DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

เยียวยา อภิบาลแบ–อาลีมามะ นามสกุลดังแห่ง‘บันนังสตา’


 

เยียวยา อภิบาลแบ–อาลีมามะ
นามสกุลดังแห่ง‘บันนังสตา’

 


ขึ้นชื่อว่า “บันนังสตา” ใครๆ ก็รู้ว่า คืออำเภอหนึ่งในจังหวัดยะลา อันเป็นอำเภอที่เกิดเหตุไม่สงบอย่างรุนแรงอำเภอหนึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

อำเภอที่ประกอบด้วยขุนเขาสลับซับซ้อน และผู้คนหลากหลายแห่งนี้ หลายคนคิดว่าเป็นที่ซุ่มซ่อนของความหวาดกลัวเอาไว้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เบื้องหลังความรุนแรงก็คือความยากลำบากของผู้คนส่วนหนึ่ง อันเป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากความไม่สงบที่เกิดขึ้น

ที่บ้านริมเขาในสวนผลไม้โดดเดี่ยวท้ายหมู่บ้านหลังหนึ่ง ได้ยินเสียงเด็กร้องไห้งอแง ท่าทางเหมือนไม่สบาย โดยมีหญิงสาวคอยอุ้มไปมาคอยปลอบใจ

ส่วนหญิงสาวอีกคนกุลีกุจออยู่กับการจัดหาอาหารน้ำดื่มมาต้อนรับแขกผู้มาเยือน โดยมีเด็กสาวอีกคนคอยช่วย

ส่วนหน้าบ้านก็มีหญิงวัยกลางคนกำลังขึ้นตัดผลลองกองอยู่ที่ต้นแล้วเก็บใส่ตะกร้าท้ายรถกระบะพร้อมที่จะขนไปขาย

ทำไมบ้านหลังนี้จึงมีแต่ผู้หญิง แล้วพวกผู้ชายหายไปไหน

“ตายไปหมดแล้ว” นั่น คือคำตอบจากหญิงสาวที่กำลังอุ้มลูกสาววัยเกือบ 3 ขวบ

บ้านหลังนี้ ตั้งอยู่ที่บ้านอูแบ หมู่ที่ 1 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา อันเป็นพื้นที่ตำบลที่ไม่เคยห่างหายไปจากเสียงปืนสงครามและการปะทะ

ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2553 ที่มีกลุ่มคนร้ายไม่ต่ำกว่า 10 คน ใช้อาวุธปืนสงครามอาก้าและเอ็ม 16 ซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ทหารพราน ชุดปฏิบัติการหน่วยพัฒนาสันติ ร้อย ทพ.41 – 6 กรมทหารพรานที่ 41 ค่ายวังพญา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ขณะขี่รถจักรยานยนต์ลาดตระเวนเส้นทางทำให้ทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บสาหัส 4 นาย

หญิงสาวที่อุ้มลูกคนนั้น คือนางอาอีซะ อาลีมามะ เธอเป็นภรรยาของนายมูฮำมัดสะกรี กาโบะ ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2551 ในเหตุการณ์ที่กลุ่มคนร้ายปะทะกับเจ้าหน้าที่ถึง 3 ระลอก พบผู้เสียชีวิตถึง 6 ศพ เหตุเกิดในพื้นที่บ้านบางลาง หมู่ที่ 3 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา

ปฏิบัติการครั้งนี้ มีพล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบันนังสตาร่วมอยู่ด้วย โดยผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น ประกอบด้วย

นายกอเซ็ง อภิบาลแบ อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 40 บ้านบางลาง หมู่ที่ 3 ตำบลบาเจาะ
นายอิสมาแอ อาลีมามะ อายุ 26 ปี อยู่บ้านเลขที่ 11 บ้านอูแบ หมู่ที่ 1 ตำบลบาเจาะ
นายมะรอมลี อัตราช อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 200/1 บ้านบียอ หมู่ที่ 4 ตำบลบาเจาะ
นายแวอาลี สะมะแอ อายุ 27 ปี อยู่บ้านเลขที่ 78 บ้านอูแบ หมู่ที่ 1 ตำบลบาเจาะ
นายดารี ดาลอ อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 40 บ้านบางลาง หมู่ที่ 3 ตำบลบาเจาะ
และนายมูฮำมัดสะกรี กาโบะ อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 82 บ้านกระโด หมู่ที่ 1 ตำบลกระโด อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 8 คน ยึดอาวุธปืนได้ 4 กระบอก ส่วนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 4 นาย

ผู้เสียชีวิตทั้ง 6 คน หลายคนถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบหลายคดี เช่น คดีดักซุ่มยิงโจมตีชุดคุ้มครองครูของหน่วยรบพิเศษ ตชด.ค่ายนเรศวร ทำให้ ร.ต.ต.กฤตติกุล บุญลือ หรือ “หมวดตี้” ผู้โด่งดัง เสียชีวิตก่อนหน้านั้นเพียง 3 วัน เนื่องจากได้เขียนไดอารี่ฉบับสุดท้ายก่อนตายไม่กี่ชั่วโมง ในวันคล้ายวันเกิดซึ่งเป็นวันตาย จนทำให้คนซึ้งกันทั้งประเทศ

รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับคดีซุ่มยิง ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข ผู้บังคับร้อยรบพิเศษ ตชด.ค่ายนเรศวร หรือผู้กองแคน ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2550 คดีฆ่า จ.ส.อ.อมรินทร์ กลับแก้ว หัวหน้าชุดทหารพรานที่ร้อยทพ.4105 เพื่อชิงปืนอาก้าและตัดศีรษะหลบหนีไป คดีฆ่านายมะรอดี กาจะลากี ชุดรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านบางลาง โดยตัดใบหูทั้งสองข้างทิ้ง

มูฮำมัดสะกรี กาโบะ คือผู้ชายคนสุดท้ายของบ้านริมเขาหลังนี้ และเขาก็เสียชีวิตไปแล้ว โดยได้ทิ้งให้ลูกสาวคนแรกวัยเพียง 9 เดือนต้องอยู่กับแม่และแม่ยาย ในขณะที่พ่อตาและน้องเมียที่เป็นผู้ชาย ก็ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นแล้ว

ทุกวันนี้ อาอีซะ อาลีมามะ ภรรยาของมูฮำมัดสะกรี กาโบะ อยู่ในบ้านหลังนี้ร่วมกับแม่ ลูกสาวที่ชื่อเด็กหญิงอามานี และน้องสาวรวม 6 คน

ด้วยความที่ไม่มีผู้ชายอยู่ในบ้านจึงทำให้ทุกคนในบ้านอยู่ด้วยความหวาดกลัว

อาอีซะ เล่าว่า พอตกค่ำก็ปิดประตูบ้าน ไม่ออกจากบ้านเลย ใครมาเรียกก็ไม่มีทางออกไปเด็ดขาด ยกเว้นคนรู้จักจริงๆ เช่นเดียวกับชาวบ้านคนอื่นๆ ก็ไม่มีใครกล้าออกจากบ้านกลางคืนเหมือนกัน แต่ช่วงหลังๆ สถานการณ์เริ่มเบาลง ก็พอจะมีคนออกจากบ้านกลางคืนบ้าง

“ถ้าอยู่ในบ้านจะรู้สึกปลอดภัยมาก เพราะบ้านสร้างไว้แข็งแรง และมีห้องน้ำอยู่ในบ้าน ต่างจากเมื่อก่อนที่ห้องน้ำอยู่นอกบ้าน พอสามีเสียชีวิตจึงจ้างช่างให้ต่อเติมบ้านล้อมไปถึงห้องน้ำด้วย แล้วก็เสริมตัวบ้านและผนังให้แข็งแรงมากขึ้น” อาอีซะ กล่าว

“ตอนนี้เริ่มได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์ชาวบ้านที่ขับผ่านไปกรีดยางกลางคืนบ้าง แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่มาจะได้ยินเสียงหมา หรือเสียงปืน ทำให้รู้เลยว่ามีเจ้าหน้าที่มา ครั้งหนึ่งได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัดข้างๆ บ้าน ทำให้ตกใจและกลัวมาก”

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะบ้านหลังนี้เคยถูกทหารมาปิดล้อมหลายครั้งแล้ว นับตั้งแต่น้องชายคนที่ 3 ของอาอีซะ ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว
 
น้องชายถูกยิงที่เสียชีวิตที่บ้านตือระ หมู่ที่ 8 ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ระหว่างการปะทะกับเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่ยึดรถจักรยานยนต์ที่น้องชายขับไปด้วย

อาอีซะ บอกว่า เมื่อไม่กี่วันมานี้ เพิ่งได้รับหนังสือแจ้งจากโรงพักให้ไปเอารถจักรยานยนต์คืน หลังจากถูกยึดไปเป็นเวลา 4 ปี โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเอาไว้ตรวจสอบว่ารถจักรยานยนต์คันนี้เคยนำไปก่อเหตุที่ไหนบ้าง ป่านนี้สภาพรถจักรยานยนต์คงเละน่าดู เพราะจอดทิ้งไว้นาน

อาอีซะ เล่าต่อว่า หลังจากน้องชายเสียชีวิตบ้านของตนก็ตกเป็นเป้าสงสัยของเจ้าหน้าที่มาตลอด ว่าคนในบ้านอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ

“ครั้งหนึ่งมีทหารมาตอนตี 1 จากนั้น เรียกพ่อกับแม่ให้ออกมา แล้วบอกว่า ให้บอกลูกออกมามอบตัวด้วย แต่ไม่มีใครออกไปมอบตัว จากนั้นไม่นานพ่อก็ถูกยิงเสียชีวิต ไม่ห่างจากจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ใกล้โรงผลิตน้ำประปาของอำเภอบันนังสตามากนัก” อาอีซะ กล่าว

“ทหารที่มา บางครั้งก็ทำเป็นเอากระสุนปืนมาโยนเล่น หรือใช้ปืนเล็งมาที่บ้านบ้าง ทำให้รู้สึกกลัวมาก” อาอีซะ กล่าว

ขณะที่พ่อของอาอีซะเสียชีวิตนั้น เธอเพิ่งคลอดลูกได้แค่ 25 วัน

จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ปะทะเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2551 ที่สามีถูกยิงเสียชีวิตอีก จึงทำให้ภายในบ้านไม่ผู้ชายเหลืออีกเลย ผู้หญิงที่เหลืออยู่ 6 คน ต้องอยู่กันตามลำพัง

แม้จะมีญาติๆ รวมทั้งญาติฝ่ายสามีซึ่งมีบ้านและสวนผลไม้อยู่ในหมู่บ้านด้วย ที่เป็นผู้ชายมาคอยดูแลช่วยเหลือบ้างบางครั้ง แต่ทั้งหมดก็ต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้ก่อน

อาอีซะ เล่าว่า เรื่องชีวิตความเป็นในแต่ละวันนั้น ไม่ถึงกับลำบาก เพราะมีสวนยางเป็นของตนเอง ซึ่งตนกับแม่เป็นคนกรีดยาง มีรายได้คนหนึ่งประมาณวันละ 200 – 300 บาท ส่วนในช่วงฤดูผลไม้ เช่น ลองกอง ก็ตัดลองกองขาย โดยมีญาติมารับไปส่งให้พ่อค้าที่ตลาดในตัวเมืองยะลา

ส่วนน้องสาวอีก 3 คน ยังไม่ได้ทำงานอะไร เพราะน้อง 2 คน กำลังเรียนหนังสืออยู่ ส่วนลูกสาว เธอกับแม่และน้องสาวอีกคนช่วยกันเลี้ยงดู

สำหรับลูกสาว ได้ส่งเข้าเรียนเด็กเล็กที่โรงเรียนทัสกาอิดดีน เป็นโรงเรียนเอกชนในอำเภอบันนังสตา มีรถรับส่งไปโรงเรียนทุกวัน เพิ่งเข้าเรียนได้ 3 เดือนแล้ว

มีค่าใช้จ่ายประกอบด้วย ค่ารถสัปดาห์ละ 60 บาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกประมาณ 150 บาทต่อวัน รวมแต่ละวันมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวลูกประมาณ 200 บาท

“ลูกสาวชอบถามว่า เมื่อไหร่ พ่อจะกลับมา เด็กมันถามด้วยความไม่รู้ เราก็ไม่ได้ตอบอะไร”

อาอีซะ เล่าต่อว่า หลังจากสามีเสียชีวิตใหม่ๆ รู้สึกเหงามาก แต่ก็ไม่อยากไปไหนเลย อยู่แต่ในบ้าน กลัวคนจะมองไม่ดี เพราะสามีเสียชีวิตเพราะถูกเจ้าหน้าที่ยิง แต่ช่วงหลังๆ เริ่มออกนอกบ้านบ้าง

“การที่สามีเสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้มีเสียงซุบซิบจากชาวบ้านบ้างว่า ไปหาเรื่องอย่างนั้น ก็จะต้องเจออย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้พูดต่อหน้าเราโดยตรง เราฟังไม่แล้วไม่สบายใจ เลยไม่อยากฟัง ไม่อยากสนใจ”

นอกจากนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีทหารมาที่บ้านบ่อยๆ ก็คือ เพื่อนบ้านไม่ค่อยอยากมาที่บ้าน เพราะมองว่า บ้านหลังนี้ สนับสนุนขบวนการก่อความไม่สงบ จึงไม่ค่อยอยากมาเกี่ยวข้องด้วย

“ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว เพื่อนบ้านก็มาที่บ้านเหมือนเดิม ผ่านไปผ่านมาก็ทักทาย แต่เราเองที่เริ่มรู้สึกเบื่อ ยังไม่ค่อยอยากจะสุงสิงกับใคร แต่ถ้าอยู่ในบ้านทั้งวันก็เครียดเหมือนกัน” อาอีซะ เล่า

ส่วนนางแยนะ มามะ แม่ของอาอีซะ ผู้สูญเสียทั้งสามี ลูกชายและลูกเขย เล่าถึงสิ่งที่เจอกับตัวเองว่า หลังจากทั้งผู้ชายคนสุดท้ายในบ้าน คือ ลูกเขย เสียชีวิตแล้ว เคยไปเจอกับนายทหารหน่วยเฉพาะกิจ(ฉก.) ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่อำเภอบันนังสตา นายทหารคนนั้นบอกให้ทุกคนย้ายไปอยู่ที่อื่นก่อนเพื่อความปลอดภัย

“ตอนนั้นกังวลมาก แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วก็ไม่ได้ย้ายไปไหนด้วย”

นางแยนะ เล่าต่อว่า เคยถูกทหารขู่ครั้งหนึ่งว่า ถ้ายังอยู่จะมีคนมาเก็บ จึงพยายามถามคนอื่นๆ ดูว่า จะมีคนจะเก็บหรือมาฆ่าจริงหรือไม่ พยายามถามที่มาที่ไปของคำขู่ว่า มีข้อมูลมาจากไหน แต่ก็ไม่พบ ญาติๆ ก็เลยบอกว่า คงไม่เป็นไร ไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้น จึงไม่ได้ย้ายไปไหน

“เคยมีคนชวนไปอยู่ด้วย แต่ก็ไม่ได้ไป ถึงจะตายก็ไม่เป็นไร” แยนะ กล่าว พร้อมกับเสริมว่า ตอนถูกขู่แน่นอน กลัวจนตัวสั่น

ถึงแม้ครอบครัวนี้ จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ การช่วยเหลือที่เป็นชิ้นเป็นอันจากรัฐนั้น อาอีซะ บอกว่า มีครั้งเดียว คือ ตอนพ่อตายที่นายอำเภอบันนังสตาให้เงินช่วยเหลือมา 1,000 บาท เท่านั้น

ส่วนการช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ ก็มีบ้าง คือ ทางองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) บาเจาะ อำเภอบันนังสตา ให้ไก่มาเลี้ยง 10 ตัว และพันธุ์ปลาดุกจำนวนหนึ่ง แต่ตอนนี้ไก่ตายหมดแล้ว ส่วนปลาดุกยังอยู่ โดยเลี้ยงไว้ในบ่อหลังบ้าน

ที่ผ่านมามีเครือข่ายผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบมาเยี่ยมที่บ้านบ้าง แต่คนในบ้านไม่มีใครเคยไปร่วมงานที่ไหน แม้มีคนมาชวนก็ตาม

อาอีซะ เล่าต่อว่า ตอนพ่อเสียชีวิตมีคนมาทวงหนี้รวม 50,000 บาท เป็นหนี้คนละนิดคนละหน่อย ซึ่งก็ต้องจ่าย เพราะตามคำสอนของศาสนาอิสลาม ถ้าตายไปโดยที่ยังมีหนี้สินอยู่ จะไม่ได้เข้าสวรรค์ ดังนั้นคนที่อยู่ก็ช่วยกันจ่ายให้หมด โดยทยอยจ่าย เพราะไม่มีเงินมากพอ

ส่วนมูฮำมัดสะกรี สามีไม่มีหนี้ทิ้งไว้ จึงไม่มีภาระให้ต้องรับผิดชอบมากนัก

เช่นเดียวกับที่บ้านเลขที่ 40 บ้านบางลาง หมู่ที่ 3 ตำบลบาเจาะ ของนายกอเซ็ง อภิบาลแบ อีก 1 ใน 6 ศพผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2551 ซึ่งแม้นางลีเมาะ อภิบาลแบ ในวัย 72 ปี ไม่มีภาระจากหนี้สินที่ลูกชายทิ้งไว้

แต่นางลีเมาะก็ต้องรับภาระเลี้ยงหลานเพิ่มอีก 2 คน ซึ่งเป็นลูกของกอเซ็งต่อไป เพราะนางยาวาเฮ ภรรยาของกอเซ็ง เพิ่งไปมีครอบครัวใหม่ได้ไม่นาน

สำคัญหลังบ้านของเธอคือจุดเกิดเหตุปะทะกันในวันดังกล่าว โดยกอเซ็งเสียชีวิตหน้าบ้านของตัวเอง ซึ่งเป็นบ้านหลังเดิมของนางลีเมาะ อยู่ห่างจากบ้านที่อยู่ปัจจุบันประมาณ 100 เมตร

ปัจจุบันบ้านหลังดังกล่าว ถูกรื้อถอนไปหมดแล้ว เพราะไม่มีใครกล้าเข้าไปอยู่อาศัย

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากกอเซ็งเสียชีวิต นางยาวาเฮ ก็ยังคงอยู่อาศัยในบ้านหลังเดียวกันกับแม่ยาย แต่ก็ไปๆมาๆ กับบ้านเดิมที่บ้านลีฆิ ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบันนังสตา

เหตุที่เธอยังต้องอยู่อาศัยกับแม่ยาย ก็เนื่องมาจากไม่อยากย้ายลูก 2 คนไปเรียนที่อื่น และต้องการให้อยู่กับย่าต่อไปตามความประสงค์ของกอเซ็ง ส่วนยาวาเฮปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่กับสามีใหม่ในตลาดบันนังสตา หลังจากแต่งงานใหม่เมื่อราวต้นเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา

สำหรับลูกของเธอทั้งสองคน ปัจจุบันกำลังเรียนที่โรงเรียนบ้านบางลาง ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านมากนัก โดยคนโตเป็นลูกสาวกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ส่วนคนที่สองเป็นลูกชายกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2

นางลีเมาะ มีลูกทั้งหมด 10 คน แต่ที่อยู่อาศัยด้วยกันในบ้านหลังปัจจุบัน รวม 8 คน เป็นหลาน 4 คน ลูก 2 คน และลูกสะใภ้ 1 คน ส่วนสามีเสียชีวิตไปนานแล้ว

สำหรับลูกชายที่อาศัยอยู่ด้วยกัน ตกเป็นจำเลยในคดีฆ่าตัดคอตำรวจ ที่บ้านคอลอบาแล หมู่ที่ 5 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ขณะนี้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เพราะได้รับการประกันตัวจากศาลจังหวัดยะลา

ก่อนหน้านี้ลูกชายคนนี้ ถูกคุมขังอยู่นานประมาณ 1 ปี 10 เดือน ที่เรือนจำจังหวัดยะลา เมื่อได้รับการประกันตัวออกมาอยู่บ้านได้ประมาณ 10 เดือน ก็เกิดเหตุการณ์ปะทะที่ทำให้พี่ชายเสียชีวิต ซึ่งก็คือนายกอเซ็ง อภิบาลแบ นั่นเอง

ระหว่างการปะทะดังกล่าว ลูกชายคนนี้ก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปอีกครั้งที่บ้านพัก ก่อนถูกนำตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งไม่กี่วันหลังจากนั้นก็ถึงวันที่ต้องไปรายงานตัวที่ศาลจังหวัดยะลา ทำให้ทนายต้องแถลงให้ศาลทราบ จนศาลต้องมีคำสั่งขอให้ทหารออกหนังสือรับรองว่า ในวันดังกล่าว เขาอยู่ในการควบคุมตัวของทหาร

จนกระทั่งต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2551 ศาลจังหวัดยะลาเรียกให้ไปรายงานตัวอีกครั้งหนึ่ง แต่ญาติก็ยังไม่สามารถนำหนังสือรับรองจากทหารได้ ศาลจึงสั่งถอนประกัน จึงทำให้เขาต้องกลับไปอยู่ในเรือนจำจังหวัดยะลาอีกครั้งหลังจากทหารปล่อยตัวออกมา ก่อนจะมีการยื่นขอประกันตัวอีกครั้ง

นางลีเมาะ เล่าว่า ระหว่างที่ลูกชายคนนี้ถูกคุมขัง เธอกับลูกสาวอีกคนที่อยู่ด้วยกัน ต้องขี่รถจักรยานยนต์เดินทางไปที่เรือนจำจังหวัดยะลาทุกวัน เพื่อนำอาหารไปให้กิน เพราะลูกชายไม่ยอมกินอาหารที่เรือนจำจัดให้ เพราะกลัวจะถูกวางยาพิษ

นางลีเมาะ บอกว่า ระหว่างลูกชายถูกคุมขัง เธอต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมากในแต่ละวัน ไหนจะต้องเลี้ยงหลานอีก 4 คนด้วย แต่ก็ยังไม่ถึงกับขัดสน เพราะยังมีรายได้จากสวนยางพารา และสวนมะนาวอยู่บ้าง นอกจากนี้ยังมีลูกๆ คนอื่นๆ ส่งเงินมาช่วยเหลืออยู่บ้าง

สำหรับผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นภรรยาของผู้เสียชีวิตในรายของนายกอเซ็ง อาจโชคดีกว่ารายอื่นในจำนวน 6 ราย เพราะนางยาวาเฮ ก็มีครอบครัวใหม่ไปแล้ว ส่วนนางอาอีซะ ภรรยาของนายมูฮำมัดสะกรี ก็ยังต้องช่วยเหลือตัวเองอยู่ เช่นเดียวกับภรรยาของผู้เสียชีวิตอีก 2 รายที่มีเมียและลูกๆ แล้ว โดยที่ยังไม่มีข่าวว่า ได้ครอบครัวใหม่แล้ว

แต่สิ่งที่ยังช้ำใจอยู่สำหรับบุคคลกลุ่มนี้ ก็คือความรู้สึกต่อการถูกมองว่าเป็นฝ่ายขบวนการ ทั้งที่บางคนอาจไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่ก็ถูกเหมารวมไปด้วย โดยไม่รู้ว่าจะมีทางใดที่ช่วยเยียวยาได้บ้าง

อย่างญาติสนิทและคนใกล้ชิดทั้งตระกูลอภิบาลแบและอาลีมามะที่บอกว่า “เจ็บใจที่คนที่นามสกุลนี้ ถูกมองว่าเป็นโจรไปหมด แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไรได้”

 

ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา คืออำเภอหนึ่งที่มีเหตุไม่สงบอย่างรุนแรง มีเหยื่อที่ถูกกระทำจำนวนมาก

โดยแบ่งได้เป็นฝ่ายที่ถูกกระทำจากกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ ในขณะเดียวกันก็มีฝ่ายที่ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งการวิสามัญฆาตกรรมและการจับกุมควบคุมตัวตามกฎหมาย และฝ่ายที่ถูกกระทำที่อาจมาจากความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

ฝ่ายแรกและฝ่ายที่สาม มีหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาหรือการชดเชยจากรัฐอยู่ แต่ฝ่ายที่สอง หมดสิทธิ ในฐานะที่เป็นฝ่ายต่อสู้หรือเป็นคู่ต่อสู้กับรัฐ

แต่ถึงจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ความสูญเสียและความเดือดร้อนที่ได้รับคงไม่แตกต่างกันมากนัก ในฐานะที่เป็นผู้สูญเสียเหมือนกัน

ดังนั้นในฐานะความเป็นมนุษย์ ผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายควรมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือเยียวยา ในฐานะที่เป็นคนไทยเหมือนกัน  ไม่ใช่คนอื่น แม้จะมีความคิดความเชื่อและอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน  อาจจะในรูปแบบที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ เพราะความสูญเสียเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้เมื่อเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจเนื่องมาจากความจงใจกระทำผิดกฎหมายก็ตาม

ความสูญเสียในกรณีนี้ แบ่งออกเป็นสองอย่าง คือ การชีวิตและการเสียความเชื่อมั่น

การเสียชีวิตของผู้ชายที่เป็นกำลังทำงานของครอบครัว  ทำให้คนในครอบครัวที่เหลืออยู่ต้องอยู่อย่างลำบากมากขึ้น หรือต้องมีภาระเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ก็ขึ้นกับการปรับตัวของครอบครัวนั้นๆ  โดยเฉพาะครอบครัวที่ถูกรัฐมองว่าเป็นฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ  ก็จะแทบไม่มีความช่วยเหลือจากภาครัฐเข้ามาเลย  การฟื้นฟูสภาพจิตใจและการปรับตัวของคนในครอบครัวที่เหลืออยู่  จึงอาศัยความเข้มแข็งของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ 

การสูญเสียความเชื่อมั่นจากคนชุมชน  เนื่องจากถูกมองจากชาวบ้านด้วยกันว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ ทำให้ชาวบ้านบางส่วนไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หรือกลัวว่าหากมาใกล้ชิดจะทำให้ถูกมองจากภาครัฐว่ารู้เห็นด้วย  ซึ่งการสูญเสียความไว้วางใจจากชุมชนสร้างผลกระทบต่อครอบครัวของผู้สูญเสียไม่น้อย  แต่เชื่อว่าระยะเวลาสามารถเยียวยาได้ หากไม่มีเหตุการณ์ส่งผลให้ชาวบ้านหันไปมองเช่นนั้นอีก

โจทย์สำคัญที่อาจต้องมีการทบทวนกันอย่างเป็นระบบก็คือ  ระบบการเยียวยาครอบครัวของผู้ที่ได้รับการจัดกลุ่มอยู่ในกลุ่มของผู้ก่อความไม่สงบนั้น  ภาครัฐควรจะมีระบบการเยียวยาคนกลุ่มนี้หรือไม่อย่างไร  จากเดิมในปัจจุบันที่แทบจะไม่มีระบบการเยียวยาใดๆ นอกเหนือจากเงินเล็กๆน้อยๆที่เป็นเสมือนเงินช่วยเหลือเพื่อปฏิบัติการเชิงจิตวิทยาจากฝ่ายความมั่นคง 

หากเราเปลี่ยนวิธีคิดว่า  เขาผู้ต่างอุดมการณ์ล้วนเป็นคนไทย  มีครอบครัวที่เป็นคนไทย มีบัตรประชาชนมีทะเบียนบ้าน  และใช่ว่าทุกคนจะเป็นฝ่ายขบวนการทั้งหมด  บาปหรือความทุกข์ไม่ควรมาตกอยู่ที่เด็ก คนชรา หรือแม้แต่ภรรยา  เขาเหล่านั้นควรได้รับการเยียวยาด้วย  แม้ว่าจะไม่ใช่ด้วยจำนวนเงินที่มากเท่ากับผู้ประสบเหตุความไม่สงบคนอื่นๆ  การเยียวยาในฐานะที่ดูแลคนไทยด้วยกัน  จะทำให้ความรู้สึกอคติต่อรัฐไทยลดลง  จะทำให้ความรู้สึกมีความหวังในการเดินหน้าสู้ชีวิตบนหนทางแห่งสันติมีมากขึ้น  ไม่ใช่มีแต่ความเคียดแค้นชิงชัง หรือมีแต่เรื่องเลวร้ายของการสู้ชีวิตที่ไร้การเหลียวแล

การเยียวยาไม่ว่าในกรณีผู้ประสบเหตุจะเป็นใคร  ส่วนใหญ่ล้วนมีความต้องการมากมาย  แต่เมื่อจัดลำดับความสำคัญแล้ว  ความต้องการให้ภาครัฐเยียวยาช่วยเหลือเรื่อง ทุนการศึกษาของลูกเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด  รองลงมาก็คือเงินช่วยเหลือสำหรับให้ผู้พึ่งพิงพอจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้โดยไม่ขัดสนนัก  เช่นเงินสงเคราะห์คนชราที่เป็นพ่อแม่ของผู้ประสบเหตุ  รวมทั้งเงินช่วยเหลือให้ภรรยามีอาชีพที่มั่นคงด้วย

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะมีการทบทวนกติกากฎเกณฑ์ในการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของกลุ่มผู้ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ  ในฐานะที่เขาก็เป็นผู้สูญเสียและเป็นคนไทยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยที่รัฐไทยควรต้องดูแล  แม้จะมีสิทธิประโยชน์ไม่เท่ากับผู้ประสบเหตุในกรณีอื่นๆก็ตาม  แต่อย่างน้อยทุนการศึกษาสำหรับบุตรก็ควรจะได้รับการสนับสนุนเช่นเดียวกับความสูญเสียกรณีอื่นๆ  เพื่อการเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพในสังคม อาจรวมถึงเงินสงเคราะห์หรือเงินช่วยเหลือในการประกอบอาชีพด้วย  น้ำใจไมตรีและการหยิบยื่นความช่วยเหลือในยามที่ผู้คนที่อยู่ข้างหลังมีความทุกข์ยากอย่างที่สุดนั้นน่าจะเป็นหนทางสำคัญที่สุดประการหนึ่ง ในการเยียวยาบาดแผลที่ร้าวลึกในจังหวัดชายแดนใต้  และนำมาสู่การสร้างความสมานฉันท์ในระยะยาว

 

********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 431064เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2011 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท