เป็นอย่างไร เพราะตนเองไม่มีความรู้เรื่องนี้ เรียนหนังสือมาแค่ ป.4 ลูกๆ เองก็ไม่ได้เรียนหนังสือชั้นสูง

ลูกๆ ต้องมาทำงานช่วยครอบครัวเพื่อหาเลี้ยงชีพไปวันๆ

อัมรามบอกว่า อนาคตยังไม่รู้ว่าคดีจะถูกตัดสินออกมาในรูปไหน แต่ตนเองเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์อยู่เสมอ

อัมราม ยังบอกอีกว่า หากเมื่อถึงเวลาที่ศาลพิพากษาออกมาว่า เขาและนายเซ็งเป็นผู้บริสุทธิ์ ใครจะมาชดเชยในสิ่งที่กระทำลงไป และจะเยียวยาสภาพจิตใจและความรู้สึกเจ็บปวดที่อัดแน่นอยู่ในหัวใจของเขาขณะนี้ได้อย่างไร เป็นคำถามที่เขาเองก็เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากตอบ!

 

ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน

 

ในสถานการณ์ความไม่สงบเช่นนี้ ความยุ่งยากลำบากที่เกิดขึ้นหลังถูกจับกุมหรือถูกควบคุมตัว จำเป็นที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยาด้วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนที่อยู่ข้าง คนในครอบครัวหรือแม้กระทั่งผู้ที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวด้วย

เพราะในท่ามกลางการต่อสู้ทางความคิดเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้มาตรการหรือกระบวนการอย่างไรก็แล้วแต่ที่ไม่ส่งผลให้ความรู้สึกแบ่งแยกเลวร้ายมากยิ่งขึ้น แม้ว่าผู้ที่ถูกจับกุมหรือถูกควบคุมตัวจะเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ก็ตาม เพราะกรณีเช่นนี้ไม่ได้มีรายเดียวในชายแดนภาคใต้ แต่มีอยู่จำนวนมาก หากดำเนินการในภาพรวมให้ผู้คนในพื้นที่รู้สึกถึงการได้รับความเป็นธรรมและได้รับการดูแลครอบครัวหรือคนที่อยู่ข้างหลังในระดับหนึ่ง  เชื่อว่าอาจส่งผลในทางที่ดีได้ต่อสถานการณ์ความไม่สงบในระยะยาว

การช่วยเหลือเยียวยา ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดการสูญเสียก่อน แล้วกระบวนการเยียวยาจึงจะเกิดขึ้น ลักษณะเช่นนี้เป็นการตั้งรับมากเกินไป

การเยียวยาสามารถที่จะดำเนินไปควบคู่กับความมั่นคงได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องมาถกเถียงกัน เพราะหากรอให้เกิดความสูญเสียไปก่อน หรือปล่อยให้กระบวนการหลังจากการจับกุมหรือการควบคุมตัว ดำเนินไปจนถึงที่สุดแล้วค่อยเข้ามาเยียวยา อาจต้องใช้ต้นทุนเป็นจำนวนมากกว่าก็เป็นได้ เพราะความรู้สึกคับข้องใจของผู้ได้รับผลกระทบที่สะสมมานาน กลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงตามมาเพิ่มอีกก็เป็นได้

ดังนั้นกระบวนการเยียวยา ไม่จะเป็นต้องรอให้เกิดการสูญเสียก่อน แต่ที่บุคคลใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาความมั่นคง ก็สมควรได้รับการเยียวยาตั้งแต่ด้วยเช่นกัน

ส่วนรูปแบบการเยียวยาควรจะเป็นรูปแบบใดจึงจะเหมาะสม  นับเป็นโจทย์ร่วมที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาคำตอบ


********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 431073เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2011 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 07:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท