DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

พี่น้องตระกูล‘เจ๊ะเต๊ะ’ ชะตาพิสดารและการเยียวยาที่เอื้อมไม่ถึง


 

พี่น้องตระกูล‘เจ๊ะเต๊ะ’
ชะตาพิสดารและการเยียวยาที่เอื้อมไม่ถึง


มูฮำหมัด ดือราแม

 

หากจะพูดถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันมีลักษณะพิสดารยิ่งนัก คงเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ‘เจ๊ะเต๊ะ’
เพราะการตายของนาย ‘ไซกุตรีย์ เจ๊ะเต๊ะ’ ก่อให้เกิดปริศนาและปัญหาหลายประการตามมา เผยให้เห็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของกระบวนการเยียวยา

ประเด็นแรก คือ นายไซกุตรีย์ ซึ่งเป็นข้าราชการครูอยู่ที่โรงเรียนบ้าน(สโลว์)บูกิตจือแร หมู่ที่ 9 ตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ถูกลอบยิงจนเสียชีวิตเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2552 ขณะเดินทางกลับจากละหมาดที่มัสยิดในช่วงค่ำ

จากนั้นอีกหนึ่งปี พี่ชายคือ ‘อับดุลกอเดร์ เจ๊ะเต๊ะ’ ซึ่งเป็นครูอัตราจ้างในโรงเรียนเดียวกัน ก็ถูกคนร้ายลอบยิงด้วยอาวุธปืนอาก้า ขณะขี่รถจักรยานยนต์ไปสอนหนังสือบริเวณทางเข้าโรงเรียน เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 แต่ก็รอดชีวิตมาได้

อับดุลกอเดร์รู้ว่าใครเป็นคนร้าย จนนำมาสู่การเป็นพยานปากเอกในคดีนี้ เพราะเขามั่นใจว่าคนร้ายทั้งสองคนที่มายิงตนก็เป็นคนๆ กันกับที่ยิงน้องชายจนเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว

ต่อมาพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร(สภ.) รือเสาะ ได้ออกหมายจับชายสองคน ซึ่งเป็นคนขับรถจักรยานยนต์และคนลงมือยิง โดยมือปืนมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.ในหมู่บ้านเดียวกัน

ต่อมาชายทั้งสองคน ออกมามอบตัว แต่ทุกอย่างพลิกผันเมื่อพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนชั่วคราว แม้นายอับดุลกอเดร์พยายามคัดค้านการประกันตัว แต่ก็ไม่ได้ผล

สุดท้ายนายอับดุลกอเดร์ต้องร้องขอความคุ้มครองในฐานะพยาน ตามโครงการคุ้มครองพยานของกรมสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ โดยให้เหตุผลว่า เพราะเขาคือพยานปากเอกกรณีเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตนเองและน้องชายที่ถูกยิงเสียชีวิต โดยตนเองมีทั้งข้อมูลและเบาะแสของผู้ก่อเหตุและผู้สั่งการ

อับดุลกอเดร์มั่นใจว่า การที่ผู้ต้องหาถูกปล่อยตัวออกมา จะทำให้ตนเองจะได้รับอันตรายถึงชีวิตอย่างแน่นอน หากตนเองไม่ได้รับการคุ้มครอง

เหตุผลที่ผู้ต้องหาทั้งสองถูกปล่อยตัวออกมา เพราะได้รับการรับรองจากผู้นำชุมชนรายหนึ่ง ซึ่งเขามั่นใจว่า เป็นผู้สั่งการให้ลงมือฆ่าน้องชายและตนเองอย่างไม่ทราบเหตุผล สุดท้ายเขาต้องกลายเป็นพยานที่ต้องถูกคุ้มครองอยู่ในเซฟเฮ้าส์ที่ไม่เป็นหลักแหล่ง

ย้อนกลับไปสู่กรณีการตายของน้องชายก็พบเงื่อนงำบางประการที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยา เพราะอับดุลกอเดร์ให้ข้อมูลว่า หลังไซกุตรีย์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 พอวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.)ของทหา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร(ผกก.สภ) และนายอำเภอ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายปกครอง ได้ลงนามในหนังสือรับรองทันที ว่า “ไม่รับรองว่า การเสียชีวิตของไซกุตรีย์เป็นสาเหตุมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบ”

ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้น้องชายไม่ได้รับเงินเยียวยา ทั้งที่ทำงานเป็นข้าราชการครู  เพราะทางราชการจะถือว่าเสียชีวิตจากเรื่องส่วนตัว

สิ่งที่สะดุดใจอับดุลกอเดร์ก็คือ ทำไมหนังสือรับรองจาก 3 ฝ่ายจึงออกมาเร็วนัก ทั้งที่น้องชายถูกยิงเสียชีวิตได้เพียง 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะผู้กำกับการ สภ.รือเสาะที่ลงนามไม่รับรองด้วย ทั้งที่พนักงานสืบสวนสอบสวนผู้ใต้บังคับบัญชา ยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวน รวมทั้งเก็บรวบรวมวัตถุพยานหลักฐานและพยานบุคคลยังไม่เสร็จ!

“ตอนที่ตำรวจลงไปชันสูตรพลิกศพและเก็บรวบรวมหลักฐาน เขายังบอกผมเลยว่า ให้รวบรวมหลักฐานเพื่อไปขอรับเงินเยียวยาได้เลย”

อับดุลกอเดร์ เข้าใจว่ากระบวนการในการรับการเยียวตรงนั้นยังไม่เสร็จสิ้น แต่เขาก็รู้แล้วว่า อะไรเป็นอะไร แต่เหตุใดวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่าย จึงพร้อมใจกันไม่รับรอง เป็นไปได้อย่างไร เหตุใดเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่าย จึงรู้ได้ทันทีว่าไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบ

ทั้งที่การรับรอง 3 ฝ่าย ต้องดำเนินการภายใน 7 วัน ตามแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กยต. กำหนดขึ้น

อับดุลกอเดร์ จึงไม่ยอมรับการลงนามไม่รับรองของเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่ายดังกล่าว พร้อมเดินหน้าต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมดังกล่าว ด้วยการเดินทางไปร้องเรียนต่อศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดนราธิวาส ทางศูนย์ทนายความมุสลิมจึงได้ทำหนังสืออุทธรณ์การรับรอง 3 ฝ่ายดังกล่าว ต่อศูนย์ช่วยเหลือเยียวผู้ได้รับผลกระทบประจำอำเภอรือเสาะ
ผ่านไปอีกหนึ่งปี อับดุลกอเดร์ได้ติดตามผลการอุทธรณ์ แต่ก็ไม่พบความคืบหน้าใดๆ วันที่ 9 มีนาคม 2553 อับดุลกอเดร์จึงได้ทำหนังสืออุทธรณ์อีกครั้ง โดยส่งไปที่นายอำเภอรือเสาะ เพื่อส่งต่อไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

ผ่านไปอีก 5 เดือน ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2553 อับดุลกอเดร์จึงตัดสินใจโทรศัพท์สอบถามไปยังนายอำเภอรือเสาะ เพื่อติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง ได้รับคำตอบจากนายอำเภอรือเสาะว่า หนังสือถูกส่งต่อไปแล้ว จึงไม่ทราบความคืบหน้าใดๆ ว่า และไม่ทราบว่าหนังสือร้องเรียนถูกส่งไปให้ใคร

ท่ามกลางความผิดหวัง อับดุลกอเดร์รู้สึกเหมือนถูกฟ้าผ่าลงกลางใจซ้ำอีกครั้ง เมื่อได้รับจดหมายจาก ‘นายโสภณ ทิพย์บำรุง’ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานอัยการเขต 9 รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดนราธิวาส ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 ส่งถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ ระบุว่า ขอให้งดการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ เพราะไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดกระทำความผิด!

ทั้งที่คดีนี้ มีพยานวัตถุที่ตำรวจเก็บได้ คือ ปลอกกระสุนขนาด 5.5 มม.จำนวน 4 ปลอก ปลอกกระสุนอาก้า จำนวน 30 ปลอก และเศษหัวกระสุนจำนวน 2 ชิ้น อีกทั้งเขายังสามารถชี้ตัวผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ก่อเหตุและผู้ลงมือยิงได้ โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ซัดทอดไปถึงผู้บงการด้วย

อับดุลกอเดร์ อ่านจดหมายด้วยความมึนงง แทบไม่เชื่อสายตาตนเอง เป็นได้ได้อย่างไร ที่อัยการจังหวัดนราธิวาส สั่งให้หยุดสืบสวนคดีนี้ เพราะไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดกระทำความผิด!

แม้คดียังมีอายุความอีกยาวนาน แต่ทุกวันนี้ อับดุลกอเดร์ วัย 37 ปีต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ภายใต้การคุ้มครองของดีเอสไอ อย่างไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร

แม้วันนี้ เขาไม่อาจกลับไปทำหน้าที่ครู ซึ่งเป็นอาชีพที่เขารักได้อีกต่อไป แต่เขาก็ยังรอความหวังการเยียวยาจากรัฐ จากการสูญเสียน้องชายไป ด้วยเงินช่วยเหลือเยียวยาก้อนหนึ่งอย่างใจจดใจจ่อ

น.ส.ปรีดา ทองชุมนุม เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มานาน ให้ความเห็นกรณีรัฐปฏิเสธการเยียวยาต่อกรณีการตายของนายไซกุตรีย์ว่า มีความขัดแย้งกันชัดเจนในกรณีที่ผู้กำกับการ สภ.รือเสาะที่ลงชื่อไม่รับรอง ทั้งที่ในสำนวนการสอบสวนของเจ้าพนักงานระบุว่า สาเหตุยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน

น.ส.ปรีดา บอกว่า ในประเด็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ ต้องระบุเหตุผลประกอบว่า ทำไมบุคคลผู้นี้จึงไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ

“ต้องระบุเหตุผลว่า ทำไมจึงไม่รับรองว่าการตายของนายไซกุตรีย์เกี่ยวข้องกับความไม่สงบ แต่เราก็ทำได้แค่เพียง ส่งหนังสืออุทธรณ์ให้และตอนนี้ก็ยังไม่มีหนังสือตอบกลับมา” น.ส.ปรีดา กล่าว

“เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก ในรายที่รัฐปฏิเสธการเยียวยา ในใบรับรอง ไม่มีเหตุผลมารองรับเลย ทำให้คนที่ได้รับผลกระทบเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมขึ้นมาทันที ไม่ว่าคนที่ตายจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ไม่สงบจริงๆ ก็ตาม”

น.ส.ปรีดา ให้ข้อสังเกตอีกอย่างว่า กรณีคนไทยพุทธที่เสียชีวิต ส่วนใหญ่จะได้รับการรับรองว่าเป็นเหตุการณ์ไม่สงบ ซึ่งจะทำให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐตามมา แต่ถ้าเป็นชาวมุสลิม ถ้าไม่ชัดเจนจริงๆ เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย จะไม่รับรอง ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจมาก

น.ส.ปรีดา ฝ่ายกฎหมายของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้รับข้อร้องเรียนของมุสลิมเข้ามาเยอะ ทางออกที่ทำได้คือช่วยทำหนังสืออุทธรณ์ให้ แต่ไม่รับประกันว่าจะได้รับการเยียวยาหรือไม่ แต่เป็นสิ่งแรกที่ประชาชนมีสิทธิจะทำ คือ การยื่นอุทธรณ์” น.ส.ปรีดาระบุทิ้งท้าย

แม้ยังไม่รู้ว่าอนาคตการเยียวยาของคนในกระกูล‘เจ๊ะเต๊ะ’ จะเป็นอย่างไร แต่สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เมื่อน้องชายอีกคนของอับดุลกาเดร์ ชื่อ ‘อิสรัน เจ๊ะเต๊ะ’ อายุ 31 ปี ซึ่งเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดน หรือ อส.ประจำ อำเภอรือเสาะ ถูกคนร้ายไม่ต่ำกว่า 3 คนใช้รถปิกอัพไม่ทราบหมายเลขทะเบียนแล่นติดตามและใช้อาวุธปืนสงครามยิงถล่มจนเสียชีวิตพร้อมกับ อส.อีกคน คือนายอุเซ็ง ตาดา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา

เหตุเกิดขณะที่นายอิสรันขับขี่รถจักรยานยนต์เดินทางไปทำธุระที่ตลาดเมืองยะลา บนถนนสาย 4066 บริเวณบ้านพงจือนือเระ หมู่ที่ 3 ตำบลกายูบอเกาะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ไม่รู้ว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ‘เจ๊ะเต๊ะ’ ครั้งล่าสุด จะเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่...

 

ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน


การรับรอง 3 ฝ่าย เป็นปัญหาพอสมควร แต่กรณีที่เป็นปัญหาที่ผ่านมาคือไม่สามารถสรุปหรือไม่กล้ารับรองในทันทีว่า เป็นเหตุการณ์ไม่สงบ จนกว่าเจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบในระดับหนึ่งแล้ว

แต่กรณีนี้ ปัญหาคือ การรีบสรุปว่า ไม่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบ โดยไม่รอผลการสืบสวนสอบสวนที่จะมายืนยันได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ไม่ได้รับสิทธิในการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยต่อผู้ได้รับผลกระทบหรือญาติของผู้ประสบเหตุ

แม้ว่าแนวปฏิบัติของคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กยต. ที่ให้รับรองภายใน 7 วัน ก็ไม่ได้ห้ามรับรองหรือลงความเห็นไม่รับรองในทันที แม้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน

ดังนั้น หลักเกณฑ์การรับรอง 3 ฝ่าย ก็อาจยังไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนว่า ผู้ได้รับผลกระทบรายใด จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ เพราะขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 3 ฝ่ายเป็นหลัก

อย่างก็ตาม ที่ผ่านก็มีการรับรองไปก่อนเพียงสองในสามฝ่าย ก็จะทำให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับเงินช่วยเหลือไปก่อน 25% หากมีข้อสรุปในภายหลังว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุไม่สงบ เงินช่วยเหลือที่รัฐให้ไปก็ไม่ต้องจ่ายคืน แต่ถ้ามีการรับรองเพียงหนึ่งในสาม ก็หมดสิทธิที่จะได้รับเงินเยียวยา

แต่กรณีนี้คือการปิดกั้นสิทธิในการเข้าถึงการเยียวยาของรัฐตั้งแต่ต้น อาจด้วยเพราะเจ้าหน้าที่มีข้อมูลหรือหลักฐานชัดเจนว่าไม่ใช่การก่อความไม่สงบหรือไม่ก็ตาม

แม้ว่าผู้ได้รับผลกระทบมีสิทธิที่จะร้องอุทธรณ์ เพื่อให้ได้รับสิทธิในการช่วยเหลือเยียวยา แต่ก็ไม่มีหลักประกันอะไรด้วยเช่นกัน เพราะขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้ได้รับผลกระทบยิ่งรู้สึกถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากความยากลำบากที่ได้อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น แม้จะมีสาเหตุมาจากความไม่สงบหรือเหตุอื่นๆ ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นอยู่เช่นนี้  หากถูกขยายผลโจมตีรัฐถึงการปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความไม่เป็นธรรม หากแม้ไม่เกี่ยวกับความไม่สงบ ก็ไม่ควรปล่อยให้ผู้ได้รับผลกระทบต้องเผชิญชะตากรรมโดยลำพัง

เชื่อว่าช่องทางในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในกรณีนี้ ไม่ใช่แค่การให้สิทธิในการช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์อย่างเดียว แต่ยังมีช่องทางอื่นๆ อีก ขึ้นอยู่กับว่าจะหยิบยื่นอะไรให้ โดยไม่ปล่อยเพิกเฉยอย่างที่เป็นอยู่

 

********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 430885เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2011 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีค่ะ
  • ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท