DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

ร.ต.ต.(หญิง)มนัสนันท์ จอมวิเชียร 6 ปีกว่าจะได้เป็นตำรวจแทนสามี



ร.ต.ต.(หญิง)มนัสนันท์ จอมวิเชียร
6 ปีกว่าจะได้เป็นตำรวจแทนสามี


มูฮำหมัด ดือราแม


วันที่ 1 ตุลาคม 2553 คือวันเริ่มทำงานจริงเป็นวันแรกของ ร.ต.ต.(หญิง)มนัสนันท์ จอมวิเชียร ในตำแหน่งรองสารวัตรอำนวยการ สถานีตำรวจภูธร (รอง สว.อก.สภ.)เมืองสงขลา หลังจากผ่านช่วงทดลองงานมาครบ 6 เดือน โดยเธอได้ยื่นขอบรรจุเข้ารับราชการโดยใช้สิทธิแทนสามีที่เสียชีวิตเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทั้งๆที่สามีเสียชีวิตไปแล้วเกือบ 6 ปี

ร.ต.ต.(หญิง)มนัสนันท์ คือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยุคแรกๆ เมื่อปี 2547 โดย จ.ส.ต.ทวีชัย จ.ส.ต.ทวีชัย ขุนกลับ ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธร (ผบ.หมู่.ป.สภ.)ห้วยปลิง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ผู้เป็นสามี ถูกคนร้ายประกบยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 หน้าบ้านพักเลขที่ 111/1 หมู่ที่ 1 ตำบลลำไพล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

ร.ต.ต.(หญิง)มนัสนันท์ เล่าว่า หลังเกิดเหตุรู้สึกว่าทุกอย่างมันกลับตาลปัตรไปหมด รู้สึกหมดหวัง ท้อแท้ รู้สึกว่าไม่มีพรุ่งนี้สำหรับเราอีกแล้ว อยากจะไปกับสามีด้วย

จากนั้น ด้วยความหวาดกลัว เธอจึงย้ายมาอาศัยอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยเช่าอพาร์ตเมนท์แห่งหนึ่ง จนกระทั่งปัจจุบัน พร้อมลูก 4 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 2 คน แต่ต่อมาลูกคนเล็กได้ส่งไปให้ตากับยายเลี้ยงที่บ้านเดิมที่ตำบลลำไพล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นร้านขายของชำ

ร.ต.ต.(หญิง)มนัสนันท์ เล่าต่อว่า หลังจากสามีเสียชีวิตได้รับเงินช่วยเหลือช่วยรายเดือนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเดือนละ 5,600 บาท ปัจจุบันปรับขึ้นเป็น 6,000 บาท และเงินช่วยเหลือรายเดือนจากองค์การทหารผ่านศึก ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติในงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา อีก เดือนละ 1,800 บาท นอกจากนั้นพ่อกับแม่ ซึ่งก็คือตากับยายของลูกๆ เธอ ให้เงินช่วยเหลือมาด้วย

ส่วนลูกทั้ง 4 คน ได้รับเงินช่วยเหลือจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรายเดือนคนละ 6,000 บาทต่อเดือน จนกว่าจะมีอายุครบ 20 ปี ซึ่งปัจจุบันคนโดยอายุ 22 ปีแล้ว ทำให้ไม่หมดสิทธิได้รับเงินส่วนนี้อีก

นอกจากนี้แต่ละคนยังได้รับเงินอีกจำนวนหนึ่งจากกระทรวงศึกษาธิการ และค่ารักษาพยาบาลเดือนปีละ 2,000 บาท จากกระทรวงสาธารณสุขด้วย

แต่เงินที่ได้ทั้งหมดเอามารวมกันแล้วจัดสรรให้ใหม่ เพื่อการประหยัดและไว้ใช้ยามจำเป็น โดย ร.ต.ต.(หญิง)มนัสนันท์ ให้แต่ละคนเป็นเงินเดือน คนโตและคนที่ 2 เดือนละ 3,000 บาท คนที่ 3 ได้เดือนละ 1,500 บาท ส่วนคนเล็กนั้นตายายดูแลอยู่แล้ว ส่วนที่เหลือเอามาเป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้าน และเก็บเอาไว้เป็นค่าเทอมให้ลูก

ร.ต.ต.หญิง มนัสนันท์ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ย้ายมาอยู่หาดใหญ่ใหม่ๆ ไม่ได้ทำงานอะไร ทำให้มีเวลาว่าง ทำให้คิดว่าตัวเองเป็นภาระให้กับสังคมหรือไม่ เพราะเป็นแม่บ้านมาก่อน ไม่ได้ทำงานอะไร นอกจากช่วยงานที่ร้านขายของชำที่บ้าน ตัวเองไม่มีความรู้จึงคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่มีคุณภาพในสังคม ต่างกับภรรยาตำรวจคนอื่นๆ ที่มีหน้ามีตาในสังคม มีความรู้ความสามารถ ทำงานได้ จึงทำให้ตัวเองอยากเรียนต่อ จึงสมัครเข้าเรียนต่อปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

เริ่มเรียนตั้งแต่ปี 2548 จนปี 2551 เมื่อเรียนจบจึงยื่นเรื่องของเข้ารับราชการแทนสามีที่เสียชีวิตตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2551 แต่เพิ่งได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553 ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้เวลานานมากในการพิจารณา โดยระหว่างนั้นได้มีการสอบหลายครั้ง มีการตรวจร่างกาย เหมือนกับการสอบเข้าเป็นตำรวจปกติ จนกระทั่งถูกเรียกตัว ปัจจุบันกำลังเรียนปริญญาโท วันเสาร์ – อาทิตย์ ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาด้วย

ร.ต.ต.(หญิง)มนัสนันท์ ยังเล่าถึงสภาพจิตใจของลูกแต่ละคนว่า ลูกคนโตเป็นผู้ชาย ไม่ค่อยน่าห่วงมาก โดยขณะพ่อเสียชีวิต กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) ปัจจุบันกำลังเรียนอยู่ชั้นปี 3 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

“คนชายที่ 2 น่าห่วงมากที่สุด เพราะหลังจากพ่อตาย ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป โดยขณะพ่อตายเขากำลังเรียนอยู่ชั้น ป.6 (ประถมศึกษาปีที่ 6) จากนั้นเขาก็ไม่อยากเรียนหนังสืออีกต่อไป เขาบอกว่า คนเราก็แค่ตายไม่รู้จะเรียนไปทำไม ทำให้แม่ต้องดูแลลูกคนนี้เป็นพิเศษ”

หลังจากนั้นเขาเป็นคนซึมเศร้า ชอบอยู่คนเดียว ต่างจากเมื่อก่อนที่เป็นคนร่าเริง เรียนหนังสือเก่ง แต่หลังจากพ่อเสียชีวิต ก็ไม่ยอมเรียน แม้ไปโรงเรียน ก็ไม่ยอมเรียน ถึงขนาดครูต้องมาถามว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะครูเห็นว่า ตอนอยู่ในโรงเรียนเป็นคนเก็บกด ชอบอยู่คนเดียว

ปัจจุบันลูกคนนี้กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.6 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

“ตอนที่พ่อเขายังอยู่ เขาเคยพูดกับพ่อว่า อยากเรียนนายร้อย แต่พอพ่อเสีย ก็เลยไม่อยากเรียนแล้ว กลายเป็นคนที่มีอคติต่อเครื่องแบบไปเลย กลายเป็นคนที่ไม่มีเป้าหมาย เพราะเป้าหมายของเขาถูกทำลายลงแล้วตั้งแต่พ่อเขาตาย”

เมื่อเป็นเช่นนั้น “แม่จึงต้องคุยกับเขา บอกเขาว่า ขอให้เรียน อย่างน้อยก็เรียนเพื่อแม่ แต่ผลการเรียนก็ไม่ดี บางปีได้เกรด 1 กว่าๆ มาปีนี้ดีหน่อยได้ถึงเกรด 2 เมื่อเรียนจบจากที่นี่แล้ว ตั้งใจว่าคงต้องส่งเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของเอกชน”

ส่วนลูกคนที่ 3 เป็นผู้หญิง ขณะสามีเสียชีวิตกำลังเรียนชั้น ป.5 ปัจจุบันกำลังเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

“คนนี้มีทัศนคติที่ดีมาก แม้ตอนพ่อเสียทำให้ชะงักไปบ้าง แต่หลังจากนั้นก็ดีขึ้น ให้กำลังใจแม่ตลอดตั้งแต่พ่อเสีย บอกว่า เราต้องอยู่เพื่อพรุ่งนี้ เราต้องสู้ ซึ่งกับลูกคนนี้จะพูดคุยปรับทุกข์กันอยู่ตลอด”

ส่วนคนสุดท้องขณะพ่อเสียชีวิตกำลังเรียนชั้นอนุบาล ปัจจุบันกำลังเรียนชั้น ป.4 ไม่ได้อยู่อาศัยด้วยกัน เนื่องจากตายายรับไปเลี้ยง กะว่าปีหน้าเมื่อเรียนจบ ป.6 แล้วจะเอามาเรียนที่โรงเรียนพลวิทยา อำเภอหาดใหญ่

“ส่วนคนสุดท้อง เขาเห็นว่าพ่อตาย เลยถามว่าทำไมพ่อนอนนาน แม่ก็บอกเขาว่า พ่อไปสวรรค์แล้ว พ่อคุยกับเราไม่ได้อีกแล้ว ถ้ารักพ่อก็ต้องทำความดี ซึ่งทุกวันนี้ เมื่อถึงวันพ่อแห่งชาติ เขาก็จะทำการ์ดอวยพรถึงพ่อเขาด้วย”

ร.ต.ต.(หญิง)มนัสนันท์ เล่าต่อว่า ลูกทุกคนติดพ่อมากกว่า เพราะแม่ต้องช่วยงานที่ร้านชำของตายาย ทำให้ไม่มีเวลาดูแลลูก แต่ตอนนี้ต้องทำหน้าที่เป็นทั้งแม่และพ่อในเวลาเดียวกัน

สิ่งที่เธอเป็นห่วงมากที่สุดตอนนี้คือ ความรู้สึกของลูกๆ กลัวว่าจะมีปมด้อยในสังคม บวกกับเมื่อต้องมาทำงานแล้ว ทำให้มีเวลาให้กับลูกน้อยลง

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ แม้เธอต้องทำงานประจำบนโรงพักเมืองสงขลา แต่ก็มักเจียดเวลาส่วนหนึ่งไปวัดทุกวันพระเสมอ ส่วนเวลาว่างก็จะใช้เวลาอยู่กับลูกๆให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แม้ไม่เท่ากับความเป็นพ่อตัวจริงที่ขาดหายไปแล้ว


ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน

สิ่งที่ ร.ต.ต.(หญิง)มนัสนันท์ ได้รับการช่วยเหลือเยียวยานั้น ถือว่าเป็นความช่วยเหลือที่มีความมั่นคงพอสมควร คือการได้เข้ารับราชการโดยใช้สิทธิแทนสามี แต่บทเรียนที่ประสบก็พอจะเห็นถึงความยุ่งยากของขั้นตอนการช่วยเหลือเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ  สะท้อนประสิทธิภาพที่ยังควรปรับปรุงของระบบการดูแลครอบครัวข้าราชการผู้สูญเสีย

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สภาพจิตใจของลูกชายคนที่ 2 ซึ่งเธอต้องใช้ความพยายามและความละเอียดอ่อนสูง เพื่อประคับประคองจิตใจ มิฉะนั้นอาจส่งผลในทางที่ไม่ดีได้

แต่ก็เชื่อว่าจะผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้ หากสามารถสร้างฮีโร่คนใหม่ในดวงใจของลูกคนนี้ได้ เพราะสิ่งที่ส่งผลต่อจิตใจของลูกคนนี้อย่างรุนแรงก็คือการขาดฮีโร่ในดวงใจ คือพ่อนั่นเอง

ส่วนตัวของร.ต.ต.(หญิง)มนัสนันท์เองนั้น ก็ค่อยๆ สะสมความเข้มแข็งและความมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องกังวลทั้งในเรื่องการหารายได้เลี้ยงครอบครัว ความปลอดภัย เพราะไม่ได้อยู่อาศัยในพื้นที่เกิดเหตุไม่สงบแล้ว

 

********************

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 430864เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2011 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

ขอเป็นกำลังใจ  ร.ต.ต.(หญิง)มนัสนันท์  ยังมีครอบครัวตำรวจที่ประสบความเดือดร้อนเช่นเดียวกันอีกเยอะเลยค่ะ  ขอให้ต่อสู้นะคะ

สวัสดีค่า  หนูขอเป็นกำลังใจคนหนึ่งน่ะขอให้ท่านสู้ต่อไปท่านมีคุณธรรมยังงัยชีวิตก้าวหน้าไปในทางที่ดีแน่นอนค่ะ

ด.ญ อณุซรา วงศ์วิสาราตรี (มายด์)

ร.ต.ต.(หญิง)มนัสนันท์สุดยอดมากเลยค่ะ หนูขอเป็นกำลังใจให้เต็มที่เลยน่ะค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท