DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

จำต้องฟื้นตัวเองจากไฟใต้ ราชาบะหมี่เกี๊ยวปัตตานี


 

จำต้องฟื้นตัวเองจากไฟใต้
ราชาบะหมี่เกี๊ยวปัตตานี


มูฮำหมัด ดือราแม

 

เหตุการณ์ระเบิดหลายต่อหลายครั้งในชายแดนใต้ ไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตและร่างกายผู้คนเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินด้วย หรือทั้งสองอย่าง

พื้นที่เป้าหมายก็ไม่ใช่เพียงตามท้องถนน โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ เท่านั้น ในพื้นที่สาธารณะที่เป็นที่รวมของผู้คนมากมาย ก็ตกเป็นพื้นที่เป้าหมายด้วยเช่นกัน ไม่ว่าร้านอาหาร ร้านน้ำชา ตลาดนัด หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ

ครั้นถึงเวลา 12 นาฬิกา อันเป็นเวลาพักเที่ยง ทั้งของเจ้าหน้าที่ข้าราชการ พนักงานบริษัท ห้างร้านต่างๆ ต่างก็มุ่งไปยังร้านอาหารเพื่อรับประทานมื้อเที่ยงทุกวันในวันทำงาน
ร้านราชาบะหมี่เกี๊ยว หมูแดง เยื้องกับปั๊มน้ำมันบางจาก ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ก็เป็นอีกร้านหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากลูกค้า หลายคนเป็นลูกค้าประจำที่มักจะมาฝากท้องมื้อเที่ยงที่ร้านนี้

ลูกค้าซึ่งเป็นชาวไทยพุทธ ประกอบด้วยข้าราชการ พนักงานบริษัทและประชาชนทั่วไป
ด้วยความที่มีลูกค้าจำนวนมากมารอสั่งอาหารในช่วงเวลาเดียวกัน จึงย่อมตกเป็นเป้าหมายในการลอบวางระเบิดของผู้ก่อความไม่สงบ

และแล้วเหตุการณ์ร้ายที่นางกลอยใจ อุดมพงศ์ไพบูลย์ เจ้าของร้านราชาบะหมี่เกี๊ยวแห่งนี้ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ก็เกิดขึ้นจนได้ เหตุการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดว่า จะเกิดขึ้นกับตนเอง
“ตู้ม...” เสียงดังสนั่นหวั่นไหวกึกก้องไปทั่ว ต้นเสียงมาจากร้านราชาบะหมี่เกี๊ยว หมูแดง ในเวลา 12.20 น. ของวันที่ 17 ธันวาคม 2552

สิ้นเสียงระเบิด ข้าวของภายในร้านกระจัดกระจายไปทั่ว ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ แก้ว จาน ชาม ไปจนถึงตู้กระจกและหลังคาร้านที่แตกเสียหาย

เหตุการณ์นี้ทำให้มีคนบาดเจ็บ 13 ราย ในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างของนางกลอยใจ 4 คน หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น นางกลอยใจ จึงได้ดำเนินเรื่องเพื่อรับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ แต่เวลาผ่านไปเกือบ 1 ปี ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เธอยังต้องรอคอยการเยียวยาต่อไป

เธอเล่าว่า การปรับปรุงซ่อมแซมร้าน รวมทั้งการจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่มาแทนของเดิมที่เสียหาย ได้มากจากเงินกู้ธนาคาร จำนวน 100,000 บาท หาใช่มาจากเงินช่วยเหลือจากรัฐแต่อย่างใด


ในช่วง 1 เดือนหลังเกิดเหตุ เธอได้ปรับปรุงร้านทันทีโดยให้โล่งกว่าเดิม เพราะหากรอการช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งอาจติดขัดกับระบบราชการ อาจทำให้ได้รับการช่วยเหลือล่าช้า ซึ่งจะส่งผลทำให้เสียลูกค้าได้

เธอจำเป็นต้องรีบปรับปรุงซ่อมแซมร้าน เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว เพราะเธอไม่คิดจะเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นแล้ว เพราะเป็นอาชีพที่ทำมาหลายปีแล้ว

สิ่งที่เป็นข้อสงสัยของนางกลอยใจมาก คือ ทำไมร้านที่ถูกระเบิดหลังจากร้านของเธอ ถึงได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาก่อน อย่างเช่น ร้านอ่าวไทยฟาร์มาซี ที่ถูกระเบิดวันที่ 21 เมษายน 2553 แต่ได้รับการช่วยเหลือก่อน

ด้วยเหตุนี้ ทำให้นางกลอยใจเดินทางไปถามที่ศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของจังหวัดปัตตานี เพื่อไขข้อข้องใจ

คำตอบที่เธอได้รับ คือ เอกสารหาย นางกลอยใจ จึงกลับมาจัดทำเอกสารใหม่ทั้งหมด และยื่นดำเนินการขอรับการช่วยเหลือเยียวยา แต่เวลาก็ผ่านเกือบครึ่งปี ก็ยังไม่รู้ว่า เรื่องของเธอจะได้รับการพิจารณาเมื่อใด

เธอจึงเห็นว่า การให้เงินเยียวยาน่าจะไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา แต่เธอก็ต้องการเรียกร้องให้ทางการอนุมัติเงินช่วยเหลือเยียวยาโดยเร็ว เพราะจะช่วยลดภาระให้ครอบครัวได้

พร้อมกันนี้เธอยังสำทับถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ด้วยว่า การให้ทหารมายืนเฝ้ารักษาความปลอดภัยข้างถนนหน้าร้านอาหาร ไม่ได้สร้างความปลอดภัยอะไรเลย แต่กลับเป็นเป้าล่อของผู้ก่อความไม่สงบอีกต่างหาก

ทุกวันนี้ รายได้ที่เธอได้มาจากร้านแต่ละวันต้องมีส่วนแบ่งมากขึ้น เพราะนอกจากต้องจ่ายค่าแรงให้ลูกน้องและค่าใช้จ่ายในร้านและในบ้านแล้ว ยังต้องนำไปชำระคืนธนาคารด้วย

จากเหตุการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น เธอบอกว่า ช่วงแรกๆ รู้สึกท้ออยู่บ้าง แต่เมื่อคิดไปแล้ว ชีวิตก็คงต้องอยู่ต่อไป

“เราคงไม่ย้ายไปไหน เพราะที่นี่เป็นบ้านของเรา ทุกวันนี้ แม้ลูกค้าจะลดลง แต่ดิฉันก็มีลูกน้องและลูกของตัวเองที่ต้องดูแล” ซึ่งนางกลอยใจ บอกว่า นั่นคือกำลังใจ แน่นอนว่า ทุกคนย่อมจะสู้ต่อไปได้ ด้วยกำลังใจ

 

ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน


เรื่องของการประกอบอาชีพหาเลี้ยงปากท้อง เพื่อให้อยู่รอดต่อไป ไม่มีใครสามารถที่จะทนรอต่อไปได้ ตราบเท่าที่ตัวเองยังมีแรงและมีความสามารถช่วยเหลือตัวเองได้อยู่ ซึ่งการช่วยเหลือตัวเองได้ น่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของงานเยียวยา

แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมีหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอยู่ แม้จะมีปัญหาติดขัดในบางเรื่อง เช่นเรื่องเอกสาร ก็น่าจะไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่จะทำให้ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา เพราะเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ เพราะถึงอย่างไร เขาก็คือผู้ได้รับผลกระทบ สมควรต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามสิทธิที่ควรได้รับทันที

กรณีนี้อาจสะท้อนความหย่อนประสิทธิภาพในการทำงานของกลไกการเยียวยาของรัฐ ที่ไม่ใส่ใจต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้ได้รับผลกระทบ เพราะเอกสารหายคือปัญหาที่แก้ไขได้  เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อกลับไปที่ผู้ประสบเหตุให้ทำเอกสารใหม่ได้ในทันทีที่รู้ว่าเอกสารหาย  แต่กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป จนต้องมีการติดตามทวงถามจึงเริ่มกระบวนการใหม่  ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อกระบวนการเยียวยาที่มีอยู่เลย 

การปฏิรูปการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ประสบเหตุแบบที่ไม่ต้องให้มีการทวงถามจะเป็นไปได้ไหมในอนาคตอันใกล้  เป็นคำถามที่ผู้มีอำนาจที่ดูเรื่องการบริหารจัดการยังไม่มีคำตอบ 

 

********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 431015เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2011 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 00:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท