DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

ลบข้อครหาหมู่บ้านก่อการร้าย ยกฟ้อง 32 จำเลยและการเยียวยากันเอง



ลบข้อครหาหมู่บ้านก่อการร้าย
ยกฟ้อง 32 จำเลยและการเยียวยากันเอง


มูฮำหมัด ดือราแม

 

การถูกควบคุมตัวจากเจ้าหน้าที่ของรัฐจนกระทั่งการถูกดำเนินคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นผลกระทบอย่างหนึ่งจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหลายครั้งที่ประชาชนจำนวนมากถูกควบคุมตัวคราวละมากๆ ทั้งจากการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รวมทั้งการออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

เช่นเดียวกับที่หมู่บ้านปาทุ่ง หรือบ้านนะปาแด หมู่ที่ 4 ตำบลบางเก่า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชาวบ้านหลายคนกำลังกุลีกุจออยู่กับการเชือดแพะทำอาหารเลี้ยงคนในหมู่บ้าน วันนี้บ้านนี้ พรุ่งนี้บ้านโน้น เพราะก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน พวกเขาต่างก็บนบานไว้ว่า ถ้าถูกยกฟ้องจะเชือดแพะ

เมื่อมีคำพิพากษายกฟ้องสมใจ พวกเขาก็ไม่รอช้า รีบจัดการเรื่องนี้ทันที แม้คดียังอยู่ระหว่างรออุทธรณ์ภายใน 30 วันหลังจากศาลจังหวัดปัตตานีอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553

หากอัยการจังหวัดปัตตานี ไม่อุทธรณ์คดีนี้ก็จะสิ้นสุดลง จำเลยทั้ง 34 คน ในหมู่บ้านเดียวกันนี้ ก็จะพ้นผิดได้กลับไปประกอบสัมมาชีพอย่างปกติต่อไป ยกเว้น 2 คน ที่ศาลพิพากษาไม่ยกฟ้อง ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นจำเลยที่ 1 และ 2ตามลำดับ

สำหรับเหตุที่ทำให้ชาวบ้านถึง 34 คนในหมู่บ้านเดียวกันกลายเป็นจำเลยในคดีความมั่นคงนี้ มาจากเหตุการณ์คนร้ายกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปฆ่าครูโรงเรียนบ้านป่าทุ่ง ชื่อ นาวสาวกามารียา มะลี ถึงในบ้านเลขที่ 208/2 หมู่ที่ 4 บ้านป่าทุ่ง ในช่วงคำวันที่ 23 กันยายน 2550 ในขณะที่ครูกามารียา กำลังรับประทานอาหารละศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม พร้อมกับคนในครอบครัวที่มีทั้งแม่ น้องสาว น้องชาย ทำให้ครูการมารียาเสียชีวิต ส่วนคนอื่นปลอดภัย

โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่พ่อของครูกามารียา กำลังปีนต้นมะพร้าวสูงพ้นหลังคาบ้าน เพื่อจะเก็บน้ำตาลมะพร้าวด้วยความอยากกิน จึงทำให้เห็นคนร้าย 7 คน แบ่งกำลังประจำตามจุดต่างๆ ส่วนหนึ่งบุกเข้าไปในบ้าน ก่อนจะได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด แล้วล่าถอยออกไป

หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังเข้าปิดล้อมและตรวจค้นในหมู่บ้าน ควบคุมตัวชาวบ้านไป 21 คน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย นำไปควบคุมตัวที่หน่วยเฉพาะกิจสายบุรี ก่อนจะคัดเหลือ 14 คน แล้วส่งต่อไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยทั้งหมดถูกควบคุมตัวประมาณ 7 วัน ยกเว้น 3 คน ที่ถูกควบคุมตัวนานถึง 30 วัน

ต่อมา ทั้ง 3 คนถูกดำเนินคดีในข้อหา เผาท่อส่งน้ำในโครงการอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน แต่ได้รับการประกันตัวออกมา

จนกระทั่งผ่านไป 4 เดือน วันที่ 17 มกราคม 2551 ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรสายบุรี ได้เข้าจับกุมนายเจะวานิ เจะแม็ง อายุ 57 ปี ชาวบ้านป่าทุ่ง และจับกุมนายยูรี เจ๊ะแว อายุ 19 ปี อีกคน ในวันที่ 25 มกราคม 2551 ทำให้ชาวบ้านเริ่มเอะใจ จึงมีการตรวจสอบกัน จนกระทั่งทราบว่ามีการออกหมายจับชาวบ้านประมาณ 40 คน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย วัยรุ่น ผู้สูงอายุ โต๊ะอิหม่าม สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล(ส.อบต.) ภารโรง โดยหลายคนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน

โดยเป็นคดีที่มีฐานความผิดหนักหนาสาหัสมาก คือ ร่วมกันสะสมกำลังพลและอาวุธเพื่อก่อการร้าย เป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย หน่วงเหนี่ยว กักขังหรือกระทำการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

เมื่อทราบดังนั้น ทำให้ชาวบ้านที่ถูกออกหมายจับต่างก็รู้สึกหวาดกลัว จึงพากันหลบหนีไปอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น นางสาอูดะ สาและ อายุ 50 ปี หนึ่งในจำเลย ที่หนีขึ้นไปอยู่กรุงเทพประมาณ 7 วัน จนกระทั่งกำนันตำบลบางเก่าได้ประสานให้มีการมอบตัว พร้อมลูกชายอีก 2 คน

บางคนก็หลบไปอยู่ตามป่าท้ายหมู่บ้าน หรือเมื่อมีรถยนต์แปลกหน้าผ่านเข้ามาในหมู่บ้าน ก็จะพากันหลบ เพราะเกรงว่าอาจเป็นรถยนต์ของเข้าหน้าที่ที่จะมาจับกุมชาวบ้าน

หลังจากมีการประสานงานกันแล้ว ชาวบ้านจึงทยอยกันออกไปมอบตัวที่สถานีตำรวจภูธรสายบุรี เช่นเดียวกับลูกชาย 2 คน และลูกเขย 1 คน ของนายเจะวานิที่ถูกจับกุมคนแรก
นายเจะวานิ ซึ่งมีอาชีพปลูกผัก เลี้ยงวัวและเลื้อยไม้ กล่าวว่า ผมอยู่ในคุก 80 วัน จากนั้นได้ยื่นหลักทรัพย์มูลค่าสูงถึง 7 แสนบาทขอประกันตัวออกมา ซึ่งเป็นโฉนดที่ดินทั้งของตนเองและขอเช่าโฉนดที่ดินของคนอื่นมาด้วย แต่เมื่อคดีนี้ขึ้นสู่ศาล ทุกคนก็ได้ลดค่าประกันตัวเหลือคนละ 2 แสนบาท

เช่นเดียวกับนายอาลี หะแวกาจิ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล(ส.อบต.) ตำบลบางเก่า ตัวแทนบ้านป่าทุ่ง ปัจจุบันเปิดร้านขายอุปกรณ์เครื่องเขียนในตลาดอำเภอสายบุรี ที่มีญาติพี่น้องหลายคนถูกออกหมายจับในคดีนี้เช่นกัน ที่สำคัญนายอาลี เป็นอาของครูกามารียา นายอาลีตกเป็นจำเลยพร้อมกับพี่ชายอีก 2 คน พี่สะใภ้ 1 คน และลูกพี่ชาย 1 คน

นายอาลี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ต้องขึ้นลงศาล ทำให้มีค่าใช้จ่ายคาดว่าคนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2553 ซึ่งต้องขึ้นศาลกันเกือบทุกวันตลอดสัปดาห์ ทำให้ไม่มีเวลาทำมาหากินหารายได้เลย ทุกครั้งที่เดินทางไปศาลจะเช่าเหมารถกระบะถึง 4 คัน ทั้ง 4 คันรถเป็นจำเลยตัวจริง ไม่ใช่ชาวบ้านที่ไปให้กำลังใจอย่างคดีอื่นๆ

“ส่วนจะฟ้องกลับหรือไม่นั้น คงไม่ฟ้องกลับแล้ว ชาวบ้านคงไม่เอาแล้ว หากต้องสู้กันอีกหลายปี หรือต้องสู้กันอีกเพื่อให้ได้ค่าชดเชยก็ไม่เอา เพราะแค่ 3 ปีที่ผ่านมานี้ชาวบ้านก็รู้สึกลำบากมาพอแล้ว อยากทำงานปกติอย่างคนทั่วไปมากกว่า ไม่อยากยุ่งกับเรื่องนี้อีกแล้ว” นายอาลี กล่าว

แม้ศาลจังหวัดปัตตานีจะพิพากษายกฟ้องชาวบ้านเกือบทั้งหมดแล้ว แต่ในช่วงที่ผ่านผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นกับคนที่ตกเป็นจำเลยเท่านั้น คนทั้งหมู่บ้านก็พลอยได้รับความเดือดร้อนไปด้วย

นายอับดุลตอเละ สาแม ผู้ใหญ่บ้านป่าทุ่ง กล่าวว่า เมื่อชาวบ้านตกเป็นจำเลยจำนวนมากอย่างนี้ แน่นอนคนทั่วไปก็ย่อมต้องมองหมู่บ้านนี้ในทางที่ไม่ดี คิดว่าเป็นหมู่บ้านโจร การช่วยเหลือของทางราชการก็หลีกไปที่อื่นหมด แต่ตอนนี้ทุกอย่างเริ่มปกติ

ส่วนนายเจะวานิ กล่าวว่า “เวลาไปไหนมาไหนก็อายคน เพราะคนอื่นจะมองว่า เราเป็นหมู่บ้านโจร แต่ก็งงมากกว่า เพราะมันเป็นไปได้อย่างไรที่มีคนเป็นจำเลยถึง 34 คน ในคดีเดียวกัน”

พ.ต.ท.พิสิฐพงศ์ มังกรวงศ์ พนักงานสอบสวนในคดีนี้จากสถานีตำรวจภูธรสายบุรีในขณะนั้น กล่าวว่า เหตุที่ชาวบ้านตกเป็นจำเลยคดีนี้จำนวนมาก เพราะว่ามีข้อมูลทั้งจากชาวบ้านที่เป็นพยาน จากสายข่าวตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองชี้ว่า ใครมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง

พ.ต.ท.พิสิฐพงศ์ อ้างว่า หลังการมอบตัวของชาวบ้าน ปรากฏว่าสถานการณ์ในหมู่บ้านและใกล้เคียงสงบลงอย่างมาก ทั้งที่ก่อนหน้านั้น มีหลายเหตุการณ์ ทั้งฆ่าเผาครู เผาท่อส่งน้ำโครงการอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ฆ่าตำรวจ และฆ่าผู้ใหญ่บ้านคนก่อน

สอดคล้องกับนายอับดุลตอเละ ที่บอกว่า หลังเหตุยิงครูการมารียา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า ในหมู่บ้านมีกลุ่มก่อความไม่สงบจริง แต่ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้น

“ฝ่ายผู้สูญเสีย คือครอบครัวครูกามารียาก็ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐแล้ว โดยน้องๆ ของครูกามารียา ต่างก็ได้เข้ารับราชการและได้รับเงินเดือนจากรัฐทั้งหมดแล้ว เช่น ได้รับการบรรจุเป็นครูและ อส.(อาสาสมัครรักษาดินแดน)” นายอับดุลตอเละ กล่าว

แม้เหตุการณ์ฆ่าครูกามารียาผ่านไปนานแล้ว แต่ที่บ้านเลขที่  208 /2 ของครูกามารียา ก็มีเพียงน้องสาวกับน้องชายและหลานเท่านั้น ส่วนพ่อแม่ของครูกามารียาได้ย้ายออกอยู่ที่อื่นแล้ว โดยที่ผู้ใหญ่บ้านกำลังประสานเพื่อให้กลับมาอยู่บ้านตามเดิม

ร.ท.สุรชาติ รอดผล รองผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ 26 สายบุรี อดีตหัวหน้าฐานปฏิบัติการ นย. (นาวิกโยธิน) บ้านป่าทุ่ง กล่าวว่า แม้ชาวบ้านป่าทุ่งจำนวนมากถูกดำเนินคดี แต่ไม่มีผลกระทบต่องานด้านมวลชนสัมพันธ์ ชาวบ้านยังยิ้มแย้มให้ทหาร แสดงว่าชาวบ้านมีความเข้าใจและไม่กลัวทหารเหมือนในอดีต ขณะเดียวกันตอนนี้ไม่พบความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามในหมู่บ้านด้วย

ร.ท.อภิเชษฐ นุ่นสวัสดิ์ หัวหน้าฐานปฏิบัติการ นย.บ้านป่าทุ่งคนปัจจุบันที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง กล่าวว่า กำลังประสานกับชาวบ้านในกลุ่มนี้อยู่ว่าจะพบปะกัน เพื่อพูดคุยหารือและให้กำลังใจกัน หลังจากที่ศาลได้ยกฟ้องแล้ว ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเยียวในทางหนึ่งด้วย โดยจะให้ทางผู้บังคับบัญชาระดับสูงได้เดินทางมาพบปะกับชาวบ้านด้วย
ถึงวันนี้ ชาวบ้านกลุ่มนี้ก็คงได้แต่หวังว่า พวกเขาไม่ต้องบนเชือดแพะอีกครั้ง หากต้องลุ้นกับคำพิพากษาอุทธรณ์ที่อาจจะมีขึ้นได้อีกในอนาคต แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ขอเยียวยากันเองก่อนเพื่อความสุขใจ ด้วยการเชือดแพะขอบคุณอัลเลาะห์ (พระเจ้าของชาวมุสลิม) ที่ดลบันดาลให้พวกเขาได้รับการยกฟ้องในครั้งนี้
 


ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน


การยกกรณีนี้ขึ้นมา อาจไม่เกี่ยวกับงานเยียวยาโดยตรง แต่เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็เป็นผลกระทบอย่างหนึ่งจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเช่นกัน เพราะแม้ไม่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ทำให้เกิดการสูญเสียอิสรภาพ รวมทั้งสร้างความกังวลใจ เครียด สับสน ส่งผลไปถึงสุขภาพจิตของผู้ได้รับผลกระทบด้วย

อีกทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสู้คดี กลายเป็นภาระของครอบครัว ในขณะเดียวกันเมื่อต้องเดินทางไปศาลก็ไม่สามารถที่จะทำงานหารายได้ให้กับครอบครัวได้ เมื่อศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ก็หมายถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา

ดังนั้นในช่วงเวลาของการต่อสู้คดีที่ทำให้ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก และการสูญเสียอิสรภาพในระดับหนึ่ง ก็ควรที่ทางราชการจะให้การเยียวยาด้วย ซึ่งการได้รับการช่วยเยียวยาตามสิทธิทางกฎหมายในกรณีนี้มีอยู่ 2 ทาง คือการขอรับเงินค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544

อันเป็นไปตามเงื่อนไข คือ 1.ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ หรือ 2.ถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดี และ 3.ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยมิได้กระทำผิดและมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี หรือ ปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำผิด หรือ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

สำหรับลักษณะเงินชดเชยที่รัฐจ่ายให้ กรณีเป็นจำเลยในคดีอาญา คือ 1.ค่าทดแทนการถูกคุมขัง 2.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล 3.ค่าทดแทนกรณีจำเลยถึงแก่ความตาย และ ความตายเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี 4.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดี และ 5.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี

ทั้งนี้ ต้องยื่นคำขอ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องเพราะปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำผิด หรือ วันที่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำผิด หรือ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด โดยต้องยื่นคำขอต่อคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ของสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม

ส่วนอีกทางหนึ่ง คือ การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐโดยตรง ซึ่งสำหรับชาวบ้านแล้ว ในกรณีหลังดูเป็นเรื่องยากลำบากหากต้องต่อสู้คดีกันอีกรอบ หลายคนจึงไม่อยากยุ่งกับเรื่องนี้อีกแล้ว

ส่วนความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านนั้น เชื่อว่าหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ซึ่งมีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงได้ให้การช่วยเหลือได้ตามปกติตามนโยบายของรัฐบาลเช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่นๆ แต่อาจต้องมีกิจกรรมพิเศษที่เพิ่มขึ้นเพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ของหมู่บ้านและจิตใจของคนในหมู่บ้านต่อไป

********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 430866เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2011 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท