DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

เยียวยาไอร์ปาแยภาคคนตาย ถามหาความเท่าเทียม“รัฐ-ชาวบ้าน”


 

เยียวยาไอร์ปาแยภาคคนตาย
ถามหาความเท่าเทียม“รัฐ-ชาวบ้าน”


มูฮำหมัด ดือราแม

 

คำถามเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงความเท่าเทียมกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับชาวบ้านธรรมดาๆ เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นก็คือกรณีความสูญเสียที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านไอร์ปาแย

คนบาดเจ็บและเสียชีวิตที่ถูกมือสังหารกราดยิงด้วยอาวุธปืนสงครามใส่มัสยิดบ้านไอร์ปาแย อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อค่ำคืนวันที่ 8 มิถุนายน 2552 ทุกคนล้วนเป็นเหยื่อ แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดของเหยื่อแต่ละราย พบว่ามีปูมต่างกัน สามารถขับเน้นให้เห็นชัดเจนได้ในแง่มุมของการเยียวยา

“ทำไมคนที่ทำงานให้รัฐ เป็นข้าราชการจึงได้รับการเยียวยามากกว่าชาวบ้าน ทั้งที่คนเหล่านั้นจะว่าไปมีฐานะมากกว่าชาวบ้านธรรมดาเสียอีก” อาหมัด มะฮะฮา บุตรชายคนโตของ ยูโซ๊ะ มะฮะฮา วัย 63 ปีที่ถูกคมกระสุนปลิดชีวิตภายในมัสยิดเมื่อค่ำคืนนั้นกล่าว
เขาออกตัวว่า สิ่งที่พูดเขาไม่ได้ก้าวล่วงถึงคนที่เสียชีวิตและทายาทของเหยื่อ แต่คือความเป็นธรรมจากการเยียวยาของรัฐที่มองคนไม่เท่ากัน

“ผมไม่ได้ว่าคนที่เสียชีวิตและญาติพี่น้อง เพราะสูญเสียเหมือนกัน แต่มุมมองของรัฐในการจ่ายเงินเยียวยา มันสะท้อนออกมาชัดมากกว่าถ้าเป็นชาวบ้าน ชีวิตมีราคาต่ำกว่าคนที่ทำงานให้รัฐ” ชายหนุ่มวัย 30 ปีกล่าวตรงไปตรงมา

พร้อมกับเปิดเผยว่า เขาได้รับเงินเยียวยาก้อนแรกหลังจากเหตุการณ์นั้นเป็นเงินที่นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส (ขณะนั้น) มามอบให้กับมือ 12,000 เป็นค่าจัดการศพ

หลังจากนั้นทางผู้ว่าราชการจังหวัดมามอบให้อีก 38,000 บาท กระทรวงยุติธรรมให้อีก 100,000 บาท รวมกับอีก 100,000 บาทจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมกับเงินบริจาคของชาวบ้านและองค์กรการกุศลจากมาเลเซีย เขาได้รับรวมแล้วประมาณ 300,000 บาทถ้วน

เป็น 300,000 บาทที่หมดไปแล้วกับชีวิตที่ต้องดิ้นรนหลังความตายของพ่อ... “บ้านก็ต้องทำใหม่ ของก็ต้องซื้อหา น้องชายผมขึ้นไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ก็ต้องส่งเสีย ไม่ให้เรียนก็ไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นชีวิตก็ไม่ก้าวหน้า จะรอกินเงินเยียวยาอยู่ที่บ้านก็ไม่ได้ เงินจำนวนนั้น 1 ปีกว่าก็หมด” อาหมัดกล่าว และว่า “ถ้าคนที่เสียชีวิตเป็นข้าราชการ เขาจะให้ทันที 500,000 บาท ถ้าเป็นโต๊ะอิหม่ามตอนแรกได้ 200,000 บาท และอีกหนึ่งแสนบาทที่ได้รับเหมือนชาวบ้าน รวมแล้วได้ประมาณสามแสนบาท”


นายอาหมัด มะฮะฮา 



อาหมัดในฐานะพี่ชายคนโตต้องลาออกจากโรงเรียนปอเนาะแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี  เพื่อมาเป็นเสาหลักให้ครอบครัวแจกแจงตัวเลขที่เขาได้รับข้อมูลมา และบอกว่าทุกวันนี้ เขามีอาชีพกรีดยางจำนวน 10 ไร่ซึ่งเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่พ่อทิ้งไว้ให้ก่อนตายเพื่อนำเงินมาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งมีแม่ ‘นางมารีเยาะ กาเซ็ง’ วัย 58 ปีอยู่เบื้องหลัง และน้องชายที่กำลังเรียนหนังสือ ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนหนึ่งในการส่งเสียดูแล

จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นคนของรัฐคือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และอีกรายที่เป็นข้าราชการครู “อยากขอทุนการศึกษา” อาหมัดบอก
“แต่ก็ไม่รู้ช่องทาง และไม่รู้ว่าที่ไหนจะให้บ้าง” เขาบอกว่า เมื่อก่อนพ่อยังไม่เสียชีวิต ยังแข็งแรงและทำงานหนักเพื่อส่งเสียเขากับน้องได้เรียนหนังสือ นอกจากกรีดยางพ่อยังทำงานรับจ้างทั่วไปได้ แต่หลังจากพ่อเสียชีวิตลง ทุกอย่างมาตกที่เขาคนเดียว ซึ่งทุกวนนี้ก็ยังตั้งตัวไม่ติด

“อยากให้การเยียวยาเท่าเทียมกัน หรืออย่างน้อยก็ไม่ห่างมากเกินไป เพราะคนตายเหมือนกัน แม้ว่าความสูญเสียมันเยียวยาด้วยเงินเท่าไหร่ก็ไม่คุ้มค่า แต่ชาวบ้านมันแย่กว่าคนของรัฐอย่างแน่นอน อันนี้ว่ากันตรงๆ ” อาหมัดเปิดเผยความรู้สึก

เช่นเดียวกับ ‘เจ๊าะยาเราะ มะเซ็ง’ ภรรยาวัย 59 ปีของ ‘มะสะแลแม มะเซ็ง’ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์คืนนั้นที่บอกว่าก่อนเสียชีวิต สามีของเธอมียางพาราสวนของตนเองอีก 4 ไร่ แต่ยังรับจ้างกรีดยางหาเงินมาจุนเจือครอบครัวได้ไม่ลำบากนัก เธอมีลูก 5 คนซึ่งต่างมีครอบครัวหมดแล้ว ซึ่งนั่นทำให้เธอเบาใจลงได้มาก มีแต่คนสุดท้อง ‘มีซี มะเซ็ง’ ที่ได้เป็นคนดูแลมัสยิดบ้านไอร์ปาแยตามโครงการจ้างงาน 4,500 บาทของศูนย์เยียวยาอำเภอเจาะไอร้องซึ่งยังเป็นวัยรุ่นอยู่และไม่ได้เรียนหนังสือ “300,000 บาทฉันแบ่งให้ลูกๆ ไม่เหลือเลย” เธอบอกถึงจำนวนเงินที่ได้รับจากการเยียวยา


เจ๊าะยาเราะ มะเซ็ง



เธอบอกว่าเงินจำนวนนั้นมันน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับความสูญเสีย  และเมื่อก่อน หลังเหตุการณ์ใหม่ๆ มีหน่วยงานต่างๆ ลงมาเยี่ยมเยียนบ่อย พร้อมกับมอบความหวังว่าจะเข้ามาดูแลเรื่องการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้ด้วย แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีหน่วยงานไหนลงมาอีกแล้ว
“กับชาวบ้านทำไมให้น้อยกว่าคนของรัฐ ฉันอยากรู้ตรงนี้ หากว่ารัฐต้องการดูแลคนของรัฐมากกว่า มันทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าชาวบ้านไม่ใช่คนของรัฐหรือเปล่า ฉันรู้สึกอย่างนี้” นางเจ๊ะยาเราะตั้งคำถามและบอกเล่าความรู้สึกตนเอง

เธอพยายามบอกว่าประเด็นไม่ใช่จำนวนเงิน แต่เป็นความรู้สึกถึงความเหินห่างที่รัฐให้ความไม่เท่าเทียมกัน

“ฉันอยากรู้เพียงว่า ทำไมประชาชนจึงไม่ได้รับการปฏิบัติเหมือนคนของรัฐ ถ้าอย่างนั้นมันแก้ปัญหาต่างๆ ได้ยาก อยากให้ทุกอย่างเท่าเทียมกันมากกว่านี้ เพราะเราก็สูญเสียเหมือนกัน” ภรรยาของนายมะสะแลแม มะเซ็งเหยื่ออีกคนหนึ่งจากเหตุการณ์ไอร์ปาแย กล่าวทิ้งท้าย

ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน

เป็นประเด็นใหม่ในเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ในกรณีที่มีผู้เสียงชีวิตหรือบาดเจ็บหมู่ในเหตุการณ์เดียวกัน แต่การช่วยเหลือเยียวยาก็ยังแตกต่างกันตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาของรัฐ ทั้งที่มีความสูญเหมือนกัน

ในกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตหมู่ในเหตุการณ์เดียวกัน น่าจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือที่เหมือนกัน เพราะลักษณะการสูญเสียคล้ายกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกว่า ได้รับการดูแลไม่เท่าเทียมกันอย่างเช่นในกรณีนี้ และเชื่อว่าน่าจะมีในกรณีอื่นๆ ด้วย

กรณีนี้จึงเป็นอีกเสียงเรียกร้องหนึ่งในการช่วยเหลือเยียวยาที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนธรรมดา

 

********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 430877เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2011 19:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท