DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

แม่ค้าเร่สาวอีสาน อีกหนึ่งเหยื่อจากแดนไกลในชายแดนใต้


 

แม่ค้าเร่สาวอีสาน
อีกหนึ่งเหยื่อจากแดนไกลในชายแดนใต้


มูฮำหมัด ดือราแม

 

แม้ชายแดนใต้วันนี้มีแต่ความรุนแรง แต่พื้นที่แห่งนี้ก็ยังเป็นที่ขุดทองของใครหลายๆ คนด้วย ขณะเดียวกันนักขุดทองเหล่านี้ก็ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ไปด้วย หลายครั้งที่ปรากฏข่าวว่ามีพ่อค้าแม่ค้านอกพื้นที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตอย่างจงใจ เหมือนกับต้องการให้พื้นที่นี้เป็นที่ต้องห้ามสำหรับนักขุดทองต่างถิ่นเหล่านี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2553 เกิดเหตุคนร้ายกราดยิงพ่อค้าไก่ชาวสงขลาเสียชีวิต 3 ศพ ก่อนหน้านั้นไม่กี่วันก็มีเหตุกราดยิงพ่อค้าแม่ค้าผลไม้เสียชีวิต 5 ศพ เหตุเกิดในพื้นที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

แม่ค้าชาวอีสานก็เป็นเหยื่อของสถานการณ์กลุ่มหนึ่งด้วย อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนางสาวสุภาพ สวัสดิภาพ อายุ 19 ปี อยู่บ้านเลขที่ 33 หมู่ที่ 5 บ้านห้วยคล้อง ตำบลตากอ อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ

เหตุเกิดเมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 31 สิงหาคม 2553 บนถนนในหมู่บ้านลูโบ๊ะกาเยาะ หมู่ที่ 5 ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยถูกคนร้าย 2 คน ขับรถจักรยานยนต์มายิงบริเวณท้องน้อยและสะโพกอาการสาหัส และเสียชีวิตลงในตอนเย็นวันเดียวกัน

เหตุเกิดขณะที่นางสาวสุภาพ กำลังหิ้วตะกร้าขายสินค้าจำพวกน้ำมันสมุนไพร ยาดม ยาลม ยาหม่องและของใช้เบ็ดเตล็ด จนข้าวของกระจายบนพื้นถนน ส่วนนางกาวิน ชรินทร์ อายุ 49 ปี ผู้เป็นแม่ซึ่งเดินขายของด้วยกัน ปลอดภัย

นางสาวสุภาพเพิ่งเดินทางมาตระเวนขายของในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรก ส่วนแม่มาแล้วหลายครั้ง

นางกาวิน เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุตนเองกับเพื่อนๆ อีก 11 คน ออกเดินทางด้วยรถกระบะจากจังหวัดอำนาจเจริญมาตระเวนขายของในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยแวะรับรับลูกสาวที่กรุงเทพมหานครก่อน จากนั้นเดินทางมาพักในตัวเมืองสุไหงโก – ลก จังหวัดนราธิวาส ก่อนกระจายกันเร่ขายของในพื้นที่ได้ 4 วันแล้ว

นางกาวิน เล่าด้วยว่า หลังเกิดเหตุ ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา 100,000 บาท และเป็นเงินก้อนหนึ่งก้อนเดียวที่ได้รับ จากนั้นก็ไม่มีความช่วยเหลือใดๆ ตามมา

“แม่เดินทางไปขายของที่ชายแดนภาคใต้เป็นประจำ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่เดินทางไปขายของที่จังหวัดนราธิวาส มีรายได้วันละประมาณ 200 – 300 บาท ซึ่งดีกว่าอาชีพปลูกมันสำปะหลังที่บ้าน เพราะมีรายได้เข้ามาทุกวัน”

นางกาวิน บอกว่า ทุกครั้งที่เดินทางมาขายของในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เคยเจอปัญหาอะไร แต่ก็ต้องระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา

ส่วนลูกสาวปกติทำงานโรงงานที่กรุงเทพมหานคร แต่ตรงกับช่วงว่างเว้นจากงาน จึงขอติดรถมาช่วยแม่ขายของด้วย เพราะต้องการช่วยแม่หารายได้ เพื่อหาเงินไปซ่อมบ้าน เพราะบ้านเก่าและทรุดโทรมมาก

ลูกสาวคนนี้มีครอบครัวแล้ว โดยมีลูกชาย 1 คน อายุ 2 ขวบ 8 เดือน ซึ่งสามีเป็นคนเลี้ยงดูอยู่ที่บ้านที่จังหวัดอำนาจเจริญ สามีมีอาชีพรับจ้างทั่วไป แล้วแต่ใครจะจ้าง เพราะมีฐานะยากจนเหมือนครอบครัวของตน

การเดินทางไปตระเวนขายของเร่จะทำเป็นอาชีพเสริม ในช่วงว่างจากฤดูทำนาและปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งอาชีพหลักของครอบครัวนางกาวิแม่ปลูกมันสำปะหลัง โดยจะเริ่มปลูกในเดือนตุลาคม หลังจากนั้นก็จะรอเก็บขายได้ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ปกติในกลุ่มที่เดินทางไปด้วยกันมี 15 – 16 คน บางครั้งก็ 12 – 13 คน

“ช่วงว่างจากปลูกมันสำปะหลัง คนในหมู่บ้านจึงจะออกไปตระเวนขายของตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศเวียนกันไป ส่วนใหญ่จะเดินทางไปขายในภาคใต้ เพราะในพื้นที่ภาคอีสานมีคนขายเยอะอยู่แล้ว”

นางกาวิน เล่าว่า หลังเกิดเหตุคนร้ายยิงลูกสาวเสียชีวิต ทั้งคณะที่เดินทางมาขายของก็รีบเดินทางกลับบ้านทันที โดยนำศพลูกสาวกลับไปทำพิธีทางศาสนาที่บ้านเกิด ด้วยความรู้สึกที่หวาดหวั่นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นานกว่าจะหายจากอาการนี้ไปได้

“แม่ไม่อยากไปขายของที่นั่นอีกแล้ว ตอนนี้ยังเสียใจอยู่ ยังทำใจไม่ได้เลย ส่วนคนอื่นที่กลับไปขายของที่นั่นอีกก็มี แต่แม่ไม่ไปแล้ว ถ้าจะขายของต่อก็ไปขายของที่อื่น แต่จะไปขายที่ไหนก็แล้วแต่เถ้าแก่”

เถ้าแก่ ก็คือคนในหมู่บ้านเดียวกัน ที่รับซื้อของแล้วมาให้คนในหมู่บ้านเร่ขาย นางกาวิน เล่าต่อว่า นางสาวสุภาพเป็นลูกคนโต จากทั้งหมด 3 คน คนที่ 2 เป็นผู้หญิง เพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และไม่ได้เรียนต่อเพราะฐานะทางบ้านยากจน

“เมื่อพี่สาวตาย ลูกสาวคนที่สองก็ตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพหางานทำทันที เพราะต้องการช่วยแม่ ตอนนี้เป็นลูกจ้างร้านขายเสื้อผ้า ได้ประมาณ 2 เดือนแล้ว ได้เงินเดือนก็ส่งกลับมาให้แม่”

แม่เคยชวนมาขายยาสมุนไพรด้วย แต่เขาบอกว่า ไม่ถนัด ส่วนลูกคนเล็กอายุ 4 ขวบ กำลังเรียนอยู่ที่ศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียนในหมู่บ้าน ขณะที่สามีเป็นโรคปวดข้อ ไม่สามารถทำงานได้ ตอนนี้ไปอาศัยอยู่ที่วัดในหมู่บ้าน

ตอนนี้คนที่หารายได้ให้กับครอบครัวก็มีแม่คนเดียว ส่วนเงินที่ลูกสาวคนรองส่งมาให้ก็พอจุนเจือได้บ้างเล็กน้อย ส่วนเงินช่วยเหลือเยียวยาที่ได้มา 100,000 บาท ก็เกือบหมดไปกับงานศพของลูกสาวกับซ่อมบ้านไปแล้ว ชีวิตคนจน(จากแดนไกล) ก็เป็นอย่างนี้

 

ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน

ทุกชีวิตย่อมมีค่า แต่มีโอกาสไม่เหมือนกัน ความยากจนทำให้คนอีสานต้องออกจากหมู่บ้านมาหางานทำ แม้มีความเสี่ยงสูง แต่การเร่ขายของในชายแดนภาคใต้ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้มีรายได้เข้ามา ต้นทุนของความเสี่ยงครั้งนี้จึงสูงตามไปด้วย

เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงน่าจะทำให้การช่วยเหลือเยียวยาขาดความต่อเนื่อง ไม่มีการรับช่วงต่อมาจากศูนย์เยียวยาของอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากการประสานที่มียังอยู่ที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์เยียวยาอำเภอระแงะ ผู้เสียชีวิตได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาก้อนหลักจำนวน 1 แสนบาทเพียงก้อนเดียว  ทั้งที่ผู้เสียชีวิตยังมีทายาทด้วย ซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือในส่วนของเงินครอบครัวอุปถัมภ์และทุนการศึกษา  แต่ก็ไม่มีการดำเนินการและการติดตามเพราะผู้ประสบเหตุอยู่ไกล

เชื่อว่ามีผู้ได้รับผลกระทบที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังขาดตกในเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาอยู่ เพราะขาดการรับช่วงต่อที่ดีของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่นั้นๆ ดังนั้น ระบบในการรับช่วงต่อนี้ต้องได้รับการจัดตั้งหรือพัฒนาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ไดทำให้มีคนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่เท่านั้น จนนอกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก็มีจำนวนมากเช่นกัน

 

********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 430869เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2011 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท