DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

เยียวยาไอร์ปาแยภาคคนเจ็บ ถึงจะพิกลพิการแต่ไม่สิ้นหวังอนาคตลูก



เยียวยาไอร์ปาแยภาคคนเจ็บ
ถึงจะพิกลพิการแต่ไม่สิ้นหวังอนาคตลูก

มูฮำหมัด ดือราแม

 

แม้ใครจะบอกว่า เวลาที่ผ่านไปยิ่งนานนับปี จะช่วยให้ภาพความเจ็บปวดนั้นบรรเทาเบาบางลงได้แล้ว แต่ ‘มะกะตา อิสัน’ หนุ่มใหญ่วัย 37 ปีขอส่ายหน้าปฏิเสธ เขาบอกชัดถ้อยชัดคำว่า “ผมก็อยากลืม แต่มันติดแน่นอยู่ในใจ สลัดทิ้งยากจริงๆ”

มะกะตา เป็นหนึ่งในผู้ที่กำลังประกอบพิธีละหมาดอยู่ในมัสยิดบ้านไอร์ปาแย อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อค่ำคืนวันที่ 8 มิถุนายน 2552 ก่อนที่มือสังหารผู้เป็นดั่งมฤตยูอันเหี้ยมเกรียมใช้อาวุธสงครามกราดยิงอย่างไม่ยั้งมือเข้าไปในมัสยิด จนเป็นเหตุให้ผู้ที่กำลังละหมาดเสียชีวิต 10 ราย และบาดเจ็บรวม 12 ราย ส่วนคนร้ายที่ก่อเหตุในวันนั้นยังลอยนวลอยู่จนถึงทุกวันนี้

มะกะตาถอดเสื้อผ้าให้ดูแผลเป็นขนาดยาวเหยียดที่พาดท่อนแขนด้านใน เป็นแผลผ่าตัดหัวกระสุนที่ฝากรอยแผลเป็นแหวะหวะเอาไว้

นายมะกะตา อิสัน 


เขาบอกว่ากระสุนปืนเจาะเข้าปีกทะลุที่แขนและที่ขา รวม 2 นัด ตัดเส้นเลือดที่แขนไปสองเส้นต้องผ่าตัดซ่อมอีกสองครั้ง

จากวันนั้นถึงวันนี้ปีกว่า เห็นได้ชัดคือมือข้างที่โดนกระสุนลีบเล็กลงกว่าเดิม และขยับไม่ได้ ส่วนเท้านั้นก็ต้องเดินกระโผลกกะเผลก เป็นผลมาจากแผลกระสุนที่ขา เขากลายเป็นผู้ทุพลภาพโดยสิ้นเชิง

“ยังทำใจไม่ได้ แต่พยายามแสดงให้เห็นว่าเราทำใจได้แล้ว เพราะกลัวแม่กับภรรยาไม่สบายใจ” เขากล่าวด้วยรอยยิ้มแห้งๆ

จากชายหนุ่มฉกรรจ์ที่เป็นผู้ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว หลังโดนกระสุนสังหารเขาต้องกลายเป็นช้างเท้าหลังของภรรยา และต้องปล่อยให้แม่ทำงานหนักอีกรอบ

แม้ว่าเงินก้อนใหญ่ที่ได้เป็นค่าเยียวยาจากหน่วยงานรัฐ บางคนจะคิดว่าคุ้มค่า แต่เมื่อเทียบกับอวัยวะที่สูญเสียความปกติไป มะกะตาบอกสั้นๆ ว่า “ลองมาเป็นผมดูแล้วกัน”
เขาแสดงความมั่นใจว่าเงินจำนวนนี้ ทั้งชีวิตของเขาหาได้มากกว่านี้อย่างแน่นอน

“ผมได้เงินเยียวยาก้อนแรกจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 200,000 บาท ซึ่งมอบให้ทุกคนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นั้น”

จากนั้นศาลจังหวัดนราธิวาสสั่งชดเชยเป็นรายวันให้ในการรักษาตัวอีก 80,000 บาท” เขาบอกจำนวนเงินก้อนที่ได้รับ

มะกะตายังแจกแจงอีกว่า สิ่งที่เขาได้รับหลังจากเหตุการณ์นั้น คือฐานะความเป็นผู้พิการ โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เงินรายเดือนสำหรับผู้พิการอีกเดือนละ 500 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงจากเดิมโดยไม่ทราบเหตุผล เพราะหลังออกจากโรงพยาบาลใหม่ๆ เขาเคยได้รับเดือนละ 1,000 บาทติดต่อกัน 4-5 เดือน

“ตอนผมอยู่โรงพยาบาลเคยได้ยินว่าเขาจะให้ 2,500 บาทต่อเดือน แต่พอมาได้จริงๆ แค่ 500 ก็สงสัยว่าตกลงมันเป็นเท่าไหร่กันแน่” เขาตั้งคำถามถึงจำนวนเงินที่ได้รับ

ชายหนุ่มมีลูกสองคน ลูกชายคนโตอายุ 8 ขวบ ได้เงินยังชีพจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดือนละ 1,500 บาท และทุนการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพื้นที่จังหวัดนราธิวาสอีกปีละ 10,000 บาท จนกว่าจะเรียนจบปริญญาตรี ซึ่งถ้าเรียนระดับปริญญาตรีจะได้รับทุนการศึกษาเพิ่มเป็นปีละ 25,000 บาท

ส่วนคนเล็กและที่ยังอยู่ในท้อง เขาบอกสั้นๆ ว่าอย่างน้อยก็ไม่ต้องกังวลกับอนาคตของลูกมากนัก

พูดถึงเงินจำนวนนี้ หลายคนคิดว่าอาจจะมาก รวมถึงเงินอนาคตการศึกษาของลูกอีก แต่มะกะตาก็ยังส่ายหน้า

“ผมไม่อยากพูดเรื่องเงินเลย เพราะพูดแล้วเหมือนพวกเราเป็นคนที่เห็นแก่ได้ เอาความเจ็บปวดของตัวเองร้องหาเงิน แต่ผมบอกเลยว่าผมไม่ได้อยากแลกความพิการของผมกับเงิน”

ทุกวันนี้ แม่ของเขาต้องออกแรงกรีดยางหาเลี้ยงครอบครัว เช่นเดียวกับภรรยาที่ยังตั้งท้องแก่อยู่ก็ยังต้องขายของชำเล็กๆ เพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว มะกะตาบอกว่ามันเป็นความเจ็บปวดลึกๆ ที่เขาไม่สามารถลุกขึ้นมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักให้กับครอบครัวของตนเองได้

ชะตากรรมของ มะกะตา อิสัน มีเพื่อนร่วมขบวนเดียวกันในเหตุการณ์คราวนั้นอีกตั้ง 11 ราย หนึ่งในนั้นคือ ‘อายุ เจะเงาะ’ วัย 47 ปี ชายหนุ่มวัยกลางคนสูญเสียความเคลื่อนไหวอย่างคนปกติขณะเดิน ด้วยพิษสงของกระสุนปืนอาก้าสองนัดเข้าที่ส้นเท้าและสะโพก

แม้จะถูกกระสุนเพียงเฉี่ยวๆ บริเวณกระดูกสะโพก แต่อานุภาพของมันทำให้กระดูกบริเวณนั้นแตกร้าว เขาต้องเดินกะโผลกกะเผลกในปัจจุบัน ไม่อาจทำงานหนักได้อย่างเดิม เคลื่อนไหวรวดเร็วไม่ได้

 

นายอายุ เจะเงาะ


แต่เขาไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ทุพลภาพ ซึ่งไม่ได้เงินเยียวยารายเดือนเหมือนเช่นมะกะตา ทั้งที่สมรรถภาพทางกายก็เป็นอุปสรรคในการหาเลี้ยงชีพไม่แตกต่างกัน

ชายหนุ่มมีลูกสองคน คนเล็กเรียนระดับมัธยมศึกษา ส่วนคนโตเรียนระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 สาขาสาธารณสุขที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ล่าสุดเขาเพิ่งได้รับการอนุมัติทุนการศึกษาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพื้นที่นราธิวาส เพื่อสมทบกับเงินยังชีพรายเดือนที่ได้รับจากกระทรวงพัฒนาสังคม
เขาบอกว่า อย่างน้อยก็รับประกันได้ว่า การที่พ่อพิการก็ไม่ทำให้ลูกขาดโอกาสทางการศึกษา และสามารถฝันถึงอนาคตที่ดีได้

แม้จะมีเงินก้อนจำนวนหนึ่งจากการเยียวยาจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แต่เขาทำใจแล้วว่า นั่นคือเงินก้อนใหญ่ก้อนสุดท้ายที่เขาจะมีโอกาสได้จับในชีวิตนี้

“มันเสียโอกาสไปแล้ว ทำงานหนักไม่ได้ เงินก้อนนั้นมันแลกกับชีวิตผมไม่ได้หรอก แต่ก็ขอบคุณที่เขามอบให้ แต่ถ้าแลกได้ผมคิดว่าถ้าไม่โดนในวันนั้น ผมยังทำงานสร้างอนาคตที่ดีให้กับครอบครัวได้อีกมาก อย่าว่าแต่ 200,000 บาทเลย...” หนุ่มใหญ่น้ำตาคลอเบ้า

เขาบอกว่า ต่อให้เป็นเงินก้อนใหญ่กว่านี้ก็ไม่เหมือนก่อนที่ตนเองได้รับบาดเจ็บ มันไม่คุ้มค่าหากเทียบกับการที่เขาได้ทำงานเอง เงินก้อนนี้จึงไม่ใช่ความภาคภูมิใจที่ได้จับ แต่เป็นความเจ็บปวด และเป็นเครื่องย้ำเตือนให้เขาระลึกถึงเหตุการณ์นั้นเสมอมา

“ถ้าจะให้ดีกว่านั้น ผมอยากให้รัฐพูดความจริง ให้ความจริงใจกับเราชาวไอร์ปาแย จับคนผิดมาลงโทษให้ได้ อย่าให้คนร้ายลอยนวลอยู่อย่างนี้ เพราะชาวบ้านผวา”

“ตอนนี้ทั้งผมและมะกะตาได้ยินเสียงดังๆ ไม่ได้ มันสะดุ้ง มันกลัว ช่วงวันฮารีรายอ เด็กๆ จุดประทัดผมยังตกใจสะดุ้งเลย”

“เราไม่รู้ว่าคนร้ายจะมองเราอย่างไร วันข้างหน้าเขาจะทำอีกไหม เพราะฉะนั้น ขออย่างเดียว ให้จับคนร้ายให้ได้ มันจะเป็นการเยียวยาพวกเราให้ได้ผลดีที่สุด แม้ว่ามันจะไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่สูญเสียก็ตาม” เหยื่อไอร์ปาแย กล่าวทิ้งท้าย

 

ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน


แน่นอนว่าการเยียวยาที่ดีที่สุดคือการจับคนก่อเหตุมาลงโทษให้ได้ แต่หากกล่าวเฉพาะการเยียวยาตามหลักเกณฑ์แล้ว ถือว่าได้รับการช่วยเหลือเยียวยาครบถ้วน อาจด้วยเพราะเป็นคดีที่มีผลสะเทือนไปถึงการเมืองระดับชาติ มีการพูดถึงในรัฐบาลไทย รวมทั้งมีการติดตามและเสียงเรียกร้องจากต่างประเทศ

ด้วยเหตุจึงทำให้กลไกรัฐในพื้นที่ต้องใส่ใจกับกรณีนี้เป็นพิเศษ ทั้งในทางคดีและในทางการเยียวยา โดยสิ่งที่ปรากฏว่า คือการได้รับการช่วยเหลือดูแลและการเยียวยาจากรัฐอย่างดี ซึ่งเชื่อว่าผู้ได้รับผลกระทบน่าจะพอใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ในทางคดี อาจได้รับความใส่ใจในอีกทางหนึ่ง ที่สวนทางกับความรู้สึกของชาวบ้านก็ไม่อาจทราบได้

กรณีไอร์ปาแย จึงเป็นเพียงไม่กี่กรณีที่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มที่จากรัฐ ในขณะที่ยังมีอีกหลายกรณีที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาหรือได้รับน้อยกว่า ทั้งที่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นและความเดือดร้อนที่ได้รับก็คงไม่ต่างกัน

จะทำอย่างไรที่จะให้ผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทุกคนทุกกรณี  ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเท่าเทียมกัน

********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 430872เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2011 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท