DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

ครอบครัว‘สะมะแอ คะนิง’ เราไม่ต้องการเงินเยียวยา(จากรัฐ)



ครอบครัว‘สะมะแอ คะนิง’
เราไม่ต้องการเงินเยียวยา(จากรัฐ)


มูฮำหมัด ดือราแม

 

เช้ามืดวันที่ 26 มิถุนายน 2553 สะมะแอ คะนิงตื่นขึ้นมาละหมาดตามปกติ จากนั้นก็ปลุกน้องชายให้ไปช่วยกรีดยางพารา แต่เช้าวันนี้น้องชายตื่นสาย ทำให้สะมะแอต้องออกไปกรีดยางคนเดียว

ก่อนไปถึงสวนยาง สะมะแอแวะกินข้าวเช้าที่ร้านน้ำชาประจำหมู่บ้านบือแนจือแร ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีก่อน ซึ่งผิดปกติวิสัย เพราะทุกๆ วัน สะมะแอไม่เคยกินข้าวที่ร้านน้ำชา

กินข้าวเสร็จก็ขับรถจักรยานยนต์ไปสวนยางทันที แต่ระหว่างทางสะมะแอในวัย 26 ปี ก็ถูกคนร้ายลอบยิงจากข้างทางจนเสียชีวิตทันที

หลังเกิดเหตุไม่กี่นาทีเจ้าหน้าที่ทหารก็มาถึงที่เกิดเหตุ เพราะมีหน่วยทหารตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 100 เมตร จากนั้นจึงทำการปิดล้อมพื้นที่ทันที เพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในจุดเกิดเหตุ

จากนั้นชาวบ้านที่เดินทางผ่านที่เกิดเหตุ จึงไปแจ้งให้ญาติทราบ  แต่ทั้งแม่และพี่น้องของสะมะแอไม่เชื่อ จนกระทั่งพี่เขยของสะมะแอ ขับรถไปทำงานผ่านที่เกิดเหตุด้วย และเมื่อมองเห็นหน้าของศพจนแน่ใจว่า เป็นสะมะแอ จึงแจ้งให้ที่บ้านทราบทันที

นางมารีแย บาเหะ แม่ของสะมะแอ มาถึงที่เกิดเหตุก็บอกให้ลูกชายและญาตินำศพกลับไปที่บ้านทำพิธีทางศาสนา แต่ทหารต้องการนำศพไปโรงพยาบาลเพื่อชันสูตรก่อน แต่ญาติยังยืนยันเช่นเดิม เจ้าหน้าที่จึงยอม

สะมะแอ เป็นกำลังหลักในครอบครัว ซึ่งอาศัยอยู่ด้วยกันกับแม่ แม้ยังมีพี่ชายและพี่สาวอีก แต่ก็ไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ส่วนพ่อก็อาศัยอยู่ด้วยกัน แต่มีสติไม่สมประกอบ จึงไม่ได้ประกอบอาชีพอะไร

สะมะแอจึงต้องรับหน้าที่เป็นทั้งผู้นำครอบครัวและเลี้ยงดูน้องๆ ที่อยู่ด้วยกันอีก 4 คน เมื่อสะมะแอจากไป จึงย่อมสร้างความเสียใจให้คนในครอบครัวเป็นอย่างมาก 

 “นี่เป็นการสูญเสียคนในครอบครัวครั้งแรก แต่ทุกคนยอมรับในความสูญเสียครั้งนี้ได้ ด้วยเพราะความศรัทธาในศาสนาอิสลาม ที่สอนว่าการตายคือการกลับไปหาพระเจ้า” มารีแย กล่าว

แม้หลังการตายของสะมะแอ มีชาวบ้านมากมายมาให้กำลังใจและแสดงความเสียใจ แต่นางมารีแย ก็ยืนยันว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐแต่อย่างใดเลย

มารีแย บอกว่า แม้ไม่มีหน่วยงานราชการมาช่วยเหลือ แต่เธอก็ไม่ต้องการ “ครั้งหนึ่งมีคนในหมู่บ้านมาเสนอว่า ถ้าต้องการเงินเยียวยาเขาจะเดินเรื่องให้ แต่เราไม่ต้องการ”

ขณะที่มะดาโอ๊ะ คะนิง น้องชายวัย 21 ปี ก็ยืนยันหนักแน่นว่า “เราไม่ต้องการเงินใดๆ จากใครทั้งสิ้น เพราะการสูญเสียชีวิตของพี่ผม ไม่มีราคาที่ใครจะสามารถตอบแทนเป็นเงินได้ ที่ผ่านมาเราไม่เคยไปขอเงินใครกิน เราจนตามภาษาเราแบบนี้มานานแล้ว”

มะดาโอ๊ะ น้องชายผู้มีอายุห่างกัน 5 ปี กับสะมะแอ บัดนี้ต้องมารับหน้าที่เป็นตัวหลักในครอบครัวแทนสะมะแอ

มะดาโอ๊ะ ต้องหยุดเรียนกลางคัน เพื่อมาทำงานช่วยเหลือครอบครัว แต่ก็ใช่ว่าจะทิ้งการเรียนหนังสือไปเลย เพราะเขาได้สมัครเรียนต่อที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) ซึ่งไม่ต้องเข้าเรียนทุกวัน ทำให้มีเวลาทำงาน

ตอนนี้มะดาโอ๊ะ กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีความหวังที่จะเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทายาลัยรามคำแหง

“ผมต้องการให้น้องๆ ถัดจากผม ได้เรียนต่อให้สูงที่สุดเท่าที่เราจะสามารถส่งเสียได้ ไม่ต้องหยุดเรียนมาทำงานเหมือนผม” นายมะดาโอ๊ะ กล่าว

อาชีพกรีดยางพารา ก็ยังคงเป็นอาชีพหลักของครอบครัวนี้ แต่เป็นการรับจ้างกรีดยาง เพราะไม่มีสวนยางพาราของตนเอง โดยแบ่งเงินขายยางพาราคนละครึ่งกับเจ้าของสวนยาง

เป็นรายได้ที่เพียงพอซื้อแค่ค่ากับข้าวเท่านั้น ส่วนข้าวสารไม่ต้องซื้อ เพราะได้มาจากการทำนาเอง

ไม่เพียงครอบครัวของสะมะแอ คะนิง เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้น แต่คนทั้งหมู่ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพราะก่อนหน้านี้หมู่บ้านบือแนจือแร เคยถูกทหารเข้ามาปิดล้อม ตรวจค้นหลายครั้ง

ด้วยเหตุนี้ทำให้คนจากหมู่บ้านใกล้เคียง ไม่กล้าคบหาสมาคมกับคนในหมู่บ้านนี้ แต่หลังจากสะมะแอ ถูกยิงเสียชีวิต ปรากฏว่า มาตรการปิดล้อมตรวจค้นในหมู่บ้านของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็หายตามไปด้วย จนกระทั่งทุกวันนี้

ถึงมาตรการเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก แต่กระบวนการเยียวยาทั้งต่อครอบครัวนี้หรือกับหมู่บ้านที่บอบช้ำจากสถานการณ์ ก็ยังไม่ปรากฏด้วยเช่นกัน แม้บางคนไม่ต้องการ แต่ก็สมควรที่จะได้รับการเหลียวแลอยู่บ้าง

 

ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน


กรณีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการปฏิเสธการเยียวยาจากรัฐ แต่เป็นการปฏิเสธก่อนที่กระบวนการเยียวยาจะเข้าไปถึง แต่หากกลไกการเยียวยาของรัฐเข้าไปถึงผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ น่าสนใจว่า จะมีการปฏิเสธอย่างเดิม หรือมีปฏิกิริยาที่แตกต่างออกไปหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ได้รับผลกระทบจะมีปฏิกิริยาอย่างไร กลไกการเยียวยาของรัฐก็จำเป็นที่จะต้องเข้าถึงให้ได้ เป็นการทำงานในเชิงรุก จริงอยู่ว่า ในกระบวนการเยียวยาตามหลักเกณฑ์ของรัฐนั้น จำเป็นต้องมีการรับรองจากเจ้าหน้าที่สามฝ่ายก็ตาม แต่การเข้าถึงในเบื้องต้นก็จำเป็นต้องมี อาจจะโดยวิธีการใดวิธีการหนึ่งก็ได้

อีกทางหนึ่ง การเยียวยาของภาคประชาชนก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรต้องมี เพราะในภาคประชาชนเองก็มีทั้งข้อได้เปรียบและข้อจำกัด ข้อได้เปรียบคือ อาจได้รับการยอมรับจากประชาชนในส่วนที่ยังมีอคติหวาดระแวงต่อรัฐ ลักษณะการทำงานไม่ติดกรอบข้อบังคับหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ มากนัก ส่วนข้อจำกัด เช่น ขาดงบประมาณ หรือทรัพยากรที่จำเป็น เมื่อเทียบกับกลไกของรัฐ เป็นต้น

 

********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 431016เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2011 20:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท