DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

นูรวาตี ทุยเลาะ ชีวิตบ้านเล็กเหยื่อชายแดนใต้


 

นูรวาตี ทุยเลาะ
ชีวิตบ้านเล็กเหยื่อชายแดนใต้


มูฮำหมัด ดือราแม

 

ถึงคราวที่ผู้ชายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเมียหลายคน ประสบเหตุไม่สงบจนถึงกับเสียชีวิต บรรดาผู้หญิงที่อยู่ข้างหลังก็ต้องลำบากกันถ้วนหน้า ไหนจะลูกอีกหลายคน

เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับนายเจ๊ะบาเหม ทุยเลาะ อายุ 47 ปี กำนันตำบลทุ่งพอ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตที่ตลาดสะบ้าย้อย เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2553

ขณะเสียชีวิตนายเจ๊ะบาเหม มีภรรยา 2 คน ชื่อนางฮามีดะห์ ลีเงาะ มีลูกด้วยกัน 4 คน อีกคนนางนูรวาตี ทุยเลาะ มีลูกด้วยกัน 1 คน อายุ 2 ขวบครึ่ง

ก่อนหน้านั้นนายเจ๊ะบาเหม มีภรรยามาแล้วอีก 2 คน แต่ได้เลิกร้างกันไปแล้ว โดยมีลูกรวมกันทั้งหมด 13 คน

นางนูรวาตี ทุยเลาะ อายุ 33 ปี คือภรรยาคนล่าสุดของนายเจ๊ะบาเหม ถือเป็นภรรยาคนสุดท้าย เธอเคยแต่งงานมาแล้ว มีลูก 3 คน และเป็นหม้ายมา 2 – 3 ปี ก่อนจะแต่งงานกับกำนัน เนื่องจากสามีคนแรกเป็นโรคเสียชีวิต

หลังจากสามีถูกยิงเสียชีวิต นางนูรวาตี จึงได้พาบุตรสาวคนเดียวที่เกิดกับนายเจ๊ะบาเหม กลับไปอยู่อาศัยอยู่กับมารดาที่บ้านเลขที่ 40/1 บ้านป่าขี้เหล็ก หมู่ที่ 15 ตำบลนาทวี อำเภอนาทวี ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของตนเอง

 


บ้านที่นางนูรวาตี ทุยเลาะอยู่อาศัยกับลูก 4 คน ซึ่งอดีตสามีสร้างไว้บริเวณปลายนาท้ายหมู่บ้านป่าขี้เหล็ก อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา


ชีวิตบ้านเล็กในชายแดนใต้

นางนูรวาตี ซึ่งเรียกแทนตัวเองว่า “สาว” เล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวเอง กับผลกระทบและการเยียวยาที่ได้รับ   เธอเล่าว่า 

............................

อยู่อาศัยกับกำนันที่บ้านปลักไม้ไผ่ ตำบลทุ่งพอ โดยกำนันสร้างบ้านหลังใหม่ให้อยู่ 1 หลัง ราคา 2,300,000 บาท สร้างเสร็จแต่ยังไม่ทันได้ขึ้นบ้านใหม่ กำนันก็ถูกยิงเสียชีวิตก่อน กำนันยังได้ซื้อสวนยางพาราให้เธออีก 17 ไร่

บ้านหลังนี้ กำนันกู้เงินจากธนาคารมาสร้างบ้าน แต่หลังจากกำนันเสียชีวิต เงินงวดสุดท้ายที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านที่เหลือยังไม่ได้รับ ทางธนาคารก็ไม่ได้โอนมาให้ จึงจำเป็นต้องยืมเงินคนอื่นมาจ่ายค่าก่อสร้างที่ตกค้าง

อาชีพเดิมของกำนันคือทำธุรกิจขายไม้ยางพารา มีลูกน้องหลายคน ทำให้มีรายได้เข้ามาพอสมควร ทำให้สามารถสร้างบ้านและซื้อสวนยางพาราได้ จากที่เมื่อก่อนกำนันไม่เคยคิดจะซื้อไว้ เมื่อได้แต่งานกับสาว สาวก็แนะนำให้ซื้อเก็บไว้บ้าง กำนันจึงซื้อไว้

หลังจากกำนันตาย บ้านกับสวนยาพาราก็ถูกญาติของกำนันจัดการขายไปหมด เพื่อเอาเงินมาแบ่งกัน แม้กระทั่งรถสิบล้อที่มี ก็ต้องขายหมดเพื่อเอามาจ่ายหนี้

บ้านก็ซื้อกันเองในราคาที่ถูกมาก เขาอยากได้ก็ให้ไป เงินที่ได้มาก็ไม่ภูมิใจเท่าไร เหมือนขายสมบัติเราแล้วเอาเงินมาแบ่งให้เราคิดว่าไม่ยุติธรรม

ชีวิตที่ช่วยกันสร้าง

ช่วงหลังมีการฝากคำพูดกับคนอื่นมาว่า เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สาวคิดว่าไม่ต้องพูดแล้ว ทำไมตอนที่เราอยู่ที่นั่นจึงไม่พูด สาวไม่อยากทะเลาะ เพราะแย่งสมบัติ เพราะเราไปตัวเปล่า แล้วไปสร้างเอาที่นั่น

หลังจากกำนันเสียชีวิต สาวอยู่ที่นั่นอีกเกือบ 2 เดือน ก็ทนไม่ไหว มีปัญหาเยอะ แต่ละวันไม่เหมือนกัน เช่น มีคนมาทวงเงิน บางครั้งญาติพี่น้องของกำนันพยายามบีบให้ออกจากวง เพราะเกรงว่า ถ้าสาวยังอยู่อาจจะคัดค้านในสิ่งที่เขาต้องการก็ได้

คงเห็นว่าเราเป็นเมียน้อย สาวไม่อยากทะเลาะกับใคร จึงย้ายออกมาจากที่นั่น และไม่ต้องการสมบัติที่กำนันทิ้งไว้ แม้โต๊ะอิหม่ามต้องการให้อยู่ต่อเพื่อแก้ปัญหาเรื่องมรดกตามหลักศาสนาอิสลามให้เสร็จก่อน

กำนันไม่ได้ทำพินัยกรรม บ้านที่สร้างก็ไม่มีเอกสารอะไร เพราะไม่คิดว่าสร้างบ้านแล้วจะเสียชีวิต กำนันเคยพูดว่าบ้านหลังนี้จะให้สาวกับลูก ซึ่งคนอื่นก็รู้กันทั่ว แต่ญาติของกำนันยืนยันที่จะขายบ้านหลังนั้น

เงินที่ขายบ้าน เขาแบ่งให้มาบ้างไม่มาก เอาไปซื้อสวนยางก็ไม่ได้ เงินที่ได้มันเทียบไม่ได้กับสิ่งที่สร้างไว้ ซึ่งเราไม่พอใจเพราะน่าจะได้มากกว่านั้น แต่เราไม่ต้องการแย่งสมบัติ กลัวคนที่ตายไปแล้วไม่สบายใจ เขาอยากได้ ก็ให้เขาไป เราสามารถเลี้ยงลูกเองได้ กับภรรยาอีกคนของกำนันเคยทะเลาะบ้างกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง แม้กำนันเคยบอกว่า อยากให้เมียทั้งสองคนรักกัน แต่สาวบอกว่า ต่างคนต่างอยู่ดีกว่า เขาคงคิดว่าเราไปแย่งของเขา แต่ช่วงหลังๆ กำนันก็มักจะมาอยู่กับสาวมากกว่า

สาวใช้นามสกุลเดียวกับกำนัน เพราะเป็นภรรยาคนเดียวที่กำนันพาไปจดทะเบียนสมรส เหตุที่กำนันพาไปจดทะเบียนสมรส เพราะจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจจ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งต้องใช้ทะเบียนสมรสเป็นหลักฐานในการเดินทางด้วย

แต่หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว สาวได้ตั้งครรภ์ แผนที่จะเดินทางไปกระกอบพิธีฮัจจ์พร้อมกับกำนันก็ถูกยกเลิก

ผลกระทบและเงินเยียวยาอันน้อยนิด

หลังจากที่สาวกลับมาอยู่ที่บ้านเดิม ได้ข่าวว่า ทางศาลากลางจังหวัดสงขลาได้มอบเงินช่วยเหลือจากการเสียชีวิตของกำนัน 100,000 บาท ซึ่งตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ กำนันต้องได้รับเงินช่วยเหลือ 500,000 บาท แต่ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ยังสรุปไม่ได้ว่า กำนันเสียชีวิตเพราะเหตุการณ์ไม่สงบหรือเรื่องส่วนตัว

เมื่อยังไม่สามารถสรุปได้ ทางศาลากลางจังหวัดจึงมอบเงินช่วยเหลือให้ก่อน 25% เงินที่ได้ก็ต้องเอามาแบ่งกันหลายคน ซึ่งตกมาถึงสาวด้วยจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มาก ซึ่งเงินที่ได้มานั้น นำมาเก็บไว้ให้ลูกคนสุดท้อง เพราะเป็นทรัพย์สินอย่างเดียวที่ได้มาจากกำนัน

ส่วนเงินช่วยเหลือเยียวยาที่เหลือจะได้ด้วยหรือไม่นั่น ไม่ทราบ เพราไม่ได้ติดตามข่าว ซึ่งหลังจากกลับมาอยู่บ้านเดิม ก็ไม่เคยติดต่อกลับไปที่บ้านเดิมของสามีเลย

สาวเองก็ไม่อยากพูดเรื่องนี้ เพราะเสียความรู้สึกกับเรื่องนี้มาก พูดทุกทีก็ช้ำใจทุกที ก็เลยไม่อยากพูดกับใคร ไม่อยากไปไหน เพราะเจอแล้ว เขาก็ถามว่าทำไมถึงกลับมาอยู่บ้าน สาวก็ต้องเริ่มต้นเล่าเรื่องใหม่อีกครั้งไม่รู้จบ

นางนูรวาตี ทุยเลาะ ร้องไห้สะอื้นขณะเล่าเรื่องของตัวเองที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสามีเสียชิวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบ

 


กลับมาอยู่บ้านใหม่ๆ คนก็พูดว่า ไปอยู่ที่โน่นแล้ว กลับมาไม่ได้อะไรมาบ้างหรือ ยิ่งทำให้ไม่อยากให้ใครรู้ด้วยซ้ำว่า สาวกลับมาอยู่บ้านแล้ว


ภาระและความลำบาก

หลังจากกลับมาอยู่ที่บ้านเดิม ก็สบายใจขึ้นระดับหนึ่ง เหมือนถอยมาตั้งหลักให้กับชีวิต เพราะสาวไม่ชอบบอกคนอื่นว่า เราลำบาก ไม่อยากแสดงความอ่อนแอให้คนอื่นเห็น

กลับมาอยู่บ้านทำงานรับจ้างกรีดยางพารา เพราะกรีดยางเป็น มีรายได้วันละ 200 – 250 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ให้ลูกไปโรงเรียน

ขายของก็ได้ เพราะตอนอยู่กับกำนัน เคยลงทุนเปิดร้านขายของหน้าโรงงานใกล้บ้าน แต่เมื่อคลอดลูกก็เลิก ตอนนี้ยังไม่ได้คิดที่จะเปิดร้านขายของ

ที่ผ่านมา เคยขอทุนมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ นำมาเลี้ยงปลาดุกแต่เนื่องจากเป็นงานที่เราไม่เคยทำ ไม่มีความชำนาญ ก็เลยล้มเหลวและไม่ได้ทำต่อ

เมื่อกลับมาอยู่บ้าน ลูกทั้ง 4 คนก็ได้มาอยู่ด้วยกัน จากที่ฝากเลี้ยงไว้กับอดีตแม่ยายและแม่ของตัวเอง

ส่วนบ้านที่อาศัยอยู่ก็เป็นบ้านของอดีตสามีสร้างไว้ แต่สร้างไม่เสร็จอดีตสามีก็เสียชีวิต จากนั้นอดีตพ่อตาสร้างต่อให้เสร็จและมั่นคงแข็งแรงดี ก่อนหน้านี้อยู่กับแม่ แต่ที่บ้านแม่ถูกน้ำท่วมบ่อย จึงขนของมาอยู่กันที่บ้านหลังนี้

สำหรับลูกทั้ง 4 คน คนโตเป็นผู้หญิง อายุ 15 ปี ชื่อสางสาวนาวียะห์ ขะมิโดย เรียนจบชั้นประถามศึกษาปีที่ 6 และไม่ได้เรียนต่อ

คนที่สองเป็นผู้ชาย อายุ 13 ปี ชื่อเด็กชายกัดดาฟี ขะมิโดย ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา

คนที่สาม เป็นผู้หญิง อายุ 11 ปี ชื่อเด็กหญิงปนัสยา ขะมิโดย กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และคนสุดท้อง ซึ่งเกิดกับกำนันเจ๊ะบาเหม ชื่อเด็กหญิงนัฟตาลี ทุยเลาะ อายุ 3 ขวบ ส่งเข้าเรียนอนุบาลแล้ว

 

นางนูรวาตี ทุยเลาะ พร้อมกับลูก 3 คน ที่เกิดจากสามีคนแรก (สองคนที่นั่งอยู่) และลูกคนเล็กสามีคนที่สองกำลังนอนหลับอยู่ เพราะไม่สบาย

 



รักครั้งใหม่ยังไม่เปิดทาง

หลังจากกลับมาอยู่ที่บ้านไม่นาน ก็มีคนโทรศัพท์มาจีบบ่อย ส่วนใหญ่จะพูดจาหยาบคาย คงคิดว่าเราเป็นแม่หม้าย จึงพูดอะไรตรงๆ ได้ ไม่ต้องให้ความสำคัญกับคำพูดที่สวยหรูมากก็ได้ แต่สาวเองคิดว่า เราต้องให้เกียรติกับตัวเอง อย่างน้อยก็เพื่อตัวเราเองและเพื่อลูก

เมื่อมีคนโทรศัพท์มาจีบมากๆ ก็รู้สึกรำคาญ จึงตัดปัญหาด้วยการเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์มือถือเสียเลย แม้บางคนมาถึงที่บ้านก็ไม่ยอมให้เข้าบ้าน ไล่เขากลับไป ตอนนี้ไม่มีคนโทรศัพท์มากวนแล้ว

ทุกวันนี้สาวรู้สึกมีความสุขดีและเลี้ยงลูกทั้ง 4 คนเองได้ พอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่แล้ว

 

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน


การตายของชายมุสลิมในชายแดนใต้ที่มีภรรยาหลายคน ย่อมทำให้มีคนข้างหลังที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย แต่กรณีไม่ได้มีปัญหาการช่วยเหลือเยียวยา ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบกันเอง แต่ก็ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจตามมาด้วย

ดังนั้นการช่วยเหลือเยียวยาในกรณีนี้ ต้องมุ่งไปที่การช่วยเหลือเยียวยาทางด้านจิตใจ เพราะการเสียชีวิตของกำนัน เสมือนกับทำให้ปัญหาที่มีสะสมอยู่แล้วเปิดเผยออกมาชัดเจน ทำให้นางนูรวาตี ทุยเลาะ ยิ่งต้องช้ำใจมากขึ้น แทนที่จะเกิดการเยียวยากันเองในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ

แม้เหตุการณ์ผ่านไปเกือบปีนางนูรวาตียังเศร้าโศกเสียใจไม่หายบวกกับความช้ำใจที่เกิดจากญาติของอดีตสามี แต่เธอก็ยังคงเก็บตัว ไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่อยากให้ใครรู้ด้วยซ้ำว่า เธอกลับมาอยู่บ้านแล้ว ซึ่งพฤติกรรมเช่นอาจไม่เป็นผลดีต่อเธอเอง เพราะจะทำให้จมปลักอยู่กับความรู้สึกนั้นต่อไป

บางทีการเข้าร่วมกิจกรรมที่ทำให้เธอได้พบกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ก็อาจช่วยให้เธอข้ามพ้นความรู้สึกนั้นไปได้ก็ได้ เพื่อให้เธอได้มีที่ระบายให้กับคนที่อย่างน้อยก็น่าจะเข้าใจความรู้สึกของผู้สูญเสียด้วยกัน อาจเป็นทางหนึ่งที่จะสร้างความเข้มแข็งให้เธอได้

 

********************

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 430889เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2011 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท