DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

อาอีเสาะ บอรอดายา ต้องการทุนเพื่ออาชีพที่ยั่งยืน


 

อาอีเสาะ บอรอดายา
ต้องการทุนเพื่ออาชีพที่ยั่งยืน


มูฮำหมัด ดือราแม

 

สถานภาพของครอบครัวที่ขาดผู้นำ ภาระที่หนักย่อมตกเป็นของภรรยา เช่นเดียวกับครอบครัวของนางสาวอาอีเสาะ บอรอดายา ครูผู้ดูแลเด็กประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านพ่อมิ่ง ตำบลพ่อมิ่ง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ตอนนี้เธอเป็นทั้งแม่และพ่อที่ดูแลลูก 4 คน เพราะการจากไปของสามีพร้อมเสียงปืนเมื่อ 4 ปีก่อน

นายรูยานิง สาอิ สามีของเธอ เป็นอุสตาซ หรือ ครูสอนศาสนาอิสลาม ถูกยิงเสียชีวิตในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม ตรงกับวันที่ 22 ตุลาคม 2549 บริเวณหน้าศาลาละหมาด หลังจากละหมาดเสร็จ โดยลมหายใจสุดท้ายขณะอยู่ในอ้อมกอดของแม่

การเสียชีวิตของนายรูยานี ได้ทิ้งภาระอันหนักหนาแก่ภรรยา ทั้งการผ่อนรถยนต์ ผ่อนมอเตอร์ไซค์ เป็นทรัพย์สินที่นายรูยานิงทิ้งไว้โดยพ่วงหนี้สินมาด้วย ในขณะที่อาอีเสาะกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ 4 อยู่ด้วย

ตลอดสัปดาห์หลังการเสียชีวิตของนายรูยานิง เต็มไปด้วยผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนและให้กำลังใจแก่ครอบครัว เพราะนายรูยานิง เป็นอุสตาซสอนศาสนาในโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลามบ้านพ่อมิ่ง และยังเป็นโต๊ะอิหม่ามที่เดินสายบรรยายธรรมเพื่อสร้างความสมานฉันท์ให้แก่มัสยิดต่างๆ ในพื้นที่ เคยได้รับรางวัลโต๊ะอิหม่ามดีเด่น โดยได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี 2545 จึงทำให้เป็นที่รู้จักของผู้คน

รูปของนายรูยานิง สาอิ สามี เมื่อครตั้งได้รับรางวัลโต๊ะอิหม่ามดีเด่นจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี 2545


เมื่อศพถูกฝังลงบนพื้นดินที่พร้อมจะรองรับร่างกายที่ขาดวิญญาณ  ดินพระราชทานก็ถูกส่งมอบผ่านมายังผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีในขนาดนั้น คือ นายภาณุ  อุทัยรัตน์  พร้อมกับกระแสที่หลั่งไหลมาเพื่อให้ความช่วยเหลือจากหลายๆ หน่วยงานทั้งจากภาครัฐ  และเอกชน

“สัปดาห์แรกที่สามีเสียชีวิต คนมากันเยอะ จนถนนหน้าบ้านรถไม่สามารถสัญจรไปมาได้สะดวก ไม่รู้ว่าคนที่มาให้กำลังใจมาจากที่ไหนบ้าง แต่เท่าที่ทราบคือ สามีมีลูกศิษย์มากมาย เป็นอิหม่ามที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐอย่างสม่ำเสมอ” นางสาวอาอีเสาะ กล่าว

ยังไม่ทันที่เธอคลายความโศกเศร้า ก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เธอตื่นตกใจอีกรอบ แม้ไม่ได้สร้างความสูญเสียให้แก่ครอบครัว แต่ก็ทำให้บ้านของเธอได้รับความเสียหาย เนื่องจากเกิดเหตุคนร้ายกราดยิงใส่กลุ่มนักเรียนโรงเรียนที่นั่งรับประทานอาหารค่ำในร้านตรงข้ามโรงเรียน จำนวน 3 คน ทำให้เสียชีวิตไป 2 คน เหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2552
ผลตอบแทนจากการให้ความร่วมมือกับรัฐของสามี ทำให้ครอบครัวของรูยานิง ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะค่าเล่าเรียนของลูกๆ ซึ่งมีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่เปิดรอไว้แล้ว เพราะลำพังเพียงเงินเดือนครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคงไม่พอกับการเลี้ยงลูก 4 คน กับแม่ยายอีกคนแน่

“บางครั้งโอนเงินมา 3 เดือนครั้ง เท่าที่คิดเฉลี่ย ชั้นประถม ได้ 1,000 บาท ส่วนชั้นมัธยมเดือนละ 1,500 บาท ส่วนลูกคนสุดท้องจะมีหน่วยงานที่ส่งนมผงมาให้กินเกือบทุกเดือน แต่ตอนนี้ไม่ได้ส่งมาให้แล้ว”

เมื่อการช่วยเหลือซาลง ภาระความเป็นผู้นำครอบครัว จึงตกอยู่กับเธอเพียงคนเดียว การที่หญิงสาวร่างกายบอบบาง ต้องมารับบทบาทเช่นนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่หนักหนาพอสมควร บวกกับสภาพจิตใจที่ย่ำแย่พอสมควร อันเนื่องมากจากเพิ่งสูญเสียสามี

แต่ด้วยหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ทำให้อาอีเสาะ ยึดมั่นไว้เสมอว่า มนุษย์ทุกคนย่อมต้องเจอกับความตาย ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า คำสอนนี้เองที่อาอีเสาะนำใช้ไปสอนกับลูกๆ เพื่อให้ทุกคนเข้มแข็ง “ดิฉันพึ่งหวังลูกคนโตให้เขาได้เรียน เป็นที่พึ่งของครอบครัวและน้องๆ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้จะพึ่งใคร”

ระยะเวลาผ่านไป  4 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ ในรูปของวัตถุมีมากมาย โดยเฉพาะเงิน แต่ไม่ใช่สิ่งที่สร้างความมั่นคงแก่ผู้ที่ได้รับกระทบได้มากนัก ในทางกลับกัน เธอคิดว่า หากมีการสอนวิธีการสร้างอาชีพ จะสามารถสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตได้ และจะช่วยลดงบประมาณได้มาก หากผู้ได้รับผลกระทบสามารถประกอบอาชีพได้ สามารถหารายได้เอง นั่นจึงตรงกับความต้องการของนางสาวอาอีเสาะ

“ดิฉันต้องการทุนสักก้อน เพื่อนำไปลงทุนจำหน่ายเสื้อผ้า ไม่ใช่การเปิดร้าน แต่เป็นการขายตรง เดินเข้าไปหาลูกค้า ดิฉันเชื่อว่าสามารถที่จะทำได้ และมันจะสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้”

แม้เธอจะมีความมุ่งมั่นมากแค่ไหนในการที่ลุกขึ้นยืนได้ด้วยตัวเอง แต่น้ำตาไหลออกมาจากดวงตาของอาอีเสาะทุกครั้งที่พูดถึงผลกระทบที่ได้รับ โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ  แม้ว่าปากจะบอกเราต้องยอมรับในสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นได้แล้วก็ตาม เธอบอกว่า “พระผู้เป็นเจ้าได้กำหนดไว้แล้ว”

นางสาวอาอีเสาะ บอรอดายา กับลูก 

 

ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน


ผลกระทบที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ คงไม่ต่างจากรณีอื่นๆ อีกหลายกรณีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเธอผ่านพ้นมา 4 ปี แล้ว ย่อมช่วยรักษาใจได้บ้างไม่มากก็น้อย

แต่สิ่งผู้ได้รับผลกระทบหลายรายต้องการคือความสามารถได้การหารายได้ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอรับการช่วยเหลืออย่างเดียว เพียงแต่ติดอยู่ที่โอกาสและความสามารถในการตั้งต้นหรือเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังไม่ได้ เพราะการประกอบอาชีพบางอย่างต้องใช้ต้นทุนจำนวนหนึ่ง ซึ่งยังหาไม่ได้

ขณะที่การช่วยเหลือจากรัฐมักเป็นการให้ในรูปของวัตถุมากกว่า จึงทำให้ผู้ได้รับผลกระทบรู้สึกว่า เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ยั่งยืน  เป็นเพียงรูปแบบสังคมสงเคราะห์  และไม่อาจรับประกันได้ว่า การช่วยเหลือในครั้งต่อไปจะได้รับอีกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือในเรื่องการประกอบอาชีพก็ใช่ว่า จะไม่มีเลย แต่อาจเป็นเพราะผู้ได้รับผลกระทบเอง ยังมองไม่เป็นช่องทางหรือไม่มีการนำเสนอช่องทางให้ทราบ จึงจำเป็นที่หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ต้องเข้าหา เพื่อช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบ สามารถตั้งตัวได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องรอให้ผู้ได้รับผลกระทบเจอช่องทางการช่วยเหลือโดยบังเอิญ

 

********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 431020เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2011 20:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท